อยากให้ชาวสวนขลุงเป็นยังไงเหรอ ผมขอยืมคำในหลวงท่าน “ใครจะว่าเราเชยก็ช่างเขา ขอให้เราอยู่แบบพอมี พอกิน และมีไมตรีจิตต่อกันจริงๆ ไม่ได้เชย มันล้ำหน้าต่างหาก...”

Start
361 views
18 mins read

“ที่สวนลุงต้อยนี่ หน้าผลไม้มา ผมรับเฉพาะเสาร์อาทิตย์ กินฟรีหมด คุณจะซื้อกลับหรือไม่ซื้อกลับไม่เป็นไร อยากให้มาชิมทุเรียนแปลกๆ ของผมเป็นแปลงทุเรียนโบราณ ปีนี้จะมีไม่ต่ำกว่า 15 สายพันธุ์ และผมรวบรวมสายพันธุ์ทุเรียนไว้ ทั้งหมดตอนนี้มี 52 พันธุ์ ทำให้กับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ทรงให้ที่นี่เป็นแปลงรวบรวมของเกษตรกรจริงๆ แล้วในสวนผมเป็นต้นแม่ที่ไปหายอดมาปลูก ไม่ได้เพาะเม็ด เราขึ้นทะเบียน ใส่โค้ด ใส่รหัส จับจีพีเอส ติดตามผล 4 ปี คือเรายังอยากรวบรวมทุเรียนพันธุ์อื่นอีก พระยาศรีสุนทรโวหารแต่งไว้ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เขียนถึงพันธุ์ทุเรียนไว้ 68 พันธุ์ เป็นคัมภีร์ให้เราไปค้นหาต่อ

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงให้ลองยกทุเรียนโบราณขึ้นมาซัก 5 พันธุ์ที่จะไปทางทุเรียนเศรษฐกิจได้ ผมก็เลือกพันธุ์เด่นๆ นกหยิบ พวงมณี กบสุวรรณ กบพิกุล ดาวกระจาย ตอนนี้ 5 พันธุ์นี้ออกแนวหน้าหมด กบพิกุลกับดาวกระจายน้อยมาก อำเภอขลุงมีอย่างละต้นเดียว กบสุวรรณอำเภอขลุงมี 3 ต้น ท่าใหม่มี 2 ต้น ที่ขึ้นเครือข่าย ถ้าอำเภอขลุงต้องกระดุมกับหมอนทอง แต่หมอนทองมันปลูกไปทั่ว ผมเอาพันธุ์นกหยิบ พวงมณี กบสุวรรณ ไปจดจีไอเป็นทุเรียนประจำถิ่น ปีนี้จะไปขอจดกบชายน้ำ ทองย้อยฉัตร ที่สวนผมเน้นพันธุ์นกหยิบ เพราะคุณภาพ อร่อย ใครกินนกหยิบปุ๊บ เขาบอกไม่ต้องเอาหมอน ก้านยาวมาแล้ว นกหยิบดีกว่า ผมมามีครอบครัวอยู่ที่นี่ ก็มองว่า เขาปลูกแต่หมอนทอง ไม้เศรษฐกิจจริง อย่าลืมว่าอะไรทุกอย่างถ้ามีพีคต้องมีหล่น แล้วตอนนี้เริ่มพีค คือราคาถีบขึ้นมา จากทุเรียนกิโลละ 50-60 มาเป็น 200 บาท ถ้าเรามีสวนน้อย เนื้อที่น้อย ไปเล่นตามเขา เราจบ แล้วผมได้ประสบการณ์จากเคยทำงานฝ่ายส่งเสริมของซีพี คือทำอะไรก็ได้ แหวกตลาดออกไป ผมเลยเข้ามาเล่นนกหยิบ ใช้เวลา 2-3 ปีเองติดตลาดเลย เป้าแรกที่เราบุกตลาดได้คือมีจำนวนน้อย อีกอย่างผมขึ้นทะเบียนไว้หมด ในเครือข่าย ใครขายไม่ได้บอกผม ผมให้ราคา ซื้อเงินสดเลย ปัจจุบันผมส่งกรุงเทพฯ ต้นฤดูคือปลายมีนาคมก็ 300 บาท กลางฤดูก็ประมาณ 250 บาท ช่วงพีคอยู่ 200 บาท คนที่กินทุเรียนเป็นจะกินทุเรียนต้นฤดู คือผลทุเรียนยังไม่โดนฝน เนื้อจะแห้ง

