“ผมสนใจทฤษฎีพื้นที่ทางสังคม (social space) เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาผมจะศึกษาจากปรากฏการณ์ทางสังคมซึ่งมีรูปแบบเป็นทฤษฎีเป็นหลัก ไม่ได้ลงไปทำกับชีวิตของคนจริงๆ จนพอดีกับที่ บพท. ประกาศทุนเรื่อง learning city ผมจึงเห็นเป็นโอกาสอันดีในการทำวิจัยเรื่องนี้ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผมได้ลงไปทำงานกับผู้คนในเมืองเชียงใหม่จริงๆ และที่สำคัญ ผมมองว่านี่เป็นโอกาสจะใช้งานวิจัยในการมีส่วนแก้ปัญหาเมือง
ก่อนทำงานโครงการนี้ ผมทำวิจัยร่วมกับพี่ตา (สุวารี วงศ์กองแก้ว ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ – ผู้เรียบเรียง) ซึ่งเป็นงานวิเคราะห์โครงสร้างของระบบราชการเพื่อจะเชื่อมส่วนนี้เข้ากับการทำงานภาคประชาสังคม งานวิจัยนี้ทำให้ผมเห็นถึงความไม่เชื่อมร้อยกันในหลายประเด็น จะด้วยระบบราชการ หรือเพราะไม่มีเครื่องมือเชื่อมประสานก็ด้วย เหมือนการทำงานเพื่อเมืองมันมีฟันหลอ ก็คิดว่าเป็นจังหวะเหมาะพอดี ถ้าเราเอางานวิจัยเรื่อง learning city มาพัฒนาเพื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยสานช่องว่างตรงนี้
หลักๆ ผมสรุปการทำงานด้านการเรียนรู้เมืองออกเป็น 4 ตะกร้า ได้แก่ สถานที่ (place) ผู้คน (people) วัตถุ (object) และความทรงจำ (memory) และแบ่งโครงการย่อยออกเป็น 3 โครงการ โดยเน้นการเรียนรู้จากพื้นที่ที่มีเลเยอร์ทางวัฒนธรรมหรือรูปแบบทางเศรษฐกิจซ้อนทับกันอย่างน่าสนใจ พื้นที่แรกคือชุมชนควรค่าม้าในเขตคูเมือง ซึ่งมีประเด็นในเรื่องการซ้อนทับระหว่างศิลปะแบบคนรุ่นใหม่ในพื้นที่เมืองเก่า พื้นที่ที่สอง คือชุมชนป่าห้าซึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับนิเวศสิ่งแวดล้อมเดิมอย่างระบบชลประทานลำเหมือง หากถูกซ้อนทับด้วยการขยายตัวความเป็นเมืองโดยเฉพาะในย่านนิมมานเหมินท์ และพื้นที่สุดท้าย เรามองเรื่องเศรษฐกิจเก่ากับใหม่ รวมถึงประเด็นเรื่องการเข้ามาของคนรุ่นใหม่ในย่านเก่า ซึ่งนั่นคือชุมชนช้างม่อย
จากนั้นผมก็มอบหมายให้หัวหน้าทีมของโครงการย่อยไปเป็นโจทย์ในการออกแบบกิจกรรมกับพื้นที่ ซึ่งพอแต่ละคนคลี่กันออกมา ก็จะได้สิ่งที่เป็นคล้ายลายแทงของการทำงานในพื้นที่ เช่น เส้นขอบเขต แผนที่ คลัสเตอร์ทางวัฒนธรรมต่างๆ จากนั้น ก็ให้อาจารย์แฟน (อจิรภาส์ ประดิษฐ์) ที่รับหน้าที่ศึกษากลไกการทำงานแบบข้ามภาคส่วน ไปดูว่าที่ผ่านมาภาคประชาสังคมเคยทำโครงการอะไรไว้ในพื้นที่บ้าง เพื่อหาวิธีเชื่อมต่อและต่อยอด
อาจารย์แนน (ดร.อัมพิกา ชุมมัธยา) และอาจารย์ไก่ (รศ.ดร. ปรานอม ตันสุขานันท์) รับผิดชอบโครงการย่อยชื่อ ‘หลากมิติของการเรียนรู้เมืองเชียงใหม่’ โดยเน้นไปที่การสร้างกระบวนการเรียนรู้ชุมชนในกลุ่มเยาวชน โดยชวนเด็กนักเรียนและนักศึกษาที่อยู่ในสถาบันภายในเขตเทศบาล ร่วมลงพื้นที่ชุมชนทั้ง 3 แห่ง พร้อมมีโจทย์การเรียนรู้ที่แตกต่างออกไป เพื่อถอดบทเรียนส่งกลับคืนสู่โรงเรียน ที่ทำแบบนี้เพราะเราเห็นว่าปัจจุบันองค์ความรู้เรื่องชุมชนมันถูกตัดขาดจากระบบการศึกษาในโรงเรียน เราให้ความสำคัญกับวิชาการจนไม่ได้มองว่าพื้นที่ชุมชนมันก็เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่มีคุณค่าเหมือนกัน
ส่วนของอาจารย์ภู (จิรันธนิน กิติกา) ซึ่งค่อนข้างอินกับชุมชนช้างม่อยอยู่แล้ว เขามองเห็นว่าปัจจุบันช้างม่อยมีปัญหาการจัดการที่แตกเป็นก๊กเป็นเหล่า พอเป็นแบบนี้การทำกิจกรรมเพื่อการพัฒนาจึงเป็นไปได้ยาก สิ่งที่เขาทำคือเข้าไปรื้อฟื้นเครือข่ายชุมชนให้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง ดึงคนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้ประกอบการใหม่ๆ ในพื้นที่มาทำงานร่วมกับคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน ซึ่งก็พอดีกับช่วงนั้นที่วัดชมพูกำลังมีงานกวนข้าวยาคู้ อาจารย์ภูก็ดึงคนรุ่นใหม่ไปจัดกิจกรรมควบคู่ไปกับประเพณีของย่าน ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับดีมากๆ มีการเชื่อมความสัมพันธ์ของคนสองรุ่นได้มากขึ้นอย่างน่าดีใจ
ส่วนของผมก็กำลังปรับแผนการนำเสนอการปรับปรุงพื้นที่ชุมชน แต่ไม่ได้มีการปรับเหมือนกับพลิกหัวพลิกหางมันนะ เราจะมองว่าเวลาเราเดินสำรวจพื้นที่ เราก็จะเจอคุณยายคนนั้น หรือป้าคนนี้คอยเล่าประวัติหรือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับย่านใช่ไหมครับ แต่สมมุติว่าคุณไป แล้วไม่เจอคุณยายหรือคุณป้าคนนั้นล่ะ คุณจะมีวิธีเข้าถึงข้อมูลได้อย่างไร เพราะฉะนั้นตรงนี้ เราก็เลยพยายามสร้างแพลทฟอร์มไว้บอกเรื่องราวท้องถิ่น มีการกำหนดเส้นทางการเรียนรู้ รวมถึง data base เกี่ยวกับย่าน ซึ่งสิ่งนี้เราพยายามทำอยู่ โดยเราทั้งหมด ผม อาจารย์แฟน อาจารย์แนน อาจารย์ไก่ และอาจารย์ภู ก็จะร่วมกันทำข้อเสนอในการปรับปรุงพื้นที่เพื่อรองรับการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่สู่เมืองแห่งการเรียนรู้ เพื่อเอาไปเสนอเป็นแนวทางแก่หน่วยงานรัฐต่อไป
มีเรื่องน่าเสียดายอยู่นิดตรงที่ ช่วงที่เราทำกระบวนการการเรียนรู้ ยังไม่มีเจ้าหน้าที่จากเทศบาลเข้าร่วมเท่าไหร่ จนกระทั่งเราทำกันเสร็จแล้ว สมาชิกสภาเทศบาล (สท.) ก็เริ่มเข้ามาคุย นายกเทศมนตรีเพิ่งลงพื้นที่ป่าห้า (สัมภาษณ์เมื่อเดือนเมษายน 2565 – ผู้เรียบเรียง) มารับฟังข้อสรุปการทำงานจากอาจารย์ไก่และอาจารย์แฟน ทีนี้ข้อมูลที่เราได้จากชุมชนก็เริ่มส่งกลับไปทางเทศบาล อยู่ที่ว่าเขาจะเลือกไปใช้กับนโยบายเขาอย่างไรก็ต้องรอดูกันต่อไป อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่านี่เป็นแนวโน้มที่ดี
