“ผมคิดทำศูนย์เรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์มานานแล้ว เพราะได้เรียนรู้จากหลายๆ แหล่ง ก็อยากมาทำที่บ้านผม รวมหมดทุกอย่างที่จุดนี้ ไม่ต้องไปที่ไหนไกล เรามีเครือข่าย อยากมีความรู้ด้านไหนก็แจ้งมา ด้านการเกษตร ปลูกผัก ปลูกพืช ขยายพันธุ์พืชด้านการตอน การเสียบยอด เลี้ยงไส้เดือน เลี้ยงไก่ ปั้นกระถาง ทำถ่านอัดแท่ง
ผมทำบ้านต้นไม้ไว้ 3 หลัง ยังไม่ได้ติดแอร์ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ภายใน ตอนนี้ผมไม่สบายก็ดูแลตัวเองก่อน แต่ที่เตรียมไว้คือ ใครสนใจมาเรียนรู้ด้านไหน ผมเป็นวิทยากรสอนให้ คุณมานอนค้างบ้านต้นไม้ มาเรียนรู้ มีค่าใช้จ่าย 5-600 บาท อาหารสั่งได้ สมมติ มีลูกหลาน 5-6 ขวบ อยากปลูกผัก ผมก็สอนให้ เขามาปลูกผักไว้ อาจจะอีก 2-3 อาทิตย์มาเก็บผัก ทำผัดผักกินได้ ผมสอนวิธีตอนพืชเสร็จแล้วก็ให้เด็กตอน ทำเสร็จ ก็ยกให้เขา เขาก็ภูมิใจ
อย่างถ่านอัดแท่งผมก็ได้มาตอนที่เป็นกำนันไปอบรมกับกระทรวงพลังงาน เราไปดูวิธีการทำถ่านอัดแท่ง ซึ่งชาวสวนบ้านเราก็เอาไปเผาบ่อดินหรือเผาทิ้งมั่ง ซึ่งมันทำประโยชน์ได้ เราก็ไปประยุกต์เอามาเผาถ่าน ทำออกมาเป็นก้อนเล็กก้อนน้อย แล้วทำอย่างไรก้อนเล็กก้อนน้อยจะเพิ่มมูลค่า ก็เอามาอัดแท่ง ซึ่งข้อดีคือควันน้อย ใช้ได้คงทน ไม่เปื้อน ระหว่างเผาเราก็รองได้น้ำส้มควันไม้ ก็เป็นประโยชน์ต่อเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด แล้วกรมพัฒนาชุมชนมาสอนการทำบัญชีครัวเรือน ผมก็คิดว่าทำยังไงจะได้ผล คือต้องมีผู้นำ ชาวบ้านให้เขาทำ ถ้าไม่รู้จักประยุกต์ รวบรวม ก็ไม่เกิดประโยชน์ อย่างผมเข้าไปดู ในตำบลเรา สมมติมี 300 ครอบครัว กินไข่วันนึงกี่ฟอง 300 ครอบครัวเดือนๆ นึงเป็นหมื่นเป็นแสน ถ้าเรามารวม ทำไมเราไม่เลี้ยงกันละ ผมก็ศึกษาลองเป็นหนูตะเภาเองก่อน ลองทั้งเลี้ยงไก่อารมณ์ดี เลี้ยงไก่แบบคอนโด เลี้ยงแล้วจดบันทึก วิธีเลี้ยงยังไง ให้อาหารยังไง จะคุ้มทุนยังไง แล้วแนะเขาว่าการเลี้ยงไก่มีทั้งข้อดีข้อเสีย เลี้ยงน่ะดีแน่ ขี้ก็ใช้ในสวนเอาใส่เงาะทุเรียนต่อได้ พอเลี้ยงได้ 4 เดือนก็ออกไข่ ไข่ก็บริโภคภายในครัวเรือน ที่เหลือก็เอาไปขาย พอได้เงินเข้า แล้วจะเลี้ยงแบบไหนล่ะ เลี้ยงแบบอารมณ์ดี ปล่อย 20 ตัว เกิดวันนั้นออกไข่ 10 ฟอง แล้วรู้มั้ยตัวไหนออกไม่ออก บางตัวกินอาหารเป็นเดือนๆ ไม่ออกเลย แล้วจะรู้ได้อย่างไร เราก็ลองเป็นกรงตับ เขียน 1-2-3-4 วันนี้ออก 20 แสดงว่าให้ผลผลิตทุกตัวเลย ตัวที่ 3 กินฟรีตั้งเดือน ไม่ออกเลย มันมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีของไก่อารมณ์ดีคือให้ความเป็นประชาธิปไตย ไปไหนมาไหนได้สะดวก เป็นกรงตับต้องช่วยมัน หาอาหารให้กิน น้ำก็ต้องพร้อม ควบคุมก็ได้ผลผลิตดีกว่า ตัวไหนกินฟรีเราก็จะได้รู้ แล้วการเลี้ยงไส้เดือนนี่ดีที่สุด สมัยเราเด็กๆ ขุดดินตรงไหนมีแต่ไส้เดือนทั้งนั้น เดี๋ยวนี้หาแทบไม่ได้ เพราะอะไร ทั้งสารเคมี ปุ๋ย ความสมบูรณ์ของดินไม่มีแล้ว โดยธรรมชาติ หลักความจริง ในท้องไส้เดือนมีเชื้อจุลินทรีย์ตั้ง 20 ชนิด คือมันกินอาหารในดินแล้วผ่านการย่อยสลายจุลินทรีย์ออกมา จุลินทรีย์นี้เป็นตัวปรับสภาพดินให้ดี โดยธรรมชาติไม่ต้องใส่ปุ๋ยเลย นั่นคือวิถีธรรมชาติ เขาแปรรูปของเขาเอง ฉะนั้น ปัจจุบันต้องย้อนยุคเข้ามา เอาไส้เดือนมาเลี้ยง ผมมีเป็นศูนย์เรียนรู้ไส้เดือน กล้าจับมั้ย อาหารไส้เดือนคืออะไร ให้เลี้ยงไส้เดือนอ่างนึงมีมูลค่าเท่านี้ทำเสร็จเอากลับบ้านได้ เอาไปปลูกผักได้เลย
ช่วงผมเป็นกำนัน ทุกเดือนต้องเรียกมาประชุม มีประชุมสัญจรในหมู่บ้านทุกเดือน ให้ชาวบ้านฟัง ก็เป็นความรู้ ซึ่งชาวบ้านก็ชอบ แต่เขาไม่ไปทำกัน อย่างปุ๋ยหมัก โอ้ย ลำบาก ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ง่ายๆ แต่เอาเข้าจริง มันชักไม่ไหว มันต้องย้อนยุค เพราะฉะนั้นที่ผมจะทำศูนย์เรียนรู้นี้ ก็สอดคล้องกับ Learning City คนที่เข้ามาต้องการอยากรู้จริงๆ นั่นล่ะ ถึงจะได้ผล แล้วเขาจะไปขยายผลเอง ถ้าจะเข้ามาหาผมก็ไม่ยาก เปิดแผนที่หาบ้านกำนันบ๊วย
ในหลวงสอนว่าให้อะไรก็แล้วแต่ ไม่ดีเท่าความรู้”
สงัด เมธวัน (กำนันบ๊วย)
ปราชญ์เกษตรท้องถิ่น