“ก่อนหน้าที่จะทำโครงการ ย่านเก่าเล่าเรื่อง เมืองเรียนรู้ตลอดชีวิต นักศึกษาในสาขาของอาจารย์ (นิเทศศาสตร์) ได้ลงพื้นที่ตลาดใต้ พิษณุโลก เพื่อทำสื่อการท่องเที่ยวประกวดในโครงการของธนาคารไทยพาณิชย์และได้รางวัลชนะเลิศกลับมา ตอนนั้นโครงการเราทำคลิปวิดีโอ และทำป้ายสื่อสารพร้อม QR Code เพื่อบอกเล่าถึงความสำคัญตามแลนด์มาร์คต่างๆ ของพื้นที่ตลาดใต้และตลาดเจริญผล
โครงการดังกล่าวมีอาจารย์ธนวัฒน์ ขวัญบุญ จากภาควิชาการท่องเที่ยวมาเป็นที่ปรึกษา ซึ่งต่อมาอาจารย์ธนวัฒน์ ได้รับทุนจาก สกสว. มาทำโครงการย่านสร้างสรรค์ที่ตลาดใต้เมื่อปี 2562 คราวนี้อาจารย์ก็เปลี่ยนบทบาทมาเป็นที่ปรึกษาของทีมอาจารย์ธนวัฒน์แทน จนมาร่วมงานอย่างจริงในช่วงปี 2564 ที่เป็นโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ของ บพท. โดยอาจารย์เป็นหัวหน้าโครงการย่อยที่ 2 – สื่อนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้เมืองท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ โดยมีทีมนักวิจัยอีกสองท่าน คือ อาจารย์ทรงพล ชุมนุมวัฒน์ ที่มาช่วยด้าน Information Technology และ ผศ.สรรเสริญ เหรียญทอง ที่มาช่วยด้านการออกแบบสื่อ
ความที่เราคลุกคลีกับย่านตลาดใต้และเจริญผลมาหลายปีจนสนิทสนมกับผู้ใหญ่หลายคนในชุมชนแล้ว การทำงานโครงการนี้จึงค่อนข้างง่าย เพราะเป็นเหมือนการต่อยอดสิ่งที่ทำไว้อยู่แล้ว จากเดิมที่เป็นสื่อสำหรับการท่องเที่ยว เราก็มาโฟกัสที่สื่อเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่ร่วมสร้างสรรค์โดยผู้คนในย่าน ทั้งบทสัมภาษณ์ถึงความทรงจำในรูปแบบข้อเขียนที่โพสต์ลงเฟซบุ๊ค ‘ตลาดใต้ พิษณุโลก’ คลิปวิดีโอทางยูทูป (www.youtube.com/@user-or6qd5xg2d) ให้ทุกคนมีส่วนร่วมผ่านเรื่องเล่าถึงย่านของพวกเขา รวมถึง word press เสียดายอยู่อย่าง ปีที่เราทำ TikTok ยังไม่มา ไม่งั้นคงมันกว่านี้
จากที่เราคิดว่ารู้จักย่านตลาดใต้ดีในระดับหนึ่งจากโครงการก่อนแล้ว แต่พอได้ลงมานั่งคุยกันจริงๆ ตอนสัมภาษณ์ลงสื่อ เราก็พบว่าที่นี่เป็นย่านที่เก็บความทรงจำสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีนในเมืองพิษณุโลกที่หลายคนยังไม่รู้อีกเยอะ ซึ่งเราคิดว่าโชคดีที่ได้ทำสื่อรูปแบบนี้ไว้ เพราะไม่อย่างนั้น หลายๆ ความทรงจำก็อาจจะสูญหายไปตามกาลเวลาก็เป็นได้
อาทิ เรื่องจองอาเจ๊กเมธี เจ้าของร้านขายยาฟามาเซีย ท่านเป็นเหมือนผู้อาวุโสที่เป็นที่เคารพของคนพิษณุโลก สมัยหนุ่มๆ อาเจ๊กเคยแข่งบาสเก็ตบอลชนะเลิศ และไปรับถ้วยรางวัลจากเจียงไคเชกถึงไต้หวัน คือคนเฒ่าคนแก่เชื้อสายจีนของที่นี่ผูกพันกับจีนฝั่งไต้หวันมาก ถ้าลองไปสังเกตบ้านของคนเฒ่าคนแก่ในย่านนี้ จะเห็นรูปเจียงไคเชกและซุนยัดเซ็น แขวนไว้หลายหลังมาก หรืออย่างเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อปี 2500 ซึ่งผู้ใหญ่หลายคนในย่านยังทันเห็นอยู่ รวมถึงได้เห็นการฟื้นฟูพร้อมกับการสร้างอาคารพาณิชย์ใหม่ เป็นต้น
หรือกระทั่งกับตัวเราเอง ที่พื้นเพเป็นคนในตลาดจันทบุรี ซึ่งเป็นตลาดเก่าแก่ริมน้ำเหมือนกัน พอมาเห็นที่นี่เราพบว่าทั้งบรรดาตึกและบรรยากาศในย่านมันมีลักษณะร่วมแบบบ้านเกิดของเรา และได้ฟังคนเฒ่าคนแก่เล่าว่าตรงนี้เคยเป็นโรงหนังมาก่อนนะ ตรงนี้เคยเป็นโรงแรมดัง และตรงนี้เป็นโรงฝิ่น รวมถึงได้เห็นตึกเก่าที่สร้างยุค 2500 ที่มันผูกพันกับผู้อยู่อาศัย อาจารย์ก็พบว่าตัวเองโชคดีที่ได้ทำสื่อชุดนี้เช่นกัน
ขณะเดียวกัน พอได้ทำสื่อออนไลน์เผยแพร่ความทรงจำของคนในย่านออกไป อาจารย์รู้สึกดีใจที่มีส่วนช่วยดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักตลาดอันเก่าแก่แห่งนี้มากขึ้น จากที่หลายคนมองว่านี่ก็เป็นตลาดเช้าเก่าแก่แห่งหนึ่ง แต่พอเข้ามาดูสื่อเราปุ๊บ พวกเขาก็เห็นว่าตลาดมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจซ่อนอยู่ มีสถานที่หรือสิ่งปลูกสร้างที่เชื่อมร้อยไปกับประวัติศาสตร์ของเมือง และแน่นอน มีอาหารอร่อยๆ ที่ปัจจุบันหากินที่ไหนไม่ค่อยได้แล้วอยู่ที่นี่
และที่ดีใจมากไปกว่านั้น คือการได้ยินคนในย่านมาบอกว่าพอเราทำสื่อออกไปแล้วมีคนมาเดินเยอะขึ้น เขาขายของได้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน การได้เห็นทุกคนที่ให้สัมภาษณ์เราไป ตั้งหน้าตั้งตารอดูตัวเขาเองในสื่อ ได้รู้สึกว่าด้วยความทรงจำที่มีร่วมกัน พื้นที่ตลาดใต้มันเป็นพื้นที่ร่วมของพวกเขาจริงๆ ก็คิดว่าแม้สื่อที่เราทำมันจะไม่เป็นไวรัล หรือดังเปรี้ยงปร้างระดับประเทศ แต่แค่มันสร้างความหมายให้กับคนในย่านและคนอื่นๆ ให้เข้ามาในย่าน เท่านั้นก็ประสบความสำเร็จตามตั้งใจมากแล้ว
ดร.อรวรรณ ศิริสวัสดิ์ อภิชยกุล
อาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
และหัวหน้าโครงการย่อย สื่อนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้เมืองท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์