ส่วนคำถามในภาพรวมว่าคนเชียงใหม่ควรเรียนรู้อะไรเป็นพิเศษ ถ้าตอบแบบในมุมนักวิจัย ผมมองว่าตอนนี้โครงสร้างของชุมชนในเชียงใหม่เราอ่อนแอลงมาก ความอ่อนแอที่ว่าหมายถึงชุมชนหนึ่งอาจไม่มีศักยภาพในการหาเงินหรือไม่มี resource ของตัวเอง และที่หนักกว่าคือไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรกันแน่ เช่นโดยปกติสมมุติผมเป็นเจ้าของชุมชน แล้วผมอยากให้หมู่บ้านผมสวย ผมก็จะไปจ้างนักออกแบบมาลงพื้นที่เพื่อออกแบบให้ตอบโจทย์กับวิถีชีวิตของผมเองและลูกบ้าน แต่ทุกวันนี้ชุมชนส่วนใหญ่เขาไม่ได้สนใจเรื่องนี้ เขาแค่รอให้เกิดการอัดฉีดจากภาครัฐ หากรัฐก็ไม่ได้มองสิ่งนี้เช่นกัน รัฐให้ความสำคัญแต่เรื่องความปลอดภัย สุขภาวะ หรือสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ทว่าสิ่งที่ชุมชนอาจต้องการจริงๆ รัฐอาจไม่มีให้ เพราะรัฐก็ไม่ได้ทำรีเสิร์ชแบบนักออกแบบเพื่อจะได้รู้ว่าแท้จริงแล้วชุมชนต้องการอะไร
ผมจึงมองว่าแล้วมิติที่รัฐไม่เห็นนี้ กระบวนการเรียนรู้มันจะไปช่วยชุมชนได้ยังไงล่ะ ยกตัวอย่างเช่น การต่อยอดทรัพยากรที่มี การส่งไม้ต่อให้คนรุ่นใหม่ การฝึกคนที่จะมาเป็นประธานหรือคณะกรรมการชุมชน การจัดการกองทุนในชุมชนเองอย่างยั่งยืนที่ไม่ใช่แค่การเฝ้ารองบจากรัฐ ไปจนถึงเครื่องมือต่อรองกับรัฐและหน่วยงานต่างๆ แต่อย่างที่บอก ปัจจุบันชุมชนส่วนใหญ่มีลักษณะเป็น passive ที่เฝ้ารอการช่วยเหลืออย่างเดียว จึงเป็นเรื่องน่ากังวลมากๆ
เพราะถ้าคุณปล่อยให้ชุมชนเป็นฝ่ายรอรับอย่างเดียว โดยขาดไร้ซึ่งพลังอำนาจในการต่อรองกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เลย สุดท้ายโครงสร้างของชุมชนก็จะหายไป อาจมีนายทุนมากว้านซื้อที่ดินเพื่อเปลี่ยนโฉมพื้นที่รองรับธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งในบางย่านของเชียงใหม่ก็กำลังเดินเข้าสู่รูปรอยนั้น คุณอาจจะพบย่านบางย่านหรือถนนบางสายเต็มไปด้วยคาเฟ่หรือร้านรวงชิคๆ มีตึกสวยๆ เท่ๆ ไว้รอให้คนมาถ่ายรูป แต่ในตึกนั้นๆ กลับไม่มีคนอยู่อาศัยเลย พอย่านไม่มีวิถีชีวิต มันก็ย่อมไม่มีจิตวิญญาณ แล้วยังไง… คุณมาเชียงใหม่ คุณจะนั่งกินกาแฟกันทั้งวันจริงๆ หรือ เชียงใหม่กำลังจะกลายเป็นแบบนั้น ขณะเดียวกันรัฐก็ไม่ได้ตระหนักในสิ่งนี้
ผมมองว่า Learning City ก็เป็นแบรนด์แบรนด์หนึ่ง เหมือนเมืองมรดกโลก เมืองสร้างสรรค์ สมาร์ทซิตี้ ทำนองนี้ แน่นอน เป็นเรื่องดีอยู่แล้ว ถ้าเชียงใหม่จะได้ติดแบรนด์แบรนด์นี้ในอนาคต แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือระหว่างที่เราจะก้าวไป เราจะใช้เครื่องมือนี้ต่อรองกับรัฐและภาคประชาชนอย่างไร เพื่อเปลี่ยนแบรนด์แบรนด์นี้ให้มาช่วยขับเคลื่อนเมืองหรือพัฒนาผู้คนด้วยกระบวนการที่ยั่งยืน ซึ่งในทางกลับกัน มันจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย หากนักวิจัยและภาคประชาชนทำงานร่วมกัน แต่รัฐกลับไม่ตระหนัก หรือร่วมมือกับพวกเราด้วย”
///
รศ.ดร. สันต์ สุวัจฉราภินันท์
หัวหน้าโครงการ ‘โครงข่ายท้องถิ่นกับการเรียนรู้เมืองเชียงใหม่’
และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่