“ถ้าต่อไปเงินไม่มีค่า คนที่จะอยู่ได้คือคนที่ทำเกษตร อยู่ได้โดยไม่ต้องซื้ออะไรเลย”

Start
238 views
24 mins read

“พ่อแม่เราทำเกษตรอินทรีย์มาตลอด น้องชายเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านเกษตรอินทรีย์ เราก็ทำเกษตรอินทรีย์ 100% เพียงแต่เป็นเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกมันสำปะหลัง ทำปุ๋ยใช้เอง ประหยัดค่าใช้จ่าย แล้วผลผลิตได้ดีกว่าคนอื่นเพราะแปลงเล็ก 5 ไร่ ถ้าเปรียบกับคนอื่นที่มี 50 ไร่ 100 ไร่ เขาต้องใส่ปุ๋ยเคมี ใส่ยา แต่พอเรามาคำนวณดู พืชเชิงเดี่ยวออกปีละครั้ง มีรายได้ปีละหนึ่งครั้ง แต่เรามีค่าใช้จ่ายทุกวัน 365 วัน รายจ่ายเยอะกว่ารายรับ คุยกับน้องชายว่าจะทำยังไง เขาก็ให้ปลูกผสมผสาน เสาวรส มะเขือ พริก ผัก อะไรที่ออกตลาดได้เลย ก็เริ่มมีรายได้รายวัน ก็คิดต่อถึงรายสัปดาห์ รายเดือน รายปี เลยมาเข้าอบรม ดูงานต่างๆ เราสนใจโครงการปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่างของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะเราเป็นคนชอบป่า ถึงเป็นจุดเล็กๆ ในเนื้อที่หมื่นไร่เราก็จะทำ พอปลูกป่า เราก็ปลูกกล้วยเป็นพี่เลี้ยงป่า กลับกลายเป็นว่ากล้วยเลี้ยงเรา 4-5 เดือนเราขุดหน่อขายได้แล้ว 6-7 เดือนเราตัดใบขาย ผลผลิต 8 เดือนนี่ได้แล้ว ต้นก็เอามาทำอาหารสัตว์ได้ ทำปุ๋ยได้ พวกกิ่งก้าน ถ้าเราขยัน เรามาริ้วทำเป็นเชือกกล้วยผูกผักได้ แล้วเราก็ปลูกไม้ป่าแซมไป อีก 30 ปีข้างหน้าเราก็ตัดได้ หรือไม่ตัดเราก็ปล่อย ริดกิ่งมาเผาถ่าน 3-4 ปีผลไม้ก็เริ่มให้ผลผลิต 10 ปี ต้นไม้โต ผลพลอยได้คือตอนนี้เราก็มีเห็ดป่า กิโลละ 500 บาทค่ะ ได้ปีละ 5-10 กิโล ไม่มากแต่ก็ภูมิใจ เป็นแบบอย่างที่เราอยากให้คนอื่นทำตาม ถ้าต่อไปเงินไม่มีค่า คนที่จะอยู่ได้คือคนที่ทำเกษตร อยู่ได้โดยไม่ต้องซื้ออะไรเลย

หลักๆ คือคนในครอบครัวชอบกินอะไร ปลูกอันนั้นก่อน พอปลูกจริงๆ กินไม่หมดหรอกค่ะ เราก็ได้ขาย เราเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่กินไข่ ให้อาหารด้วยผัก ผลไม้ที่เหลือ เอาขี้หมูขี้ไก่มาใช้ประโยชน์ เราทำนา สีข้าว มีปลายข้าว รำ แกลบ ใช้ประโยชน์ได้หมด ปีที่แล้วปุ๋ยขึ้นราคา เราก็พยายามพูดให้ชาวบ้านฟังว่า ที่นาเราไม่ใส่ปุ๋ยเคมีเลยนะ ใส่ขี้หมูหมักกับจุลินทรีย์ที่เราทำขึ้น ซึ่งจุลินทรีย์มาขอเราได้ ขี้หมูขี้วัวขี้ควายที่คุณมีก็เอาไปหมักแล้วก็สาดใส่แปลง เขาบอก โอ๊ย เป็นไปไม่ได้หรอก คือมันเป็นงานที่ใส่ใจแต่ไม่ต้องทำตลอดเวลา เราสาดปุ๋ยแค่อาทิตย์ละครั้ง บางคนบอกเหนื่อย หนัก แต่เราสามารถทำให้ง่ายได้ อย่างป่าของเราก็เดินสปริงเกอร์น้ำ ใช้ระบบช่วย พวกคุณทำเคมีคุณยังเดินระบบได้ ใช่มั้ยคะ บางคนบอกเราที่น้อยก็ทำได้ เขามีเป็นร้อยๆ ไร่ เราก็บอกว่าไม่หวังให้ทำร้อยไร่ทั้งหมด เริ่มทำเล็กๆ หลังบ้านก็ได้ เพื่อตัวเองจะได้กินของปลอดภัย

คนทำเกษตรเมื่อก่อนกับคนทำเกษตรแบบเราไม่เหมือนกัน รุ่นพ่อแม่เราคือทำแล้วขายพ่อค้าคนกลาง ทำเยอะได้น้อย แต่เกษตรรุ่นใหม่อย่างเรา ทำน้อยได้เยอะ รู้จักแปรรูป ใช้เครื่องทุ่นแรง รู้จักการขาย เพราะความพอเพียงที่ในหลวงท่านตรัสไว้ คือความพอดีของแต่ละบุคคล พอเพียงของบางคนสิบล้าน บางคนล้านนึง อย่างเราสองแสน เราพอใจ อยู่อย่างสบาย มีรถขับ ไม่มีหนี้สินทางรัฐบาลทางธนาคาร เราขายได้เท่าไหร่ กินเท่านั้น ฟุ่มเฟือยได้บางเวลา แต่คนไปตีความว่าต้องตระหนี่ อยู่แร้นแค้น ลำบากตัวเอง ใส่เสื้อขาดๆ ไม่ใช่ค่ะ เราบอกเกษตรกรที่มาอบรมกับเราว่า ความพอเพียงของแต่ละคนไม่เท่ากัน เพียงแต่คุณต้องมีรายได้ให้พอเพียงกับรายจ่าย หรือมากกว่ารายจ่ายนิดหน่อยก็ยิ่งดี

เราทำแบรนด์ “ทรัพย์บนดิน” มาตรฐาน EarthSafe อินทรีย์วิถีไทย เป็นมาตรฐานของคนไทยสำหรับคนที่ทำเกษตรอินทรีย์ 100% ถ้าเป็นแบรนด์อื่นต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการมาตรวจ แต่ EarthSafe ไม่มีค่าใช้จ่าย เหมือนคุณทำอินทรีย์ด้วยใจ มีทีมใหญ่มาตรวจสอบ ผ่านก็จะได้มาตรฐาน เพราะเขาต้องการส่งเสริมให้ทำ ถ้าการผลิตของเราเริ่มมีการแปรรูป ก็จะมีทุนสนับสนุนโซลาร์เซลล์ สนับสนุนโรงตาก ปัญหาของคนทำเกษตรคือการขาย เราเป็นวิสาหกิจชุมชน มี 11 คนในกลุ่ม เราเป็นตัวแทนมาขายของให้กลุ่ม เมื่อก่อนรับมาขายได้เงินแล้วก็จ่าย พอกลุ่มเริ่มยืนได้ มีทุนสำรอง เราไม่อยากให้เกษตรกรเสียใจ เราซื้อขาดในราคาที่ยุติธรรม เกิดขาดทุนยังไง กระบวนการกลุ่มจะช่วยเหลือ แต่ของลูกกลุ่มก็ต้องคอยเช็คนะ บางช่วงฤดูไหนไม่มีของ แต่อยากได้งามๆ ดีๆ มีแอบใส่ยา ก็โดนตัดไป ไม่มีอนุโลม เพราะเราตกลงกันแล้วว่าต้องอินทรีย์ 100% อันดับแรกถ้าเราจะเป็นเกษตรกรอินทรีย์ ต้องซื่อสัตย์ เพราะเราไม่มีใบรับรองเหมือนคนอื่น แต่เรามีใจ ถ้าใจคุณไม่บริสุทธิ์ คุณก็ต้องกลับไปพิจารณาตัวเอง ต้องแก้ไข เพราะลูกค้า 50% ของเราคือผู้ป่วย เขายอมซื้อของเราแพงๆ เขาต้องได้ของดี

สินค้าเราหลากหลาย คนนี้เก่งมะละกอฮอลแลนด์ ปลูกมะละกอ คนนี้เก่งกล้วย ปลูกกล้วย คนนี้เก่งผักสลัด ปลูกผักสลัด เราป้องกันการปลูกซ้ำ ถนัดอะไร ปลูกอย่างนั้น ไม่แย่งกัน ถึงช่วงมะละกอฮอลแลนด์แพง เขาก็จะได้ราคา ช่วงถูก เราก็ขายแพงกว่าของคนอื่นอยู่ดี เพราะเราให้เกียรติคนที่ทำอินทรีย์ด้วยใจ จะต้องได้ราคาที่เหมาะสม จริงๆ การขายเกษตรอินทรีย์มีหลายสเต็ปนะ สินค้าเกษตรของเราเข้าทั้งสามตลาด ล่าง กลาง บน คุณภาพเท่ากัน แต่ความสวยงามอาจจะต่างกัน คนในหมู่บ้านมีเงินมา 5 บาท 10 บาท 20 บาท เก็บเอาเลย อยากได้อะไร โรงพยาบาลก็เป็นตลาดกลาง ราคาตามมาตรฐานทั่วไป อย่างไปขายที่ Farmer Market K-Village กรุงเทพฯ เดือนละ 1 ครั้ง ก็คัดของสวยที่สุด นอกนั้นก็เป็นการออกงาน เช่น งานตลาดจริงใจของกลุ่มเซ็นทรัล ถ้าเรามีเกษตรกรที่เป็น EarthSafe อยู่ในจังหวัดนั้นๆ เราก็จะให้เข้าตลาดจริงใจเพื่อรับสินค้าเกษตรกรในกลุ่มไปขาย มันคือการสร้างเครือข่าย ในการที่เราจะขายห้าง หน้าตาต้องสวยงาม จะไปมัดขยุกขยิกไม่ได้ เราจะเป็นคนไปสอนเขา จากผักหน้าตา 5 บาท 10 บาท จะขายได้ 20 บาท การแปรรูปผัก ผลไม้ ผักกาด ต้นหอม ถ้าเหลือเอามาดอง แปรรูป ขายต่อ น้ำอ้อย ถ้าขายไม่หมด ก็แปรรูป ทำน้ำตาลอ้อย หมักแอลกอฮอล์ หมักน้ำส้ม เราสอนให้ฟรี อย่างน้ำตาลอ้อย เราทำจากหม้อ ไห เตา กระทะ ที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่ไปสอนแล้วเขาต้องซื้ออุปกรณ์ อันนี้คือกระทะใบบัวที่คุณใช้นั่นแหละ เอามาอุ่นแก๊ส หรือไม่มี ใช้เตาถ่าน ได้หมด มันอยู่ที่วิธีการ จะทำแล้วต้องซื้อโน่นนี่ มันยากเกินไป EarthSafe ให้เกษตรกรทำอะไรที่ง่ายที่สุด และทำได้เลย

ถ้าคุณทำอินทรีย์จริงๆ มีที่ขายแน่นอน ถ้าคุณทำเยอะ คุณรวมกลุ่มกันส่งเข้าห้างท็อปส์เลย แต่คุณต้องมีของส่งตลอดนะ นั่นคือกระบวนการที่เราส่งให้คุณ การช่วยเหลือกันก็ง่ายขึ้น เราไม่ได้ส่งเสริมแบบบุคคล ถ้าทำคนเดียวต้องรับผิดชอบคนเดียว ของก็ไม่หลากหลาย ถ้ารวมกลุ่ม คนโน้นมีอันนี้ คนนี้มีนั้น หรือมีข้าวเหมือนกัน ก็แบ่งกระจายไปได้ อย่างโครงการของอาจารย์โอ๋ (ปรเมศวร์ สิทธิวงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัย เขาใหญ่ พาโนราม่า ฟาร์ม) เป็น EarthSafe เหมือนกัน เป็นกสิกรรมธรรมชาติของอาจารย์ยักษ์ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร) ก็ร่วมมือกันอยู่แล้ว อย่างเรามาออกร้านที่ถนนคนเดินเขาใหญ่ก็โอเคนะ มีฐานลูกค้าประจำเป็นบางส่วนด้วย คนมาเที่ยวเป็นคนกรุงเทพฯ เขาแสวงหาสินค้าเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว ราคาก็ไม่แพง สลัดถุงใหญ่ๆ 35 บาทค่ะ ของดีด้วย ไม่ใช่ของไม่สวย เพราะเราไม่ได้เดินทาง ก็ลดค่าเดินทางไป พี่โอ๋ก็ช่วยเหลือเราทุกอย่าง เครือข่ายช่วยกัน คนขายส่วนใหญ่ก็ขายได้ คนมาศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ วันเสาร์คนเยอะสุด แล้วก็ช่วงเทศกาล ปีใหม่ ตรุษจีน คนเยอะมาก ปีใหม่ขายได้วันเป็นหมื่นนะคะ ลูกค้าที่เดินผ่านไปผ่านมาแล้วเขาสนใจ ก็สอบถามได้ เรายินดีที่ได้แนะนำ เป็นพี่เลี้ยงให้ถ้าใครสนใจ

ความยากของเกษตรกรเกษตรอินทรีย์คือคนคิดว่าตลาดแคบ จริงๆ ไม่แคบเลย แค่เริ่มทำในหมู่บ้านก็ไม่พอขายแล้วค่ะ หมู่บ้านนึง 500 หลังคาเรือน ซื้อคุณซัก 200 หลังคาเรือนคุณก็อยู่ได้แล้ว อย่างแม่อยู่บ้าน ขาย 5 บาท 10 บาท เก็บเอาเลยเนี่ย แกได้ 4-500 ทุกวัน ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ในบ้านนอกมีทุกบ้าน แต่ขี้เกียจตัด แม่ก็ตัดนิดหน่อย 5 บาท แม้แต่พริกป่น ข้าวคั่ว เอาข้าวสารในบ้านแค่คั่ว ตำ ปั่น ไม่ทำ มันก็เป็นโอกาสของคนขยันอย่างเรา ถ้าคุณขี้เกียจ คุณต้องมีทุน ชี้นิ้วเอาเลย ทีแรกทำเราก็มองตลาดในหมู่บ้านนี่แหละ ได้วันละ 6-700 บาท ใจมันฟู เกษตรอินทรีย์ไม่ใช่ทางเลือกนะ มันคือทางรอด”

ฐิตินันท์ โสรเนตร

แบรนด์ ทรัพย์บนดิน
มาตรฐาน EarthSafe อินทรีย์วิถีไทย

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย