/

“เพราะเมืองระยองพัฒนาอย่างรวดเร็ว ลำพังแค่ พรบ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอาจไม่เพียงพอ”

Start
201 views
16 mins read

“เหตุผลที่ พรบ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (2562) ให้จังหวัดจัดการการศึกษาของตนเอง อาจยังไม่เพียงพอกับการเรียนรู้ของคนระยอง ก็เพราะระยองเราอยู่ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) พลวัตการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก คุณจบการศึกษาในมหาวิทยาลัยแล้ว ดีไม่ดีองค์ความรู้ที่คุณมีอาจไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงก็ได้

ทีมจากสถาบันอาศรมศิลป์ ทีมจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ทางจังหวัด รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลางก็มาคุยกันว่าแล้วเราจะทำยังไงให้การ reskill, upskill และการเรียนรู้ใหม่ มันจะเกิดขึ้นกับคนทุกกลุ่ม ทำให้คนระยองพัฒนาเท่าทันกับเทคโนโลยีและเมือง แนวคิดเรื่องสถาบันการเรียนรู้ทุกช่วงวัย หรือ RILA จึงเกิดขึ้น

RILA ไม่ได้มีสถานศึกษา แต่เป็นแพลทฟอร์มการเรียนรู้ เราเป็นตัวกลางเชื่อมโยงพื้นที่หรือหลักสูตรการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในระยองทั้งหมดมาไว้ด้วยกัน ใครสนใจอะไร คุณมาเรียน หรือหน่วยงานไหนอยากหนุนเสริมบุคลากรของเขาในด้านไหนเป็นพิเศษ คุณมาหาเรา

เพราะผมคิดว่า pain point หนึ่งของการศึกษาบ้านเราคือ เรามีงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาเยอะมาก สถาบันนั้นทำนั่น สถาบันนี้ทำนี่ แต่ปรากฏว่างานวิจัยมันไม่เชื่อมโยงกันเลย ต่างคนต่างทำ หรือบ่อยครั้งที่ทำวิจัยซ้ำเรื่องเดียวกันก็มี และส่วนใหญ่มันก็ถูกบันทึกเป็นรูปเล่ม ไม่ค่อยถูกนำมาใช้จริง ยิ่งระยองที่เป็นเมือง GDP สูงด้วยแล้ว ทุนนั่นนี่ส่งนักวิจัยมาลงชุมชนเยอะมาก ชาวบ้านให้สัมภาษณ์รอบแล้วรอบเล่า แต่พอเขาทำเสร็จแล้ว ชาวบ้านกลับไม่ได้อะไร เมืองจึงไม่มี lesson learn เสียที 

เราจึงพยายามจะสร้างสถาบันที่รับองค์ความรู้ทั้งหมดจากการวิจัยเกี่ยวกับเมืองมาให้หมด เป็นคลังข้อมูล และเราก็ช่วยขับเคลื่อนให้คนระยองเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้เพื่อนำไปพัฒนาทักษะของตัวเอง คือพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาก็ทำควบคู่ไป ซึ่งผมเห็นว่าสำคัญมาก แต่พอคุณพ้นจากห้องเรียนมา ก็ยังมี RILA ช่วยหนุนเสริมต่อ  

อีกเรื่องที่ผมเห็นว่ามันจะดีมากหากเกิดขึ้น คือการ integrate งานวิจัยของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับเมืองระยองไม่ให้ทับซ้อนกัน เพราะอย่างที่บอก หลายครั้งประเด็นการศึกษามันก็ซ้ำ ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากการกำหนดพื้นที่ยังไม่เคลียร์ หรือบางงานคุณตีกรอบพื้นที่การวิจัยเล็กมาก งานวิจัยอาจสัมฤทธิ์ผล แต่กลับไม่ส่งผลกระทบอะไรกับเมือง ผมจึงคิดว่า RILA มันช่วยประสานหรือให้คำปรึกษาตรงนี้ได้ เราเป็นคนท้องถิ่น เราก็อยากเห็นบ้านเมืองเราดี เราก็ช่วยหา solution ที่ดีที่สุดให้ผลการวิจัยมันฝังเข้าไปกับกลไกการพัฒนาเมือง ไม่ว่าจะเป็นการทำ MOU กับหน่วยงานส่วนท้องถิ่น หรือร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชน พัฒนาให้งานวิจัยกลายเป็นรูปธรรม     

หลายคนอาจมีคำถามว่าในเมื่อ RILA ไม่มีห้องเรียน แล้วคนจะมาเรียนอย่างไร? RILA เราทำสองรูปแบบเลยคือทำแบบออนไซท์ มีการจัดตั้งห้องเรียนตามพื้นที่ต่างๆ ในเมืองที่สะดวกแก่คนเข้ามาเรียน และจับคู่ผู้สอนและผู้เรียนให้เขามาเจอกัน กับอีกรูปแบบหนึ่งคือห้องเรียนออนไลน์

โดยอย่างหลัง ช่วงโควิดที่ผ่านมา เรานำร่องกับกลุ่มวัยเรียนก่อน โดยการร่วมกับแอปพลิเคชั่นเรียนออนไลน์ StartDee ซึ่งปกติเขาจะคิดค่าเรียน 2,400 บาทต่อคนต่อปี ก็ไปเจรจากับเขาว่าจะทำให้เด็กทั้งจังหวัดระยองเรียนฟรี ปริมาณผู้เรียนเราเยอะมาก คุณคิดราคาที่หน่วยงานในจังหวัดจ่ายไหวหน่อย ผู้บริหารตอนนั้นเขาก็คิดมาที่ 260 บาท เราก็ไปขอทุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามาสนับสนุนตรงนี้ และก็ขอให้ StartDee เอาหลักสูตรท้องถิ่นระยอง MACRO ซึ่ง RILA พัฒนาขึ้นมา ฝังไว้ในแอปให้เด็กๆ เข้าถึง ขณะเดียวกัน พอการเรียนมันออนไลน์ อบจ. ก็ต้องผลักดันให้คนระยองเข้าถึงอินเตอร์เน็ทได้ทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มันก็สอดคล้องไปกับความเป็นสมาร์ทซิตี้ของเมืองเราด้วย  

หรือการศึกษาในระดับผู้ใหญ่ เราก็ทำหลักสูตรส่งเสริมอาชีพออนไลน์ อย่างไปทำ MOU กับ EECi (เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) ให้เขาทำหลักสูตรสมาร์ทฟาร์ม ที่ช่วยหนุนเสริมวิถีเกษตรของคนระยอง ไม่ว่าจะผลิตแผ่นห่อทุเรียนเพื่อป้องกันแมลง ระบบการรดน้ำต้นไม้อัตโนมัติ หรือกับสถาบันอื่นๆ ที่มาช่วยพัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับผู้สูงอายุ หรือกระทั่งหลักสูตรเกี่ยวกับการใช้ GPS เพราะเอาเข้าจริงระยองเราต้องกาพนักงานขับรถขนส่งเยอะมากๆ แต่ที่ขาดแคลนส่วนหนึ่งเพราะพนักงานรุ่นเก่าเขาใช้เทคโนโลยีไม่เป็น

เอาเข้าจริง ระยองเรามีองค์ความรู้เฉพาะที่เกิดจากชุมชนและตัวบุคคลเยอะมากๆ นะ คุณรู้ไหมว่าเด็กในโรงเรียนบ้านนอกในอำเภอนิคมพัฒนาเขาทำหุ่นยนต์กันเป็นแล้ว เพราะบังเอิญมีศิษย์เก่าที่ทำงานด้านนี้เขากลับไปสอนรุ่นน้อง โรงเรียนวิบูลวิทยา (อ.บ้านค่าย) เขาอยู่ชายทะเล เด็กที่นั่นเขาก็มีความรู้เกี่ยวกับสมุทรศาสตร์ โรงเรียนในอำเภอแกลงเขาก็สอนเรื่องประมง โรงเรียนวัดยายดา (อ.เมือง) มีพระสงฆ์เป็นผู้บริหาร ท่านก็สอนเด็กๆ เกี่ยวข้าว สอนให้ทำนาให้เป็น โรงเรียนศรีแสงธรรม หรือโรงเรียนเสียดายแดดที่สอนเด็กๆ เกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ เป็นต้น

ซึ่งนี่แหละที่ผมบอกว่า พอระยองมันเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เด็กๆ ก็จะได้เรียนในสิ่งที่เชื่อมโยงกับบริบทของชีวิตเขา และถ้าผู้สอนเชื่อมโยงองค์ความรู้เหล่านี้เข้ากับสากลได้ มันไปต่อยอดได้อีกไม่รู้จบ”    

สมศักดิ์ พะเนียงทอง
ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย จังหวัดระยอง (RILA)
ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาจังหวัดระยอง

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย