/

อาจารย์แดงเป็นคนที่ให้ป้าก้าวเดินมาทุกวันนี้ ท่านนำทางแล้ว ป้าก็ตาม
จนทุกวันนี้คนรู้จักป้าเยอะมาก เวลามีงานวัดประยุรฯ ต้องมีหมูกระดาษป้าน้อย

Start
285 views
15 mins read

“คุณพ่อเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนวัดประยุรวงศาวาสเป็นใต้ถุนสูง ข้างล่างน้ำแฉะๆ คนก็คงจะไปบนบาน เอาหมูจริงๆ มาปล่อย จนหมูออกลูกเต็ม เฉอะแฉะอยู่ใต้ถุน บางทีคนก็มาขโมยลูกหมูไปกิน แล้วมีญาติโยมจะมาบูรณะวัดให้ หลวงพ่อเลยให้เอาหมูไปที่อื่น ทีนี้คุณพ่อก็ผูกพันเพราะเคยเอาข้าวไปให้หมู ท่านเป็นคนปั้นพระพุทธรูปดินเผา เลยมาทำหมู แต่ตอนนั้นบ้านเมืองควบคุมการใช้กระดาษ ท่านมองว่าต่อไปข้างหน้าขยะจะเยอะมาก เลยเอากระดาษเหลือใช้มาทำ พ่อเกิดวันอาทิตย์เลยทาสีแดง คนจีนก็บอกว่าเป็นหมูสีแดงนำโชค แล้วท่านบอกว่าหมูเป็นกระดาษ ยังไงก็ต้องเป็นขยะ เลยเจาะช่องนึงทำเป็นหมูออมสิน แต่อย่าเปิดให้เขา เขาจะได้ออมให้เต็ม เพราะพ่อสอนว่าเงินทุกบาททุกสตางค์มีค่า แล้วถ้าเขาจะเอาไปฝากธนาคารก็ผ่าหรือเจาะเอาเงินออก แล้วเอามาให้เราซ่อมได้ฟรีเลย ทำ 2-3 วันก็เสร็จ จะกลับมาสภาพไหนเราซ่อมให้สวยกลับไป พ่อบอกทำอย่างนี้ เราก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร ต่อไปก็จะอยู่ได้ แล้วเราก็อยู่ได้จริงๆ

แต่ตอนป้าเล็กๆ ป้าไม่ทำนะ คุณพ่อก็ให้ลูกๆ ทำ พี่ๆ ก็ทำ ป้าบอกพ่อ หนูไม่ชอบ เลอะเทอะ ตอนทาแป้งเปียกก็เปรอะๆ พ่อก็ให้ช่วยเล็กๆ น้อยๆ ตัดกระดาษไป ท่านมีนโยบายใส่ให้เราดูโดยไม่รู้ตัว ให้เราช่วยเขา ทำให้มันซึมไปเอง จนเราเริ่มจะทำปุ๊บ เราไม่ง้อใครเลย เราทำได้ ป้ามาทำตอนอายุสี่สิบ ป้าแต่งงานก็ไปอยู่กับแฟนข้างนอก ทำเสื้อผ้า ดีไซน์มั่ง อยู่ๆ ไปก็ไม่ใช่งานเราน่ะ เลยออกมา แล้วค่อยมาลองทำหมู เราชอบวาดชอบเขียนอยู่แล้ว ทีนี้ก็คิดว่าถ้าเราไปซื้อหมูแต่เราเกิดปีชวด ป้าก็เลยทำหนู ทำเสือ ทำกระต่าย แต่ปีงู มะโรงมะเส็งนี่ยาก เพราะพิมพ์ที่เราอัดไม่สามารถให้รายละเอียดเล็กๆ ได้ คือเวลาเริ่มทำ มีแม่พิมพ์ แป้งเปียก กระดาษเหลือใช้เพราะนโยบายของเราคือใช้สิ่งที่เหลือใช้ ไม่เป็นขยะ ขั้นตอนคือปั้นรูปก่อน ตัวไหนเป็นกระต่าย เป็นหมู ฉีกกระดาษเป็นเส้นๆ ทาแป้งเปียก ถมเข้าไปตรงส่วนที่เป็นรูด้านในจะได้ขึ้นรูป พิมพ์เสร็จแล้วก็เอามาตากแดด ห้าวัน แล้วมาประกบ เอากระดาษเอสี่ข้างขาวมาปิดให้ทั่วตัว แล้วลงสี สีน้ำมันจะทนกว่า แต่ถ้าไปทำเวิร์กช็อป ป้าทำพิมพ์เป็นตัวๆ สีขาวไปก่อน แล้วให้คนลงสี ก็จะใช้สีน้ำ เพราะทาทับง่าย เอาไปแล้วไม่อยากได้ลายนี้ ก็เอาสีขาวทาทับแล้วระบายต่อได้เลย เบื่อก็วาดใหม่ เราก็ไม่ได้แนะนำเขาต้องซื้อตัวใหม่ตลอด เงินเขาเงินเรา เราก็รู้คุณค่า

ป้าก็นั่งทำอยู่อย่างนี้แต่ไหนแต่ไร ขายได้บ้างไม่ได้บ้าง ไม่มีใครรู้จักป้าเลย จนอาจารย์แดง (ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง – UddC) เข้ามาทำโครงการและกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูในพื้นที่ย่านกะดีจีน-คลองสาน มีงานฉลองวัดประยุรฯ ได้รางวัลยูเนสโก (โครงการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม อันดับ 1 (Award of Excellence) ปี พ.ศ. 2556 จากการประกวดโครงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก) อาจารย์แดงมาบอกให้ป้าน้อยขึ้นเสวนา ป้าบอกไม่เอา ป้าไม่เคย อาจารย์แดงกับคุณธีรนันท์ (ธีรนันท์  ช่วงพิชิต ประธานมูลนิธิประชาคมย่านกะดีจีน-คลองสาน) บอกว่าเดี๋ยวช่วย ตอนแรกป้ากลัวมาก สั่นมาก แต่เป็นจุดกล้าของป้าวันนั้นเลย อาจารย์แดงเป็นคนที่ให้ป้าก้าวเดินมาทุกวันนี้ ท่านนำทางแล้ว ป้าก็ตาม คิดว่าเราต้องเดินด้วยตัวเอง นั่งอยู่อย่างนี้ ใครจะมาซื้อซักเท่าไหร่ พอกินมั้ยครอบครัว จนทุกวันนี้คนรู้จักป้าเยอะมาก ป้าออกไปทุกพื้นที่นะ กระทรวงวัฒนธรรม ททท. เวลาเขามาประชุมที่วัด ป้าเอาหมูไปแจก เราเห็นแล้วว่าไปได้ ไทยเบฟก็เข้ามาสั่งหมูไป ก็ช่วยป้าเยอะ เวลามีงานวัดประยุรฯ ต้องมีหมูกระดาษป้าน้อย

หมูกระดาษโบราณ เดี๋ยวนี้โหยหาเลยค่ะ เขาไม่เคยเห็น ก็ตื่นเต้น ป้าเคยลองทำสีอื่นนะ แต่พอสีแดงหมด คนก็ถามหา เป็นเรื่องนำโชคด้วย ถ้าทัวร์คนจีนมา ไม่พลาด เสร็จหมูสีแดงเรา ถ้าเป็นฝรั่งอาจจะไม่เท่าไหร่ คนจีนเวลาซื้อของไม่ซื้อน้อย นึกถึงพี่น้อง วันนึงเคยขายเป็นพัน ช่วงโควิดคนไม่เข้ามา ป้าก็ทำไปเรื่อยๆ สะสมไว้ พอคนมาป้าก็มีขาย เอาไปขายงานลอยกระทงวัดประยุรฯ ขายดีมากเลย อาจารย์แดงมีงานที่ไหน ก็ยังมาเรียกป้าไป เมื่อสองเดือนที่แล้วที่สวนสานธารณะ ก็เอาหมูป้าไปทำเวิร์กช็อป คือทำให้เขาดูตรงนั้น แต่ส่วนใหญ่คนอยากระบายสีมากกว่า ไอคอนสยามก็ซื้อไปจัดงาน ให้ป้าไปทำเวิร์กช็อป เขายังชวนป้าไปอยู่ในนั้น ป้าไม่ไปหรอก ของป้าต้องใช้ตากแดด แล้วป้าอยู่ที่ตรงมุมนี้เป็นของวัดประยุรฯ ตรงบ้านป้านี่แหละ อยู่ที่ของเราดีกว่า หมูกระดาษของป้าไม่มีที่ไหน การเขียนไม่มีใครเหมือนป้า หมูของใครมาวาง ของป้าเขาจะรู้เลย มีที่เขาเห็นเราขายได้เขาอยากทำ เราสอน เขาก็ทำได้ ป้าไม่เคยกลัวว่าคนเอาไปทำ เราบอกทำเหอะ เลี้ยงครอบครัวได้เลย แต่เขาไม่เอาจริง ปล่อยปละละเลย ไม่คิดที่จะพัฒนา บางคนบอกยาก แต่ทุกอย่างนะถ้าเราไม่ใส่ใจมันก็จะยาก ลองใส่ใจแล้วไม่มีอะไรยาก”

ธนธรณ์ ธงน้อย
เจ้าของป้าน้อยหมูกระดาษ ชุมชนวัดประยุรวงศ์

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย