สำรวจ ‘ยะลา’ เมืองแห่งการเรียนรู้
จากต้นธารอาหารสู่ต้นทุนผังเมืองและพหุวัฒนธรรม

Start
765 views
37 mins read

เมื่อเอ่ยถึงยะลาคุณนึกถึงอะไร?

เมืองที่ตั้งของอำเภอเบตง ดินแดนใต้สุดของประเทศ?

จังหวัดในภาคใต้ที่อาภัพที่สุด เพราะเป็นแห่งเดียวที่ไม่มีพรมแดนติดทะเล?

หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม?

หรือเมืองที่หลายคนคุ้นเคยจากเสียงระเบิดและเหตุการณ์ความไม่สงบ

ใช่ โดยเฉพาะข้อหลัง กล่าวตามตรง แม้กาลเวลาจะผ่านมาเกือบยี่สิบปีแล้ว ทุกวันนี้ หลายคนก็ยังจดจำภาพยะลาในฐานะดินแดนแห่งความไม่สงบอยู่เลย

ทีมงาน WeCitizens เพิ่งมีโอกาสลงไปเยี่ยมเยือนอำเภอเมืองยะลามาเมื่อปลายปี 2565 และพบว่าภาพที่หลายคนจดจำกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะแม้เรายังพบบังเกอร์ปูนที่ใช้ป้องกันระเบิดอันเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากยุคของความรุนแรงจากปี 2547 กระนั้นบังเกอร์ทั้งหมดก็ไม่เคยถูกใช้งานอีกเลยมาหลายปีแล้ว แถมยังมีศิลปินท้องถิ่นนำสีไปแต่งแต้มลวดลายจนเกิดเป็นสตรีทอาร์ทอันสดใสแก่เมืองอีก

เมืองกลับมาสุขสงบและปลอดโปร่ง คึกคักไปด้วยเทศกาลและงานประเพณี ที่สำคัญ พี่น้องชาวพุทธและมุสลิมก็ไปมาหาสู่กันเช่นเคย

ไม่อาจกล่าวได้ว่าบทความนี้เป็นการอัพเดตเมืองยะลา เพราะอันที่จริง หลายสิ่งที่เราเสนอ เมืองแห่งนี้ก็เป็นอยู่อย่างนี้มาตั้งนานแล้ว อย่างไรก็ดี WeCitizens ฉบับนี้จะพาผู้อ่านไปซึมซับความเป็นยะลาเมืองแห่งการเรียนรู้ที่แท้จริงผ่านคำบอกเล่าของผู้คนในเมือง รวมถึงบทความเปิดเล่มบทความนี้ ที่นำเสนอเหตุผลว่าทำไมนอกจากจะเป็นเมืองที่สะอาดและมีผังเมืองที่สวยที่สุด ยะลายังเป็นหนึ่งในเมืองที่ยั่งยืนและน่าอยู่ที่สุดในประเทศ

ผังเมืองดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

ด้วยพื้นที่ 19 ตารางกิโลเมตรในเขตเทศบาลนครยะลา เมืองแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีผังเมืองสวยที่สุดในประเทศ ด้วยรูปแบบผังเมืองแบบ radio centric หรือผังวงกลมที่มีถนนวงแหวนซ้อนกันสามชั้นล้อมรอบศูนย์กลางที่เป็นศาลหลักเมืองคล้ายกับกรุงปารีส ฝรั่งเศส โดยในแต่ละวงแหวนมีการแบ่งโซนนิ่งชัดเจน ได้แก่กลุ่มอาคารสำนักงานราชการบนถนนวงแหวนด้านในสุด กลุ่มบ้านพักข้าราชการในวงแหวนรอบสอง และสถานศึกษา ย่านการค้า รวมถึงที่อยู่อาศัยของประชาชนในวงแหวนรอบสาม

นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งของเมืองยังมีผังแบบ grid หรือตารางหมากรุก คล้ายกับนครลอสแอลเจลิส สหรัฐอเมริกา มีทางเท้าควบคู่รางระบายน้ำ ช่วยให้แนวของอาคารเป็นระเบียบในระนาบเดียวกัน นั่นทำให้ถนนทั้ง 400 สายในเมืองแห่งนี้เชื่อมต่อกันทั้งในรูปแบบใยแมงมุมและเส้นตารางอย่างงดงาม

ซึ่งแน่นอน การมีผังเมืองที่เป็นระเบียบเช่นนี้ ไม่เพียงเอื้ออำนวยต่อการสัญจรในเมือง เอื้อให้ปั่นจักรยาน และเดินเท้า แต่เพราะเมืองมีระเบียบจึงง่ายต่อการดูแลรักษาความสะอาด และก่อให้เกิดพื้นที่สำหรับเติมเต็มด้วยสีเขียวจากต้นไม้หลากชนิด

ส่วนที่มาของผังเมืองสุดน่าอิจฉาของเมืองนี้ต้องย้อนกลับไป 80 กว่าปี สมัยพระรัฐกิจวิจารณ์ (สวาสดิ์ ณ นคร) อดีตข้าหลวงประจำจังหวัด ภายหลังสยามเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านก็ลาออกมารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีคนแรกของเมืองยะลาช่วงปี พ.ศ. 2480-2488 ก่อนจะปฏิรูปเมืองครั้งสำคัญ จากเดิมที่ยะลาเป็นชุมชนเล็กๆ กระจุกตัวอยู่ใกล้สถานีรถไฟ รายล้อมด้วยสวนยางและผืนป่า พระรัฐกิจวิจารณ์และที่ปรึกษาชาวอังกฤษก็ช่วยกันเนรมิตผังเมืองใหม่ในรูปวงเวียน พร้อมกับการแบ่งพื้นที่ใช้สอยของเมืองอย่างชัดเจนดังที่กล่าว

แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนผ่าน และหน้าตาของเมืองยะลาจะเปลี่ยนไป กระนั้นมรดกทางผังเมืองแห่งนี้ก็ยังคงเฉิดฉาย เป็นทั้งต้นทุนในด้านความสะดวกสบายต่อการใช้ชีวิต และเป็นความภาคภูมิใจของคนยะลามาจนถึงปัจจุบัน

เมืองที่มีชีวิตด้วยพื้นที่สีเขียว

แม้จะมีผังเมืองอันยอดเยี่ยม แต่จะไม่มีประโยชน์หากยะลาไม่มีพื้นที่สีเขียว หรือสวนสาธารณะให้ผู้คนในเมืองได้หย่อนใจ พระรัฐกิจวิจารณ์ (สวาสดิ์ ณ นคร) ผู้ออกแบบผังเมืองยะลายังตระหนักในข้อนี้ดี โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่สวนถึงขนาดลำดับให้เมืองต้องมีในอันดับที่ 2 รองจากพื้นที่ราชการและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของเมือง (พื้นที่ราชการ, สวนสาธารณะ, พื้นที่พาณิชยกรรม, พื้นที่อยู่อาศัย, พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่อุตสาหกรรมและคลังสินค้า ตามลำดับ)

ปัจจุบันยะลามีสวนสาธารณะรวมทั้งหมด 8 แห่ง หนึ่งในสวนที่เป็นไฮไลท์ของเมืองคือ สวนขวัญเมือง หรือ ‘พรุบาโกย’ สวนสาธารณะพื้นที่ 207 ไร่ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของศาลหลักเมือง บริเวณวงแหวนรอบที่สาม สวนแห่งนี้เป็นทั้งปอดและพื้นที่สันทนาการของคนยะลา เพราะนอกจากจะมีบึงน้ำขนาดใหญ่ให้ความชุ่มชื่น ที่นี่ยังมีสนามกีฬา สนามแข่งขันนกเขาชวาเสียงมาตรฐานใหญ่ที่สุดในภาคใต้ รวมถึงชายหาดจำลอง ที่สำคัญที่แห่งนี้ยังเป็นหนึ่งในไม่กี่สวนสาธารณะในประเทศที่ไม่มีรั้ว พื้นที่ของสวนจึงกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับกายภาพเมืองอย่างร่มรื่น

นอกจากนี้ ยะลายังมีสวนสาธารณะสนามช้างเผือก (สนามโรงพิธีช้างเผือก) พื้นที่ที่เป็นทั้งสวนคนเมือง และพื้นที่ประวัติศาสตร์ของเมือง (เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีน้อมเกล้าฯ ถวายช้างเผือกแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2511) ซึ่งก็ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเช่นกัน

สวนศรีเมือง ซึ่งเป็นสวนเลียบคันกั้นแม่น้ำปัตตานี จากตลาดเมืองใหม่ไปจนถึงสะพานข้ามทางรถไฟ ระยะทาง 2 กิโลเมตร เป็นสวนที่เทศบาลพัฒนาขึ้นใหม่เพื่อทำให้พื้นที่ริมน้ำเอื้อประโยชน์ให้ประชาชนได้เดินเล่นและพักผ่อน ซึ่งยังเสริมให้สะพานข้ามทางรถไฟกลายมาเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คของเมืองด้วย

ใครบอกว่ายะลาไม่น่าอยู่เพราะไม่มีชายทะเลให้นั่งชิล ลองมานั่งเล่นในสวนเหล่านี้เสียก่อน คุณอาจเปลี่ยนความคิด

เมืองที่มีพื้นที่สีเขียวเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้

นายกเทศมนตรีนครยะลา พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ เน้นย้ำให้ทุกคนรับรู้เสมอว่า เขามองพื้นที่สีเขียวในความหมายเดียวกับพื้นที่แห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกเพศทุกวัย

ด้วยเหตุนี้เทศบาลฯ จึงมีนโยบายในการหมั่นพัฒนาพื้นที่สีเขียวของเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในรูปธรรมดังกล่าวคือการพลิกโฉมศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา ให้กลายเป็นอุทยานการเรียนรู้ขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้อย่าง TK Park Yala

เปิดทำการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550 ในฐานะอุทยานการเรียนรู้แห่งแรกในระดับภูมิภาค (ต่อจาก Central World กรุงเทพฯ) โดยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้มีการเปิดอาคารกิจกรรมและแสดงนิทรรศการความสูง 5 ชั้น รองรับกิจกรรมทางความรู้และความคิดสร้างสรรค์ของเมือง

นอกจากห้องสมุด บริการด้านข้อมูลสารสนเทศ โค-เวิร์คกิ้งสเปซ และพื้นที่จัดนิทรรศการที่บอกเล่าทรัพยากรและบุคคลสำคัญของเมืองยะลา ที่นี่ยังมี Swiss Corner พื้นที่การเรียนรู้ที่เทศบาลร่วมกับสถานทูตสมาพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถอดแบบการจัดการความรู้จากประเทศที่มีระบบการศึกษาชั้นนำของโลกมาให้เยาวชนยะลาได้เรียนรู้และร่วมกิจกรรม

ที่สำคัญ TK Park Yala ยังจัดเวิร์คช็อป กิจกรรมสำหรับเยาวชน และวงเสวนาเชิงสร้างสรรค์ทุกสัปดาห์ โดยในช่วงที่เราไปเยือน ที่นี่จัดนิทรรศการ ‘ปกายัน มลายู’ นิทรรศการผ้าพื้นเมืองยะลา และในช่วงที่เราเขียนต้นฉบับนี้ ก็ยังมีนิทรรศการ Feeling the Moment แสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยของกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ในพื้นที่อย่าง Lanest_Yala

          ทั้งนี้ พื้นที่ด้านนอกอาคารอุทยานการเรียนรู้ยังเป็นศูนย์กีฬาครบวงจร และลู่วิ่งที่คนในพื้นที่มักมาออกกำลังกายยามเย็น ที่นี่จึงครบครันทั้งพื้นที่ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ และที่สำคัญคือพื้นที่การเรียนรู้ ดังที่นายกเทศมนตรีเน้นย้ำว่าสำหรับเมืองยะลา ทั้งหมดคือพื้นที่เดียวกัน

เมืองแห่งผลไม้และต้นธารอาหาร

แม้ยะลาไม่มีพื้นที่ติดทะเล แต่ข้อได้เปรียบสำคัญของที่นี่คือการมีพื้นที่ป่าเขาอุดมสมบูรณ์ ซึ่งนอกจากดินดี น้ำที่นี่ก็ดี เพราะเป็นจังหวัดต้นกำเนิดแม่น้ำปัตตานีและมีทะเลสาบเหนือเขื่อนบางลาง ทำให้การเพาะปลูกดีเยี่ยม รวมถึงยังเป็นที่ตั้งของป่าฮาลาบาลา ผืนป่าต้นน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้

ข้อได้เปรียบทางทรัพยากรนี้ทำให้ยะลาเป็นแหล่งเพาะปลูกผลไม้รสเลิศอันหลากหลาย ทั้งส้มโชกุน กล้วยหินซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ลองกอง ทุเรียน ไปจนถึงกาแฟโรบัสต้า และปศุสัตว์อีกหลากหลาย

แม้ทรัพยากรทั้งหมดที่กล่าวมาอาจอยู่นอกเขตตัวเมืองยะลา แต่อย่าลืมว่าความที่เมืองแห่งนี้เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ที่นี่จึงเต็มไปด้วยของกินอร่อยๆ จากทั้งคนไทย จีน และอิสลาม ที่ซึ่งใครหลายคนเลือกเดินทางมายะลา เพื่อมาลิ้มรสอาหารพื้นเมืองของที่นี่ ทั้ง นาซิดาแฆ ซุปเนื้อ ข้าวหมกไก่ ไก่เบตง ติ่มซำ ไปจนถึงก๋วยจั๊บไก่ 

เพราะการ ‘กินดี’ ส่งเสริมให้ผู้คน ‘อยู่ดี’ ยะลาจึงเป็นเมืองที่เข้าตำรา ‘กินดี อยู่ดี’ อย่างแท้จริง

เมืองสร้างสรรค์ที่ขับเคลื่อนด้วยต้นทุนทางพหุวัฒนธรรม

ปิดท้ายที่หนึ่งในกลไกสำคัญที่ทำให้ยะลาเป็นยะลาสำหรับทุกคนในทุกวันนี้ นั่นคือการที่ผู้คนในเมืองนำต้นทุนทางพหุวัฒนธรรม หรือความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนามาเป็นแต้มต่อในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง

เพราะแม้จะทราบดีว่าการมีอยู่ของสถานีรถไฟยะลา ขีดเส้นพรมแดนของคนจีนพุทธ (ตลาดใหม่) และมุสลิม (ตลาดเก่า) อย่างชัดเจน หากแต่ไหนแต่ไรวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองนี้กลับผสมกลมกลืนอย่างแนบเนียน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมโต๊ะและร้านอาหาร เพื่อนฝูงในชั้นเรียน เพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนบ้านในทุกชุมชน

แน่นอนที่ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อปี พ.ศ. 2547-2549 จะเข้ามาทำลายความสัมพันธ์ที่งดงามนี้ กระนั้น ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็มีทั้งหน่วยงานรัฐ นักวิชาการ และเครือข่ายภาคประชาชน สร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อรื้อฟื้นบรรยากาศของเมืองให้กลับคืนมาเหมือนเดิม

ไม่ว่าจะเป็น การริเริ่มโครงการค่ายดนตรีออร์เคสตร้าเยาวชนของเทศบาลนครยะลา จนเกิดเป็นกลุ่มนักดนตรีเยาวชนพหุวัฒนธรรมจัดการแสดงประจำปีจนเป็นที่กล่าวขวัญทั้งในและต่างประเทศ, การชุบชีวิตย่านการค้าเก่ากลางใจเมืองด้วยสตรีทอาร์ท,  ค่ายเยาวชนด้านการเรียนรู้ ศิลปะ และความคิดสร้างสรรค์ของกลุ่มลูกเหรียง กลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเยียวยาเด็กๆ ที่ผู้ปกครองเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ, Yala Icon ของกลุ่ม Soul South Studio นักออกแบบรุ่นใหม่ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์มาช่วยพัฒนาผลิตผลท้องถิ่นของยะลา

รวมถึงโครงการเรียนรู้ด้านทักษะวัฒนธรรมในพื้นที่สามจังหวัดฯ ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จนพัฒนามาสู่ ‘โครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ยะลา’ ที่มุ่งหมายใช้การเรียนรู้ด้านพหุวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือของการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในเมือง

ทั้งนี้ หนึ่งในผลลัพธ์สำคัญของโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ยะลานี้ คือการจัดเทศกาลบอกเล่าเรื่องราวของเมืองในมุมมองของคนรุ่นใหม่เป็นครั้งแรกในชื่อ ‘ยะลาสตอรี่’ (Yala Stories) ที่โรงแรมเมโทรและย่านถนนสายกลางใจกลางเมืองยะลา เมื่อวันที่ 27-29 พฤษภาคม 2565

“ยะลาสตอรี่เกิดจากนักวิจัยจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ชักชวนเยาวชนในพื้นที่คัดสรรเรื่องเล่าของเมืองตัวเอง เพื่อพัฒนามาเป็นนิทรรศการหรือสื่อรูปแบบต่างๆ จัดแสดงให้ทุกคนได้ชม ก็มีทั้งมุมมองของเยาวชนที่มองเมือง การเปลี่ยนต้นทุนที่เมืองเรามีเป็นงานศิลปะ หนังสั้น ไปจนถึง creative economy รวมถึงการชี้ชวนให้ผู้ชมร่วมกันมองเมืองยะลาต่อไปในอนาคต” บอล-เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์ แห่ง Soul South Studio ครีเอทีฟของงาน กล่าว

นี่เป็นงานที่ได้รับเสียงตอบรับในเชิงบวกอย่างล้นหลาม เพราะไม่เพียงการนำต้นทุนเมืองมาเล่าอย่าง ไก่เบตง ส้มโชกุน ผ้าบาติก ไปจนถึงวิถีชีวิตของย่านการค้าในเมืองมาเล่าในมุมมองใหม่อันสร้างสรรค์ จนเทศบาลนครยะลา ผู้ร่วมจัดงาน ยินดีที่จะสนับสนุนให้มีกิจกรรมนี้เป็นงานประจำปีของเมือง

แต่เหนือสิ่งอื่นใด เช่นที่ บอล-เอกรัตน์ และทีมงานคนอื่นๆ ได้เห็น เทศกาลนี้จุดประกายให้คนยะลามองเห็นความหวังและความฝันที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง ทำให้เศรษฐกิจดี และมีวิถีชีวิตที่มีความสุขและปลอดภัย และกล่าวได้ว่าแม้นี่จะไม่ใช่ก้าวแรก แต่ก็เป็นก้าวสำคัญของการปลุกเมืองยะลาด้วยการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ 

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย