“มหาลัยในย่าน” และ “ศิลป์ในซอย” เชื่อมการเรียนรู้ฐานชุมชน
ย่านกะดีจีน-คลองสาน

Start
670 views
78 mins read

WeCitizens สนทนากับคณะทำงานชุดโครงการ “การวิจัยและขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่และกลไกความร่วมมือเมืองแห่งการเรียนรู้ ย่านกะดีจีน-คลองสาน” อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อํานวยการ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) หัวหน้าโครงการย่อยที่ 1 “มหาลัยในย่าน: โครงการขับเคลื่อนการเรียนรู้ฐานชุมชน” ธนพร โอวาทวรวรัญญู ผู้ช่วยผู้อํานวยการ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง หัวหน้าโครงการย่อยที่ 2 “ศิลป์ในซอย: แสง-สี-ศิลป์ เชื่อมย่าน เชื่อมการเรียนรู้ เชื่อมเศรษฐกิจชุมชน” และมัญชุชาดา เดชาคนีวงศ์ นักสังคมวิทยา ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ถึงการดำเนินงานชุดโครงการฯ ผ่านโครงการย่อย “มหาลัยในย่าน” และ “ศิลป์ในซอย” ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงและส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับองค์ความรู้และขยายผลสู่การปฏิบัติ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงจริงในพื้นที่ อันเห็นได้จากผลลัพธ์การร่วมกันพัฒนาพื้นที่รกร้างสู่พื้นที่ “สวนสานธารณะ” ซึ่งแม้ไม่ได้เป็นผลงานชิ้นใหญ่ แต่เป็นผลงานยุทธศาสตร์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบให้เกิดการขยายผลการพัฒนาต่อๆ ไป อีกทั้งเป็นตัวแบบที่สร้างรากฐานให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างฐานให้กับทรัพยากรมนุษย์และพื้นที่ย่าน สร้างเครือข่ายทางสังคมที่ส่งเสริมการดำเนินงานซึ่งกันและกัน และสร้างแพลตฟอร์มความรู้ย่าน เหมาะแก่การทำซ้ำและขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ตลอดจนเป็นตัวแบบหนึ่งที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบนฐานความรู้สู่การขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้อย่างเป็นองคาพยพและยั่งยืน

มองภาพ Learning City ในบริบทการพัฒนาเมืองอย่างไร

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ – ในปีแรกมองเป็นภาพกว้างว่า เมืองแบบไหนที่สร้างหรือเปิดโอกาสให้คนที่อยู่ในเมืองสามารถมีโอกาสทางการเรียนรู้ หรือมีโอกาสได้ศึกษาเรียนรู้อย่างที่เขาตั้งใจ แต่ว่าก่อนเริ่มโครงการวิจัยกับทางบพท.และอว. เราทำโครงการที่เกี่ยวข้อง คือโครงการผังแม่บทจุฬาศตวรรษที่ 2 เป็นการวางผังพื้นที่การศึกษา ดังนั้นก็จะไปแตะเรื่องของการเรียนรู้ ถ้าพูดถึงเรื่องของการเรียนรู้ คนก็จะนึกถึงสถาบันแบบมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียน เราก็ไปรีเสิร์ชเรื่องของ Future of Learning กับ Future of Learning Space มีการคาดการณ์องคาพยพของการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปในศตวรรษที่ 21 หรือ 22 กับหน้าตาของพื้นที่แบบไหนที่จะเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่การศึกษาเท่านั้น เรามองมากไปกว่าพื้นที่ที่เป็นห้องเรียนแบบเดิม แล้วในฐานะที่เป็นนักผังเมือง เมืองจะต้องเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกในเชิงสเปซหรือระบบนิเวศของเมืองยังไงได้บ้าง

ทีนี้ มาดูเรื่อง Learning City มีตัวชี้วัดที่เป็นกรอบใหญ่ๆ ที่ทุกโครงการใน Learning City Session พูดถึง คือตัวชี้วัดเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก เราก็เกิดคำถามว่ามีตัวชี้วัดหลากหลายมาก ไม่ใช่แค่เรื่องเฉพาะเมืองแห่งการเรียนรู้ มันมีกรอบแนวคิดเชิงทฤษฎีระดับโลก แต่ไม่ค่อยฟิตกับเมืองไทยซักเท่าไหร่ ก็เกิดคำถามย่อยว่า ถ้าโจทย์ไหนที่ขึ้นแท่นว่าเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ จริงหรือเปล่าที่จะต้องสอดคล้องกับคุณลักษณะสามประการของยูเนสโก แต่เราคิดในใจว่าไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะในเมืองไทยบริบทแตกต่างมากๆ พอเจาะลึกข้อมูลดู ประการแรก เมืองหลายๆ เมืองที่ถูกหยิบยกในยูเนสโกก็ไม่ได้เป็นเมืองในภาพฝันแรกของเราว่าเมืองเหล่านี้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ดังนั้นก็เลยเป็นโจทย์ว่าความจริงแล้วตัวชี้วัดเหล่านี้สามารถวัดหรือประเมินอย่างนั้นได้จริงๆ หรือเปล่า พอเราไปทำความเข้าใจยูเนสโกก็เข้าใจมากขึ้นว่าตัวชี้วัดมีเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าเมืองเหล่านี้ควรจะต้องขับเคลื่อนนโยบายทำให้เกิดการสร้างองคาพยพของตัวเมืองเองให้เป็นตัวเมืองที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ออกมาในรูปแบบของตัวเลขมากน้อย มันเป็นแค่การประเมินความพร้อม ยกตัวอย่างเซสชันนึงที่ผมทำ เราพบว่า ความรู้มาจากตัวข้อมูล ถ้าไม่มีข้อมูลแสดงว่าไม่มีความรู้ พอมาแตะแค่ตัวชี้วัด เราจะพบว่า 100% ตัวชี้วัดที่ระดับท้องถิ่นไม่ถึงครึ่งที่หน่วยงานเขามีอยู่ อีกเกินครึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกเปิดเผย แสดงว่าถ้าประเมินอย่างนี้ประเทศไทยค่อนข้างยากแล้ว มันไม่ใช่ว่าเรามีศักยภาพแค่ไหน แต่เราไม่สามารถประเมินได้เพราะเราไม่มีข้อมูล อันนี้ก็เป็นโจทย์หนึ่งว่ามันมีมิติอื่นๆ ในการตีความเมืองแห่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย ดังนั้นจึงเป็นกรอบในการชี้วัดว่า ถ้าเราจะสร้างองคาพยพหรือมองโจทย์ของการพัฒนาเมืองที่เป็นเมืองที่ส่งเสริมการเรียนรู้ เราจะออกแบบตัวชี้วัดหรือการประเมินศักยภาพตรงนี้ยังไง แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็พบว่า อาจต้องดูบริบทของตัวชี้วัดให้ฟิตกับบริบทของพื้นที่ด้วย ซึ่งตอนแรกเรามองโต้งๆ ว่า เชียงใหม่มีแค่ไหน กรุงเทพฯ มีแค่ไหน ถ้าจะประเมินอย่างนั้นผมว่าค่อนข้างไม่แฟร์ แล้วก็ไม่สามารถบอกอะไรได้

จากการทำกระบวนการ เมืองจะเอื้อให้เกิดการเรียนรู้หรือทำให้ผู้คนที่อยู่ในเมืองเกิดการเรียนรู้ได้ยังไง ก็พบว่า ต้องมี 3 อย่าง หนึ่งคือเครือข่าย หรือมีการสร้างเครือข่าย ไม่ใช่แค่สร้างองค์ความรู้นะ แต่องค์ความรู้นั้นจะต้องนำไปสู่การพัฒนาเมืองหรือทำคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่ในเมืองนั้นดีขึ้น แต่การพัฒนาในระดับเมือง อย่าง UddC ทำ แม้ว่าจะไม่ได้ทำเรื่อง Learning นะครับ ก็ไม่สามารถทำคนเดียวได้ ยิ่งถ้าเป็น Learning City เกี่ยวข้องกับตัวชุมชน การสร้างเครือข่ายสำคัญ สองคือพาร์ตเนอร์จะมาเจอกันไม่ได้ถ้าขาดแพลตฟอร์ม ทั้งแพลตฟอร์มในเชิงกายภาพและในเชิง non-physical เช่น เว็บไซต์ บอดี้ หรือสเปซกิจกรรม สุดท้ายคือเราต้องขยายผลในการที่จะผลักดันกรอบความคิดเรื่องนี้จากตัวโหนดหลักๆ ที่ทำ เช่นเป็น actor เป็น activist ไปสู่เด็ก คนรุ่นใหม่ คนแก่ที่อยู่ในชุมชน หรือใครก็ตามที่อยู่ในพื้นที่ เพราะเราเชื่อว่า ในชุมชนหรือในพื้นที่เมืองที่เป็นพื้นที่ของการใช้ชีวิตมันมีองค์ความรู้อยู่ แต่ว่าองค์ความรู้นั้นเป็นความรู้ที่อยู่ในหัวสมองของคน ไม่ได้ออกมา ดังนั้นเราคิดว่า สามองค์ประกอบนี้จะต้องดำเนินการ ซึ่งในปีที่หนึ่งเราทำกรุงเทพฯ กับนครสวรรค์ ประเมินว่าในเมืองมีศักยภาพแค่ไหน ผลคือ กรุงเทพฯ รองจากปทุมวัน บางรัก ย่านที่เราเรียกว่ามีสินทรัพย์ มีบอดี้ของเมืองที่พร้อมขับเคลื่อน รองลงมาก็คือกะดีจีน-คลองสาน อาจจะไม่ได้เป็น Learning Facility สมัยใหม่ แต่เป็นเรื่องของมรดกวัฒนธรรม การถ่ายทอดภูมิปัญญาที่มีอยู่ เราก็เลยเลือกพื้นที่กะดีจีน-คลองสานมาทำเป็นพื้นที่นำร่องในปีที่สอง

“มหาลัยในย่าน” ส่งเสริมพัฒนาทักษะการเรียนรู้ สังคม และเศรษฐกิจอย่างไร

อดิศักดิ์ – กิจกรรมนี้เชื่อว่าความรู้อยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ได้หมายความว่ามหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ในการบ่มเพาะหรือกุมความรู้ทั้งหมด เราก็เลยเปิดกระบวนการให้เกิดพื้นที่ที่เป็นแพลตฟอร์ม “มหาลัยในย่าน” ขับเคลื่อนจากฐานข้อมูลชุมชน ผนวกไปกับการพัฒนาพื้นที่ย่านกะดีจีน-คลองสาน ชวนเด็กๆ นิสิต ชาวย่านที่นิสิตอยากให้เอากระบวนการที่อยู่ในมหาวิทยาลัยไปอยู่ในชุมชน ก็เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างเด็กๆ ที่เป็นนิสิตอยู่แล้วที่ไปสอนชาวบ้าน กลับกัน ชาวบ้านก็ทำหน้าที่เป็นครูด้วย สอนแล้วมีการแลกเปลี่ยน เราคิดว่าบรรยากาศแบบนั้นเป็นตัวสะท้อนของเมืองแห่งการเรียนรู้จริงๆ และเป็นตัวบอกด้วยว่าชุมชนต้องการเรียนรู้อะไร เขาเองก็เป็นคนบอกว่าเขามีความรู้อะไรที่สามารถสอนคนอื่นได้ องค์ความรู้นั้นอยู่ที่ใครบ้าง ก็พัฒนาออกมาเป็น 2 องค์ความรู้หรือหลักสูตรที่คิดว่าชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ต้องการ คือ หลักสูตรการจัดการมรดกวัฒนธรรม เพราะว่าเป็นย่านที่มีความหลากหลายมาก มีพุทธ คริสต์ อิสลาม อยู่ด้วยกันแบบดีมากๆ มีเทศกาลที่สามารถผสมข้ามศาสนาความเชื่อ กับเรื่องของกลุ่มคนที่อยู่เดิมกับคนที่เข้าไปใหม่ การพัฒนารถไฟฟ้า คนมาเช่าพื้นที่ ฉะนั้น องค์ความรู้เรื่องการจัดการมรดกวัฒนธรรม การถ่ายทอดจากคนรุ่นใหม่ เป็นสิ่งที่ชาวย่านกะดีจีน-คลองสานต้องการ และความจริงแล้ว ย่านที่อยู่โดยรอบก็มีเหมือนกัน การทำครั้งนี้ก็เลยเปิดให้ย่านละแวกเข้ามาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนกัน เช่น ย่านตลาดน้อย บางลำพู ซึ่งแต่ละพื้นที่เขามีเสน่ห์เหมือนกัน

องค์ความรู้ที่สองคือ การพัฒนาพื้นที่ว่าง พื้นที่สาธารณะ เพราะพื้นที่ตรงกะดีจีน-คลองสานเป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากการพัฒนาเมืองค่อนข้างมาก มีโครงการไอคอนสยาม แนวรถไฟฟ้าสายสีทอง ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ แม้ว่าเกิดขึ้นตามแนวถนนสายหลัก แต่พื้นที่ด้านในที่สาธารณูปโภคของเมืองยังไม่ทั่วถึง ก็กลายเป็นว่าเขาก็มีความอยากพัฒนาพื้นที่ภายในของตัวเอง และมีหลายภาคส่วนที่ทำร่วมกัน เช่น การพัฒนาสวนสาธารณะ พื้นที่ลานวัด ลานในชุมชน ซอยที่ชาวบ้านใช้เป็นพื้นที่ร่วมกัน ก็มาทำความสะอาด วาดภาพบนกำแพง ใช้ศิลปะ เราก็คิดว่า สองหลักสูตรนี้เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนจากการมองบริบทของความรู้หรือการจัดการความรู้ที่เป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษามาเป็นในระดับของความเป็นย่านหรือเมือง

กระบวนการพัฒนาพื้นที่ว่างเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมที่คนในย่านได้ใช้ประโยชน์

อดิศักดิ์ – ที่ผ่านมาเราทำงานอิงกับพื้นที่สิบปี ก็เกิดการพัฒนาหรือการเปลี่ยนผ่าน เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามนโยบายผู้บริหารกทม. ก็ได้พื้นที่ว่างที่เอกชนมอบให้กทม. เดิมเป็นที่ทิ้งร้าง ที่ทิ้งขยะบ้าง เราก็เอากระบวนการหรือองค์ความรู้ในการพัฒนาพื้นที่มาเทสต์ในพื้นที่จริงที่ตั้งชื่อว่า “สวนสานธารณะ” ตั้งแต่การปรับปรุงพื้นที่จริงๆ การตัดแต่งต้นไม้ การปลูกผัก พื้นที่ขยะก็ถอดออกมาเป็นโมดูลเล็กๆ จับมือกับพาร์ตเนอร์คือศูนย์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาการออกแบบ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ในเรื่องการจัดการคัดแยกขยะ เช่น ขยะไหนที่ควรทิ้ง ขยะไหนที่รีไซเคิลได้ ดังนั้น ตัวหลักสูตรการจัดการพื้นที่สาธารณะ นอกจากถูกผลักออกไปจากตัวห้องเรียนที่เป็นมหาวิทยาลัยไปสู่ชุมชน ยังผลักจากตัวกระดาษที่เป็นหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติจริง ผมคิดว่าเป็นความสำเร็จประมาณนึงของตัวโครงการ

กระบวนการทำ “มหาลัยในย่าน” เชื่อมโยงควบคู่กับนวัตกรรมการเรียนรู้ “ศิลป์ในซอย”

ธนพร โอวาทวรวรัญญู – จากหลักสูตรปรับปรุงพื้นที่สาธารณะจากมหาลัยในย่าน อาจจะแค่เราพูด แสดงความคิดเห็น แต่ยังไม่เกิดการลงมือทำ ศิลป์ในซอยก็จะเป็นการปฏิบัติจริง เช่น การตัดต้นไม้ เรามีเวิร์กช็อปร่วมมือกับสมาคมรุกขกรให้มาเรียนรู้รุกขกรรม คือในพื้นที่อาจดูไม้ใหญ่ร่มรื่น แต่จริงๆ มันมีต้นไม้ที่กิ่งเปราะ รากเน่า มีรายละเอียดที่ไม่สามารถอาศัยความร่มรื่นอย่างเดียวเก็บรักษาไว้ ก็มีรุกขกรมาสอนว่าต้นไม้ไหนเก็บได้ไม่ได้บ้าง ซึ่งในกระบวนการสอนก็ตัดต้นไม้ไปด้วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ คือในกระบวนการทำงานพัฒนาเมือง มีแนวคิดการฟื้นเมืองแบบยุทธวิธี (Tactical Urbanism) คือทำยังไงก็ได้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชั่วขณะ หรือเป็นแท็กติกอะไรบางอย่างที่ทำให้พื้นที่นี้น่าอยู่มากขึ้น เช่น บางที่ระบายสีเหลืองให้ดูเป็นไฟ ที่ก็ดูสว่างขึ้น ซึ่งการที่ชาวบ้านบอกว่า พอคุยแล้วได้อะไร มาทำอะไร เมื่อไหร่จะเกิด เมื่อไหร่จะเปลี่ยนแปลง ในมุมนักวิจัยเองก็ต้องเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน ได้มากได้น้อยก็ยังดีกว่าไม่ได้ ทำซัก 2 ใน 10 ก็ยังพอได้นะ แล้วอะไรที่จะนำไปสู่ 2 ใน 10 ที่เราพอจะทำได้ เราทำศิลป์ในซอยทุกปี ค่อนข้างเป็นรูปแบบอีเวนต์ที่จัดให้คนมา appreciate มรดกวัฒนธรรม งานไฟส่องย่าน ถนนคนเดิน ซึ่งเศรษฐกิจเกิดขึ้นแค่ ณ ชั่วขณะหนึ่ง แต่คนเริ่มเข้ามารู้จักพื้นที่ รู้จักมรดกวัฒนธรรมที่มีอยู่ในกะดีจีน-คลองสาน แต่ว่า แล้วเราเหลืออะไรไว้ให้ชุมชนหรือเปล่า ก็แทบไม่เหลือเลย โจทย์ต่อไปคือเราทำยังไงให้เขาได้อะไรกลับมา เลยนำไปสู่กิจกรรมย่อยในตัวศิลป์ในซอย ซึ่งบางอันกลายเป็นว่าเราก็เหลืออะไรทิ้งไว้ อย่างเช่น การปรับปรุงพื้นที่เป็นสวนสานธารณะ จากรกร้าง เราทำได้ประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่ให้เป็นพื้นที่นั่งเล่นได้ แล้วก็ใช้กิจกรรมศิลป์ในซอยเข้ามาคุยกันว่าคนจะมารู้จักพื้นที่นี้ได้ยังไง หรือคุยกันว่าน่าจะมีแหล่งสปอตไลต์ให้เกิดขึ้นในการใช้พื้นที่ ซึ่งในพื้นที่มีกำแพงอยู่ด้านนึง เลยมีเวิร์กช็อปคุยกับเด็กๆ ในย่าน คนในย่าน ว่าเราจะเพนต์กำแพงยังไงได้บ้าง ให้ทุกคนมาช่วยกันร่างก่อน แล้วมาช่วยกันเพนต์ ให้ศิลปินมาจบงาน ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่

ประเมินการทำงานพัฒนาเมืองในบริบทเชิงพื้นที่อย่างไร

อดิศักดิ์ – คือย่านกะดีจีน-คลองสานยังเป็นพื้นที่ทำงานอยู่ เพราะมีศักยภาพมาก เราไม่ได้มองตัวโครงการเป็นที่ตั้ง เราเอาพื้นที่และบริบทในพื้นที่เป็นที่ตั้ง ดังนั้น ไม่ว่าโครงการ Learning City จบแล้วหรือโครงการใหม่เข้ามา เราคิดว่าเป็นการสานต่อการทำงานในเชิงพื้นที่ กับภาคีเครือข่ายที่เราขยายผลเป็นแพลตฟอร์มเติมเต็มหรือต่อยอดการทำงานในพื้นที่ เราก็ประเมินผลตลอดหลังจากทำมาห้าปีสิบปี การทำงานเชิงพื้นที่มีข้อดีหลากหลาย แต่สิ่งที่เราต้องคิดต่อไปก็คือ เราจะถอดตัวเองออกจากพื้นที่ได้ยังไง ในขณะที่เขาสามารถยืนระยะและทำต่อไปได้ จากที่เราทำแบบเป็นคนบริหารจัดการ ปีที่สามที่สี่เราเป็นพี่เลี้ยง ดูเขาทำ ดูเขาจัด อย่างเราทำศิลป์ในซอยปีนี้เป็นปีที่ 7 ปีแรกเราจัดให้หมดเลย ชวนชาวบ้านมามีส่วนร่วม หลังจากนั้นก็ชาวบ้านทำครึ่ง เราทำครึ่ง ปีหลังๆ เราต้องมีโครงการอื่น แต่ชาวบ้านอยากจัด ชาวบ้านบอกทำเองละ มาช่วยดูก็พอ เราคิดว่าตรงนี้เป็นการส่งผ่านองค์ความรู้ผ่านการทำจริง แต่ก็ต้องใช้เวลา คิดว่าเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำหรับคนทำงานในเชิงพื้นที่ เพราะว่าพอเราทำงานสั้นไปเขาจะช้ำ แต่ถ้าเราทำงานยาว ความผูกพันเกิดขึ้น แล้วเขาจะคิดว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของเขา ถ้าเราไม่เข้าไปหรือไม่ติดตาม ทิ้งระยะห่าง ก็จะกลายเป็นว่า ทำไมถึงไม่มา ดังนั้น ไม่ใช่ UddC ต้องยึดติดกับกะดีจีน-คลองสานตลอดไป จะทำยังไงให้เราสามารถขยายผล โมเดลอย่างนี้ เปิดโอกาสให้ภาคีรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในพื้นที่ หรือทำให้คนในพื้นที่เอง ไม่ว่าจะเป็นปราชญ์ชุมชน เด็กรุ่นใหม่ สามารถรันตรงนี้ต่อไปได้

ธนพร – จริงๆ แล้วเราเองเป็นคนนอก เราออกได้ หรือคนในชุมชนก็ย้ายบ้านบ้าง ไม่อยากเป็นกรรมการชุมชน ไม่อยากทำแล้ว แต่อย่างสำนักงานเขตเอง ที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงในระดับเขตและย่าน มีบทบาทค่อนข้างสูง ฉะนั้น ในกระบวนการเรียนรู้นี้ พยายามถอดให้ทั้งเขตเองหรือชุมชนเองเห็นว่า การพัฒนาพื้นที่ ทุกคนสามารถเข้ามาพัฒนาหรือให้ความเห็น สามารถช่วยกันทำได้ เขตก็เริ่มมองเห็นมากขึ้น มีการพูดคุยกันว่าจะทำโครงการเหล่านี้ยังไงให้สม่ำเสมอมากขึ้น เขตจะบรรจุกิจกรรมเหล่านี้ให้เกิดขึ้นทุกปีหรือทุกเดือนมั้ย ถ้ามีกลไกนี้เข้ามา เขตจะเป็นคนที่ทำให้กระบวนการนี้ยั่งยืนได้มากกว่าคนอื่น อย่างชุมชนเองทำงานพัฒนาชุมชนใกล้ชิดกับเขต ค่อนข้างเข้าใจเขตว่าจะสามารถบาลานซ์กันยังไง ซึ่งค่อนข้างแตกต่างกับชุมชนเมืองซึ่งเราไม่เคยทำงานร่วมกับเขตเราเลย ก็จะรู้สึกว่าเราเป็นคู่ขัดแย้งได้ในทุกเมื่อที่เขาจะต้องการพัฒนาอะไรก็ตาม แต่ในกะดีจีน-คลองสานเองไม่ใช่ เขาค่อนข้างคุยกัน พัฒนาร่วมกัน ฝ่ายพัฒนาชุมชนของสำนักงานเขตเอง ก็เปิดให้กลุ่มในชุมชนหรือประธานชุมชนส่งข้อเสนอว่าปีนี้อยากทำอะไร อยากมีกิจกรรมอะไรบ้าง ชุมชนก็เริ่มแอ็กทิฟ อยากทำโน่นนี่ เขาก็มีโทรมาหา UddC บ้างว่าเขียนยังไง ช่วยหน่อย ก็เหมือนเป็นพี่เลี้ยง จริงๆ โจทย์สำคัญที่เป็นยุทธศาสตร์ว่าอยากสร้างพลเมืองที่เป็นจิตอาสา เราถอดบทเรียนที่กะดีจีน-คลองสานคือขาดคนรุ่นเด็ก เป็นช่องว่างขนาดใหญ่ อย่างองค์กรเรา เราก็เป็นรุ่นเด็กประมาณนึง แล้วเราจะไปคุย ส่วนมากคนที่แอ็กทิฟอยู่จะเป็นผู้สูงอายุหรือมีอายุนิดนึง เขาก็จะทำได้ประมาณหนึ่ง

เครื่องมือของโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ไปเปิดเผยให้คนทำงานในพื้นที่เข้าใจความหลากหลาย คุณค่าของความสัมพันธ์ในสังคมได้

ธนพร – โจทย์เมืองแห่งการเรียนรู้ แค่นิยามความเป็นเมืองกรุงเทพฯ คืออะไร เพราะกรุงเทพฯ คือมหานคร มันค่อนข้างใหญ่มาก พอเราพยายามตีกรอบลงมา พื้นที่แค่ไหนนิยามความเป็นเมืองได้ ก็ลดรูปลงมาเหลือคำว่า ย่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ของเขตสองเขตคือเขตธนบุรีกับเขตคลองสาน แต่ในเขตอาจทำได้เป็นพื้นที่บางชุมชน ซึ่งพอเราเข้าไป คิดว่า ในเมืองใหญ่ เราจะเอาเวลามาเป็นจิตอาสา ทำงานช่วยพัฒนาชุมชน ซึ่งสุดท้ายแล้วทุกคนมาช่วยกันทำ มันไม่เกิดผลอะไรเลย ผลคือเติมเต็มจิตใจ ชั้นเป็นคนดี ชั้นมาช่วยทำกิจกรรม คือมันอาจจะเกิดผล ณ ชั่วขณะหนึ่ง แต่ก็อาจเป็นผลที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในพื้นที่หรือคนที่เข้าไปช่วยทำงานจริงๆ พอเรามาทำเฟสสองของ Learning City พัฒนาสวนสานธารณะไปหนึ่งในสาม ที่เห็นผลชัดคือ เมื่อมีผลลัพธ์เป็นรูปธรรม คนรู้สึกจับต้องได้และใจฟูมากขึ้น แล้วพื้นที่เกิดการปรับปรุงและใช้ได้จริง ทำให้คนเติมเต็มไปอีกระดับ มากกว่าการพูดว่าเราเป็นคนดี เรามาช่วยกันทำ เราอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม ซึ่งพอได้จุดตั้งต้นนี้ ทุกคนเริ่มแอ็กทิฟ ชุมชนเองก็เมื่อไหร่จะมาทำกิจกรรมอีก เมื่อไหร่จะพัฒนาอีกสองส่วนที่เหลือ เขตเองที่เขาต้องดูแลรักษาเขตกับสำนักสิ่งแวดล้อม ก็ต้องออกแบบต่อนะ หรือต้องไปหางบมาจากไหน ไม่ต้องรองบราชการ ซึ่งความหลากหลายพวกนี้ทำให้เราเห็นช่องทางที่หลากหลาย ทุกคนเริ่มปรับมายด์เซ็ตของการอยู่ในชุมชนแล้วว่า ไม่ต้องรอรัฐอย่างเดียวก็ได้ เราทำเองได้ เราทำวันนี้ ได้ใช้วันนี้ แต่ถ้าเรารอรัฐอีกสองปี อีกสองปีเราไม่รู้ว่าจะได้ใช้หรือเปล่า

อดิศักดิ์ – ในความแตกต่างหลากหลาย มันเห็นเซนส์ความเป็นเจ้าของร่วมที่แตกต่างกัน ถ้าเราทำในระดับเมือง มันมี Sense of the City โอเค จะต้องพัฒนา แต่เป็นในเชิงบ่น ทางเท้าก็ต้องเปลี่ยนนะ แต่ว่าการยึดโยงอยากให้เห็นความเปลี่ยนแปลงจะไม่ถึงตรงนั้น แต่ทำในระดับเล็กลงไปเช่นในระดับย่าน เซนส์ตรงนี้กลายเป็น Sense of Place การเป็นเจ้าของตรงนี้ เขารู้สึกว่า ลงแรง ลงเงิน สามารถทำได้จริง แต่ว่าลักษณะของย่านกะดีจีน-คลองสานค่อนข้างพิเศษ ไม่สามารถเอาไปบอกว่าย่านอื่นก็ทำได้นะ ไม่ใช่ทำได้ 500 ย่าน 50 เขต แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มี อย่างที่เรามาทำต่อเช่นพระโขนง-บางนา ก็มีเซนส์ของคนที่อยู่ในย่านรู้สึกว่าเขาต้องเป็นตัวแทน บ้านของเขาต้องทำให้ดีขึ้น ต้องจับมือกับภาคเอกชน สำนักงานเขตก็พร้อม แสดงว่าอย่างน้อยที่สุด เราเห็นถึงความแตกต่างของระดับในความเป็นเจ้าของ ถ้าเราทำงานในระดับเมือง เราเห็นความเคลื่อนไหว แต่การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ยาก แต่ทำงานในระดับย่าน เซนส์ตรงนี้ค่อนข้างยึดติด ใช้เวลาในการทำค่อนข้างนาน ต้องสร้างความเชื่อใจให้เกิดขึ้น ถึงจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจากคนที่อยู่ในระดับย่าน ความเป็นเจ้าของเกิดยาวนาน เอฟเฟกต์สูงกว่า อิมแพกต์สูงกว่า ดังนั้น พอมองย้อนกลับมาสองปีที่ทำคือ ต้องทำทั้งสองระดับ ในระดับเมือง เพื่อเป็นภาพรวม แต่ว่าในระดับพื้นที่ที่มีความแตกต่างก็ต้องเข้าไปลงรายละเอียดในพื้นที่และต้องใช้เวลานาน ท้ายที่สุดแล้ว ทุกการเปลี่ยนแปลง ทุกความหลากหลาย การสร้างความเป็นเจ้าของ ใช้เวลา เราถึงบอกผู้ให้ทุนเหมือนกันว่า เราทำเรื่องเมืองมานาน การเห็นผลคือครึ่งทศวรรษ ครึ่งคน ดังนั้นการทำงบประมาณทุน 1 ปี กิจกรรม 10 ครั้ง ไม่สามารถเห็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างนั้นได้ โจทย์ของการตีความ output / outcome ที่โครงการหรือผู้ให้ทุนต้องการได้รับ ต้องบาลานซ์ตรงนี้ ถ้าอยากทำระยะยาวก็ต้องเป็นงบประมาณดำเนินการระยะยาว แล้ววัดผลตามเฟสจริงๆ ปีแรก งดคาดหวัง ไม่ใช่ทุกพื้นที่เราจะไปเจอไข่แดง ลงไปปุ๊บสามเดือนแรกจุดติดเลย สำนักงานเขตโอเค ชาวบ้านโอเค ทุกคนโอเค ลงมือทำเลย ภายใน 5 เดือนเห็นผล มันอาจจะมี 1 โครงการที่เกิดขึ้น ถ้าเราอยากสร้างปรากฏการณ์เมืองแห่งการเรียนรู้ กระบวนการพวกนี้ต้องใช้เวลา

มัญชุชาดา เดชาคนีวงศ์ – หลังจากที่เราทำงานมา นอกจากความแตกต่างหลากหลายที่เห็น การพยายามสร้าง Sense of Belonging ให้กับชุมชน สิ่งหนึ่งที่พบคือถ้าการทำงานไม่มีองค์กรที่จะเอาไปดำเนินการต่อได้จริง ก็อาจจะไม่สามารถเกิดผลได้ ซึ่งการทำโครงการนี้เห็นเป็นรูปธรรมหนึ่งคือ กทม.ค่อนข้างให้ความสำคัญในการจับประเด็น Learning City ไปดำเนินการต่อผ่านนโยบายกิจกรรมประจำเดือนเช่นเทศกาลบางกอกวิทยา รู้สึกดีใจมากๆ อย่างหนึ่งที่เขาเลือกคลองสานเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่อง อาจจะเพราะเห็นการทำงานและความรู้สึกเป็นเจ้าของของทั้งชุมชนหรือภาคอื่นๆ ที่เข้ามาร่วมกันทำงาน ก็คิดว่ากทม.ตั้งใจจะร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการต่อ และอยากสนับสนุนให้ชุมชนสร้างพลังตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นการต่อยอดโครงการที่ดีมาก ถ้ามีพื้นที่อื่นๆ นำไปเพิ่มหรือสร้างการตระหนักรู้ในการพัฒนาย่าน ปรับเปลี่ยนตามบริบทของตัวเอง ก็จะเป็นเหมือนการสร้างฐานความรู้ ทำให้แนวคิดนี้กระจายขึ้น สามารถเกิดขึ้นได้จริง เพราะผู้มีอำนาจหรือผู้ที่สามารถนำไปบังคับใช้ลงมาเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญ

ทัศนคติในการทำงานพัฒนาเมืองก็ต้องปรับเปลี่ยนทุกฝ่าย

ธนพร – เมื่อก่อนทัศนคติของคนทำงานชุมชนคือไม่อยากยุ่งกับระบบราชการ รัฐยุ่งยาก แต่ถ้าอยากขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาก็เป็นหน้าที่ของรัฐแหละ ไม่ใช่ธุระอะไรของเราจะไปบอกเขา แต่ถ้าเราไม่บอกเขาในวันนี้ หรือไม่พยายามไปเปลี่ยนมุมมองเขา การดำเนินงานในอนาคตก็จะยาก จะไม่ไปข้างหน้า เราขับเคลื่อนงานในกรุงเทพฯ ค่อนข้างเยอะ ก็พยายามบอกข้าราชการหรือผู้บริหารในทุกๆ รุ่นว่า ต้องใช้ข้อมูลนะคะ ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ไม่ว่าผู้บริหารกทม.ชุดเก่าหรือชุดใหม่ เห็นได้ชัดว่าทุกคนพยายามทำงานบนฐานข้อมูล เริ่มรู้แล้วว่ากทม.มีข้อจำกัดอะไร จะคุยกับเครือข่ายในเรื่องไหนได้บ้าง เครือข่ายแต่ละกลุ่มสามารถช่วยอะไรเขาได้บ้าง เราพยายามสร้างมายด์เซ็ตกำหนดสถานะชัดเจนว่านักวิชาการช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่มันคือหน้าที่ของทุกคนเลยนะ ท้องถิ่น นี่คือหน้าที่ของชุมชนที่คุณควรจะบอกอะไรเขาหรือมีหน้าที่อะไรที่จะดำเนินการตรงนี้ นี่คือหน้าที่ของเขตที่ต้องบอกส่วนกลางหรือว่าเขตต้องทำ นี่คือหน้าที่ของเอกชนควรสนับสนุนในช่วงไหนยังไง นักวิจัยก็มีหน้าที่หนึ่ง เมื่อก่อนมีคำถามเยอะมากจากชุมชนว่า คุยไปตั้งเยอะ เมื่อไหร่อันนี้จะสร้าง ซึ่งเราไม่ได้เป็นคนสร้าง เราส่งเรื่องนี้ให้กทม. ซึ่งกระบวนการทำงบประมาณค่อนข้างนาน เพราะฉะนั้นคุณต้องรอนะ เราพยายามให้ทุกคนทำความเข้าใจร่วมกันว่า ถ้าเกิดเข้างบประมาณก้อนใหญ่ ชุมชนต้องรออย่างน้อย 2 ปี ถ้าเกิน 2 ปีแล้วชุมชนยังไม่ได้ ไปเรียกร้องนะ แต่ถ้าก่อน 2 ปี ก็ให้เวลาเขานิดนึง

ปัญหาและความท้าทายในการทำงานขับเคลื่อนเครื่องมือการเรียนรู้เป็นกลไกในการพัฒนาพื้นที่

มัญชุชาดา – ในพื้นที่เอง ถึงแม้เราทำงานกับเขามาเป็นสิบปีแล้วก็ตาม ความสนใจหรือความต้องการของเขาเปลี่ยนเรื่อยๆ เราก็พยายามอยากรู้ว่าเขาสนใจอะไรเป็นหลัก ก็เป็นความยากหนึ่งของนักวิจัยเองว่าอาจจะไม่สามารถตอบสนองเขาได้ทุกประเด็น ช่วยได้ในบางส่วนที่จะไปขับเคลื่อนให้ตอบรับกับความต้องการเขามากที่สุด ซึ่งเขาก็ยังมีความสนใจประเด็นของการพัฒนาเชิงพื้นที่หรือการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม แต่สิ่งหนึ่งที่เราเองก็อยากจะช่วยส่งเสริมคือเรื่องของเศรษฐกิจ เพราะด้วยโควิดเอง เศรษฐกิจสังคมของตัวพื้นที่เอง ค่อนข้างทำงานในเชิงหาเช้ากินค่ำ เขาไม่ได้มีเวลาไปชื่นชมหรือมาร่วมกระบวนการด้วยมากนัก เขาเองก็อยากให้โครงการสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เขาด้วย นอกจากนี้ การทำงานในพื้นที่ก็เห็นเลยว่าเปลี่ยนผ่านไปรวดเร็วมาก ตัวสำนักงานเขตเองพอเปลี่ยนผู้อำนวยการเขต ความสนใจก็เปลี่ยน บางทีเหมือนเราต้องไปเริ่มหนึ่งใหม่ ทำให้การทำงานไม่ต่อเนื่อง รวมไปถึงคณะกรรมการชุมชนเองด้วยที่เปลี่ยน คณะกรรมการก็มีข้อขัดแย้งกันเองด้วย เขาไม่ชอบคนนี้ เขาก็จะไม่มาร่วมกระบวนการกับเราเลย ซึ่งปัญหาอาจจะไม่ใหญ่ แต่เราก็อยากให้การดำเนินการเป็นฉันทามติในชุมชน

ธนพร – มองเป็นปัญหาระดับโครงสร้างบริหารจัดการ คนที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการชุมชนเขาได้ประโยชน์อะไรจากการที่เขาเป็นคนรักพื้นที่ รัฐให้อะไรกับเขาได้มั้ยกับการที่เขามาทำตรงนี้ เพราะกรรมการชุมชนคือเงินเดือนก็ไม่มี ไม่ใช่อาชีพ อาจจะได้เบี้ยบ้างบางประชุม แต่การที่เขาต้องไปดูแลคนสามร้อยคนแทนเขต เขาได้อะไร ก็สะท้อนกลับให้เห็นว่ารัฐให้สิ่งกระตุ้นคนที่มาทำตรงนี้มากพอหรือยัง หรือตำแหน่งนี้เป็นอาชีพได้มั้ย คนมาทำก็จะมองว่าเป็นอาชีพ ต้องทำให้ดีที่สุด พอไม่เป็นอาชีพ ก็เป็นเวลาว่าง เขาคุ้มมั้ยที่มาทำ ประธานชุมชนบางท่านรักชุมชนมาก อยากช่วยมาก เอาเงินตัวเองมาลง มาทำกิจกรรมด้วยซ้ำ แต่ในอีกมุม กรรมการอาจต้องมีหน้าที่ชัดเจนที่ทำให้เขตลิงก์มาถึงชุมชนได้ การเลือกตั้งกรรมการก็ต้องมีเกณฑ์ชัดเจน สุดท้ายก็จะขับเคลื่อนไปด้วยกัน

ตัวชี้วัดที่เป็นกรอบใหญ่ๆ ที่ทุกโครงการใน Learning City Session พูดถึงเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก มีตัวชี้วัดหลากหลายมาก มันมีกรอบแนวคิดเชิงทฤษฎีระดับโลก แต่ไม่ค่อยฟิตกับเมืองไทยซักเท่าไหร่ เพราะในเมืองไทยบริบทแตกต่างมากๆ

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อํานวยการ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) หัวหน้าโครงการย่อยที่ 1 “มหาลัยในย่าน: โครงการขับเคลื่อนการเรียนรู้ฐานชุมชน”

ธนพร โอวาทวรวรัญญู ผู้ช่วยผู้อํานวยการ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง หัวหน้าโครงการย่อยที่ 2 “ศิลป์ในซอย: แสง-สี-ศิลป์ เชื่อมย่าน เชื่อมการเรียนรู้ เชื่อมเศรษฐกิจชุมชน”

มัญชุชาดา เดชาคนีวงศ์ นักสังคมวิทยา ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย