“แม่อยากเห็นคนรุ่นใหม่กลับมาที่บ้านกันเยอะๆ ค่ะ แต่ก็เข้าใจได้ เพราะเมืองเราขนาดเล็ก ถ้าไม่ได้ทำราชการ หรือมีธุรกิจส่วนตัว พวกเขาก็ไม่รู้จะกลับมาทำอะไร”

Start
232 views
10 mins read

“พื้นเพแม่เป็นคนอำเภอสหัสขันธ์เดิม แต่ก่อนอำเภอแม่น้ำท่วมบ่อยมาก ก็เลยมีการย้ายตัวอำเภอมาอยู่บริเวณอุทยานไดโนเสาร์ในปัจจุบัน ส่วนแม่ก็ย้ายบ้านเหมือนกัน เพราะได้แฟนเป็นคนอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จึงย้ายมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529

แม่เป็นประธานชุมชนทุ่งสระ ทำธุรกิจรับทำโต๊ะจีน และทำกับข้าวตามงานหรือพิธีต่างๆ นอกจากนี้ก็ยังรับจ้างเทศบาลกวาดถนนด้วย จะกวาดสองรอบต่อวันคือช่วงเช้าและเย็น แม่กวาดเอง แต่ถ้าวันไหนมีงานที่ต้องทำอาหาร ก็จะจ้างให้คนอื่นมากวาดแทน

ก่อนหน้านี้แม่ทำงานโรงพยาบาลเอกชนในเมืองนี่แหละ ทำมา 20 กว่าปีแล้ว ต่อมาก็ทำงานกับนักการเมืองท้องถิ่นท่านหนึ่ง จนท่านเสียชีวิต ก็เลยออกมาทำธุรกิจ และความที่เราทำงานเกี่ยวกับเมืองเยอะ ก็เลยมาเป็นประธานชุมชนในที่สุด

ชุมชนทุ่งสระเป็นอีกชุมชนที่มีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์เมือง เพราะที่นี่เป็นที่ประหารพระยาชัยสุนทรคนที่ 2 หรือที่รู้จักกันในชื่อท้าวหมาแพง เจ้าเมืองกาฬสินธุ์คนที่ 2 ซึ่งสืบต่อจากเจ้าโสมพะมิตร (ชื่อพระยาชัยสุนทรเหมือนกัน – ผู้เรียบเรียง) ในช่วงที่สยามทำศึกกับเจ้าอนุวงศ์ เจ้าอนุวงศ์ก็ยกทัพมากดดันท้าวหมาแพงให้ยอมเป็นเมืองขึ้นกับทางเวียงจันทน์ แต่ท้าวหมาแพงไม่ยอม เพราะกาฬสินธุ์สวามิภักดิ์กับทางสยาม สุดท้ายทัพเจ้าอนุวงศ์ก็เลยประหารท้าวหมาแพง

โดยบริเวณที่ท้าวหมาแพงถูกประหารคือทุ่งหนองหอย ปัจจุบันก็คือชุมชนทุ่งสระแห่งนี้ ท่านนายกเทศมนตรี (จารุวัฒน์ บุญเพิ่ม) เคยคุยกับแม่ว่า ท่านอยากฟื้นฟูประวัติศาสตร์ท้าวหมาแพงขึ้นมา เพราะเป็นตัวอย่างของวีรบุรุษที่มีความจงรักภักดีต่อชาติ ท่านก็เกริ่นไว้ว่าจะหางบประมาณมาตั้งศาลท้าวหมาแพงในอนาคต 

ซึ่งอย่างที่บอกว่าชุมชนเราชื่อทุ่งสระ ชื่อเดิมคือทุ่งหนองหอย ดูจากชื่อก็น่าจะทราบว่าเป็นย่านที่ชุ่มน้ำ ซึ่งก็จริง เพราะสันฐานชุมชนแม่เป็นแอ่งกระทะ ถ้าช่วงไหนที่น้ำจากฟ้าตกลงมาบ่อย น้ำก็จะท่วม สมัยก่อนท่วมบ่อยแทบปีเว้นปีได้ ท่วมหนักถึงกับบ้านหลายหลังที่อยู่ต่ำต้องมิดหลังคา ชาวบ้านบางส่วนจำต้องอพยพย้ายไปอยู่ในวัด บางหลังอยู่สูงหน่อย ก็ท่วมไม่เยอะ แค่เก็บของขึ้นที่สูง เรียกว่าอยู่จนชินแล้ว แต่หลังๆ มาเทศบาลเขาก็มาแก้ไขดีขึ้น มีการระบายน้ำดีกว่าแต่ก่อนเยอะ ถึงอย่างนั้นน้ำก็ยังท่วมอยู่ในช่วงที่น้ำจากฟ้ามามากๆ แต่ก็ไม่เยอะ และไม่บ่อยเท่าแต่ก่อนแล้ว 

แม่มีลูกสาว 2 คน ทั้งสองคนทำงานให้เทศบาลหมด เขาไม่อยากไปไหน เพราะเห็นว่าแม้เมืองเราเล็กๆ แต่ก็อยู่สบายและปลอดภัย อย่างแม่ก็ทำการค้าง่าย เรามีสวนเล็กๆ ปลูกมะละกอและพริก ตอนแรกปลูกไว้กินเอง แต่พอได้ผลผลิตเยอะ จึงนำไปขาย ก็ขายดี

ถามว่าอยากเห็นอะไรในเมืองกาฬสินธุ์ แม่อยากเห็นคนรุ่นใหม่กลับมาที่บ้านกันเยอะๆ ค่ะ แต่ก็เข้าใจได้ เพราะเมืองเราขนาดเล็ก ถ้าไม่ได้ทำราชการ หรือมีธุรกิจส่วนตัว พวกเขาก็ไม่รู้จะกลับมาทำอะไร แต่ทางเทศบาลเขาก็พยายามสร้างจุดดึงดูดเรื่องการท่องเที่ยวอยู่นะ ตอนนี้มีแผนพัฒนาแก่งดอนกลาง จะสร้างเป็นพุทธมณฑล แม่คิดว่าถ้าทำเสร็จ ตรงนี้จะดึงดูดให้คนจากรอบๆ แวะเข้ามาในเมืองกาฬสินธุ์ได้ไม่น้อย อย่างแม่ทำกับข้าว ก็คิดว่าถ้าเอาข้าวไปขายในตลาดแถวนั้นก็คงจะดี”     

พรพิศ ศิริกุล
ประธานชุมชนทุ่งสระ

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย