/

พื้นที่ย่านกะดีจีน-คลองสาน สวยมาก ริมแม่น้ำ ก็เป็นความท้าทายในแง่ที่ว่ามีการก่อสร้างมากมาย บางส่วนก็อาจจะหายหรือถูกขายไปเรื่อยๆ ก็ได้ ซึ่งก็ค่อยๆ มาแล้ว

Start
215 views
19 mins read

“ยังธนคือ Young Generation of Thonburi เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่ทำงานในฝั่งธน นิยามยังธนคือแพลตฟอร์ม เป็นใครก็ได้ที่มารวมตัวกันพัฒนาบางอย่างในบ้านของเราเอง เราทำเวิร์กช็อป “จุดรวมธน” ก็เห็นความเป็นไปได้ต่างๆ มีการเสนอทำพื้นที่สาธารณะที่แอบซ่อนอยู่ในชุมชนมาจัดแข่งฟุตบอลให้เด็กๆ ก็เกิดเป็น Urban Action Project แรกที่ค่อนข้างใหญ่ เป็นทัวร์นาเมนต์สตรีตฟุตบอล “ยังธนคัพ” ที่ไม่ใช่แค่แข่งฟุตบอลธรรมดา เราอยากโปรโมตพื้นที่ในชุมชนที่ไปแข่งว่ารอบๆ มีอะไรน่าสนใจ จัดแข่งที่คลองสาน ชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ กะดีจีน วัดโมลีฯ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีบริบทเชิงสังคมที่น่าสนใจ แล้วเราก็อยากบอกภาครัฐว่าพื้นที่เล็กๆ อย่างใต้สะพาน ลานชุมชนที่ใช้กันแต่อาจจะทรุดโทรม เราก็ยังเตะได้ แต่จะดีกว่ามั้ยถ้ามันดีกว่านี้ อย่างพื้นที่บนป้อมป้องปัจจามิตร เป็นป้อมเก่าอยู่ระหว่างสถานีตำรวจคลองสานกับสำนักงานเขตคลองสาน เป็นพื้นที่ที่ไม่มีใครรู้จักแต่เด็กๆ เขาใช้เล่นกัน เขตก็มาใช้เต้นแอโรบิก เราก็มองว่าพื้นที่นี้เจ๋งนะ เป็นโบราณสถานแต่ยังผูกพันกับชีวิตชุมชน ก็เป็นพื้นที่สาธารณะที่จุดประกายให้เราอยากสื่อสารเชิงบริบทของพื้นที่ด้วย ฟุตบอลเชื่อมสัมพันธ์กับเด็กในชุมชน เขามาแข่งเขาก็รู้จักกัน แล้วก็เริ่มมีชุมชนเอาของมาขายรอบๆ สนาม ก็กลายเป็นมินิเฟสติวัล

เราทำยังธนกันเหมือนงานอาสา คนในกลุ่มก็มีงานประจำ แต่ทักษะหลักๆ ที่เราเชี่ยวชาญคือการเป็นกระบวนกร การทำ Content Creator และทำสื่อ ซึ่งเราก็เอาทักษะเหล่านี้มาใช้ในงานพัฒนาเมือง ระหว่างที่ทำยังธนคัพก็มีโพรเจกต์ต่างๆ เช่น แคมเปญ #คับที่เตะได้ ที่เราเขียนขอทุนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้มาสอนเด็กๆ ในชุมชนที่บอลนั้นไปเตะ ให้มาทำสื่อ เล่าเรื่องราวพื้นที่ตัวเอง เพราะมองว่าเป็นทักษะศตวรรษที่ 21 ที่อยากบูรณาการเข้าไป

เราทราบว่า UddC (ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง) ทำงานในพื้นที่คลองสานอยู่แล้ว ยังธนก็ได้มีโอกาสร่วมกับแพลตฟอร์ม we!park พัฒนาพื้นที่ว่างข้างโรงเกลือแหลมทอง ร่วมกับสช. (สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ) มาทำ Pop-Up Park ก็มองว่าไม่ทำแค่อีเวนต์ ต้องทำระยะยาว ลงมาเก็บข้อมูล ทำกระบวนการออกแบบสวนกับเด็กๆ ก็ตั้งโจทย์ว่า “ถ้าเขามีเวทมนตร์เสกให้พื้นที่นี้เป็นอะไร” ก็ได้มาทั้งสวนดอกไม้ สระว่ายน้ำ เราก็กรองไอเดียที่เป็นไปได้ แล้วพอโครงการ Learning City ของ UddC เข้ามา เราก็มองว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ทวนข้อมูลที่เคยทำกับเด็กมาทำกับผู้ใหญ่ด้วย ก็ทำกระบวนการให้ชุมชนเข้ามาพูดคุย แล้วกำหนดแนวทางเชิงแผนปฏิบัติงานร่วมกับทาง we!park, UddC และภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยศรีปทุมและบางมด (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) ได้แนวทางการพัฒนาพื้นที่ว่าง “สวนสานธารณะ” ให้สะอาด ปลอดภัย ส่งเสริมอัตลักษณ์ของย่านผ่าน Street Art และการใช้พื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของการรีไซเคิล จัดการขยะในชุมชน ซึ่งแบ่งงานกันทำภายใต้ความเชี่ยวชาญของแต่ละภาคี

กลุ่มยังธนก็เข้ามาทำสตรีตอาร์ตกับเด็ก ทำเป็นเชิงกระบวนการให้เด็กมีส่วนร่วมให้มากที่สุด เราชวนเด็กมาวาดรูปตามจินตนาการ ไม่ได้บอกโจทย์อะไร แค่ว่าเขาชอบอะไร มีจินตนาการบ้านยังไง เพื่อเอาความคิดสร้างสรรค์นี้ไปผสมกับงานชิ้นใหญ่ของ Learning City ให้ศิลปินสามคนเป็นอาจารย์จากศิลปากรช่วยดูผลงานจากเด็ก จัดองค์ประกอบ เพิ่มอัตลักษณ์ในพื้นที่ เพิ่มไอเดียเขา มีลายเซ็นของเด็กอยู่ในภาพด้วย ความสำคัญของสตรีตอาร์ตอยู่ที่กระบวนการที่ทำให้เกิดขึ้น แล้วเราก็เปิดอีกเวิร์กช็อป ให้คนข้างนอกมาช่วยเติม คิดว่าในพื้นที่มีอัตลักษณ์อะไรน่าสนใจ แล้วศิลปินก็มาวางองค์ประกอบ และวาดร่างบนกำแพง จากนั้นก็เปิดกิจกรรมระดมเด็กๆ ในพื้นที่และคนข้างนอกที่สนใจมาระบายสี ก็ออกมาเป็นภาพที่เห็นบนกำแพงด้านหนึ่งของสวนสานธารณะ

กิจกรรมต่างๆ ที่ทำกับโครงการ Learning City สร้างความมีส่วนร่วมกับชุมชน เราก็ใจฟูในแง่ที่ว่าไม่เคยทำงานที่เครือข่ายเยอะขนาดนี้มาก่อน ชุมชนด้วย องค์กรภาคประชาสังคมเยอะมาก ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลาย เห็นความร่วมมือร่วมใจกันที่จะผลักดันพื้นที่จริงๆ เขตก็เข้ามา เป็นมหกรรมที่ยิ่งใหญ่ เป็นโมเดลได้เลย แต่ก็ต้องกระตุ้นการใช้งานพื้นที่ตลอดเวลา และเป็นความท้าทายว่าเครือข่ายลงขันให้เกิด แต่จะทำยังไงให้ไม่ร้าง เครือข่ายก็ไม่ใช่จะมาได้ตลอด ทุกคนก็มีภารกิจ ในแง่ระยะยาวจะทำยังไงถ้าไม่ใช่แค่เขต ปัจจุบันก็มีรูปแบบมาทำกิจกรรม แต่ยังไม่มีตัวกลางที่เป็นคนในพื้นที่ ซึ่งถ้าชุมชนได้มีส่วนร่วมแล้วเขาจะเป็นผู้นำ กำหนดเองได้ แต่ชุมชนรอบๆ อาจจะยังไม่ถึงขนาดนั้น ยังรู้สึกว่ารัฐต้องเข้ามาดูแล

อยากให้ชุมชนเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น จะมีวิธีการไหนที่จะปลุกเด็กๆ ที่เป็น Active Citizen ได้หรือเปล่า ต้องมีพี่เลี้ยงมาช่วย ทางยังธนหรือเครือข่ายก็เข้ามาได้เป็นพักๆ ต้องขึ้นอยู่กับคนในพื้นที่ อาจจะต้องมีกิจกรรมเรื่อยๆ ขยายกลุ่มให้รู้สึกว่าคนในพื้นที่เป็นตัวตั้งตัวตี อาจจะรวมกลุ่มกับชุมชนข้างๆ เช่น ชุมชนสวนสมเด็จย่า มาจัดกิจกรรมร่วมกัน เห็นประโยชน์ของการใช้พื้นที่ก็จะสร้างความรู้สึกเจ้าเข้าเจ้าของ เราเห็นคนในชุมชนมาในพื้นที่มากขึ้น ในแง่เป็นผู้ใช้ แต่ในแง่การดูแล อาจจะยังไม่ชัด แต่ในสเต็ปแรกก็มองว่า แค่เขามาใช้บ่อยๆ ก็โอเคแล้วล่ะ การจะพัฒนาต่อไปที่มาใช้แล้วอาจจะเก็บขยะกลับไป ก็ต้องใช้เวลา ตอนนี้ก็อาศัยคนกลางไปก่อน เครือข่ายวนๆ กันมาทำกิจกรรม

พื้นที่ย่านกะดีจีน-คลองสาน สวยมาก ริมแม่น้ำ ก็เป็นความท้าทายในแง่ที่ว่ามีการก่อสร้างมากมาย บางส่วนก็อาจจะเกิดปรากฏการณ์ Gentrification (การดัดแปลงพื้นที่โดยคนนอกที่มีปัจจัยทางเศรษฐกิจดีกว่าเข้ามาอยู่จนผลักให้คนในพื้นที่เดิมต้องย้ายออก) คนในพื้นที่ยิ่งเป็นคนสูงอายุ การสร้างอำนาจในการต่อรองอาจจะน้อย หรืออาจจะหาย ถูกขายไปเรื่อยๆ ก็ได้ ซึ่งก็ค่อยๆ มาแล้ว คนในพื้นที่อาจจะรำคาญ คนมาเยอะๆ เช่นพื้นที่นึงถูกปล่อยให้เช่าเป็นร้านอาหาร เนื่องจากซอยแคบ เป็นย่านเก่า รถก็ติด คนก็เดินไม่ได้ มันก็มีอุปสรรคต่อคนที่เคยอาศัยอยู่เดิม คือไม่ใช่ว่าการพัฒนาไม่ดี แต่จะบาลานซ์ยังไงให้อยู่ได้ สิ่งเก่าสิ่งใหม่อยู่ด้วยกันได้ ย่านเมืองเก่าอัตลักษณ์ยังไม่หายไป แล้วการส่งคนจากรุ่นสู่รุ่นยังไม่หายไป”

ม.ล.จิรทิพย์ เทวกุล
นักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ตัวแทนกลุ่ม ยังธน

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย