เมื่อโครงการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา เริ่มต้นขึ้นเป็นทางรถไฟสายแรกของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2434 ก่อนจะแล้วเสร็จด้วยระยะทางทั้งสิ้น 265 กิโลเมตร โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการเดินรถเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2443 ได้ก่อสร้างทางผ่านกลางหมู่บ้านเล็กๆ ในตำบลขนงพระ อำเภอจันทึก จังหวัดนครราชสีมา จำเป็นต้องระเบิดภูเขาเพื่อวางทางรถไฟ ทำให้หมู่บ้านถููกระเบิดหินทำทางรถไฟเป็นช่อง จึงเรียกหมู่บ้านปากช่องเขานั้นว่า “บ้านปากช่อง” ซึ่งในปี 2492 ได้ยกฐานะเป็นตำบลปากช่อง
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 สายสระบุรี-สะพานมิตรภาพจังหวัดหนองคาย หรือถนนมิตรภาพ เป็นทางหลวงสายแรกที่ก่อสร้างถูกต้องตามแบบมาตรฐานการก่อสร้างทางหลวงทุกขั้นตอน และเป็นทางหลวงสายแรกของประเทศไทยที่มีผิวจราจรลาดยางแบบแอสฟอลต์คอนกรีต เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2498 โดยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาด้านงบประมาณก่อสร้าง เทคนิควิชาการในการก่อสร้าง และจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันมาให้คำแนะนำ จึงเรียกชื่อถนนสายนี้ว่า “ถนนเฟรนด์ชิป” เพื่อแสดงถึงมิตรภาพของประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาในการก่อสร้างถนน โดยมีพิธีมอบถนนสายมิตรภาพให้ประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 ณ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี โดยการก่อสร้างถนนระยะแรกเริ่มต้นจากจังหวัดสระบุรี ผ่านอำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน สิ้นสุดที่ตัวเมืองนครราชสีมา ระยะทาง 148 กิโลเมตร จากนั้นได้ก่อสร้างช่วงต่อจากจังหวัดนครราชสีมา จนถึงจังหวัดหนองคาย รวมเป็นระยะทาง 509 กิโลเมตร เปิดใช้ถนนเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2508 อันนับว่าอำเภอปากช่องคือประตูสู่อีสานค่าที่เป็นอำเภอแรกสุดของการเดินทางจากถนนมิตรภาพที่เป็นถนนสายหลักเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ด้วยเส้นทางรถไฟสายแรกของประเทศไทยและทางหลวงสายแรกตามแบบมาตรฐาน ทำให้ตำบลปากช่องเจริญอย่างรวดเร็ว จนได้รับการยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอปากช่อง และอำเภอปากช่องในปี 2501 ปัจจุบันมีเนื้อที่ประมาณ 1,825.2 ตารางกิโลเมตร เป็นอำเภอที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่สุดในจังหวัดนครราชสีมา มีประชากรมากเป็นอันดับสองรองจากอำเภอเมืองนครราชสีมา อยู่ห่างจากเมืองนครราชสีมาประมาณ 85 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอสีคิ้ว ที่ตั้งของเขื่อนลำตะคอง ซึ่งหากเดินทางด้วยรถไฟ หรือรถยนต์ไปตามถนนมิตรภาพ ก็จะได้เห็นทิวทัศน์เขื่อนลำตะคอง และแนวกังหันลม 12 ต้นตั้งตระหง่านตามรายทาง อันได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งบนถนนมิตรภาพช่วงปากช่อง-สีคิ้ว-นครราชสีมา ที่เรียกกันติดปากว่า “ทุ่งกังหันลมเขายายเที่ยง”
โครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคองระยะที่ 2 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และอ่างพักน้ำตอนบนโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จัดตั้งขึ้นเพื่อเสริมระบบไฟฟ้าให้เพียงพอในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง โดยกังหันลมขนาดกำลังผลิตต้นละ 2 เมกะวัตต์ จำนวน 12 ต้น รวมกำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ ทอดยาว 8 กิโลเมตร บนเขายายเที่ยง ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว มีความพิเศษตรงที่เป็นการนำกังหันลมมาทำงานร่วมกับเซลล์เชื้อเพลิง เรียกว่า Wind Hydrogen Hybrid ซึ่งเป็นระบบกักเก็บและจ่ายไฟฟ้าแห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชีย ทำให้สามารถกักเก็บพลังงานลมซึ่งพัดมากในช่วงเวลากลางคืน นำไฟฟ้ามาใช้ในช่วงกลางวันในอาคารศูนย์การเรียนรู้ลำตะคองที่จะเป็นอาคารที่พึ่งพาพลังงานจากพลังงานหมุนเวียน 100% อย่างมีเสถียรภาพ ขณะเดียวกัน ศูนย์เรียนรู้ระบบพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยอย่างครบวงจรนี้ ยังเป็นจุดหมายพักผ่อนหย่อนใจของชาวโคราชและนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะช่วงเย็น ที่แสงแดดเริ่มคลายอุณหภูมิ พระอาทิตย์ใกล้ลับริ้วน้ำเขื่อนลำตะคองและขุนเขาด้านหลัง บริเวณแนวสันเขื่อนของอ่างพักน้ำตอนบนโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา คลาคล่ำด้วยชาวเมืองและต่างถิ่นมาเดินออกกำลัง ขี่จักรยาน ชมวิวสวยงามรายรอบที่ใบพัดใหญ่โตของกังหันลมยุคใหม่หมุนวนกักเก็บพลังงานทางเลือกไว้ไม่รู้จบ
การเดินทางบนถนนมิตรภาพช่วงปากช่อง-สีคิ้วนี้ได้เห็นทางลอยฟ้าของทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 6 หรือ M6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา ที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี (สักที) แต่มีการเปิดให้ใช้ชั่วคราวช่วงอำเภอปากช่อง-อำเภอสีคิ้ว และช่วงอำเภอสีคิ้ว-อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา ในช่วงเทศกาลหยุดยาวเพื่อแบ่งเบาภาระการจราจร ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ก็กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง น่าคิดว่าภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้คนในชุมชน เตรียมการรับมือและปรับตัวกับทิศทางการพัฒนาเมืองกระจายออกไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไว้อย่างไรบ้าง เช่นเดียวกับเมื่อเลี้ยวจากถนนมิตรภาพเข้าถนนธนะรัชต์บนเส้นทางปากช่อง-เขาใหญ่ ที่บางช่วงมีการขยายพื้นผิวถนนให้กว้างขึ้น รองรับการขยายตัวของภาคการค้าและการท่องเที่ยว โดยต้องแลกกับการตัดต้นไม้ใหญ่ริมทางให้ใครหลายคนลุกขึ้นมาส่งเสียงถึงความคุ้มค่าว่าเสียมากกว่าได้หรือเปล่า ขณะที่การก่อสร้างแบร์ริเออร์กั้นกลางช่วงต้นถนนธนะรัชต์ให้คนจากสองฟากฝั่งไม่อาจเดินข้ามไปมาหาสู่กันได้อย่างเก่าก่อน จะเป็นการถ่างความสัมพันธ์ในชุมชนให้ห่างไกลหรือไม่ และหากมองอีกมุมก็เป็นประโยชน์ด้านความปลอดภัยของการสัญจร ที่ทำอย่างไรจึงจะหาจุดเชื่อมโยงอันสมดุลได้
