/

ถ้าเด็กๆ ได้ทดลองทำอะไรที่ต่างไปจากกรอบความคิดของผู้ใหญ่ แล้วเกิดผิดพลาดขึ้นมา ผู้ใหญ่ก็มักจะซ้ำเติมว่า ‘ก็บอกแล้วไงไม่ยอมฟัง’ สิ่งนี้กลายมาเป็นวัฒนธรรมที่ฉุดให้การเรียนรู้ในบ้านเราไม่ก้าวหน้าเสียที

Start
456 views
14 mins read

“ก่อนหน้านี้เรากับสามีเป็นวิศวกรอยู่กรุงเทพฯ พอเราคลอดลูก ความที่ไม่อยากรบกวนพ่อแม่ให้ขึ้นมาช่วยเลี้ยง และเราก็ไม่ไว้ใจสถานรับเลี้ยงเด็กในยุคนั้น จึงตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อกลับบ้านที่ปักษ์ใต้มาเลี้ยงลูก

เราอยู่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ครอบครัวเราทำธุรกิจโรงพิมพ์ ตอนนั้นลูกยังเล็ก ก็พอช่วยงานครอบครัวเล็กๆ น้อยๆ อยู่พักใหญ่ จนมีอยู่วันหนึ่ง ป้าฝากให้เราขับรถมาส่งของที่ร้านดอกไม้ในตัวเมือง เราเห็นดอกไม้สวยดี ก็เลยซื้อกลับมาสองห่อ กะจะเอาไปขายปลีกที่บ้าน ปรากฏว่าขายวันเดียวหมด เลยขับรถกลับไปซื้อมาขายใหม่ ก็ขายดีอีก ค่อยๆ เพิ่มจำนวนไปเรื่อยๆ จนขายได้มากถึง 10 ลัง หรือประมาณ 400 ห่อต่อสัปดาห์ จนกลายมาเป็นอาชีพใหม่

พอลูกโตจนเข้าโรงเรียน เราเลยย้ายกันมาอยู่ที่อำเภอเมืองยะลา และเปิดร้านขายดอกไม้ที่นั่น ตอนนี้เรามีอยู่ทั้งหมด 3 ร้าน ที่ยะลา 1 ร้าน และที่สะบ้าย้อย 2 ร้าน ให้พ่อกับอาดูแล ทุกวันนี้เราขายมาได้ 15 ปีแล้ว

ว่าไปแล้วลูกเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราตัดสินใจเรื่องการทำงานและการใช้ชีวิตเลย เพราะหลังจากลูกขึ้น ป.5 เราก็ส่งเขาไปเรียนที่มาเลเซีย จนมาเจอโควิดที่โรงเรียนในมาเลเซียบอกให้นักเรียนต่างชาติกลับบ้านทั้งหมด และทำการสอนทางออนไลน์แทน พอเราเห็นว่าลูกเรียนออนไลน์อยู่บ้านอย่างเดียวไม่น่าจะไหว เราก็เลยหันมาสนใจการศึกษาอย่างจริงจังเพื่อจะได้ช่วยลูก ไปๆ มาๆ จากคนทำร้านดอกไม้ เราก็ได้อาชีพใหม่อีกอาชีพในฐานะคนจัดการศึกษา หรือ educator

เริ่มมาจากการที่เราเห็นว่าเมืองยะลาเราเนี่ยมีศูนย์การเรียนรู้หลายแห่ง แต่กลับขาดบุคลากรที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ ขณะที่คุณครูในโรงเรียนต่างๆ ก็ต้องรับภาระในการสอนตามหลักสูตร ทำให้ไม่ได้มีเวลาไปขับเคลื่อนเรื่องการศึกษานอกห้องเรียนของเด็กๆ อย่างจริงจัง เราเลยไปศึกษาเรื่องกระบวนการเรียนรู้จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ และคิดว่าจะทำอย่างไรให้บทความดีๆ เกี่ยวกับการศึกษาที่เราอ่านมาในอินเตอร์เน็ทจะถูกปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม


เราก่อตั้ง รายา เลิร์นนิ่ง เซนเตอร์ (Raya Learning Center) ในรูปแบบของนิติบุคคลเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมการเรียนรู้ โดยเริ่มจากเข้าไปคุยกับโรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้ในยะลา หาวิธีการหนุนเสริมและแลกเปลี่ยนกระบวนการจัดการศึกษากับคุณครูตามสถาบันต่างๆ เช่นล่าสุด เราไปร่วมกับโรงเรียนบ้านบางโงยซิแน อำเภอยะหา โดยเข้าไปเป็นวิทยากรด้านการทำอาหารแบบเชฟส์เทเบิล ผ่านการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นของยะลามาประกอบ ให้ทั้งคุณครูและนักเรียนเข้าใจว่าจากทรัพยากรที่เราคุ้นเคย เราสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์มาต่อยอดสู่สิ่งใหม่ๆ หรือมูลค่าใหม่ๆ ได้


แม้เราไม่ได้มีพื้นฐานการเป็นครูมาก่อน แต่ก็คิดว่าตรงนี้คือข้อได้เปรียบ เพราะเราไม่ได้วางตัวเองในฐานะผู้ให้ความรู้ หรือ teacher แต่เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้นักเรียนเข้าถึงการเรียนรู้ หรือ facilitator เช่น ถ้าเราจะสอนให้นักเรียนทอดไข่เจียว เราจะไม่ได้บอกเขาให้หาไข่ไก่และน้ำมันมาทอดตามเรา แต่จะเป็นการชวนเขาคุยว่าไข่เจียวมีองค์ประกอบอย่างไร ความร้อนของน้ำมันขนาดไหนถึงจะทำให้ไข่ฟู หรือไข่เจียวในอุดมคติของแต่ละคนจะมีส่วนผสมอะไรบ้าง เป็นต้น พอนักเรียนได้ความรู้รอบด้านเรื่องไข่เจียว ก็เป็นหน้าที่ของพวกเขาที่จะทดลองทำไข่เจียวของตัวเองออกมา เราจะไม่ชี้นำ แต่ให้เขาเรียนรู้ ค้นพบข้อผิดพลาดด้วยตัวเอง และให้เขาได้ลองใหม่เรื่อยๆ จนพบทางที่จะทำไข่เจียวในอุดมคติของพวกเขา  

เราคิดว่าที่เด็กไทยหลายคนขาดความมั่นใจในตัวเอง หรือยังไม่ค้นพบตัวเองเสียที ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะวัฒนธรรมที่ผู้ใหญ่มักจะชี้นำเด็กๆ ถ้าเขาได้ลองทำอะไรที่ต่างไปจากกรอบความคิดของผู้ใหญ่ แล้วเกิดผิดพลาดขึ้นมา ผู้ใหญ่ก็มักจะซ้ำเติมเด็กๆ ว่า ‘ก็บอกแล้วไงไม่ยอมฟัง’ สิ่งนี้กลายมาเป็นวัฒนธรรมที่ฉุดให้การเรียนรู้ในบ้านเราไม่ก้าวหน้าเสียที

ผู้ใหญ่ควรเป็นเบาะรองรับเด็กๆ ให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง และให้กำลังใจให้เขากลับมาสู้ต่อ เรารักษาให้เขาอยู่ในกรอบที่ควรจะเป็นได้ แต่ไม่ใช่ไปชี้นำให้เขาทำอย่างที่เราอยากให้เขาเป็น ซึ่งกับคำถามที่ว่า พ่อแม่สมัยนี้ควรเรียนรู้อะไรเป็นพิเศษ เราเห็นว่าเป็นเรื่องของ soft skill ให้พวกเขารับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกให้ทัน ให้เขาสามารถจัดระบบความคิดของตัวเองให้สอดคล้องไปกับยุคสมัย เพื่อช่วยส่งเสริมลูกๆ ในมุมที่สามารถจะช่วยได้ อำนวยความสะดวกให้เด็กๆ ได้เดินไปตามความฝันของพวกเขา”

ลภัสรดา เจริญสุข

เจ้าของร้านณัฐนันท์ดอกไม้สด
และนักจัดการศึกษาผู้ก่อตั้ง
Raya Learning Center    

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย