คลองเตย LINK
ภารกิจเปลี่ยนคลองหลังบ้านให้กลายเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองหาดใหญ่
สนทนากับ สิทธิศักดิ์ ตันมงคล สถาปนิกแห่ง Songkhla Urban Lab

Start
878 views
72 mins read


อาจารย์เจี๊ยบ – สิทธิศักดิ์ ตันมงคล บอกว่าถ้าไปถามคนรุ่นใหม่หรือคนที่เพิ่งมาอยู่หาดใหญ่ใหม่ๆ ว่ารู้จัก ‘คลองเตย’ หรือไม่ บางคนอาจเข้าใจว่านั่นคือชื่อเขตเขตหนึ่งของกรุงเทพมหานครด้วยซ้ำ

“ถ้าไม่ใช่คนดั้งเดิม น้อยคนนะครับที่จะจดจำชื่อคลอง ซึ่งความที่มันเป็นคลองระบายน้ำเสีย และหลายพื้นที่ก็ถูกดาดปิด แม้คนหาดใหญ่จะขับรถผ่านทุกวัน หลายคนก็แทบไม่ได้จดจำด้วยซ้ำว่ามันคือคลอง” อาจารย์เจี๊ยบ สถาปนิกจากกลุ่ม Songkhla Urban Lab ผู้ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิทักษิณคดี กล่าว

อย่างไรก็ดี หากเปิดกูเกิ้ลแมพ และพิมพ์คำค้นหาด้วยคำว่า ‘เทศบาลนครหาดใหญ่’ เราจะพบลำน้ำสายเล็กๆ สายหนึ่งทอดยาวคดเคี้ยวผ่านย่านใจกลางย่านธุรกิจของเมืองจากทิศเหนือจรดใต้ ลำน้ำสายที่ว่าคือคลองเตย คลองที่อยู่คู่กับชีวิตคนที่นี่มาเนิ่นนาน

เธียรศักดิ์ พินโสภณ อดีตวิศวกรเทศบาลนครหาดใหญ่เล่าว่า แต่เดิมคลองเตยเป็นคลองธรรมชาติ มีต้นคลองอยู่บริเวณคลองหวะทางทิศใต้ของเมือง คลองสายนี้คดเคี้ยวผ่านชุมชนเมืองต่างๆ  ก่อนไปสิ้นสุดที่บ้านคลองแห

“ในอดีตมีการถมดินปิดปากคลองเตย เพื่อกันไม่ให้น้ำจากคลองอู่ตะเภาไหลเข้ามาท่วมเมืองหาดใหญ่ และการปิดปากคลองในครั้งนั้น ทำให้น้ำในคลองเตยไม่ไหล กลายเป็นน้ำขัง เทศบาลเมืองหาดใหญ่สมัยนั้นได้เทพื้นคอนกรีตริมคลองเตย เพื่อป้องกันการบุกรุกริมคลอง ทุกวันนี้คลองเตยก็มีสภาพไม่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต” ข้าราชการเกษียณ วัย 80 กว่า กล่าว

นอกจากการมีสาธารณูปโภคที่พร้อมสรรพ อาจารย์เจี๊ยบมองว่ากลไกสำคัญที่ทำให้เมืองสักเมืองน่าอยู่คือเมืองเมืองนั้นต้องมีสิ่งแวดล้อมที่ทำให้คนในเมืองเดินเท้าได้สะดวก รวมถึงมีขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพจนทำให้คนในเมืองแทบไม่ต้องพึ่งพารถส่วนตัว แต่นั่นล่ะ แม้หาดใหญ่จะเป็นที่มีความเจริญอันดับต้นๆ ของประเทศ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาคใต้ตอนล่างเมืองนี้กลับไม่มีกลไกนั้น

เริ่มต้นเมื่อปี 2562 กลุ่ม Songkhla Urban Lab ของอาจารย์เจี๊ยบ ที่เกิดจากการรวมตัวกันของสถาปนิก ภูมิสถาปนิก และนักผังเมืองผู้ทำงานอยู่ในจังหวัดสงขลาและใกล้เคียง ลงพื้นที่ลำคลองระยะทาง 11 กิโลเมตรสายนี้ เพื่อมองหาความเป็นไปได้ที่จะทำให้ลำคลองกลายเป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองเดินได้ ในชื่อโครงการ ‘คลองเตยลิงก์ (Link)’ กระทั่งปีถัดมา เมื่อ บพท. สนับสนุนทุนขับเคลื่อนโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ‘คลองเตยลิงก์’ ก็ถูกหยิบยกให้มาเป็นตัวแทนของพื้นที่แห่งการเรียนรู้เมืองหาดใหญ่

หนึ่ง. การสร้างภาคีเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนหาดใหญ่สู่เมืองแห่งการเรียนรู้ สอง. เพื่อพัฒนากระบวนการศึกษาเมืองหาดใหญ่ และ สาม. เพื่อพัฒนารูปแบบพื้นที่และกิจกรรมการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจเมืองหาดใหญ่ เหล่านี้คือวัตถุประสงค์หลักของโครงการ ‘คลองเตยลิงก์ : การวิจัยและพัฒนาเทศบาลนครหาดใหญ่สู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้’ ที่อาจารย์เจี๊ยบเป็นหัวหน้าโครงการ

โดยผลลัพธ์รูปธรรมที่สถาปนิกผู้นี้คาดหวังไว้ คือการเปลี่ยนภูมิทัศน์คลองเตยจากน้ำเน่าเสียและถูกละเลย ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ใจกลางมืองสำหรับคนทุกคน การเพิ่มพื้นที่สีเขียว พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตที่หลอมรวมเข้ากับวิถีชุมชนริมคลองและตัวเมืองหาดใหญ่ ไปจนถึงการทำระบบขนส่งสาธารณะของเมืองใหม่ ด้วยการเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กที่มีอยู่แล้วให้กลายเป็นรถไฟฟ้าวิ่งประจำทาง

WeCitizens สนทนากับอาจารย์เจี๊ยบ ถึงที่มาและเบื้องหลังโครงการดังกล่าว โครงการที่เขาหลอมรวมแนวคิดเมืองเดินได้เข้ากับเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO โครงการที่เขาหวังจะเป็นโมเดลต้นแบบของการพัฒนาเมืองหาดใหญ่ให้น่าอยู่ และเป็นเมืองสำหรับทุกคนต่อไป

อะไรที่ทำให้สถาปนิกอย่างคุณถึงหันมาทำงานพัฒนาเมือง
ก่อนหน้านี้ผมเป็นประธานกรรมาธิการสถาปนิกทักษิณของสมาคมสถาปนิกสยาม ราวปี พ.ศ. 2536 ผมก็มาคิดทบทวนว่าแล้วจริงๆ บทบาทของสถาปนิกต่อสังคมเราคืออะไร ในฐานะที่เป็นผู้นำองค์กรในเวลานั้น เราก็ต้องพยายามเปิดตัวให้เห็นว่าสถาปนิกทำอะไรให้เมืองเราได้บ้าง เลยหยิบประเด็นผังเมืองหาดใหญ่ขึ้นมา อย่างที่รู้กันว่าหาดใหญ่เป็นเมืองเศรษฐกิจ เป็นเมืองท่องเที่ยว และเป็นเมืองการศึกษา แต่ที่ผ่านมาแทบไม่มีใครมองหาดใหญ่ว่าเป็นเมืองน่าอยู่เลย ทั้งๆ ที่เรามีประชากรอยู่ในเมืองนี้หลายแสนคน จากนั้นก็เริ่มขยับขยายขอบเขตการทำงานเรื่อยมา

พอเราเริ่มทำเรื่องเมือง มูลนิธิสงขลานครินทร์เขาก็มาร่วมสนับสนุน โดยคุณหมอธาดา ยิบอินซอย อดีตคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ท่านก็ชวนให้เราตั้งสำนักงานในสวนหย่อมศุภสารรังสรรค์ ด้วยหลักคิดว่าถ้าเราจะพัฒนาผังเมือง เราก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของเมือง ทีมงานเลยมาตั้งอยู่ที่นี่ ก่อนจะมีผู้ประกอบการในเมืองหลายท่านช่วยสนับสนุนการปรับปรุงสถานที่ และงบประมาณสำหรับจัดกิจกรรม เราเลยได้กิจกรรมประจำเดือน ‘ร่มรื่นบนลานเมือง’ นำเสนองานศิลปะ ดนตรี การทำขนม การส่งเสริมการเรียนรู้อื่นๆ เรื่อยมา   Songkhla Urban Lab จึงเกิดขึ้นเพราะเหตุนี้


ชื่อนี้เพิ่งเกิดขึ้นทีหลังครับ แรกๆ เรารวมกันจากสถาปนิก 5 คน โดยมีอาจารย์สถาปัตยกรรมผังเมืองจาก มทร. ศรีวิชัย 2 คน มีสถาปนิกจากบริษัทเอกชนในหาดใหญ่ และสถาปนิกที่เป็นมุสลิมจากสามจังหวัดชายแดน เราเริ่มกันเท่านี้ หลังจากนั้นก็ชวนคนนั้นคนนี้ที่ขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ของเมืองมาพูดคุยแลกเปลี่ยนและสร้างเครือข่ายทำงานร่วมกัน

อะไรคือปัญหาหลักของเมืองหาดใหญ่ที่คุณเห็น ก่อนจะสร้างกระบวนการแก้ปัญหาจนเกิดเป็นโครงการคลองเตยลิงก์
ผมมองเห็นหลายด้านเลย แต่เมื่อคุยกับชาวบ้าน ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าเป็นปัญหาเศรษฐกิจครับ แต่ไหนแต่ไรหาดใหญ่เติบโตมาจากการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจซึ่งได้ประโยชน์จากการมีชุมทางรถไฟ แต่ทุกวันนี้ อย่างที่ทราบกันเศรษฐกิจของเมืองไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว พอตั้งธงอย่างนี้ เราก็มาประมวลกันต่อว่าสาเหตุมาจากอะไร ข้อแรกคือผู้ประกอบการค้าขายไม่ได้ การค้าปลีกในเมืองลดลง ส่วนหนึ่งก็เพราะที่จอดรถในเมืองไม่มี ระบบขนส่งมวลชนก็ไม่มี การสัญจรก็ไม่สะดวกเพราะเมืองไม่ได้ถูกออกแบบให้รองรับการเดินเท้า

ในฐานะที่เราเป็นสถาปนิกผังเมือง สิ่งที่แก้ไขได้ดีที่สุดคือการปรับปรุงให้หาดใหญ่เป็นเมืองที่มีการสัญจรที่คล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการทำให้คนในเมืองไปมาหาสู่กันได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้รถส่วนตัว ความคิดเรื่องเมืองเดินได้ (Walkable City) จึงเกิดขึ้นพร้อมกับการพัฒนาขนส่งสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ เพราะการสัญจรคล่องตัว การเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในเมืองทำได้ง่าย นักท่องเที่ยวก็สะดวกสบาย การค้าขายก็จะกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง ขณะเดียวกันคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองก็จะดีขึ้นด้วย

ทั้งนี้ อีกเรื่องที่เราตกผลึกคือการเชื่อม corridor เศรษฐกิจจากกัวลาลัมเปอร์-หาดใหญ่ คือเราเห็นว่าแต่ไหนแต่ไร มาเลเซียมีรถไฟฟ้าวิ่งตรงจากกัวลาลัมเปอร์ขึ้นเหนือมาสิ้นสุดที่ด่านปาดังเบซาร์ ก่อนผู้โดยสารจะต้องเปลี่ยนมาใช้รถไฟไทยเพื่อนั่งต่อมาหาดใหญ่ เมืองเรามีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นชาวมาเลเซียในเมืองต่างๆ ตลอดเส้นทางสิบกว่าล้านคน เขาสามารถหิ้วกระเป๋าใบเดียวมาที่เราได้สะดวก อันนี้เยี่ยมมาก เพราะเขาไม่ใช่แค่มาเที่ยว แต่ยังมาลงทุนในเมืองเราด้วย

ให้หาดใหญ่เป็นเมืองเดินเท้าเพื่อเชื่อมกับการเดินทางโดยรถไฟ
แต่อย่างที่ทราบ เรายังต้องเปลี่ยนขบวนรถไฟจากรถไฟฟ้าของมาเลเซีย เป็นรถไฟไทยที่ปาดังเบซาร์อยู่เลย ถ้าเราเปลี่ยนระบบรางให้รถไฟฟ้าจากปาดังเบซาร์วิ่งเข้ามาถึงชุมทางหาดใหญ่โดยตรงเลย จะทำให้การเดินทางสะดวกอย่างมาก ซึ่งเราควรเปลี่ยนตั้งนานแล้ว

ทีนี้ถ้ารถไฟของสองประเทศมัน sync กันได้จริงๆ เม็ดเงินก็ไหลเข้าเมืองเรารวดเร็วขึ้นมาก แต่พอมาดูสถานการณ์ตอนนี้ พอผู้โดยสารเดินทางมาถึงสถานีรถไฟหาดใหญ่แล้วยังไงต่อ เดินเท้าในเมืองก็ลำบาก ขนส่งสาธารณะก็ไม่มี จะใช้รถบริการก็ไม่มีมาตรฐานทางราคา นักท่องเที่ยวก็ไม่ไว้วางใจ

เข้าใจว่าไม่ใช่แค่การรองรับนักท่องเที่ยวเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ แต่ยังช่วยแก้ปัญหาจราจรในเมืองด้วย
ใช่ครับ แม้หาดใหญ่เป็นเมืองใหญ่ แต่ความเจริญเรากระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เล็กมากเลยนะ กล่าวคือแกนกลางเมืองรัศมี 2 กิโลเมตรของเราเนี่ยมันอัดแน่นไปหมด ถ้าเรานับสถานีรถไฟเป็นหลัก ออกไปทิศตะวันออกไปสู่เขาคอหงส์ ก็ไปถึงหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประมาณสองกิโลเมตรเศษ ถ้าทางทิศเหนือและใต้ เริ่มจากวงเวียนน้ำพุ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานเทศบาลนครหาดใหญ่ ลงมาทิศใต้ก็คือชุมชนดั้งเดิมของเมืองถนนศรีภูวนารถ ตรงนั้นก็อีกประมาณสองกิโลเมตรเศษๆ เหมือนกัน เป็นสี่เหลี่ยมใจกลางเมืองขนาดกว้างคูณยาวที่สองกิโลเมตรเศษๆ 

พอเราได้ตรงนี้เป็นโมเดล เราก็มองดูว่า ภายใต้โครงการนี้ เราสามารถออกแบบโมเดลการสัญจรสาธารณะได้ตั้งเยอะ อย่างถ้าเกิดรถไฟฟ้าจากมาเลเซียมาจอดชานชาลาหาดใหญ่ได้แล้วใช่ไหม เราก็พัฒนาทางเท้าหาดใหญ่ รองรับกับการเดิน มีรถไมโครบัสวิ่งตามเส้นทางที่ว่านี้ ทำพวกสมาร์ทบัสหรือรถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าก็ได้ ซึ่งพื้นที่ที่ว่ามา นอกจากมีสถานีรถไฟและสถานีขนส่ง ก็ยังมีโรงเรียนหลายแห่ง ไหนจะโรงพยาบาล ตลาด และสำนักงานอีก ถ้าเรามีรถสาธารณะที่วิ่งประจำเส้นทางในราคาที่ควบคุมได้ ก็จะช่วยลดความหนาแน่นของจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนได้เยอะ คนในเมืองก็มีทางเท้า มีสวนให้เดินพักผ่อนอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกัน 

จากทางเท้าเชื่อมสถานีรถไฟมาถึงขนส่งสาธารณะ แล้วโครงการไปลงเอยที่คลองเตยลิงก์ได้อย่างไร
เราเลือกพื้นที่ที่สามารถนำร่องได้ก่อน และพบว่าพื้นที่รอบคลองเตยซึ่งตัดผ่านใจกลางเมืองหาดใหญ่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แถมยังกระทบกับผู้คนในเมืองน้อยที่สุด คือถ้าจะทำให้เมืองเดินได้ สิ่งสำคัญคือการเพิ่มพื้นที่ทางเท้าใช่ไหมครับ แต่ถ้าเพิ่มพื้นที่ทางเท้า นั่นหมายความว่าพื้นที่ถนนก็จะลดลง คนในเมืองไม่ยอมแน่ แต่ใจกลางเมืองเรามีคลองเตยอยู่แล้ว ซึ่งหลายช่วงก็ถูกละเลย หรือถูกดาดปิดคลองไป ถ้าเราพัฒนาเส้นทางเลียบคลองตรงนี้ให้เป็นทางเท้าให้คนในเมืองได้ ที่นี่ก็จะเป็นต้นแบบสำหรับการเป็นเมืองเดินได้ 


ที่สำคัญ ตั้งแต่สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายเป็นต้นมา ผมสังเกตว่าคนหาดใหญ่สนใจสุขภาพเยอะขึ้นมาก พื้นที่สนามกีฬากลางคนเดินกันเต็มลู่เลย ออกไปนอกเมือง สวนสาธารณะของเทศบาลคนก็มาวิ่งออกกำลังกายกันแน่น แต่พื้นที่ใจกลางเมือง เรากลับแทบไม่มีที่ให้พวกเขาได้เดิน โดยมีจำนวนหนึ่งก็ไปเดินออกกำลังกายกันเลียบคลองเตยนี่แหละ แต่ปัญหาก็คือถนนเลียบคลองมันแคบและเล็ก และบางช่วงก็มีสิ่งของวางระเกะระกะ หรือมีถนนตัดผ่านทำให้การเดินไม่ต่อเนื่อง ก็เลยคิดว่างั้นเราพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ให้มันเดินได้จริงก่อน นี่จะเป็นต้นแบบของการเปลี่ยนแปลงในระดับเมือง

พอเราเริ่มคิดโมเดลนี้ขึ้นมา เอาความคิดนี้ไปคุยกับทางเทศบาล เขาก็เห็นชอบ ทีแรกคิดว่าเขาอาจจะไม่เห็นด้วย จู่ๆ มาเสนอให้เขาเปลี่ยนพื้นที่เมืองแบบนี้ แต่ทางเทศบาลกลับบอกว่าดีเลย เขาให้ความร่วมมือดีมาก

คุณเริ่มโครงการนี้ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ก่อนได้รับทุนจาก บพท. มาขับเคลื่อน ช่วงเวลานั้นคุณดำเนินการอย่างไร
เราลงสำรวจพื้นที่กันเลย แล้วก็นัดผู้คนจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องมาคุยกัน ชวนเขามาเดินสำรวจพื้นที่ด้วยกันเลยเพื่อให้เห็นถึงความเป็นไปได้ ซึ่งเราเชิญหมดนะ ไม่ใช่แค่ตัวแทนจาก 10 ชุมชนที่อยู่เลียบคลองเตย ตัวแทนจากเทศบาล สมาคมผู้สูงอายุ สมาคมคนพิการ หรือกลุ่มพัฒนาเมืองในด้านต่างๆ เราก็ชวนเขามาเดินกับเราด้วย โดยเฉพาะที่เราเชิญสมาคมคนพิการ ซึ่งมีผู้ใช้รถวีลแชร์จริงมาลงพื้นที่กับเราด้วย ตรงนี้ยิ่งย้ำชัดว่าหาดใหญ่ยังขาด universal design มาก หลายจุดเราต้องช่วยกันยกวีลแชร์ขึ้นทางเท้า หรือข้ามสิ่งกีดขวางเพื่อให้ได้ไปต่อ  

ซึ่งหลังจากกิจกรรมครั้งนั้น เทศบาลเขาก็สนใจ และขอแบบปรับปรุงพื้นที่ริมคลองของเรา ส่งไปให้กรมโยธาธิการและผังเมืองพิจารณา เพื่อจัดสรรงบประมาณเพื่อทำให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยทางเทศบาลเขามีแผนพัฒนาพื้นที่ใกล้โรงแรมเจบีเป็นแลนด์มาร์คใหม่ของเมืองอยู่แล้วด้วย โครงการตรงนี้ก็เหมือนได้เชื่อมกับเขาไปด้วย

ทั้งๆ ที่หลายคนทราบดีว่าย่านใจกลางเมืองหาดใหญ่มันเล็กและเชื่อมถึงกันหมด ทำไมที่ผ่านมาจึงไม่มีใครคิดเรื่องการทำให้ที่นี่เป็นเมืองเดินได้เสียทีครับ
ผมคิดว่าน่าจะเป็นความเคยชินมากกว่า ทุกคนใช้รถส่วนตัวกันทุกวัน ขับผ่านถนนและข้ามผ่านลำคลอง โดยไม่รู้สึกอะไร ซึ่งในอีกมุมหนึ่ง ประวัติศาสตร์และเรื่องราวที่น่าสนใจของหาดใหญ่เกือบทั้งหมดก็ซุกซ่อนอยู่ตามซอกซอยต่างๆ ซึ่งคุณจะไม่มีทางพบเลยหากไม่ได้เดินเท้ามาสำรวจกัน พอมีกิจกรรมนี้ นอกจากเห็นความเป็นไปได้ในการปรับปรุงภูมิทัศน์เมือง เรายังเห็นรายละเอียดอีกมาก นี่เป็นต้นทุนชั้นเยี่ยมในการพัฒนาการท่องเที่ยวและยกระดับเศรษฐกิจของเมืองเลยนะ

โจทย์ของโครงการคลองเตยลิงก์คือการทำให้หาดใหญ่เป็นเมืองเดินได้ และมีระบบขนส่งสาธารณะ แล้วเราเชื่อมโยงกับทุนของ บพท. ที่สนับสนุนเมืองแห่งการเรียนรู้ได้อย่างไร
อย่างที่บอก พอได้ลงพื้นที่ เราต่างเห็นศักยภาพของแต่ละชุมชน ทั้งเรื่องของประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ไปจนถึงร้านอาหารอร่อยๆ เก่าแก่คู่ย่าน ซึ่งเป็นจุดเด่นของหาดใหญ่มาเนิ่นนาน ก็ประจวบเหมาะว่าถ้าเรามีเส้นทางเดินเท้าที่ช่วยเรื่องการสัญจรให้สะดวก จากเส้นทางเดินเท้าธรรมดาก็สามารถพัฒนาให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ได้ ซึ่งก็ตรงกับแนวคิดที่เราอยากทำพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตของเมืองอยู่แล้วด้วย
 
อะไรทำให้คุณคิดว่าเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยการค้าอย่างหาดใหญ่จะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตได้
ก่อนอื่นตรงย้อนกลับเรื่องคนหาดใหญ่ ความที่เมืองเราเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ ทำให้คนส่วนใหญ่สนใจแต่การทำมาค้าขาย ที่ผ่านมาเราจึงไม่ค่อยมีความพยายามผลักดันพื้นที่สาธารณะในตัวเมืองเท่าไหร่ เช่นเดียวกับเรื่องประวัติศาสตร์ ซึ่งแม้เราจะรู้ว่าหาดใหญ่ถูกสร้างมาอย่างไร แต่เรื่องราวดีๆ จากอดีตมาถึงปัจจุบันก็กลับไม่ถูกบันทึกไว้เป็นเรื่องราว เรารู้ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่เท่านั้น ซึ่งนับวันมันจะสูญหายไป เมื่อเราได้ทุนจากโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ของ บพท. มาจึงเข้าทาง 

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า เราเริ่มด้วยการให้คนเข้าใจก่อนว่าพิพิธภัณฑ์มีชีวิตเป็นยังไงบ้าง การหาข้อมูลในเชิงคุณค่า ประวัติศาสตร์ ซึ่งสามารถถอดมาจากคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนได้หมด นี่คือข้อดี เรื่องที่สองในการจะทำป้ายสื่อความหมายให้เขารู้ว่าแต่ละพื้นที่นี้มีดีอย่างไร ประวัติศาสตร์ชุมชนต้องไม่อยู่แค่ในหนังสือหรือเอกสาร แต่ต้องอยู่ในพื้นที่ที่ทำให้คนเดินเท้าผ่านมาเห็นและเรียนรู้ ให้ฐานข้อมูลมันอยู่กับพื้นที่ และใช้เส้นทางเดินเท้าที่ต่อเนื่องทำให้คนเข้าถึงข้อมูล

ทำไมผมถึงตั้งชื่อโครงการคลองเตยลิงก์ (Link) เพราะถ้าจะใช้คำว่า ‘คลองเตย’ เฉยๆ ผู้คนก็อาจจะเข้าใจว่ามาพัฒนาคลองหรือเปล่า แต่ที่เราเติม Link ต่อท้าย ก็เพื่อสะท้อนให้เห็นว่านอกจากลำคลองสายนี้มันเชื่อมพื้นที่ในเมืองได้ มันยังเชื่อมเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ เชื่อมประวัติศาสตร์ของเมืองจากอดีตมาสู่วิถีชีวิตปัจจุบันของเรา

  
อะไรคือเนื้อหาของพิพิธภัณฑ์มีชีวิตหาดใหญ่ที่คุณคิดไว้
ผมสนใจหาดใหญ่ในฐานะที่มันเป็นเมืองที่ราชการไม่ได้สร้าง แต่เป็นราษฎรร่วมกันสร้างขึ้น จากแรงงานรถไฟชาวจีน มาสู่การปักหลักและวางผังเมืองของพ่อค้า จนนำมาสู่การดึงดูดให้ผู้คนทั่วสารทิศมาร่วมพัฒนาพื้นที่ ลองไล่ดูสถานที่สำคัญๆ ของเมือง ทั้งสถานศึกษา มูลนิธิ สวนสาธารณะ ไปจนถึงถนนสายสำคัญๆ ทั้งหมดเกิดจากการที่คนหาดใหญ่ในอดีตบริจาคให้ส่วนกลางทั้งนั้น แล้วถามว่ามีใครรู้เรื่องนี้บ้างไหม ถ้าผมไม่ได้ทำโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ ก็อาจไม่รู้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้พอรู้แล้วต้องเอามาขยาย ต้องเอามาทำหนังสือ หรือสื่อต่างๆ ให้เขา ให้ลูกหลานได้เห็นแล้วภูมิใจว่าบรรพบุรุษของเขามีส่วนสร้างเมืองมาอย่างไร

อย่างการวางผังเมืองแบบกริด (grid) ที่ขุนนิพัทธ์จีนนครรับมาจากมาเลเซียซึ่งได้อิทธิพลจากอังกฤษมาอีกที หรือประวัติศาสตร์ยุคใกล้เข้ามา หลายคนอาจไม่ทราบว่าในปี 2531 ฝ่ายคอมมิวนิสต์จีนมลายูมาเซ็นสัญญาสงบศึกกับรัฐบาลมาเลเซียที่โรงแรมลีการ์เด้นส์เก่า การที่คนเขาสู้รบยืดเยื้อกันมาเป็นสิบๆ ปี กลับมาสงบได้ในพื้นที่หาดใหญ่นี่มันคลาสสิคมากนะ และนั่นเป็นที่มาของชื่อห้อง ‘สันติภาพ’ ในโรงแรม หรือเหตุการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เชื่อมโยงกับเมืองหาดใหญ่ก็มีตั้งมากมาย

จริงอยู่ที่หาดใหญ่อาจไม่มีอาคารสถาปัตยกรรมเก่าๆ อย่างเมืองเก่าสงขลา หรือภูเก็ต แต่ในทุกตรอกซอกซอยของเมืองก็มีเรื่องเล่าที่ว่าด้วยการร่วมกันพัฒนาพื้นที่ของภาคประชาชน แฝงฝังไปกับสิ่งปลูกสร้างและทัศนียภาพ ตรงนี้แหละเป็นหัวใจสำคัญของพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต

พอคุณเริ่มขับเคลื่อนให้คลองเตยลิงก์เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ คุณมีกระบวนการอย่างไร
ผมเริ่มจากการเข้าไปคุยกับตัวแทนชุมชนทั้ง 10 เพราะในแต่ละชุมชนเขาก็มี อสม. และกลไกการบริหารงานชุมชนของเขาอยู่แล้ว ไปคุยเพื่อให้พวกเขาค้นหาศักยภาพของการเป็นพื้นที่เรียนรู้ และให้คนเฒ่าคนแก่แบ่งปันเรื่องเล่าของเขาให้เราบันทึก ขณะเดียวกัน ก็ชวนชาวชุมชนคุยกันถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์หรือการสร้างแลนด์มาร์คของพื้นที่ เพื่อสร้างแรงดึงดูด เราเริ่มจากแลนด์มาร์คที่ทำกันได้เองโดยไม่ต้องพึ่งงบจากภาครัฐ ให้ชุมชนเราทำให้รัฐและคนอื่นๆ เห็นว่าเราเองก็ขับเคลื่อนพื้นที่ของตัวเองได้ เหมือนในยุคที่หาดใหญ่ถูกสร้าง ก็เริ่มจากพลังของผู้คนที่นี่ก่อนทั้งนั้น  

หนึ่งในผลลัพธ์ของกิจกรรมนี้คือการที่เราได้ทำสตรีทอาร์ท ทาสีบนถนนหน้าศาลเจ้าพ่อเสือเชื่อมเข้ากับโรงงิ้วเก่า ทำให้ไม่เพียงเราจะได้จุดเช็คอินใหม่ของเมือง แต่พอทางศาลเจ้าเขาเห็นชาวบ้านมาร่วมกันทำ เขาก็สมทบทุนค่าสี และยังปรับปรุงภูมิทัศน์หน้าศาลเจ้าเช่นการแขวนโคมจีน การประดับตบแต่งนั่นนี่ให้สอดรับเข้าไป ส่วนทางโรงงิ้วก็มีแผนจะถอยร่นพื้นที่ด้านหน้าเล็กน้อย ให้กลายเป็นลานสาธารณะขนาดย่อมสำหรับการจัดงานของเมืองต่างๆ ซึ่งนี่เป็นรูปธรรมของโครงการในปี 2564

ส่วนในปี 2565 เราก็จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่นักวิจัยมหาวิทยาลัยหาดใหญ่มาช่วยทำกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้เยาวชนในชุมชน มีการจัดเสวนาหาดใหญ่ทอล์ค (Hat Yai Talk) ที่ผมและคุณบัญชร (บัญชร วิเชียรศรี – ผู้ช่วยหัวหน้าสถานีวิทยุ ม.อ. หาดใหญ่) ชักชวนผู้เชี่ยวชาญและเครือข่ายพัฒนาเมืองเครือข่ายต่างๆ มาจัดรายการ podcast ทุกวันเสาร์ เพื่อร่วมกันหากลไกและเครื่องมือในการพัฒนาหาดใหญ่ โดยจัดมาแล้ว 37 ครั้ง

คุณบัญชร วิเชียรศรี ผู้ช่วยหัวหน้าสถานีวิทยุ ม.อ.หาดใหญ่

ขณะเดียวกันเราก็ลงชุมชนเพื่อคัดสรรเรื่องเล่าและจุดขายของแต่ละพื้นที่สำหรับจัดทำพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต รวมถึงการร่วมกับภาคเอกชนพิจารณาถึงการทำเส้นทางขนส่งสาธารณะเลียบคลองเตย โดยในเบื้องต้น เราออกแบบมา 2 เส้นทาง และสานความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการรถตุ๊กตุ๊กที่วิ่งในเมืองอยู่แล้ว ให้เขาทดลองวิ่งเป็นรถประจำทาง โดยในอนาคตเราก็ร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการเปลี่ยนเครื่องยนต์รถตุ๊กตุ๊กเหล่านี้ให้เป็นรถไฟฟ้า เพื่อช่วยลดมลภาวะและต้นทุนในการดำเนินการ

ไม่ว่าเรื่องเมืองเดินได้ก็ดี ขนส่งสาธารณะก็ดี หรือพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตก็ดี โครงการทั้งหมดคุณเริ่มต้นขับเคลื่อนโดยเน้นย้ำกระบวนการเข้าหาผู้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นหลัก ทั้งๆ ที่ผลสัมฤทธิ์ของแต่ละโครงการ อยู่ที่สิ่งปลูกสร้างหรือการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์เมืองหาดใหญ่ให้ดีขึ้น คุณมีหลักคิดของการทำงานตรงนี้อย่างไร
เพราะไม่ว่าเราจะทำสิ่งปลูกสร้างอะไร ผู้คนที่เราเข้าหาก็คือผู้คนที่ใช้มันครับ คุณจะปรับปรุงพื้นที่ให้สวยงามอย่างไร แต่ถ้าคนในพื้นที่ไม่ตระหนักในคุณค่าของมัน ก็เปล่าประโยชน์ เหมือนถ้าคุณอยากเห็นลำคลองมีทัศนียภาพงดงาม มีน้ำที่ใส คุณก็ต้องทำให้คนที่อยู่ริมคลองเห็นถึงประโยชน์ของคลองสายนี้ให้ได้ แล้วพวกเขาก็จะช่วยกันดูแลมัน ความยั่งยืนอยู่ตรงนี้

การที่ผมทำเสวนาหาดใหญ่ทอล์คก็คล้ายกัน ผมเชื่อว่าการได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และบทเรียนของคนทำงานแต่ละกลุ่ม จะนำไปสู่แนวทางในการแก้ปัญหาประเด็นต่างๆ ของเมืองได้ เพราะบทสนทนาไม่เพียงจะก่อให้เกิดข้อมูลให้ทั้งผม ผู้ฟัง และผู้ร่วมเสวนานำไปใคร่ครวญต่อ แต่มันยังหมายถึงการผูกสัมพันธ์ สร้างเครือข่ายความร่วมมือ

อย่างถ้าคุณจะทำระบบขนส่งมวลชน คุณก็จำเป็นต้องคุยกับผู้ประกอบการที่ทำเรื่องขนส่ง เช่นที่ผมได้คุยกับคุณปิยาภรณ์ เลขะกุล ผู้บริหารบริษัทโพธิ์ทองขนส่ง จำกัด ซึ่งทำเรื่องเดินรถประจำทางระหว่างอำเภออยู่แล้ว คุณอยากทำพื้นที่ให้ครอบคลุมกับคนทุกวัย ก็ต้องคุยกับสภาเด็กและเยาวชนหาดใหญ่ หรือกลุ่มมานีมานะที่ทำละครเพื่อเยาวชน อยากให้พื้นที่ที่เราทำมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมือง ก็คุยกับสมาพันธ์เอสเอ็มอี และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว เป็นต้น และพวกเขาเหล่านี้ก็จะเห็นภาพในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ซึ่งถ้าเขาเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อเมือง ก็จะมาร่วมขับเคลื่อนต่อกับเรา และนั่นทำให้ตอนนี้เรามีเครือข่ายที่ทำงานพัฒนาเมืองหาดใหญ่มาร่วมกับเรากว่า 50 เครือข่ายแล้ว (สัมภาษณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2565 – ผู้เรียบเรียง)

คุณปิยภรณ์ เลขะกุล ผู้บริหารบริษัทโพธิ์ทองขนส่ง จำกัด

ผมว่าหาดใหญ่เรามีคนทำงานพัฒนาเมืองในมิติต่างๆ หลากหลายมากนะครับ แต่ที่ผ่านมา เราไม่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกันเท่าไหร่ การตั้งฟอรั่มมาแลกเปลี่ยนบทเรียนซึ่งกันและกัน ก็เป็นเหมือนแพลทฟอร์มกลางที่จะทำให้เมืองได้พัฒนาอย่างรอบด้านพร้อมกันได้


คำถามสุดท้าย ในฐานะที่คุณทำงานเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้ คุณอยากสนับสนุนให้คนหาดใหญ่เรียนรู้เรื่องอะไรเป็นพิเศษ
ผมคิดว่าเราต้องเรียนรู้เรื่องเมืองของเราเองนี่แหละ เราอยู่เมืองไหน ก็ควรรู้ว่าเมืองนี้มีที่มายังไง สิ่งนี้จะทำให้เกิดความซาบซึ้งจนนำมาซึ่งการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงของเมือง

เมื่อเดือนที่แล้ว ทีมงานผมใช้เงินที่สะสมกันมาระหว่างการทำงาน เชิญกลุ่มสถาปนิกไปดูงานที่มาเลเซีย เราก็ทดลองนั่งรถไฟจากหาดใหญ่ไปกัน เมืองแรกที่เราไปคืออิโปห์ ซึ่งเรามีโอกาสไปเดินสำรวจพื้นที่ริมคลองของเมืองเขากัน

อิโปห์เป็นเมืองทำเหมืองในอดีต และเราก็ไปเจอเหมืองแร่เก่าที่เขาอนุรักษ์ไว้ มีอุปกรณ์ทำแร่จัดแสดงอยู่ มีการจัดแสดงนิทรรศการที่ทำให้เราเห็นว่าแต่เดิมคนงานเหมืองเขาทำงานกันยังไง ผมเป็นผู้มาเยือนยังรู้สึกตื่นเต้นเลย คิดว่าถ้าเป็นคนอิโปห์มาเห็น พวกเขาจะเข้าใจในคุณค่าของประวัติศาสตร์เมืองขนาดไหน 

นั่นล่ะครับ สิ่งสำคัญของคนในเมืองคือต้องรู้ประวัติศาสตร์ของเมืองเราก่อน เพราะสิ่งที่จะมาพร้อมกับประวัติศาสตร์คือภูมิศาสตร์ หาดใหญ่เป็นเมืองที่น้ำท่วมบ่อยมากในอดีต การที่เมืองน้ำท่วมเพราะคนไม่รู้จักภูมิศาสตร์เมือง พอเมืองเติบโต ก็กลับไม่ได้พัฒนาให้สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ น้ำเลยท่วมหนัก  

ถ้าเราเรียนรู้ เข้าใจในบริบท เข้าใจในศักยภาพเมือง สิ่งนี้จะไปต่อยอดได้อีกเยอะ หรือไม่ถึงขั้นต่อยอดก็ได้ การได้รู้ว่าเมืองเราผ่านอะไรมา และพัฒนามาถึงจุดนี้ได้ยังไง หรืออย่างน้อยที่สุด อย่างที่ผมบอกไป การเข้าใจในรากเหง้านำมาซึ่งความภาคภูมิใจของการเป็นคนในพื้นที่ ความภาคภูมิใจที่จะเปลี่ยนจากการเป็นประชากรสู่พลเมือง หรือการเป็นคนที่มีส่วนร่วมต่อการพัฒนาเมืองต่อไปในอนาคต

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย