“การปลูกต้นไม้สำคัญคือดินต้องมีจุลินทรีย์ ต้นไม้จะโตหรืองาม ขึ้นอยู่กับดินค่ะ ไม่ได้อยู่กับต้นไม้นะคะ เพราะฉะนั้นการห่มดินในเชิงกสิกรรมจึงสำคัญมาก”

Start
317 views
18 mins read

“ศูนย์เรียนรู้ของเขาใหญ่ พาโนราม่า ฟาร์ม เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ส่วนมากคนที่มาเรียนคือ ชาวบ้านที่ได้รับการคัดเลือกจากกรมพัฒนาชุมชน ซึ่งก่อนที่กรมฯ จะไปขุดพื้นที่ให้ 1 ไร่ กับ 3 ไร่ เขาต้องมาเรียนรู้หลักกสิกรรมธรรมชาติให้ผ่านก่อน จริงๆ เขาเก่งกว่าเราอีกนะ เขาทำเกษตรกรรมอยู่แล้ว เขารู้ส่วนหนึ่ง ถึงหลักกสิกรรมธรรมชาติไม่มีถูกผิด แต่บางครั้งเขารู้แบบผิดๆ ก็มาเรียนรู้จากเรา มีอบรมกันไป 10 รุ่นแล้ว

คอร์สอบรม 5 วัน 4 คืน นอนที่รีสอร์ตนี่ วันแรกคุณปรเมศวร์ (ปรเมศวร์ สิทธิวงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัย เขาใหญ่ พาโนราม่า ฟาร์ม) มาคุยเรื่องทฤษฎี 9 ขั้น (เศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วยบันไดขั้นที่ 1 พอกิน ขั้นที่ 2 พอใช้ ขั้นที่ 3 พออยู่ ขั้นที่ 4 พอร่มเย็น เศรษฐกิจพอเพียงขั้นก้าวหน้า ขั้นที่ 5-6 บุญและทาน ขั้นที่ 7 เก็บรักษา ขั้นที่ 8 ขาย ขั้นที่ 9 เครือข่าย) มีเวิร์กช็อป พวกเราก็จะเป็นครูพาทำ วันต่อมาก็ลงฐานเรียนรู้ ตั้งแต่ฐานคนมีน้ำยา ทำสบู่ แชมพูเอง ที่ทำงานเรานี่ไม่ต้องซื้อพวกสบู่ แชมพูแล้ว รีสอร์ตของเราก็ไม่ต้องซื้อของ น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักล้างต่างๆ พวกเราทำกันเอง แล้วก็ฐานคนเอาถ่าน คือเผาถ่าน เราก็จะได้ถ่านมาขายหน้าร้านด้วย ได้น้ำส้มควันไม้ด้วย ฐานคนรักป่า พูดเกี่ยวกับป่า 5 ระดับมีอะไรบ้าง (ป่า 5 ระดับแบบกสิกรรมธรรมชาติ จัดแบ่งตามระดับช่วงความสูงและระบบนิเวศ ดังนี้ ไม้สูง ไม้กลาง ไม้เตี้ย ไม้เลื้อยเรี่ยดิน และไม้หัวใต้ดิน) ฐานรักแม่ธรณี ทำปุ๋ยหมักแห้งหมักน้ำ ซึ่งสำคัญมากสำหรับการเรียนรู้ เราได้เวิร์กช็อป ได้ปฏิบัติจริง แล้วก็มีฐานอนุรักษ์พลังงาน แต่ฐานคนรักแม่โพสพตอนหลังยกเลิกเพราะสีข้าวก็ทั่วไป แต่ถ้าท่านใดอยากมาสีข้าว ก็ลงฐานได้

การปลูกต้นไม้สำคัญคือดินต้องมีจุลินทรีย์ ต้นไม้จะโตหรืองาม อยู่กับดินค่ะ ไม่ได้อยู่กับต้นไม้นะคะ เพราะฉะนั้นการห่มดินในเชิงกสิกรรมสำคัญมาก ทำไม เพราะคือการเอาเศษใบไม้ใบหญ้าหรือวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่ มาห่มเป็นรูปวงกลม บางที่จะเอาฟาง ฟางเราไม่เอา มันสิ้นเปลือง ต้องซื้อ นอกจากคุณมี ภาคเหนือปลูกข้าวโพด ปลูกอ้อยเยอะ ก็เอาพวกข้าวโพดพวกอ้อยมาห่ม ยกเว้นที่ห่มไม่ได้อย่างเดียวคือใบยูคาลิปตัสเพราะใบมีน้ำมัน จะร้อน ทำให้ต้นไม้เสียไปด้วย เราเอาของในพื้นที่ที่เรามี มาห่มเพื่อให้ความชุ่มชื้นกับดิน ให้ดินมีจุลินทรีย์ ถ้าดินโดนแสงแดดมากๆ จุลินทรีย์ตายหมด จากนั้น เราสอนทำปุ๋ยหมักแห้งหมักน้ำ ที่นี่เป็นฟาร์มเห็ดหลินจือ ในก้อนเห็ดของเรามีขี้เลื่อย ไม้ยางพารา รำละเอียด เป็นส่วนผสมที่ดีมากอยู่แล้ว ก็เอามาผสมใบไม้นิดหน่อย ผสมมูลสัตว์ แล้วเอาน้ำหมักที่เรามี เขาเรียกว่า แห้งชามน้ำชาม แห้งชามก็คือปุ๋ยหมักแห้ง น้ำชามก็คือปุ๋ยหมักน้ำ ซึ่งก็คือเราเอาเห็ดที่เหลือใช้ ที่มันเน่า ไปหมัก ปุ๋ยหมักน้ำนี่สำคัญ ต้องหมัก 3 เดือนขึ้นไปถึงจะมีจุลินทรีย์ที่มาช่วยย่อยสลายเศษซากพืชซากสัตว์ ใบไม้ต่างๆ พอเราห่มดินก็ต้องใส่ปุ๋ยหมักแห้งเลย ตามด้วยปุ๋ยหมักน้ำ ที่เหลือจะใส่แต่ปุ๋ยหมักน้ำ 7 วันใส่ครั้งนึง เพื่อช่วยในการย่อยสลาย แล้วยิ่งได้ฝนตามธรรมชาติที่ตกลงมา เรารดน้ำสิบวันสู้ฝนตกลงมาครั้งเดียวไม่ได้นะคะ เพราะในฝนจะหอบเอาไนโตรเจน 78% ลงมาด้วย ไนโตรเจนจะทำให้พืชเขียวชอุ่ม

อย่างพื้นที่ของเราตรงนี้ เมื่อก่อนเป็นดินแดง เป็นสวนมะม่วงกับสวนน้อยหน่าเก่า ซึ่งใช้สารเคมีมาตลอด เรามาทำแปลงใหม่ๆ ปลูกไม่ขึ้นเลยนะคะ เราใช้วิธีห่มดินนี่แหละ ทำให้ดินดีขึ้น ปลูกขึ้น คนที่มาอบรมแล้วกลับไปทำ เขาจะรู้แล้วว่า เวลาห่มดิน ถ้าเป็นต้นไม้ใหญ่เขาไม่ให้ห่มชิด จะห่มปลายทรงพุ่ม เพราะจะมีราก บางครั้งพวกเศษหนอน เศษอะไรจะไปไชต้นไม้ให้ตายได้ พอเราห่มดิน แหวกเข้าไปดู ใต้ดินมีฝ้าขาวๆ เรียกว่าเชื้อราดี มีฮิวมัส (humus ซากพืชและสัตว์ที่เน่าเปื่อยทับถมปะปนอยู่ในดิน ทำให้ดินมีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์แก่การเพาะปลูก) แต่ถ้าเปิดไปแล้วมีฝ้าดำๆ แสดงว่าเชื้อราไม่ดี

การเข้ามาทำศูนย์เรียนรู้ตรงนี้เป็นการเพิ่มคุณค่า เราเองก็ไปฝึกอบรมเป็นอาจารย์ 5 วัน 4 คืน 2 ครั้ง ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องของอาจารย์ยักษ์ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร) และที่ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติของอาจารย์ปัญญา (อาจารย์ ปัญญา  ปุลิเวคินทร์) ซึ่งอบรมเสร็จต้องพรีเซนต์ด้วยว่าเราจะสอนเขายังไง เราเองก็ไม่เคยขุดดินมาก่อน ไม่เคยทำปุ๋ยหมักแห้งหมักน้ำ แต่เวลาไปเรียน เราทำได้ อุ๊ย ไม่น่าเชื่อ ปลูกต้นไม้เกี่ยวกับดินด้วยเหรอ แล้วเราก็ได้นำมาพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ หันมาหลักกสิกรรมธรรมชาติ เอาทฤษฎีของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ทั้งนั้น ทำแก้มลิง ป่า 5 ระดับ ขุดร่องทำฝาย ทำคลองไส้ไก่ในที่ของตัวเอง เพื่ออะไร บางที่น้ำท่วม คุณลองไปขุดคลองไส้ไก่เล็กๆ สิ เวลาน้ำไหลหลากมาจะได้ซึมเข้าสู่ดิน แล้วกระจายความชื้นไปสู่ต้นไม้ ทำให้เราไม่ต้องรดน้ำต้นไม้ก็ได้

ทุกสิ่งทุกอย่าง ณ ปัจจุบัน ถ้าเราทำเองได้ ปลูกผักเองได้ มันดีต่อตัวเราเอง เดี๋ยวนี้โรคมาจากอะไร มาจากอาหารการกิน ถ้าไปซื้อ พวกผักต้องเอามาต้มมานึ่งก่อนกินสด ถ้าเราปลูกเอง มันชัวร์ๆ กินสดได้เลย สมมติบ้านเราเนื้อที่นิดหน่อย ปลูกที่เราใช้ทุกวัน กะเพรา โหระพา พริก ดีกว่าไปซื้อเขา สารเคมีทั้งนั้น ก็ช่วยลดระดับสารพิษออกจากร่างกายได้ อย่างบางคนเข้ามา บอกทำไมปลูกเองไม่ขึ้น เราบอก คุณต้องมาเรียนรู้แล้วล่ะ เราเปิดรับสมัครอบรมตามหลักกสิกรรมธรรมชาติอยู่เรื่อยๆ เดี๋ยวนี้คนในเมืองเก่งนะ เขาปลูกผักในกระถางได้ ปลูกในถุงที่มีรูระบายได้ อยู่นานกว่ากระถางด้วยซ้ำ เอาจริงๆ หลักกสิกรรมธรรมชาติไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ไม่ไปถึงไหนซักที เพราะเหมือนยาก ซึ่งยากจริงๆ ใครที่จะทำเกษตรอินทรีย์ ต้องใช้ใจ คุณปรเมศวร์เขาใจมาก แล้วอยู่ที่ตัวบุคคลด้วยนะ เราพูดคุย ชี้ให้เขาเห็น เปิดโอกาสให้ได้แลกเปลี่ยนกัน”

พรทิพย์ รัตนนิสสัย
นักวิจัย
บริษัท เขาใหญ่ พาโนราม่า วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย