“หน่วยงานเกษตรอำเภอขลุงเป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้กรมส่งเสริมการเกษตร มีหน้าที่ทำให้เกษตรกรอยู่ดีมีสุข ทีนี้อำเภอขลุงเป็นอำเภอใหญ่ ก็เหมาะที่จะทำเป็น Learning City เนื่องจากเกษตรกรที่นี่เก่งมาก และข้อเด่นคือมีหลายจุดเรียนรู้
จุดแรกคือศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ที่ตำบลตะปอน กลุ่มทองใส สมศรี ซึ่งเป็นตัวแทนให้กรมเราได้เวลามีงานถ่ายทอดความรู้และบูรณาการกับหน่วยงานอื่น อีกจุดก็ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ที่ตำบลซึ้ง เป็นตำบลที่มีทุเรียนมาก เป็นทุเรียนพันธุ์กระดุม ซึ่งปลูกก่อนใคร ออกก่อนใคร เขาทำเชื้อไตรโคเดอร์มา เป็นการใช้สารชีวภัณฑ์ รักษาโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียน เขาเป็นแปลงใหญ่ยกระดับ เราสนับสนุนเครื่องมือในการจัดการศัตรูพืช อีกที่คือศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ที่ตำบลตรอกนอง ของลุงจำปี แข็งขัน ลดต้นทุนการผลิตด้วยการผสมปุ๋ยเคมีใช้เอง เนื่องจากปุ๋ยราคาแพงในอดีต โดยเกษตรกรต้องมีการตรวจวิเคราะห์ดินก่อนจะมาซื้อปุ๋ยว่าสามตัวจะเอาสูตรไหน ดินเขาขาดอะไรอยู่ ศูนย์ฯ ก็ผสมให้ โดยผสมปุ๋ยอินทรีย์ด้วย เรามีงบสนับสนุนเครื่องผสมปุ๋ยให้ ตอนนี้มี 3 เครื่อง ส่วนของลุงจำปีเองทำสวนด้วยการให้น้ำระบบอัจฉริยะ สั่งงานผ่านมือถือ เขาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ใจถึง ลุงจำปีอายุ 70 กว่า มีรุ่นลูกมาสานต่อโดยยังทำงานเอกชนอยู่ระยองด้วย เขามีแผงวงจรคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ สั่งงานจากระยองได้ว่า พ่อ หัวนี้ตันนะ ไปดูหน่อย
โครงการฟาร์มอัจฉริยะเพิ่งเริ่มได้สองสามปี ตอนนี้ยังเกี่ยงเรื่องราคาเพราะเทคโนโลยียังสูงอยู่ คนใช้น้อยก็ยังแพง ทางกรมส่งเสริมฯ ก็มีกลุ่ม Young Smart ตอนนี้มีไม่ถึง 10 คน เขาจะ alert หน่อย แต่ละคนเก่งๆ ทั้งนั้น จบสูงๆ มา มีแนวทางของตัวเอง ศึกษาจากเว็บไซต์มาทำเอง ต้นทุนก็จะต่ำ ตัวเกษตรอำเภอเองก็ปรับกลยุทธ์สอดคล้องกับการทำเกษตรยุคใหม่ ยุค 4.0 ละ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เป็น พัฒนาตัวองค์กร Smart Office ก่อน แล้วมาปรับคนในองค์กร Smart Officer คุณต้องพัฒนา จะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ เกษตรอำเภอรุ่นไหนเก่าๆ ก็ต้องตามให้ทัน หลังจากนั้นก็ไปพัฒนาเกษตรกร Smart Farmer เพื่อให้ทันกัน เราสนับสนุนบรรจุภัณฑ์ให้กับกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่เพื่อจำหน่ายสินค้าออนไลน์เนื่องจากสถานการณ์โควิดมาแบบนี้ การส่งสินค้าผ่านทางนี้จะเยอะ และสนับสนุนให้เขาจัดตั้งเครือข่ายรวมตัวกันขายให้ได้ ไม่งั้นพ่อค้าก็กดราคา
เราอยู่ในอำเภอที่เกษตรกรเก่ง ความเก่งคือผลผลิตเพิ่มขึ้น ทุเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี สองสามปีที่ผ่านมาตลาดส่งออกดีมาก ราคาพุ่ง ปี 2564 ทุเรียนราคาสูงสุดกิโลละ 170 บาท ปี 2565 นี้ 270 บาท เพิ่มขึ้นมากทั้งที่ใครไม่คาดคิดทั้งที่โควิด จากชาวสวนที่ติดหนี้ เขาปลดตัวเองได้ สังเกตเขตนี้รถยนต์ป้ายแดงเยอะมาก ตลาดเมืองจีนรับซื้อเยอะ ต้องออกก่อนนะ ของต้องมีคุณภาพ ที่นี่เรามีเครื่องไมโครเวฟ 5 เครื่อง เพื่อวัดหาน้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนให้กับเกษตรกร เราเอาความรู้นี้จากงานวิจัยของกรมวิชาการมาใช้ เพราะกรมวิชาการไม่รับตรวจให้เกษตรกร เขารับตรวจให้ล้ง ตัวเกษตรอำเภอต้องรับให้กับเกษตรกร ตัวเกษตรกรเขาทำเองได้ แต่เราเซ็นรับรองเฉพาะลูกที่เราตรวจเท่านั้น คือก่อนเกษตรกรเก็บเกี่ยวสองถึงสามวัน ต้องเอามาตรวจเปอร์เซ็นต์แป้ง จริงๆ เขาต้องดูตั้งแต่วันออกดอกแล้วว่าเขาควรจะเก็บเกี่ยวเมื่อไหร่ แต่ด้วยความที่ราคาครั้งแรกจะสูง บางคนเขาก็เก็บก่อน ก็เลยต้องมีการตรวจเผื่อ ป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด วิธีการทำคือเอาทุเรียนมาทั้งลูก เฉือนเฉพาะตรงกลาง ผ่าออกประมาณ 1 นิ้ว เอาแต่เนื้อที่ยังไม่ถึงเมล็ด สุ่มตัวอย่างมาทุกพู เอามาบด ปั่นละเอียด ชั่ง 10 กรัม เข้าไมโครเวฟ โดยชั่งจานกระดาษก่อนเพื่อให้ไม่มีความชื้นในกระดาษเลย ใช้อุณหภูมิปานกลางไล่ความชื้นไปเรื่อยๆ สิบกว่าครั้ง น้ำหนักนิ่งเมื่อไหร่ก็มาคำนวณเป็นน้ำหนักแป้ง ซึ่งมาให้ตรวจวันละร้อยกว่าคน ขั้นตอนมันเสียเวลา ก็หนักอยู่ค่ะ เลิกงานสี่ห้าทุ่มนะคะที่นี่ เกษตรอำเภอออกค่าอาหาร ค่าล่วงเวลา ค่าอะไรเองนะคะ แล้วต้องทำให้เสร็จ เพราะถ้าข้ามคืนปุ๊บ ทุเรียนจะแก่เพิ่ม
ทีนี้ พอเกษตรกรมีฐานะขึ้นมา เขาต่างคนต่างเก่ง เขาไม่ค่อยฟังกันละ รวมกลุ่มกันยาก เรียกประชุมก็ไม่ค่อยมา คนเคยมาก็มา เกษตรกรในพื้นที่ก็จะมีปัญหาเรื่องโรคแมลง ซึ่งเขาใช้สารเคมีเยอะมาก แต่ละตัวอันตราย เราพยายามเน้นให้หันมาใช้สารชีวภัณฑ์ พวกไตรโคเดอร์มา เมตาไรเซียม บิวเวอเรีย คือเรามีสนับสนุน ในตู้เย็นมีแต่หัวเชื้อทั้งนั้นเลย แต่เขาต้องรวมกลุ่ม ไม่ใช่รายเดี่ยวมาขอ แล้วอำเภอขลุงนี่น้ำท่วมนะคะ ที่ท่วมหนักๆ คือตำบลบ่อ ปัญหาคือปลูกพืชไม่เหมาะสม เอาที่นามาปลูกทุเรียน ด้วยความที่ราคาดี เกษตรกรก็อยากปลูกอะไรที่ขายได้ราคา แต่ปลูกไปแล้วมันยืนต้นตาย ก็แนะนำให้เปลี่ยนพืช เคยปลูกอะไรได้ปลูก ปลูกพืชอายุสั้น เราสนับสนุนพันธุ์ผัก เพื่อให้เขาสามารถอยู่ได้ กว่าทุเรียนจะให้ผลห้าปี กำลังโตแล้วมาตาย แต่ปลูกผักได้ทุกวันนะ
ตอนนี้ภารกิจของกรมฯ คือพยายามจัดตั้งกลุ่ม Young Smart รุ่นใหม่มาสานต่อ เพราะรุ่นเก่าก็เริ่มอายุเยอะ มีข้อกำหนดว่าคนที่มา มีอายุตั้งแต่ 17-45 ปี สังเกตคนทางนี้จบมาไม่ค่อยทำงานอย่างอื่น จะมาทำสวน เพราะต้นทุนการผลิตทุเรียนไม่ได้สูงมากนะคะ ถ้าคนไม่ได้สัมผัสจะไม่รู้ ที่เขาบอกปุ๋ยราคาแพง ถ้าเทียบกับการทำไร่ ยังน้อยกว่า เทียบกับจังหวัดอื่นยังน้อย น่าทำ 20-30 ปีที่ผ่านมา ราคาทุเรียน 15 บาท เพราะไม่มีตลาดส่งออก ตอนหลังมีตลาดส่งออก ราคาพุ่ง แต่เราก็ต้องทำคุณภาพ เราบังคับเลยว่าเกษตรกรทุกคนต้องได้มาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices การผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม) ถึงจะสามารถขายให้กับล้งได้ แล้วก็พยายามให้เขาตั้งกลุ่มทำล้งเอง แต่ก็มีปัญหาเรื่องภาษาอยู่
ทิศทางเกษตรกรรมในอนาคตของอำเภอขยายวงกว้างมากขึ้น สังเกตจากการตั้งกลุ่มแปลงใหญ่ ตอนแรกมีแค่ตำบลละกลุ่ม ตอนนี้เป็นสองสามกลุ่มต่อตำบล ส่วนจะทำ Learning City ให้ยั่งยืน ก็ต้องให้ออกมาเป็นรูปธรรมให้ได้ เราพยายามถ่ายทอดต่อ ชี้นำให้เกษตรกรเห็นข้อดี มีคนจากที่อื่นที่เขาไม่ประสบความสำเร็จมาขอศึกษาดูงาน เราก็หาคนมาถ่ายทอดให้กับอำเภออื่น จังหวัดอื่น ถ้าเขาได้มาเห็นว่าที่นี่เศรษฐกิจดี ก็ควรจะมีการทำตามบ้าง”
ลำไพร ปรีชาโชติ
หัวหน้าสำนักงานเกษตรอำเภอขลุง