ย่านกะดีจีน-คลองสาน ย่านประวัติศาสตร์ริมน้ำเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ตั้งถิ่นฐานฝั่งธนบุรีที่มีความสำคัญควบคู่กับการสร้างบ้านแปงเมืองฝั่งพระนครมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันยังคงหลงเหลือมรดกทางวัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้อันทรงคุณค่าจำนวนมาก ทั้งเป็นพื้นที่ย่านเก่าที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติ 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ หากหลอมรวมเป็นอัตลักษณ์หนึ่งเดียว อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข พร้อมด้วยความเข้มแข็งของชุมชนอันเป็นต้นทุนทางสังคมสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนา ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่จะดึงดูดผู้คนให้เข้ามาในพื้นที่มากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการแทนที่ด้วยคนกลุ่มใหม่ (Gentrification) และส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในย่าน จึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมการเรียนรู้ให้ชาวชุมชน เพื่อเตรียมการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันในสังคมสมัยใหม่ให้แก่ชาวชุมชน
ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center – UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินงานและกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูในพื้นที่ย่านหลากหลายรูปแบบ ร่วมกับประชาคมย่านกะดีจีน-คลองสาน (บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ) และภาคีพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม ผลักดันการฟื้นฟูและพัฒนาย่านด้วยตัวแบบการเรียนรู้และนวัตกรรม “มหาลัยในย่าน” และ “ศิลป์ในซอย” ที่ได้ริเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ผ่านกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม การสร้างการเรียนรู้ของนิสิตร่วมกับชุมชน การระดมทุนจัดทำพื้นที่สาธารณะ ตลอดจนสร้างการรับรู้และความภาคภูมิใจของชาวย่านผ่านการใช้งานศิลปะและการเดินมาขับเน้นให้เห็นคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมในพื้นที่และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชน อันนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ อาทิ การมีพื้นที่ศาสนสถาน พื้นที่สาธารณะ รวมถึงพื้นที่ส่วนบุคคลภายในย่าน เป็นพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันของประชาคมย่านกะดีจีน-คลองสานและภาคีพัฒนา เช่น วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วัดซางตาครู้ส มัสยิดบางหลวง อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน ฯลฯ
มีการสร้างเป้าหมายของการดำเนินโครงการและกิจกรรมร่วมกัน จัดตั้งมูลนิธิประชาคมย่านกะดีจีน-คลองสาน โดยมีการจัดประชุมประชาคมฯ เป็นประจำ มีวิทยากรกระบวนการจัดความรู้ซึ่งเป็นชาวชุมชน ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ มรดกวัฒนธรรม และศิลปวัฒนธรรม มีชุดองค์ความรู้ดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ของย่าน และมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม รวมถึงส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนอยู่เป็นประจำ สามารถขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาทั้งในด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การปรับปรุงและฟื้นฟูพื้นที่สาธารณะในย่านกะดีจีน ได้แก่ ตรอกวัดประยุรวงศ์และตรอกถาน ชุมชนวัดประยุรวงศ์ ลานริมน้ำหน้าวัดซางตาครู้ส ชุมชนกุฎีจีน และตรอกท่าน้ำวัดกัลยาณ์ ชุมชนวัดกัลยาณ์ โครงการปรับปรุงทางเดินริมน้ำย่านกะดีจีน โครงการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา โดยในปัจจุบันชุมชนเองเริ่มสามารถดำเนินกิจกรรมได้ด้วยตนเอง เป็นสัญญาณที่ดีในการเกิดการพัฒนา
ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองเล็งเห็นโอกาสและศักยภาพในการต่อยอดการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองและกลไกการเติบโตใหม่ของกรุงเทพมหานคร ในบริบทย่านกะดีจีน-คลองสาน บนฐานแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้และฐานความรู้ ผ่านชุดโครงการ “การวิจัยและขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่และกลไกความร่วมมือเมืองแห่งการเรียนรู้ ย่านกะดีจีน-คลองสาน” ประกอบด้วย 2 โครงการย่อยคือ “มหาลัยในย่าน: โครงการขับเคลื่อนการเรียนรู้ฐานชุมชน” และ “ศิลป์ในซอย: แสง-สี-ศิลป์ เชื่อมย่าน เชื่อมการเรียนรู้ เชื่อมเศรษฐกิจชุมชน” โดยมีคำถามในงานวิจัยชิ้นนี้ว่า “กลไกความร่วมมือ และตัวแบบการเรียนรู้และนวัตกรรม รูปแบบใด และมีกระบวนการอย่างไร ที่สามารถขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ของย่านมรดกวัฒนธรรม อันจะช่วยยกระดับการเรียนรู้ของประชาชนในพื้นที่และสร้างการพลวัตเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน”
ตลอดการดำเนินงานขับเคลื่อนย่านกะดีจีน-คลองสานสู่การเป็นพื้นที่นำร่องเมืองแห่งการเรียนรู้ย่านมรดกวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานคร คณะทำงานได้ทดลองใช้ตัวแบบการเรียนรู้และนวัตกรรม “มหาลัยในย่าน” และ “ศิลป์ในซอย” เพื่อถ่ายทอด แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับย่านกะดีจีน-คลองสาน ในประเด็นการจัดการมรดกวัฒนธรรม และการพัฒนาพื้นที่รอการพัฒนา ซึ่งเป็นประเด็นที่คนในพื้นที่มีความสนใจ โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองได้ดำเนินงานร่วมกับภาคีพัฒนาในรูปแบบคณะดำเนินงานเฉพาะกิจ ได้แก่ กลุ่มปั้นเมือง ในหลักสูตรผู้จัดการมรดก (ทางวัฒนธรรม) และกลุ่ม we!park กลุ่มยังธน และศูนย์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาการออกแบบ (Innovation for Design Development Center – IDDC) มหาวิทยาลัยศรีปทุม ในหลักสูตรการพัฒนาพื้นที่รอการพัฒนาสู่พื้นที่สวนสาธารณะ พื้นที่รกร้างที่รอการพัฒนา ซึ่งองค์ความรู้และผลลัพธ์สำคัญของโครงการมหาลัยในย่าน ได้นำมาปฏิบัติจริงผ่านการทดลองใช้ตัวแบบการเรียนรู้และนวัตกรรมศิลป์ในซอย โดยดำเนินกิจกรรมสร้างสรรค์ศิลป์ในย่าน 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมกราฟฟิตีคอมมิวนิตี x สวนสานธารณะ กิจกรรมรุกขกรสอนรุกขกรรม และกิจกรรม Station การจัดการขยะ ซึ่งทั้งสามกิจกรรมได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับพื้นที่ “สวนสานธารณะ” แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ หากเป็นฐานสำคัญในการต่อยอดการขับเคลื่อนการพัฒนาในประเด็นการเปลี่ยนแปลงและบริหารจัดการเชิงพื้นที่ในรูปแบบกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งคณะทำงานเฉพาะกิจทั้งหมด ร่วมด้วยประชาคมย่านกะดีจีน-คลองสาน ไม่ว่าจะเป็นชุมชน สถานศึกษา ศาสนสถาน ตลอดจนสำนักงานเขตคลองสาน สำนักงานเขตธนบุรี ไอคอนสยาม ผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ ตลอดจนภาคีเครือข่ายนอกพื้นที่ ได้แก่ มูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ สมาคมรุกขกรรมไทย บ้านและสวน บางกอก รูฟท๊อป ฟาร์มมิ่ง และคลองเตยดีจัง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาย่านกะดีจีน-คลองสานอย่างเป็นองคาพยพ ตลอดจนสร้างฐานองค์ความรู้ให้กับพื้นที่และคนในพื้นที่ ซึ่งตอบรับกับกรอบแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกในทุกระดับ ตั้งแต่กระบวนการเรียนรู้ของตัวแบบ เป็นการสร้างเสาขององค์ประกอบที่จะนำไปสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ การทำงานด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมที่ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เป็นการสร้างฐานที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ และการดำเนินงานและทดลองใช้ตัวแบบการเรียนรู้และนวัตกรรมนี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์วงกว้างของการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ได้อย่างสม่ำเสมอในระยะยาว
การขับเคลื่อนการพัฒนาย่านกะดีจีน-คลองสานอย่างเป็นองคาพยพ ตอบรับกับกรอบแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกในทุกระดับ ตั้งแต่กระบวนการเรียนรู้ของตัวแบบ เป็นการสร้างเสาขององค์ประกอบที่จะนำไปสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ในระยะยาว