ที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ดูวิธีปลูก ใช้ยังไง ทุเรียนผมเอาไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก เราถึงกล้าพูดได้ว่าของเรา 100% ผมทิ้งเคมีเลย กองปุ๋ยนี้ผมทำไว้ตลอด เผื่อใครมาซื้อต้นทุเรียนผม ผมให้ไปลองขุดหลุม เอาปุ๋ยที่เราทำผสมแล้วเอาดินของมันมาเพื่อปลูก ทุกวันนี้ปัญหาชาวสวนทุเรียนคือราคาปุ๋ยแพงมาก พูดจนไม่รู้จะพูดยังไงแล้ว ถ้าหันมาทำเกษตรอินทรีย์ อย่างมังคุดผม ต้นทุนการผลิต 500 กว่าบาทเอง ค่าปุ๋ยค่ายา อันนี้คือคิดตามหลักเศรษฐศาสตร์เลยนะ มีค่าเสียโอกาสค่าเสื่อมค่าอะไรหมด ค่าแรงเราด้วย ตอนผมเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ ปี 2555 เรียกประชุมมา 80 กว่าคน ตอนนี้เหลือไม่ถึง 10 คน เราต้องยอมเขา เขาจำนวนเยอะ เน้นเศรษฐกิจ การค้า ถ้าเขามาทำแบบเรา เขาทำไม่ได้ อย่างผมทำ ไม่เคยใช้ลูกจ้าง ใช้เฉพาะหน้าเก็บเกี่ยว คือคนสวนเสียนิสัยอย่าง ได้เงินมาปุ๊บ ช่วงหน้าฝนเนี่ย เที่ยว ใช้ เนี่ยถ้าเผื่อคุณเข้าสวนตอนนั้น เข้าไปเรื่อยๆ เนี่ยทุเรียนผมไม่มีเป็นโรค มีนิดหน่อยผมก็รักษาแล้ว คืออินทรีย์เนี่ย รักษาง่ายที่สุดเลย ต้นทุนไม่ต้องไปซื้อ เวลาเราไปถ่ายน้ำมันเครื่อง เอาน้ำมันเครื่องมาทาแผลที่ต้นได้ คือสมัยก่อนเขาใช้ทากำมะถัน ผมก็มองว่าถ้าเผื่อใช้กำมะถันจริงๆ น้ำมันเครื่องดีที่สุด เออ มันก็ได้ผลดีด้วย ทาไปปุ๊บ น้ำมันเครื่องแห้ง แผลมันก็แห้งเลย มอดออกเลย

องค์ความรู้นี้ต้องลองผิดลองถูก กว่าจะออกมายืนยันกันได้ใช้เวลาร่วมสิบปี ใครสนใจจริงๆ มาคุยกัน ผมจะบอกวิธีใช้ มังคุดผมออกต้นปีทุกปี กลางเดือนมีนาคม ผมมีมังคุดขายแล้ว กิโลละ 200 กว่าบาท คนก็พยายามทำตาม เขาก็ โอ้โห ต้อย ไม่ไหว ยุ่งยาก คือเกษตรอินทรีย์ ค่าแรงสูง แต่ถ้าเราทำเอง ตัวนี้ก็ตัดไป เราตั้งของเราไว้แค่ 400 บาท เราต้องขยัน เช้าตีสี่ ฟ้าสาง ไก่ขันปุ๊บ ผมออกเดินละ ข้างบ้านบอกลุงต้อยไปคุยกับใครเช้ามืด ผมบอกคุยกับต้นไม้ เฮ้ย ได้เวลา ใกล้จะออกดอกแล้วนะ เตรียมตัวได้แล้ว บำรุงให้กินตลอดปี ใครบอกว่าบ้าก็ยอม ทำแบบนี้แล้วดี คืออยู่ที่ความสนใจเราด้วย เราจะไปเดินคนเดียวท่อมๆ เหรอ ก็สู้คุยกับต้นไม้ไปด้วยเลย อย่างตอนฝนเริ่มทิ้งช่วง เขาฉีดยาพ่นยากันอุตลุดเลย ถ้าเผื่อคุณเตรียมมาตั้งแต่แรก ตอนนี้ของผมไม่ต้องเลย ใบสมบูรณ์ อินทรีย์มันกินตลอดปี ปีนึงผมใส่สามครั้ง ช่วงเก็บเกี่ยว ช่วงกลาง ช่วงลูกกำลังจะโต เราทิ้งช่วงให้เขา ช่วงละ 4 เดือนๆ ผมบอกตรงๆ เลยว่าเป็นชาวสวนเกษตรอินทรีย์อยู่ได้สบาย มังคุดต้นนึงทุน 500 ต้นใหญ่ให้มันกิน 800 บาทเลย เราขายได้สองหมื่นกว่าสามหมื่น แถวนี้เขาก็เปลี่ยนมาใช้น้ำหมักเยอะ อย่างสวนใหญ่ปีนึงได้ห้าหกล้าน แต่ครึ่งนึงที่เขาจ่ายไปคือค่าแรง ค่าปุ๋ย ค่ายา อย่างนี้ผมทำเองหมด แล้วพวกสมุนไพรไล่แมลงไม่ต้องไปหาอื่นไกล หาอยู่ในสวนเรา เยอะแยะ มองไปก็เห็น ทุเรียนออกอยู่ที่ความสมบูรณ์ ตอนนี้ที่เขาทำทุเรียนเศรษฐกิจ เขาใช้สารกระตุ้นให้ออกดอก ของเราไม่ต้อง ต้นไหนสมบูรณ์เต็มที่เขาก็ออก ตอนนี้ผมลองจับ 2 สูตร น้ำหมักกับสมุนไพร มาใช้ จากที่เราทดลองหลายๆ ตัว คลำหาเจอแล้วว่า น้ำหมักกับสมุนไพร ได้ผล

อยากให้ชาวสวนขลุงเป็นยังไงเหรอ ผมขอยืมคำในหลวงท่าน “ใครจะว่าเราเชย ก็ช่างเขา ขอให้เรา อยู่แบบพอมี พอกิน และมีไมตรีจิต ต่อกันจริงๆ ไม่ได้เชย มันล้ำหน้า ต่างหาก...” ผมทำป้ายไม้ พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุกครั้งที่ผมไปเปิดบูทผมต้องมีป้ายนี้ไป ท่านเตือน ให้กำลังใจเรา คิดดูท่านตรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ผมไปค้นมาที่หอสมุดแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2518 ให้นักศึกษาปี 4 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ฟัง แล้วก็นิ่ง ไม่มีใครสนใจ จนมาถึงปี 2540 สมัยชาติชายฟองสบู่แตก คนถึงเริ่มหันมามองเศรษฐกิจพอเพียง”

สุทธิเดช กฤษณะเศรณี
ปราชญ์เกษตรท้องถิ่น สวนลุงต้อย เกษตรอินทรีย์

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย