“จุดเด่นของตะปอนคือความเก่าแก่ของวัฒนธรรมประเพณีที่มีคุณค่ากับชุมชนเรา อย่างประเพณีแห่เกวียนพระบาท มีแต่ที่บ้านเรา ที่อื่นไม่มี
เป็นเรื่องเล่ากันมาว่า สมัยโบราณที่มีโรคห่าระบาด ชาวบ้านมาปรึกษาท่านพ่อเพชร (หลวงพ่อเพชร อินฺทฺปญฺโญ เจ้าคณะและอดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิธาราม (วัดตะปอนใหญ่)) ท่านเลยให้เอาผ้าพระบาท (ผ้าเขียนรอยพระบาทจำลองสี่รอยซ้อนกัน) ที่วัดตะปอนน้อย อายุประมาณ 400 กว่าปี อัญเชิญมาจากวัดช้างไห้ จังหวัดปัตตานี มาลองแห่ดูเพื่อช่วยปัดเป่าให้ชาวบ้าน แห่เสร็จฝนก็ตกใหญ่ โรคระบาดก็หายไป หมู่บ้านใกล้เคียงก็ต้องการอัญเชิญผ้าพระบาทไปแห่เป็นสิริมงคลของชุมชน เรื่องเล่าตอนนั้นคือกำนันไม่รู้จะทำยังไง เลยให้จับไม้สั้นไม้ยาวกัน แล้วก็มาเย่อพระบาทกัน ฝ่ายไหนเย่อชนะ ก็เอาพระบาทไปแห่ที่หมู่บ้านตัวเองก่อน แล้วก็เวียนไปหมู่บ้านอื่น เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของประเพณีชักเย่อเกวียนพระบาท ทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ลูกหลานกลับบ้านก็มาร่วมแห่พระบาทผ้ารอบหมู่บ้านทุกปี สงกรานต์ที่ตะปอนจะยาวนานมาก ตั้งแต่ 13 เมษายนถึงสิ้นเดือนเลย วันที่ 12 ตะปอนน้อยก็เริ่มเตรียมงานละ วันที่ 13 วันที่ 14 ก็แห่เกวียนพระบาทรอบหมู่บ้าน พื้นที่ตำบลตะปอนมีหลายวัด วัดตะปอนใหญ่ วัดตะปอนน้อย วัดหนองเสม็ด ต่างคนก็ไปฝึกซ้อมคนของตัวเองเพื่อให้แข็งแรง ถ้าเป็นผู้หญิงก็ข้างละ 10 คน ผู้ชายข้างละ 8 คน ใครชนะก็ได้ไป ไม่ชนะก็ชักเย่อกันอีก สมัยก่อนแม่นี่สุดยอดของนักชักเย่อเลย เป็นประเพณีที่สนุกสนานด้วย ไม่มีที่ไหน ที่อื่นเป็นชักเย่อเชือก ที่ตะปอนเราอัญเชิญพระบาทผ้าไว้บนเกวียน เอาเชือกร้อยเกวียน ชักเย่อหันหลังให้เกวียนนะ มีคนตีกลองด้วยความสนุกสนาน ให้จังหวะหนึ่ง สอง เมื่อก่อนตามศาลาต่างๆ จะอัญเชิญไปแล้วก็ชักเย่อกันแทบทุกวัน บ่ายเย็นก็จะไปกันแล้วที่วัดตะปอนใหญ่ วัดตะปอนน้อย แล้วก็จะไปจบที่เจดีย์ทรายวันที่ 29-30 เมษายน
ในโบสถ์วัดตะปอนน้อย มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง 400 กว่าปี เล่าเรื่องชุมชนสมัยก่อน ได้เห็นว่ามีชาวโปรตุเกส ชาวต่างชาติ นั่งเรือเข้ามาในสมัยพระนารายณ์ แต่ก่อนคนไม่รู้ก็มีการทาสีทับไปเยอะ กรมศิลปากรเข้ามาดูแล พยายามรื้อก็เห็นส่วนที่สมบูรณ์พอสมควร และถนนสายสุขุมวิท (ขลุง-พลิ้ว) นี้เมื่อก่อนไม่มีนะ ทางตรงนี้เรียกสายวัฒนธรรม คนจะไปตราดไปไหนต้องขึ้นทางนี้ มีคลองใหญ่มากอยู่ตะปอนใหญ่กับตะปอนน้อย มีท่าเรือ สำเภาจีนมาซื้อข้าว เกลือ เราก็หาบทุเรียน เงาะไปขาย แล้วเรือก็ออกไปเมืองคอง แหลมสิงห์ ทะเลใหญ่ (อ่าวไทย) แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นคลองเล็กๆ ทำเขื่อน ทำฝายกั้น ไม่มีร่องรอยเก่า แต่ก่อนใช้เกวียนวิ่งกับเรือ เดี๋ยวนี้เป็นการค้าขายทางรถยนต์ไปแล้ว
เราเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 ตำบลตะปอน มา 13 ปีแล้ว ทวดเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่ 2 สมัยรัชกาลที่ 5 เราเป็นครอบครัวใหญ่ อาชีพทำสวนมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย พ่อทำสวนมังคุด ทุเรียน เงาะ สมัยก่อนปลูกเงาะสีชมพู ดกมาก เก็บได้เนื้อมาก ส่วนงานในหมู่บ้าน ก็อย่างการทำชุมชนคุณธรรมตะปอนใหญ่ ทำโครงการการท่องเที่ยวชุมชน มีเด็กนักเล่า มีคนมาสืบค้นความเก่าแก่ของชุมชน ตอนนั้นเขาให้เงินมา 8,000 บาท มาทำอะไรก็ได้ ก็มานั่งนึกกันว่าทำยังไงให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น โบราณเราเคยมีตลาดแบกะดินตอนเช้ามืดที่เกวียนหัก มีอะไรก็เอาไปขาย เช้าๆ ก็ไปกัน ขายดีมาก คนเก่าๆ ก็ทำขนมมาขาย แต่ตลาดแบบนี้หายไปด้วยวิถีของคนสมัยนี้ที่เขาไม่ตื่นเช้ากัน ตลาดมีตีสามตีสี่ หกโมงเช้าก็หมดแล้ว แต่ของขายดีมากนะ เราก็อยากได้บรรยากาศนั้นกลับมา ก็เลยคุยกันกับท่านพ่อ พระครูสาราภินันท์ เจ้าอาวาสวัดตะปอนใหญ่ ว่าน่าจะทำตลาด เพื่อให้คนมีที่ค้าขาย ไปชวนขนมเจ้าเป็นร้อยปี ของอร่อยของเรา เราอยากได้กลับมาที่ตลาดแต่เลิกขายไปแล้ว อยากให้เขาทำอีก ก็ไปชวนเขามาขาย แต่จะเป็นตลาดเช้ามืดเหมือนแต่ก่อนมันไม่ใช่ ตอนนี้ตลาดนัดก็เยอะแยะ เราเลยมาทำวันเสาร์ แล้วจะทำยังไงให้แปลกกว่าเขา ก็เลยคุยกันว่า คุณกาญจน์ (กาญจน์ กรณีย์ ประธานสภาวัฒนธรรม อำเภอขลุง) เคยเอาวัฒนธรรมมาแสดงแสงสีเสียง ช่วงสงกรานต์ก็มาทำตลาดย้อนยุค สาธิตทำอาหารโบราณ แต่งชุดโบราณมาขายของ ขายดีมาก เราก็เอาบรรยากาศตรงนั้นมาทำ วันเสาร์ตั้งแต่ช่วงบ่ายสองโมงถึงเย็นของหมด ทุกคนแต่งตัว มาขายของ ทางวัฒนธรรมก็เอานาฏศิลป์มาเล่น มีสาธิตทำอาหาร บางคนไม่ได้มาขายเท่าไหร่หรอกชั้นอยากแต่งตัวสวย เดินที่ไหนไม่ได้ก็มาเดินที่ตะปอน แต่งตัวมาเดินที่นี่ไม่แปลก บรรยากาศมันให้ไง ตอนนั้นถ้าใครไม่ได้มาเช็คอินตลาดเรารู้สึกว่าไม่ใช่ แล้วยิ่งออเจ้า (ละครบุพเพสันนิวาส) มา ก็เป็นกระแส อันนี้ก็มีส่วนที่ทีมวิจัยเข้ามาเห็นชุมชนเราเก่าแก่ สามารถดำรงรักษาวัฒนธรรมประเพณีของเราไว้ได้ เป็นความร่วมมือของชุมชนด้วย ผู้ใหญ่ กำนัน โรงเรียน วัด มาช่วยกันเพื่อสร้างตลาด ไม่มีเงินแต่สามารถทำได้เป็นร้อยร้าน ขายดีมาก ต่างจากทีแรกต้องไปเดินหา มาขายของกันหน่อยนะ ตอนหลังต้องรอคิวกันว่าเมื่อไหร่เราจะทำตลาดให้
ต้องยอมรับอีกอย่าง คือช่วงที่เราทำตลาดสักพัก มีนโยบายของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องการทำตลาดทั่วประเทศ ทำตลาดประชารัฐมั่ง ตลาดทั่วเมืองขึ้นมาเยอะแยะ งบประมาณมากมายมาสร้างตลาดลงในชุมชน แต่ของเราชุมชนสร้างขึ้นมาด้วยใจ ช่วยกันทำจริงๆ เราก็กำลังคุยกัน พยายามรื้อฟื้น ที่อื่นตลาดตายไปเลย แต่ของเรายังมีคนที่ยังขายอยู่นะ แต่โควิดก็ยังไม่หมด แล้วการโปรโมตยังน้อย เรียกแม่ค้ามา ลูกค้าก็ไม่มา ลูกค้ามา แม่ค้าอ่อนใจก็หยุดกันซะก่อนก็มี เลยยังไม่จูนกันเท่าไหร่ เราก็เสียดายบรรยากาศ เศรษฐกิจชุมชนเราตอนนั้นดีมาก เตรียมเอาตลาดมาทำเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน การเที่ยวสวน เรามีนักเล่าของชุมชน มีการแสดงของชุมชน ซึ่งที่ไหนก็หาไม่ได้ ชุมชนเรามีอนุรักษ์ท่ารำ สร้างท่ารำมาใหม่เป็นของชุมชนเรา มีนักเล่าเรื่องเป็นเด็กในชุมชน 2-3 คน เขาพร้อมที่จะทำ พร้อมจะสืบทอดให้เด็กในชุมชนต่อด้วย มีสาธิตทำอาหารของเรา อย่างตำข้าวเม่า แกงส้มใบสันดาน (ต้นสันดานเป็นเถาไม้เลื้อย ใบมีรสเปรี้ยว มีช่วงหน้าฝน หน้าแล้ง ถ้าใส่มะนาวเยอะก็เปรี้ยวเยอะ แต่ใบสันดานใส่เท่าไหร่ เปรี้ยวเท่าเดิม คือเปรี้ยวเป็นสันดาน) ชักเย่อก็ไม่ต้องไปรอสงกรานต์ เดือนนึงครั้งนึงให้นักท่องเที่ยวมาชักเย่อเกวียนได้เลย เราทำทีมไว้ มีการแสดงด้วย ได้เห็นผลิตภัณฑ์และบรรยากาศในชุมชนตะปอนเรา”
สมบัติ ประทุม
ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 ตำบลตะปอน อำเภอขลุง