“ครูเป็นคนอำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ค่ะ อำเภอห้วยเม็กอยู่ด้านตะวันตก ชายขอบสุดของจังหวัด ติดกับอำเภอชื่นชมของจังหวัดมหาสารคาม
ความที่สมัยก่อน รถสาธารณะยังไม่ได้ครอบคลุมเส้นทางเหมือนทุกวันนี้ ครูเลยเลือกเรียนมัธยมที่โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม ในอำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเดินทางจากบ้านเราไปสะดวกกว่าในตัวอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ก่อนจะไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย จึงกลายเป็นว่า แม้เราเกิดที่กาฬสินธุ์ แต่ก็ไม่ได้มีความทรงจำหรือประสบการณ์อะไรเกี่ยวกับเมืองนี้สักเท่าไหร่
อย่างไรก็ตาม หลังเรียนจบ ครูก็ดันสอบบรรจุได้ที่โรงเรียนเทศบาล 2 วัดสว่างคงคา อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ในปี 2541 ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ได้มีความคิดอะไรกับเมืองเมืองนี้นัก รู้แค่ว่ามันเงียบสงบ ไม่ค่อยเจริญ และไม่น่ามีอะไรดึงดูดเท่าไหร่ แต่พอย้ายมาอยู่ที่นี่ ผ่านมา 25 ปีแล้ว ครูก็แทบไม่มีความคิดจะย้ายไปสอนที่ไหน
อะไรทำให้เป็นแบบนั้น? ก่อนอื่นเลย ครูสอนวิชาภาษาไทยเป็นหลัก และด้วยธรรมชาติของครูภาษาไทย ทำให้ได้มีโอกาสศึกษาภูมิประวัติศาสตร์ของเมือง คติชนวิทยา รวมถึงศิลปะและวรรณกรรมท้องถิ่น เลยได้รู้ว่ากาฬสินธุ์มี ผญาอีสาน คำสอย (วรรณกรรมมุขปาฐะ) หมอลำ ไปจนถึงวัฒนธรรมภูไท ที่ล้วนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แตกต่างจากเมืองอื่นๆ ในอีสาน ครูสนใจสิ่งเหล่านี้ และพบว่าศาสตร์เหล่านี้กำลังเลือนหายไปจากยุคสมัย ในฐานะครูภาษาไทย ก็เลยอยากมีส่วนอนุรักษ์ไว้ให้เด็กๆ ได้เข้าใจถึงคุณค่า
กับอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือกาฬสินธุ์เป็นเมืองที่ผู้คนน่ารัก ไม่ค่อยมีบรรยากาศของการแข่งขัน และค่าครองชีพก็ไม่สูงมาก ครูอยู่ที่นี่แล้วสบายใจ ก็สร้างครอบครัวอยู่ยาวที่นี่เลย
ส่วนบทบาทของการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมกาฬสินธุ์ของครู นอกจากคอยสอนและอธิบายให้เห็นถึงคุณค่าและความหมายของสิ่งเหล่านี้ ให้เด็กๆ ได้ซึมซับและเข้าใจ ก็พยายามจะร่วมมือกับโครงการต่างๆ จากหน่วยงานภายนอกที่มีความตั้งใจอยากฟื้นใจเมือง เช่นที่เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์เคยพยายามจัดตั้งกลุ่มมัคคุเทศก์น้อย เพื่อให้พวกเขานำชมนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์ ครูก็ส่งเด็กๆ เข้าไปร่วมกิจกรรม โดยช่วงปี 2545-2550 โครงการนี้เฟื่องฟูมาก แต่เสียดาย ด้วยเงื่อนไขหลายอย่าง โครงการจึงไม่ถูกต่อยอด
หรือล่าสุดที่ทางเทศบาลปรับปรุงชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์ ให้กลายเป็นหอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งจัดแสดงทั้งผลงานศิลปะร่วมสมัย และภาพสามมิติที่บอกเล่าถึงทรัพยากรทางวัฒนธรรมและธรรมชาติในแต่ละอำเภอของจังหวัด แม้พื้นที่นี้จะไม่เกี่ยวกับวิชาที่ครูสอนโดยตรง แต่ครูก็จะชักชวนให้เด็กๆ ได้เข้าไปดู ไปศึกษาเรียนรู้พื้นที่นี้เสมอ เพราะหอศิลป์แห่งนี้มันอยู่ใกล้ๆ เอง เด็กๆ ได้คลุกคลีกับศิลปะบ่อยๆ เข้า มันก็ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาเอง
ในขณะที่เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์หวังให้หอศิลป์ที่เปิดใหม่แห่งนี้ เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวแวะชมทุกครั้ง ก่อนออกเดินทางต่อไปยังพิพิธภัณฑ์สิรินธร เขื่อนลำปาว หรือสะพานเทพสุดาที่อยู่นอกเมือง ครูก็อยากให้เด็กๆ ได้ใช้หอศิลป์ในฐานะจุดนัดพบ หรือพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมการเรียนรู้ตามความสนใจของแต่ละคนด้วย”
พัชรินทร์ พิมพะจันทร์
รองผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 1 กาฬสินธุ์พิทยาสิทธิ์