“เขาใหญ่มีคาเฟ่และโรงแรมเยอะมาก แต่รถขยะมีแค่ 2-3 คัน แล้วเก็บอาทิตย์ละครั้งหรือสองครั้ง มันไม่ทัน ส่วนเราก็พยายามช่วยเขาเต็มที่ด้วยการแยกขยะ”

Start
262 views
18 mins read

“เราเกิดและโตที่อำเภอปากช่อง บ้านอยู่ในพื้นที่เขาใหญ่ หลังเรียนจบอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ทำงานด้านมาร์เก็ตติ้ง บริการลูกค้าที่กรุงเทพฯ ได้สองปี ช่วงนั้นยังไม่รู้จักคำว่า PM2.5 แต่รู้สึกว่ามันหนามาก สุขภาพร่างกายไม่ไหว เป็นภูมิแพ้ด้วย ก็ตัดสินใจกลับมาอยู่บ้าน คุณพ่อ (ธันวา เชี่ยวพานิช) ก็อยากให้กลับอยู่แล้ว ท่านเคยเป็นผู้จัดการโรงแรมมาก่อน เลยอยากทำงานด้านโรงแรมบ้าง ก็มาทำงานโรงแรมในเขาใหญ่เกือบปี แล้วก็อยากไปเก็บประสบการณ์อื่นเลยทำเรื่องจะไปเรียนต่อปริญญาโท MBA แต่คุณพ่อมองว่าเรามีที่ดินที่ซื้อเก็บไว้เป็น 10 ปี เผื่อในอนาคตอยากทำอะไร การไปเรียนป.โทก็เสียโอกาสเริ่มทำธุรกิจจริง อยากเรียนอะไรก็ไปเรียนเป็นคอร์สๆ ได้ ท่านบอกว่าเราเที่ยวคาเฟ่อยู่แล้ว เห็นที่อื่นๆ เราอยากมาทำให้เขาใหญ่เติบโตไปยังไง ที่ดินที่มีอยู่จะพัฒนายังไง ก็เลยเอาเรื่องคาเฟ่ที่เราสนใจ มาทำร้าน El Café ตอนนี้ก็เข้าปีที่ 3

จริงๆ ไม่ได้คิดเรื่องทำธุรกิจเป็นของตัวเองเลย รู้สึกว่างานที่ได้เงินเดือนทุกเดือนๆ มีความมั่นคงกว่า แต่ทำร้าน วัตถุดิบ อะไรต่างๆ จะบริหารจัดการยังไง กลัวทุกอย่าง แต่คุณพ่อก็คอยชี้แนะ พอมาทำร้านจริงๆ ก็เหมือนทำไปด้วยเรียนไปด้วย หลายอย่างเราไม่เคยเจอ ไม่เคยเรียน ไม่เคยรู้มาก่อน ก็มาเจอหน้างานจริง ธุรกิจร้านกาแฟในเขาใหญ่ตอนนั้นยังมีคาเฟ่ไม่เยอะ เรารู้สึกว่า เขาใหญ่เที่ยวอะไรได้นอกจากอุทยานฯ กับร้านอาหาร เอาจริง ไม่มีที่ให้เที่ยว ไม่ค่อยมีกิจกรรมหรือมีอะไรให้คนไป take time ได้ มองว่าคาเฟ่เราอยู่วิวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ค่อนข้างได้เปรียบเรื่องธรรมชาติ ทำให้คนรู้สึกว่ามานั่งพักผ่อนได้ ก็ตั้งโจทย์ร้านให้เป็นทั้งคาเฟ่และเป็นแหล่งท่องเที่ยว รู้สึกว่าตอบโจทย์ และประสบความสำเร็จอยู่ เพราะเปิดในช่วงโควิด ซึ่งคนมองว่าไม่ดีในการทำธุรกิจ แต่เขาใหญ่ไม่มีผล เพราะ หนึ่ง อากาศดี สอง ใกล้กรุงเทพฯ สาม คนออกนอกประเทศไม่ได้ แต่คนอยากเที่ยว ไปไหนใกล้ๆ ที่พอไปได้ เขาใหญ่ตอบโจทย์มาก ตอนเราเปิดร้าน โปรโมตทางสื่อโซเชียล กระจายข่าวทางกลุ่มไลน์และกลุ่มสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ คนเห็น ก็มาที่ร้านเรามากเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้

เราใส่ใจกับรสชาติกาแฟและขนม นำเสนอเมนูแตกต่างจากที่อื่น และมีความ unique เช่น Cruffle แป้งครัวซองอบวาฟเฟิล รู้สึกว่าเป็นเจ้าแรกในเขาใหญ่ที่ทำเมนูนี้ สร้างความว้าวให้ลูกค้าเหมือนกัน แล้วเกิดการปากต่อปาก ไปร้านนี้ต้องกินอันนี้นะ ต้องไปร้านนี้ จะได้ไปกินอันนี้ เป็นเหตุจูงใจให้เข้ามา คนไม่อยากไปคาเฟ่ที่สวยแต่ไม่อร่อย ในเมื่อสถาปัตย์และรูปลักษณ์ของคาเฟ่เราเป็นแบบที่คนชอบ แต่จะทำยังไงให้เป็นการบอกต่อที่ดึงคนเข้ามาได้จริงๆ เพราะฉะนั้น เรื่องรสชาติสำคัญ ด้วยความที่เป็นคนเที่ยวคาเฟ่มาเยอะมาก ชิมเยอะ เราก็พัฒนาทำสูตรของเราเอง คนจะชมร้านสวย วิวดี เรารู้สึกดี แต่เมื่อไหร่ที่คนบอกว่าขนมอร่อย เครื่องดื่มอร่อย นี่คือสิ่งที่เราตั้งใจจริงๆ และทำให้ร้านอยู่ได้ ตอนร้านครบ 1 ปี มีคาเฟ่ขึ้นใหม่ 5-6 ที่ภายในปีเดียว ตอนนี้มีประมาณ 20 ร้าน ซึ่งเป็นการแชร์ตลาดกันมากขึ้น ก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย คนมาเขาใหญ่ก็รู้สึกว่ามีคาเฟ่ให้เที่ยวหลายที่ กระตุ้นให้คนมาเที่ยว แต่การมีตัวเลือกมากขึ้น คนอาจเลือกไปร้านอื่นมากกว่าจะมาร้านเรา ก็เป็นโจทย์ว่าทำยังไงให้คาเฟ่ที่เราเปิดมาก่อน พูดง่ายๆ คือ เป็นคาเฟ่ที่เก่าสำหรับคนที่มาใหม่ๆ ทำยังไงให้มีคนกลับมาซ้ำ หรือมีคนหน้าใหม่ที่ยังไม่เคยมาตัดสินใจมา เรายังชูขนมและเครื่องดื่มเป็นหลัก เก็บสถิติว่ามีลูกค้ากลับมาซ้ำค่อนข้างเยอะเพราะมากินขนม หมายถึงว่าคนไปเที่ยวคาเฟ่อื่นก็จริง แต่สุดท้าย อยากกินขนมนี้ ต้องไป El Café

เราตั้งใจทำธุรกิจที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด คุณพ่อเองใจเขารักเขาใหญ่มากๆ เราเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ย่อยสลายได้ แก้วน้ำ หลอด ฝา แก้วกินที่ร้าน ใส่จาน ใช้การล้าง ลดการใช้พลาสติก ซึ่งต้องยอมรับว่ามีต้นทุนเพิ่มขึ้น และเราก็แยกขยะทุกอย่าง กระป๋อง ขวดนม ขยะเปียก คือเราใช้ทรัพยากร ใช้เขาใหญ่เป็นจุดขาย จะทำยังไงให้เราดูแลรักษาเขาใหญ่ได้มากที่สุด อาจจะมีเรื่องนักท่องเที่ยวเยอะ ขยะล้น ก็เป็นเรื่องการจัดการของเทศบาล ว่าเขาจะทำเป็นบ่อขยะ มีรถขยะเพิ่มมั้ย คนในเทศบาลหมูสีรู้ว่าขยะเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข ก็ได้ยินว่ารถขยะคันนึงแพงมาก เขายังไม่มีงบ คือเขาใหญ่มีคาเฟ่และโรงแรมเยอะมาก แต่รถขยะมีแค่ 2-3 คัน ซึ่งไม่พอแน่นอน แล้วเก็บอาทิตย์ละครั้งหรือสองครั้ง มันไม่ทัน อาจจะต้องเพิ่มความถี่ในการเก็บ ในส่วนของเราก็พยายามช่วยเขาเต็มที่ในเรื่องการแยกขยะ บางส่วนก็แจ้งทางราชการ เราเข้าไปในเครือข่าย เวลามีประชุมชมรมผู้ประกอบการเขาใหญ่ ร้านอาหารเขาใหญ่ เราก็ช่วยกันรับฟัง หาข้อแก้ไข

เขาใหญ่ต้องพยายามรวมกลุ่มให้ได้ เพื่อกระตุ้นในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะการดูแลรักษาเขาใหญ่และธรรมชาติที่เรามีอยู่ ในกลุ่มมีคนรุ่นใหม่ค่อนข้างน้อยที่เป็นผู้ประกอบการของตัวเอง ถ้าเป็นพวกโรงแรม รีสอร์ต ก็มีคนรุ่นเรา แต่เขามาในฐานะตัวแทนโรงแรม ซึ่งหลายๆ อย่างอาจจะไม่ได้กระตุ้นมากเท่าเรา ต้องตามนโยบายโรงแรม แต่ส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือกับเครือข่ายหรือกลุ่มที่มีนโยบายต่างๆ เพื่อให้พัฒนาหรือปรับปรุงไปได้ อย่างตอนที่มีข่าวเรื่องทำเหมืองเขาใหญ่ ตอนนั้นมีการร้องเรียน ตั้งประชาพิจารณ์ เราก็ไปร่วมฟัง มองแนวทางว่าส่งผลดีหรือผลแย่กับเขาใหญ่ แหล่งท่องเที่ยวยังควรจะมีเหมืองหินอ่อนอยู่เหรอ มันมีอยู่แล้วไม่เท่าไหร่ แต่เขาต้องการขยายไปอีก ทางเรามองว่าไม่ควรทำอะไรที่ส่งผลกับธรรมชาติ ถ้าหายไปมันฟื้นยาก ถ้าวันหนึ่งมีประกาศออกมาว่า เขาใหญ่ไม่ใช่มรดกโลก ไม่ได้เป็นแหล่งโอโซน คนก็ไม่ได้รู้สึกว่าจะอยากมา เขาก็ไปที่อื่น ในแง่ผู้ประกอบการก็เสียโอกาสทางธุรกิจไปเหมือนกัน เพราะเราหากำไรจากธรรมชาติ แล้วเราจะดูแลรักษาธรรมชาติยังไงให้ดีต่อไปได้นานหรือให้เสื่อมโทรมน้อยที่สุด”

ปวีนา เชี่ยวพานิช
ร้าน EL Café

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย