“ก่อนมาสอนหนังสือ ผมทำงานเป็นนักออกแบบกราฟิกและแบบอักษร รวมถึงเป็นศิลปินอิสระที่กรุงเทพฯ แต่ทำไปทำมารู้สึกอิ่มตัว และพอดีที่บ้านอยากให้กลับมาด้วย บ้านผมอยู่อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ไม่ไกลจากพิษณุโลกเท่าไหร่ และความที่ผมเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ก็เลยมาสมัครเป็นอาจารย์ที่นี่
เป็นงานที่แปลกใหม่ดี เพราะแต่ก่อนผมจะทำงานที่ค่อนข้างเป็นอิสระ ตั้งโจทย์ให้ตัวเองและสร้างมันออกมา หรือทำกับลูกค้ารายใดรายหนึ่งไปเรื่อยๆ แต่พอกลับมาสอนหนังสือ กลายเป็นว่าเราต้องทำตามโจทย์ของหลักสูตร รวมถึงตั้งโจทย์ให้นักศึกษามาทำ และที่ใหม่ที่สุด คือการทำงานวิจัยที่สอดคล้องไปกับชุมชน
ก่อนหน้านี้ก็เคยทำงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะตามชุมชนอยู่บ้าง แต่พอมาเป็นอาจารย์ ก็ต้องทำในกรอบวิชาการหรือถ้าเป็นงานวิจัยก็ต้องมีกระบวนการการมีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างเป็นระบบ ถือเป็นความท้าทายดี ทั้งนี้ ความที่ผมถนัดทำงานศิลปะพิกเซลที่เป็นงานเชิงทัศนศิลป์ดิจิทัล ก็เลยทำงานวิจัยเรื่องการสร้างสรรค์งานพิกเซลอาร์ทในชุมชนพุทธบูชา อำเภอเมืองพิษณุโลก
ชุมชนพุทธบูชาเป็นชุมชนในย่านใจกลางเมือง ภายในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก เนื่องจากชุมชนนี้มันมีอาณาเขตครอบคลุมไปถึงย่านตลาดใต้ ก็พอดีกับที่ทางอาจารย์อรวรรณ (ดร.อรวรรณ ศิริสวัสดิ์ อภิชยกุล) และอาจารย์ธนวัฒน์ (ธนวัฒน์ ขวัญบุญ) ทำโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ในย่านตลาดใต้ ทั้งสองก็เลยชวนผมมาร่วมทีมวิจัยในฐานะนักออกแบบสื่อด้วย
ทำงานที่เกี่ยวกับการออกแบบทั้งหมดครับ นำงานพิกเซลอาร์ทที่ทำอยู่แล้วมาใช้เป็นองค์ประกอบศิลป์ ออกแบบโลโก้ของโครงการวิจัย โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ จัดหน้าหนังสือ รวมถึงนำแบบอักษรสุดสมัย (ฟอนต์ ZoodSamai) ที่ได้รับรางวัล Demark 2021 และ G-Mark 2021 จากญี่ปุ่น มาใช้เป็นตัวอักษรหลักในโลโก้ของโครงการตลาดใต้ พิษณุโลกด้วย
ก่อนหน้านี้ ไม่เคยมาตลาดใต้ตอนเช้าเลยครับ สมัยที่ยังเรียนหนังสือผมจะพักอยู่ที่หอของ ม.ใน ซึ่งอยู่ใกล้สนามบินเก่าในตัวเมืองพิษณุโลก และจะต้องนั่งรถประจำทางเพื่อมาเรียนที่ ม.นอก หรือ ม.นเรศวรปัจจุบัน รถเมล์ก็จะผ่านตลาดใต้ตลอด แต่ผมก็ไม่คิดที่จะแวะชมอะไร หรือบ่อยครั้งที่ถ้าไม่รู้ไปไหนตอนเย็น ผมก็จะขี่มอเตอร์ไซค์ไปจอดไว้ที่ย่านตลาดใต้ เพื่อเดินเล่นตลาดกลางคืนไนท์บาซาร์ที่อยู่ติดกัน ซึ่งสมัยก่อนตรงนี้เป็นย่านกลางคืนที่คึกคักมาก แต่นั่นล่ะ ความทรงจำที่ผมมีกับตลาดใต้ นอกจากเป็นที่จอดรถตอนมาไนท์บาซาร์ ก็เป็นย่านการค้าเก่าๆ ที่ค่อนข้างเงียบเหงา เพราะมาตอนกลางคืน ร้านรวงก็ปิดกันหมดแล้ว
กว่าจะได้มาจริงๆ ก็ตอนที่มาทำงานวิจัยเมืองแห่งการเรียนรู้นี่แหละครับ แล้วก็พบว่าตัวเองพลาดอะไรดีๆ ไปตั้งหลายปี (หัวเราะ) นี่เป็นตลาดเช้าที่มันมีบรรยากาศแบบดั้งเดิมที่มีชีวิตชีวามาก และมันเป็นอยู่แบบนี้มาร้อยกว่าปีแล้ว พอมาเดินเล่นโดยสวมมุมมองของอาจารย์ด้านการออกแบบ ก็พบว่าที่นี่มีวัตถุดิบน่าสนใจให้นำไปต่อยอดได้เยอะ ทั้งประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต อาหารการกิน ธุรกิจแบบดั้งเดิม ไปจนถึงสถาปัตยกรรม และแบบอักษรที่ปรากฏในป้ายชื่อร้านต่างๆ เอาเป็นว่าตลาดแห่งเดียว ผมชวนนักศึกษามาทำโปรเจกต์ได้ยาวๆ
ที่สำคัญคือ ในภาพรวมของเมืองพิษณุโลกมันไม่ค่อยมีการพูดถึงพื้นที่ร่วมสมัยแบบนี้เท่าไหร่ครับ อย่างที่ทราบกันว่าเมืองนี้มันถูกจดจำด้วยประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา หรือที่ร่วมสมัยหน่อยก็คือพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ซึ่งเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่ดีมากๆ ครับ แต่พอมาดูพื้นที่ร่วมสมัยที่ยังเชื่อมร้อยกับวิถีชีวิตคนปัจจุบัน เมืองนี้กลับแห้งแล้ง ก็เลยคิดว่าการขับเคลื่อนตลาดใต้เป็นหนึ่งในการนำร่องที่ดี
และในฐานะอาจารย์ที่สอนด้านการออกแบบ ก็อยากให้เมืองเรามีศูนย์เรียนรู้ที่ร่วมสมัยเพิ่มขึ้นกว่านี้อีกครับ เพราะเมืองนี้นักเรียน นักศึกษา และคนรุ่นใหม่เยอะ แต่พอพ้นไปจากรั้วสถาบันการศึกษา เมืองกลับไม่มีพื้นที่เรียนรู้ให้คนรุ่นใหม่เท่าไหร่เลย”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สรรเสริญ เหรียญทอง
อาจารย์สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ศิลปิน นักออกแบบ และนักวิจัยโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้พิษณุโลก
https://www.facebook.com/zoodstudio/
http://www.zooddooz.xyz/