“ผมเป็นคนไทยเชื้อสายจีนรุ่นที่ 4 ตาทวดผมเป็นซินแสที่รับดูดวงและฮวงจุ้ย สมัยก่อนบ้านตาทวดอยู่ตรงตลาดเจริญผล จะซื้อหาอะไรก็เดินมาที่ตลาดใต้ ครอบครัวผมจึงผูกพันกับตลาดใต้แต่ไหนแต่ไร ตาทวดมีลูกทั้งหมด 15 คน อาม่าผมคือหนึ่งในนั้น ซึ่งน้องสาวอาม่า หรือลูกคนที่สิบของตาทวดคือ คุณมนสินีย์ วัฒนกุลชัย ประธานมูลนิธิประสาทบุญสถาน เป็นผู้ก่อตั้งศาลเจ้าพ่อเสือ เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา
แต่เดิมตลาดใต้จะมีศาลเจ้าอยู่สองแห่ง คือศาลเจ้าปุ่นเถ่ากง-ม่า และศาลเจ้าแม่ทับทิมของชาวไหหลำ จนช่วงก่อนปี 2560 ศาลเจ้าปุ่นเถ่ากง-ม่า ได้รับที่ดินเพิ่มเติมด้านข้าง คณะกรรมการเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะจัดตั้งศาลเจ้าพ่อเสือเพิ่มอีกแห่งเพื่อเป็นสาธารณะกุศล ขณะที่ศาลปุ่นเถ่ากง-ม่า เป็นเหมือนศาลเจ้าที่อยู่คู่กับผู้คนในชุมชน ศาลเจ้าพ่อเสือที่เป็นสัญลักษณ์ของดาวเหนือ คอยชี้นำผู้คนที่กำลังหลงทาง เราเลยตั้งศาลเจ้าแห่งใหม่นี้ขึ้น
ผมเป็นคณะกรรมการศาลเจ้าพ่อเสือระหว่างปี 2563-2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่อาจารย์ธนวัฒน์เข้ามาทำโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ตลาดใต้พอดี ทางผมก็อยากผลักดันศาลเจ้าพ่อเสือให้เป็นที่รับรู้ ขณะเดียวกันก็มีองค์ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและความเชื่อของชาวจีนที่อยากเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้รับรู้ ส่วนอาจารย์ธนวัฒน์ก็อยากขับเคลื่อนเรื่องการสร้างองค์ความรู้ เพราะแถวนี้มีโรงเรียนหลายแห่งตั้งอยู่ เช่น โรงเรียนสิ่นหมิน และโรงเรียนท่ามะปราง จึงร่วมมือกัน ผมก็ช่วยเชื่อมความรู้และเครือข่าย ส่วนอาจารย์ก็นำสิ่งที่ได้มาจัดระเบียบในแง่มุมวิชาการ รวมถึงจัดกิจกรรมในย่าน
จริงๆ ผมจบบัญชีมาครับ จบมาก็สานต่อธุรกิจที่บ้าน (หจก.กิจชัยฮอนด้า) แต่ความที่โตมาในวิถีคนจีน ครอบครัวเป็นทั้งที่ปรึกษาและคณะกรรมการศาลเจ้า จึงมีความผูกพันในเชิงวัฒนธรรมอย่างมาก อย่างเมื่อไหร่ที่ศาลเจ้าปุ่นเถ่ากง-ม่าจะมีงาน เราจะรู้ได้เลย เพราะที่บ้านจะได้รับถั่วตัด เดี๋ยวคณะงิ้วจะมาเปิดทำการแสดงล่ะ และอีกไม่กี่วันเราจะต้องไปกินข้าวที่ศาลเจ้า และพอเราไปศาลเจ้าบ่อยๆ ตั้งแต่เด็ก จึงเกิดความสงสัย ทำไมภายในศาลฝั่งซ้ายต้องเป็นมังกรและน้ำ ฝั่งขวาต้องเป็นเสือ ก็ตั้งคำถาม และพยายามหาคำตอบ จนมาพบว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีที่มาและความหมาย
อย่างเรื่องเสือและมังกรในศาลเจ้าเนี่ย มันก็เชื่อมกับหลักปรัชญาร่างกายของเรา ทำไมซ้ายต้องเป็นมังกร เพราะฝั่งซ้ายของเราคือหัวใจที่ต้องเต้นตลอดเวลา เพื่อจะสูบฉีดเลือด ซึ่งก็คือกระแสน้ำ แล้วทีนี้ขวาที่เป็นเสือ เพราะต้องนิ่ง ต้องสงบ มีสมาธิ เพราะเสือมันจะตะปบเหยื่อจากข้างขวา และนั่นก็คือตับ อวัยวะที่ใหญ่ที่สุดของร่างกาย ถ้าตับเรานิ่ง ตับเราดีเนี่ย แปลว่าเราแข็งแรง อายุยืน เป็นต้น และปรัชญาเหล่านี้มันก็สามารถนำมาประยุกต์เข้ากับการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจได้ด้วย
และก็เพราะความสนใจที่เกิดในศาลเจ้านี่แหละ ยังพาให้ผมไปสนใจดาราศาสตร์ด้วย โดยช่วงที่ผมเรียนหนังสืออยู่กรุงเทพฯ ผมมีโอกาสไปเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์อารี สวัสดี อดีตนายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย หรือเจอผู้รู้ท่านไหนผมก็ถาม และหาหนังสือมาอ่านมากขึ้น กลายเป็นว่าควบคู่ไปกับการทำธุรกิจที่บ้านและช่วยงานศาลเจ้า ผมก็มีอีกอาชีพหนึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านโหราศาสตร์ไปพร้อมกัน
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ มันเกิดจากการที่ผมเป็นคนชอบตั้งคำถามหนึ่ง และเติบโตมาในตลาดใต้ด้วยอีกหนึ่ง พออาจารย์ธนวัฒน์เข้ามาทำเรื่องพื้นที่แห่งการเรียนรู้ในย่านนี้ผมจึงสนับสนุนเต็มที่ เพราะเอาเข้าจริง ไม่ต้องเป็นศาลเจ้าหรือย่านเก่าแก่หรอก ทุกชุมชนและสถานที่ล้วนมีองค์ความรู้แฝงฝังอยู่ ถ้าเราเป็นคนรู้จักสงสัย เราก็สามารถนำองค์ความรู้ในสถานที่นั้นๆ มาใช้ประโยชน์ได้
อย่างโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ ผมก็ช่วยทีมอาจารย์อธิบายเบื้องหลังของความเชื่อของชาวจีน ทำไมต้องมีเทศกาลไหว้บัวลอยช่วงเดือนธันวาคม และมันเชื่อมโยงกับเทศกาลตรุษจีนอย่างไร หรือทำไมต้องเชงเม้งช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน รวมถึงเทศกาลกินเจที่เชื่อมร้อยกับฤดูเก็บเกี่ยวของเกษตรกรในอดีต เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ เรากำลังขาดคนอธิบาย และพอไม่มีคนอธิบาย คนรุ่นใหม่เขาก็ไม่อิน เขามองว่ามันเป็นแค่ความเชื่อที่สั่งสมกันมา หรือกระทั่งมองเป็นสิ่งงมงาย ทั้งๆ ที่จริงๆ ทุกอย่างล้วนมีเหตุผลชัดเจน
นอกจากนี้ ทางศาลเจ้าก็ยังเปิดโรงงิ้วให้ทางทีมนักวิจัยเข้ามาจัดทำนิทรรศการตลาดใต้ด้วย เพราะปกติโรงงิ้วเราจะมีการจัดแสดงงิ้วแค่ปีละสองครั้ง คือตรุษจีนและสารทจีน ที่เหลือก็ปิดไว้เก็บของหรือจอดรถ ก็น่าจะดีที่มีคนเข้ามาพัฒนาเป็นพื้นที่การเรียนรู้ ทำให้เห็นว่าทั้งศาลเจ้า ตลาดใต้ และวิถีชีวิตคนที่นี่ ต่างมีรากเหง้าและประวัติศาสตร์ ซึ่งมันเป็นต้นทุนสำคัญที่จะทำให้คนรุ่นหลังนำไปต่อยอดต่อไปในอนาคต”
เรืองเกียรติ วัฒนกุลชัย
ผู้ประกอบการในย่านตลาดใต้และที่ปรึกษาด้านโหราศาสตร์จีน
“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…
ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…
WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…
ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…
สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…
"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…