การเติบโตของเมืองยังส่งผลถึงปัญหาสำคัญในเรื่องการจัดการน้ำ แม้ว่าพื้นที่เขาใหญ่ ปากช่องจะมีปริมาณน้ำฝนตกถึง 10 เดือนต่อปี แต่ไม่สามารถเก็บน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ไว้ได้ ทำให้เกิดปัญหาน้ำหลาก และปัญหาการใช้น้ำบาดาลมากเกินในพื้นที่รอบเขตอุทยานเขาใหญ่ ทำให้ปริมาณน้ำใต้ดินบนเขาใหญ่ลดลงเร็วกว่าปกติ การที่ผืนแผ่นดินเขาใหญ่ ปากช่องพบหินอ่อนอยู่ใต้ดินจำนวนมาก เพราะตำแหน่งที่ตั้งของอำเภอปากช่อง คือมุมด้านตะวันตกเฉียงใต้ของแผ่นดินอีสาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเปลือกโลกที่นักธรณีวิทยาเรียกว่า “แผ่นธรณีอินโดจีน” ที่เคยเป็นทะเลมาก่อน จึงพบหลักฐานอย่างซากปะการัง และสัตว์ทะเลอื่นๆ โดยเขาใหญ่อยู่ตรงรอยต่อของเปลือกโลก บางพื้นที่มีหินอ่อนแทรกระหว่างหินปูนที่เป็นผืนใหญ่ติดต่อไปทางตะวันตก จนถึงพม่า กับแผ่นหินตะกอนผืนใหญ่ที่ทอดไปทางตะวันออก ถึงกัมพูชา โครงการเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล ดังที่เขาใหญ่ พาโนราม่า ฟาร์ม ได้ทำการขุดหนองในพื้นที่แล้วพบทุ่งหินอ่อน จึงปรับเป็นโคก หนอง นา ในบริบทเขาใหญ่ คือแทนที่จะเป็นหนองเก็บน้ำธรรมดา ก็เป็นหนองเพื่อรวบรวมน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ 90 ไร่ และพื้นที่เขาแหลมหลังฟาร์ม 20 ตารางกิโลเมตร เติมลงดินเป็นหนองหินอ่อนริมถนนธนะรัชต์ที่เดียวในเขาใหญ่ เพื่อลดปัญหาน้ำหลาก และช่วยเติมน้ำลงดินให้เขาใหญ่ ลดปัญหาการใช้น้ำบาดาลมากเกิน หากผู้ประกอบการ เจ้าของพื้นที่ เกษตรกร ขุดหนอง สร้างทางน้ำไหลให้ซึมลงดินเพื่อเติมน้ำให้มากขึ้นก็จะบรรเทาปัญหาใหญ่ของพื้นที่ได้
พื้นที่เขาใหญ่ ปากช่อง เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพียงรอบปีเดียว ธุรกิจร้านค้า โรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ ผุดขึ้นมากมาย ทั้งในรูปแบบโครงการใหญ่ ร้านลับซุกซ่อนในหุบเขา ไร่ข้าวโพด ไร่มันสำปะหลัง สวนเกษตรอินทรีย์ที่แบ่งภาคการผลิตมาสู่แหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ และแหล่งทำกิจกรรมหลากรูปแบบที่เพิ่มทางเลือกให้นักท่องเที่ยวได้ใช้จ่ายเวลาให้สนุกขึ้น อาทิ สวนสัตว์ สวนสนุก สนามแข่งรถโกคาร์ต อาร์ตแกลเลอรี่ ทัวร์ไร่องุ่น และถนนคนเดิน ส่วนบรรยากาศตลาดนัดยามเย็นในตัวเมืองปากช่องยังคงคึกคักแม้สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาจะซบเซาไปพอสมควร แต่ดูเหมือนว่าองค์ประกอบหลักที่ทำให้พื้นที่เขาใหญ่ ปากช่องไม่เงียบเหงาจนเกินไป คืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่การประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2505 ให้เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย เป็นแรงดึงดูดที่พาผู้คนเข้ามาในพื้นที่อย่างไม่ขาดสายนับแต่นั้น
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไม่เพียงได้รับการยกย่องเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Parks) อันเป็น “พื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญสูงที่เป็นตัวแทนระบบนิเวศของภูมิภาค” ยังได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติลำดับที่ 184 ของโลก เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ภายใต้ชื่อ “พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่” ประกอบด้วยพื้นที่คุ้มครอง (Protected Area) 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ รวมเนื้อที่ประมาณ 3,845,082.53 ไร่ หรือราว 6,152.13 ตารางกิโลเมตร โดยอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีเนื้อที่รวม 1,355,468.75 ไร่ หรือ 2,168.75 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 11 อำเภอของ 4 จังหวัด พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในท้องที่จังหวัดปราจีนบุรี คือ ประมาณ 721,260 ไร่ หรือ 53 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่อุทยานฯ ทั้งหมด รองลงมาอยู่ในท้องที่จังหวัดนครนายก ประมาณ 364,600 ไร่ หรือ 27 เปอร์เซ็นต์ ท้องที่จังหวัดนครราชสีมา ประมาณ 197,000 ไร่ หรือ 15 เปอร์เซ็นต์ และตั้งอยู่ในท้องที่จังหวัดสระบุรีน้อยที่สุด คือ ประมาณ 70,570 ไร่ หรือ 5 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่อุทยานฯ ทั้งหมด แต่ด้วยถนนธนะรัชต์ที่ตัดเข้ามาจากถนนสายหลักอย่างถนนมิตรภาพ มุ่งตรงขึ้นที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ด้านอำเภอปากช่อง ทำให้เดินทางสะดวก ครบถ้วนด้วยแหล่งบริการรายเรียงสองฟากถนนธนะรัชต์ โดยมีศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2505 ตั้งอยู่ ณ กม.24 ถนนธนะรัชต์ ที่ผู้มาเยือนอุทยานฯ และคนในพื้นที่มากราบสักการะขอพรอยู่เสมอ การมา ”เขาใหญ่” จึงอาจหมายถึงเพียงพื้นที่รายรอบในอำเภอปากช่อง และหลายครั้ง ผู้มาเยือนก็มิได้เข้าไปยังพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เลยด้วยซ้ำ
กระนั้นก็ดี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่คือหมุดหมายสำคัญของการมาเยือนพื้นที่ธรรมชาติอันเป็นแหล่งโอโซนไม่ไกลจากเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครและตัวเมืองโคราช ด้วยสภาพพื้นที่อยู่ด้านตะวันตกของเทือกเขาพนมดงรัก สูงขึ้นมาจากที่ราบภาคกลางก่อตัวเป็นแนวเขตของที่ราบสูงโคราช ประกอบด้วยทุ่งกว้างสลับกับป่าไม้ เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารสำคัญถึง 5 สายได้แก่ แม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำนครนายก ในพื้นที่ทางทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีความสำคัญต่อการเกษตรกรรม ระบบทางเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคนี้ แม่น้ำทั้ง 2 สายนี้ มาบรรจบกันที่จังหวัดฉะเชิงเทรา กลายเป็นแม่น้ำบางปะกงแล้วไหลลงสู่อ่าวไทย ห้วยลำตะคอง และห้วยลำพระเพลิง อยู่ในพื้นที่ทางทิศเหนือ ไหลไปหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมของที่ราบสูงโคราช ไปบรรจบกับแม่น้ำมูล แหล่งน้ำสำคัญของภาคอีสานตอนล่างไหลลงสู่แม่น้ำโขง ห้วยมวกเหล็ก อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำไหลตลอดทั้งปีและให้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะการปศุสัตว์ของภูมิภาคนี้ ไหลลงสู่แม่น้ำป่าสัก ที่อำเภอมวกเหล็ก นอกจากนี้ ยังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตภายใต้ระบบนิเวศที่รวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ มีคุณค่า ความสำคัญต่อการอนุรักษ์และคุ้มครองดูแลทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และพื้นที่ธรรมชาติให้คงอยู่ในสภาพเดิม นับเป็นห้องเรียนกลางแจ้งขนาดมหาศาลเพื่อการเรียนรู้ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสำหรับทุกเพศทุกวัย
กิจกรรมท่องเที่ยวพักผ่อนของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีหลากหลายตั้งแต่การส่องสัตว์ ดูนก ล่องแก่ง กางเต็นท์ค้างแรม เที่ยวน้ำตก ดูวิว ชมดอกไม้ และเดินป่า ซึ่งมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 7 เส้นทางระยะสั้น ระยะทาง 1.2-8 กิโลเมตร ใช้เวลาเดิน 45 นาที – 6 ชั่วโมง มีสัญลักษณ์ระบุเส้นทางเดินเป็นระยะๆ บางเส้นทางสามารถเดินได้ด้วยตนเอง บางเส้นทางต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งมีการจัดการที่ดีทีเดียว บริเวณศูนย์ฯ ยังมีจุดถ่ายภาพ นิทรรศการ ร้านอาหารเครื่องดื่ม จุดจอดรถ ห้องน้ำ รวมถึงเริ่มต้นเดินเส้นทางสั้นๆ แค่ 1.2 กิโลเมตรถึงน้ำตกกองแก้ว เดินข้ามสะพานแขวนออกมาหลังที่ทำการอุทยานฯ แล้วก็เดินต่ออีกเส้นทางจากผากล้วยไม้ไปยังน้ำตกเหวสุวัตได้ หรือเส้นทางศึกษาธรรมชาติกม.33 – หนองผักชี (90 ปี ความสัมพันธ์ ไทย-สวิตเซอร์แลนด์) ที่ได้สมญานามว่า “ภัตตาคารของสัตว์ป่า” ด้วยความหลากหลายของป่าดิบแล้ง ป่ารุ่นสอง และทุ่งหญ้า มีต้นไม้ใหญ่ เช่น ไทร หว้า ที่ดึงดูดนกและสัตว์ป่านานาชนิดเข้ามากินลูกไม้ ต้นกะเพรายักษ์ที่มีเฉพาะป่าดงพญาเย็น และเมื่อเดินถึงหอดูสัตว์หนองผักชี ก็เฝ้าดูสัตว์น้อยใหญ่ เช่น ช้าง กระทิง ชะนี นกเงือก ซึ่งเห็นได้เฉพาะหน้าแล้ง ออกหากินตามแหล่งน้ำและดินโป่งในทุ่งหญ้าได้
เมื่อสูดอากาศ ดื่มด่ำธรรมชาติในอุทยานมรดกโลกเขาใหญ่แล้ว การหาอะไรกินดื่มเรียกพลังให้ฟื้นคืนคือความรื่นรมย์ของการมาเยือน อย่างที่กล่าวไปว่า ร้านอาหารและคาเฟ่ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไหนจะร้านที่เปิดมาก่อน ทั้งร้านในตำนานอีกล่ะ ลิสต์รายชื่อจึงยาวพอจะให้ผู้มาเยือนได้เลือกไม่ถูก ตั้งแต่ร้านอาหารเก่าแก่อย่างครัวเขาใหญ่ ร้านอาหารปักษ์ใต้รสชาติดีงามอย่างครัวบินหลา ร้านอาหารเป็นลาวที่มีดีกรีมิชลินไกด์ ประเทศไทย ประจำปี 2566 ร้านข้าวต้ม กม.9 ที่กับข้าวอร่อย ข้าวต้มใบเตยหอมนุ่มลื่นคอ และเสิร์ฟให้ฟรีไม่อั้น ขณะที่การมาเยือนเขาใหญ่ก็ต้องได้กินสเต็กสักมื้อ ร้านสเต็กตัวพ่อ ที่ย่างเนื้อด้วยเตาถ่าน หรือร้าน Dairy Home ริมถนนมิตรภาพ ที่ไม่ได้มีดีที่นมสดอินทรีย์ นมเบดไทม์ที่ดื่มแล้วนอนหลับสบาย ยังมีไอศกรีมหลายรสชาติ และอาหารจานหลักอย่างสเต็กให้ได้อิ่มอร่อย รวมถึงความสนุกของการเที่ยวตามคาเฟ่ที่เรียกว่า Café Hopping คือเที่ยวทีหลายที่ เข้าคาเฟ่นั้น ออกคาเฟ่นี้ ที่เราไปดื่มกาแฟจากโรงคั่วใต้ถุนร้าน HOL Café & Roastery แล้วต่อด้วยขนม Cruffle Fruity ที่ร้านกาแฟ El Café ในวิวเขาใหญ่อลังการ ที่ล้วนทำให้เห็นอีกความพยายามของผู้ประกอบการทั้งหลายที่แม้มาทำธุรกิจ แต่ความรักในพื้นที่เขาใหญ่ก็ผลักดันให้รวมตัวสร้างเครือข่ายดูแลและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกับธรรมชาติเขาใหญ่ให้อยู่ยั้งยืนยง ด้วยแนวคิดที่ว่า เมื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่แล้ว ก็ต้องช่วยกันคืนสิ่งที่เอาจากธรรมชาติกลับเข้าสู่ธรรมชาติ