กาฬสินธุ์ กาลศิลป์เยี่ยมเยือนดินแดนคนมีศิลป์ สำรวจเมืองเรียนรู้กาฬสินธุ์

Start
463 views
46 mins read

หากคุณไม่ใช่คนในพื้นที่หรือมีโอกาสได้แวะเวียนผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือบ่อยๆ เราค่อนข้างมั่นใจว่าคงนึกภาพเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดที่อยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองขอนแก่นและทางทิศเหนือของเมืองร้อยเอ็ดไม่ออก

ณ ผืนดินที่ระหว่างกลางของแอ่งอารยธรรมโคราชและแอ่งอารยธรรมสกลนคร สองแอ่งอารยธรรมหลักที่รวมกันเกิดเป็นภาคอีสาน การอธิบายทัศนียภาพปัจจุบันของกาฬสินธุ์ให้ชัดเจนมากที่สุด บางทีอาจไม่ใช่ วิถีชีวิตริมเขื่อนลำปาว แหล่งขุดพบไดโนเสาร์ หรือตำนานเก่าแก่ว่าด้วยเมืองฟ้าแดดสงยาง หรือองค์ประกอบอื่นๆ ในคำขวัญจังหวัด

หากเป็นความเคลื่อนไหวเล็กๆ ที่เราพบบนถนนคนเดินงานมหกรรมฟื้นใจเมือง ‘ภูมิถิ่น แก่งสำโรง โค้งสงเปลือย’ ที่ทางเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และ บพท.(หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่) เป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา – ภาพของวงดนตรีนักเรียนชั้นประถมของโรงเรียนเทศบาลแห่งหนึ่ง กำลังบรรเลงเพลงสตริงไทยร่วมสมัยอย่างสนุกสนานคลอไปกับการเล่นโปงลาง เครื่องดนตรีพื้นบ้านที่มีถิ่นกำเนิดที่จังหวัดแห่งนี้

หรืออาจจะเป็นภาพของนักเรียนอีกกลุ่มที่กำลังถ่ายรูปเล่นกับจิตรกรรมสามมิติภายในหอศิลป์กาฬสินธุ์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งแรกในอีสานที่บริหารงานโดยเทศบาล หรือไม่… อาจเป็นทิวทัศน์ของทะเลธุงอีสานหลากสีสันบนลานหน้าพระธาตุยาคูในเทศกาลมาฆปูรณมีบูชา ที่ซึ่งผู้คนหลากหลายวัยต่างสนุกกับการเซลฟี่เก็บเกี่ยวสีสันและความงามไว้เป็นที่ระลึก

ในภาพจำของใครบางคน กาฬสินธุ์อาจเป็นจังหวัดทางภาคอีสานที่แห้งแล้ง ไกลห่างความเจริญ และเป็นเมืองที่ไม่ใช่ตัวเลือกแรกในการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ กระนั้น เมื่อพิจารณาให้ลึกลงไปในรายละเอียด เมืองแห่งนี้ไม่เพียงมีรากเหง้าทางวัฒนธรรมไทลาวและภูไท แต่ด้วยการขับเคลื่อนของผู้คนหลายภาคส่วน กาฬสินธุ์ในปัจจุบันกำลังเป็นเมืองที่รุ่มรวยด้วยศิลปะ เมืองที่กำลังเปิดโอกาสให้กับธุรกิจของคนรุ่นใหม่ และเมืองที่พร้อมด้วยทรัพยากรของการเรียนรู้ทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์ ดนตรี ศิลปะ และวัฒนธรรม

อะไรที่ทำให้เราเชื่อมั่นเช่นนั้น FEATURE ฉบับเมืองแห่งการเรียนรู้กาฬสินธุ์จะพาไปสำรวจพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของเมืองเมืองนี้ จากพื้นที่ในยุคโลกล้านปี สู่ห้วงสมัยแห่งยุคประวัติศาสตร์ และปัจจุบันขณะ ที่เกิดการหลอมรวมต้นทุนของพื้นที่ จนเกิดเป็นโอกาสใหม่ๆ อันเปี่ยมสีสันให้ลูกหลานของผู้คนในเมือง

กาฬสินธุ์มาจากไหน

จากหลักฐานทางโบราณคดีบ่งบอกพื้นที่ของจังหวัดกาฬสินธุ์เคยเป็นที่อยู่อาศัยของเผ่าละว้า ซึ่งมีความเจริญทางด้านอารยธรรมประมาณ 1,600 ปี ขณะที่ประวัติศาสตร์ในยุคใกล้ อ้างอิงจากหนังสือ ‘กาฬสินธุ์  ประวัติศาสตร์การตั้งเมือง’ ของ ฟุ้งเกียรติ มหิพันธุ์ ระบุว่า เมืองกาฬสินธุ์ก่อตั้งโดยท้าวโสมพะมิตร ข้าราชการระดับสูงในราชสำนักเวียงจันทน์ ผู้อพยพไพร่พลจากความขัดแย้งในลาวมาตั้งถิ่นฐานใหม่อยู่ที่บ้านแก่งสำโรง ริมแม่น้ำปาว ก่อนนำเครื่องบรรณาการเข้าถวายสวามิภักดิ์ต่อในหลวง รัชกาลที่ 1

และนั่นทำให้รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้ายกฐานะบ้านแก่งสำโรงขึ้นเป็นเมือง พระราชทานนามว่า “เมืองกาฬสินธุ์” และแต่งตั้งท้าวโสมพะมิตรเป็นเจ้าเมืองคนแรก ทั้งนี้คำว่า กาฬ แปลว่า “ดำ” สินธุ์ แปลว่า “น้ำ” กาฬสินธุ์ จึงแปลว่า “น้ำดำ” โดยน้ำดำในที่นี้หมายถึง น้ำที่ใสสะอาดจนมองเห็นดินสีดำ ซึ่งดินดำเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด

กาฬสินธุ์ถิ่นไดโนเสาร์: ตามรอยโลกล้านปี ณ ภูกุ้มข้าว

บนทางหลวงหมายเลข 227 จากตัวเมืองกาฬสินธุ์มุ่งสู่อำเภอสหัสขันธ์ นี่คือเส้นทางที่มีการขุดค้นพบซากไดโนเสาร์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ สวนไดโนเสาร์ ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 26 เป็นสวนสาธารณะที่มีรูปปั้นไดโนเสาร์น้อยใหญ่ตั้งตระหง่านมากมาย บ่งบอกถึงพื้นที่ที่เคยเป็นบ้านของพวกมัน อาทิ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ไดโนเสาร์ซอโรพอดคอยาวขนาดใหญ่ ที่ยาวถึง 20 เมตร หรือ อิสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ ไดโนเสาร์กินพืชที่มีชีวิตอยู่ในยุคไทรแอสซิกตอนปลาย (ประมาณ 210 ล้านปีก่อน) อะนเป็นไดโนเสาร์ที่เก่าแก่ที่สุดที่ถูกขุดพบซากในภาคอีสาน (จังหวัดชัยภูมิ) รวมถึง ไทรเซอราท็อปส์ ไดโนเสาร์ที่มีสามเขาที่เด็กๆ คุ้นเคย

ห่างจากอำเภอเมืองราว 30 กิโลเมตร ณ ตำบลโนนบุรี อำเภอสหัสขันธ์ เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สิรินธร หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ทางธรณีวิทยาและไดโนเสาร์ที่ดีที่สุดในภูมิภาคอาเซียน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับแหล่งขุดพบกระดูกและซากไดโนเสาร์ที่มากที่สุดในประเทศไทย โดยพบกระดูกไดโนเสาร์มากถึง 700 ชิ้น บริเวณเชิงเขาภูกุ้มข้าว ภายในพื้นที่ของวัดสักกะวัน โดยมีการพบครั้งแรกเมื่อปี 2521 ก่อนจะมีการขุดค้นอย่างจริงจังในปี 2537 จนนำมาสู่การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สิรินธรที่เปิดทำการในปี 2550

ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ด้านธรณีวิทยาและการขุดค้นซากไดโนเสาร์ในประเทศไทย พร้อมจัดแสดงหุ่นจำลองของสยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส และอื่นๆ รวมถึงนิทรรศการที่ว่าด้วยยุคสมัยต่างๆ ที่ไดโนเสาร์ยังครองโลกจนถึงการสูญพันธุ์ และกำเนิดเผ่าพันธุ์มนุษย์ 

ที่นี่ไม่เพียงเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ดึงดูดผู้ปกครองจากจังหวัดรอบๆ ให้พาบุตรหลานมาเที่ยวชมและเรียนรู้เรื่องราวของไดโนเสาร์ แต่เราเชื่อมั่นว่าที่นี่ยังเป็นแหล่งจุดประกายการเรียนรู้ที่ทำให้เด็กๆ ชาวกาฬสินธุ์และอีกหลายพื้นที่ อยากเติบโตขึ้นมาเป็นนักธรณีวิทยา นักบรรพชีวินวิทยา ไปจนถึงนักโบราณคดีไม่น้อย

พิพิธภัณฑ์สิรินธร เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ 9.30 น. – 16.30 น. http://www.sdm.dmr.go.th/website/  

วัดพุทธนิมิต (ภูค่าว) : แหล่งเรียนรู้พุทธศิลป์กลางภูเขาศักดิ์สิทธิ์  
ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์สิรินธรในอำเภอสหัสขันธ์ วัดพุทธนิมิตตั้งอยู่บนยอดภูค่าว ซึ่งเป็นแหล่งที่มีการค้นพบพระพุทธไสยาสน์ตะแคงซ้ายอายุกว่าสองพันปี โบราณวัตถุที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากรชิ้นแรกของจังหวัด  

คำว่า ‘ค่าว’ เป็นภาษาอีสาน แปลว่า เชือก โดยภูเขาลูกนี้ถูกเรียกด้วยชื่อดังกล่าวตามสันฐานที่มีลักษณะคล้ายเชือก สันนิษฐานกันว่าพระพุทธไสยาสน์ที่แกะสลักบนแท่นผาและมีความยาว 2 เมตรองค์นี้ คือพระมหาโมคคัลลานะ เพราะเวลานอนจะหันศีรษะไปทางซ้าย โดยหันไปทางด้านที่พระธาตุพนมตั้งอยู่ เชื่อกันว่ากลุ่มคนผู้สร้างคือผู้แสวงบุญที่จะเดินทางไปร่วมสร้างพระธาตุพนมราวปี พ.ศ. 8 แต่ไปไม่ทัน จึงร่วมกันสร้างพระพุทธไสยาสน์ตรงนี้ขึ้นแทน

นอกจากนี้ยังมี พระมหาธาตุเจดีย์พุทธนิมิต แลนด์มาร์คของพื้นที่ เป็นเจดีย์หินทรายแกะสลักทั้งองค์พร้อมยอดทองคำหนัก 30 กิโลกรัม ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจาก 5 ประเทศ เอาไว้ ทั้งไทย อินเดีย ศรีลังกา เนปาล และเมียนมา รวมถึงพระอุโบสถไม้ ที่สร้างจากไม้ใต้เขื่อนลำปาวอีกด้วย โดยรอบๆ นั้นก็จะประดับลวดลายแกะสลักเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ส่วนภายในจะประดิษฐาน พระมงคลชัยสิทธิ์โรจนฤทธิประสิทธิพร ปางตรัสรู้สีทองอร่าม ที่นี่ไม่เพียงเป็นจุดเช็คอินที่นักท่องเที่ยวสายบุญจะพลาดไม่ได้ แต่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพุทธศิลป์ทั้งจากสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และงานจิตรกรรมที่ประดับประดาอยู่รอบวัดอย่างงดงามอีกด้วย

วัดพุทธนิมิต (ภูค่าว) เปิดทุกวัน 8.00 น. – 18.00 น. (โดยประมาณ)

https://goo.gl/maps/j6BtNLbm9C4VXYPp7

เขื่อนลำปาว: มหานทีแห่งเมืองน้ำดำ

สาเหตุที่กาฬสินธุ์มีชื่อว่าเมืองน้ำดำ เพราะเป็นเมืองพื้นที่ราบสูงที่อุดมสมบูรณ์ น้ำดี ดินดี โดยมีลำน้ำหลายสายที่ทอดยาวมาจากเทือกเขาภูพานลงสู่แอ่งที่ราบลุ่ม คอยหล่อเลี้ยงผู้คนมาหลายศตวรรษ กระทั่งปี พ.ศ. 2511 มีการก่อสร้างเขื่อนลำปาว ครอบคลุมพื้นที่อำเภอสหัสขันธ์ เขื่อนที่มีความจุมากถึง 1,430 ล้านลูกบาศก์เมตร แห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อการชลประทานและการเกษตร รวมถึงแหล่งเพาะพันธุ์ปลาสำคัญสร้างอาชีพให้ชาวบ้าน และนับแต่นั้น ไม่เพียงเขื่อนแห่งนี้จะพลิกโฉมให้กาฬสินธุ์เป็นเมืองแห่งการเกษตรและประมงที่ยั่งยืน (เขื่อนแห่งนี้เป็นแหล่งเลี้ยงกุ้งก้ามกรามที่ใหญ่ที่สุดในอีสาน) หากยังเป็นทั้งสถานที่พักผ่อนและสันทนาการของผู้คน รวมถึงความงดงามของทิวทัศน์ก็ยังเป็นต้นธารแรงบันดาลใจในแง่มุมของศิลปวัฒนธรรมของคนกาฬสินธุ์อีกไม่น้อย

เขื่อนลำปาวยังเป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านระบบนิเวศธรรมชาติที่สวยงาม โดยเฉพาะสวนสะออน หรือศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าลำปาว ผืนป่าเต็งรังที่มีพื้นที่ป่าชายหาดริมอ่างเก็บน้ำ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัวแดง สัตว์ป่าหายากและสัตว์ประจำถิ่นของผืนป่าแห่งนี้ ทั้งนี้ ด้วยความร่มรื่นของป่า จึงเหมาะแก่การเดินศึกษาธรรมชาติ หรือปั่นจักรยานจากผืนป่าเลาะเลียบอ่างเก็บน้ำ หรือถ้าเป็นสายชิลล์ แนะนำให้ไปแฮงค์เอาท์ที่หาดดอกเกด สถานที่พักผ่อนชื่อดังของกาฬสินธุ์ ที่ซึ่งคุณจะได้นั่งบนเก้าอี้ชายหาด ชมทิวทัศน์ของอ่างเก็บน้ำ และม่วนไปกับเพลงหมอลำที่ร้านรวงต่างๆ เปิดขับกล่อม

ตำบลลำคลอง อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ https://goo.gl/maps/g7PjAGafBEkXq5dr6 


วัดพระธาตุยาคู: ทะเลธุงอีสานที่งดงามตระการตาที่สุดในโลก

ไปต่อกันที่อำเภอกมลาไสย วัดพระธาตุยาคู โบราณสถานสำคัญที่สันนิษฐานว่าถูกสร้างในยุคทวารวดี ณ เมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง ก่อนการเกิดขึ้นของเมืองกาฬสินธุ์หลายศตวรรษ ไม่เพียงวัดแห่งนี้จะเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของภาคอีสาน แต่ในทุกปีที่ตรงกับวันมาฆบูชา (มาฆปูรณมีบูชา) และวิสาขบูชา (วิสาขปุณณมีบูชา) ชาวกาฬสินธุ์ทั้ง 18 อำเภอจะมาร่วมกันจัดพิธีสรงน้ำ และประดับตบแต่งพื้นที่รอบพระธาตุแห่งนี้ด้วยธุงใยแมงมุม (หรือธงในภาคกลาง) รวมถึงจัดขบวนแห่ธุงที่ไม่เพียงยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน แต่ยังงดงามด้วยสีสันและความละลานตาในแบบที่ไม่อาจพบได้ที่ไหนในโลก

ธุงเป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมสำคัญของชาวอีสานมาช้านาน เชื่อกันว่าสามารถใช้ป้องกันสิ่งนิสัยไม่ดีร้ายหรือสิ่งไม่ดีที่มองไม่เห็นหรือภูตผีวิญญาณที่จะมารบกวนงานบุญ ในงานที่วัดพระธาตุยาคูชาวกาฬสินธุ์แต่ละหมู่บ้านจะจัดทำธุงใยแมงมุม (ทำจากเส้นด้ายหรือเส้นไหมหลากสีสันผูกกับแกนไม้ไผ่คล้ายใยแมงมุม) มาปักบริเวณลานด้านหน้าพระธาตุยาคูอย่างเต็มแน่น ดูไปก็คล้ายเขาวงกตหลากสีสัน หรือถ้ามองจากที่ไกลก็จะคล้ายทะเลธุงอันแสนอลังการ

ทั้งนี้ ทะเลธุงไม่เพียงเป็นการสืบสานประเพณีที่มีมาอย่างยาวนานของชาวกาฬสินธุ์ แต่ยังสะท้อนถึงทักษะในงานหัตถศิลป์ของชาวบ้านในอำเภอต่างๆ ที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นอัตลักษณ์อันงดงามของจังหวัด

นอกจากทะเลธุงและพิธีกรรมต่างๆ ในงานวันมาฆบูชาและวิสาขบูชา ยังมีการจัดนิทรรศการวิถีชีวิตชาวกาฬสินธุ์ 18 อำเภอ จัดแสดงผ่านเฮือนโบราณ 18 หลัง ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นที่รวบรวมผลิตภัณฑ์ของดีระดับคุณภาพเยี่ยมของแต่ละอำเภอ เช่น ผ้าไหมแพรวา ผ้าประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ พุทรานมสด ผลไม้เศรษฐกิจของจังหวัด ผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานฝีมือประณีต เสื้อเย็บมือของชนเผ่าผู้ไทยกาฬสินธุ์ และผ้าฝ้ายทอมือ เป็นต้น

เช่นนั้นแล้ว การมาเยือนกาฬสินธุ์ในช่วงวันมาฆบูชา (ราวปลายเดือนกุมภาพันธ์) และวันวิสาขบูชา (ราวปลายเดือนพฤษภาคม-ต้นเดือนมิถุนายน) สิ่งสำคัญที่ต้องไม่พลาดคือการมาเยือนวัดพระธาตุยาคู เพื่อยลความงดงามและอลังการของทะเลธุง ฝีมือชาวกาฬสินธุ์ที่มีแห่งเดียวแห่งนี้

บ้านเสมา ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย https://goo.gl/maps/qrpyGabLowtzmgJJ6  

เมืองเก่ากาฬสินธุ์: จากต้นทุนวัฒนธรรมสู่วิถีแห่งศิลป์ร่วมสมัย

เมืองเก่ากาฬสินธุ์ตั้งอยู่ในวงล้อมของถนนกาฬสินธุ์และถนนอรรฆนาค เลียบคลองปาว ในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ย่านเก่าแก่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของวัดกลาง พระอารามหลวง ศูนย์กลางการประกอบศาสนกิจของชาวพุทธในเขตเทศบาลเมือง อนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทร (ท้าวโสมพะมิตร) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์คนแรก และศาลหลักเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ศูนย์กลางดั้งเดิมของเมืองกาฬสินธุ์ในยุคการตั้งเมืองช่วงต้นรัตนโกสินทร์

การมาเยือนที่นี่ หาใช่เพียงการสักการะพระพุทธรูปองค์ดำ (พระพุทธสัมฤทธิ์นิรโรคันตราย) พระพุทธรูปสำคัญของจังหวัด และรอยพระพุทธบาทจำลองทำด้วยศิลาแลง ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยละว้า ที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดกลาง แต่การได้เดินชมบ้านเก่าที่ผสมผสานทั้งศิลปะแบบอีสาน ไทย จีน และตะวันตกที่หลายหลังยังได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี ไปพร้อมหาของอร่อยๆ กินในตลาดเช้า ยังเป็นความเพลิดเพลินใจหาใดเปรียบ

และถึงแม้เป็นเมืองเก่าที่ดูสงบเงียบจนเหมือนไม่มีอะไรดึงดูด กระนั้นในหลายมุมเมือง ก็มีธุรกิจใหม่ๆ และพื้นที่ทางวัฒนธรรมร่วมสมัยซุกซ่อนอยู่อย่างน่าสนใจ อาทิ สุภัคคาเฟ่ (Café de’ Supak) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 0 ของจังหวัด ที่นี่เคยเป็นโรงแรมเก่าแก่ของเมือง ซึ่งทายาทของเจ้าของได้ทำการรีโนเวทชั้นล่างให้กลายเป็นคาเฟ่และร้านอาหารร่วมสมัย กลายเป็นเสมือนห้องรับแขกของเมือง รวมถึงคาเฟ่ร่วมสมัยอีกหลายแห่งที่กระจายตัวอยู่ทั่วเมือง หรือออกไปนอกเมืองนิด บนถนนถีมานนท์ ยังมีศูนย์อาหารตลาดโรงสี แหล่งช้อปปิ้งและกินดื่มยอดนิยม ที่เกิดจากการฟื้นฟูโรงสีเก่าของเมือง เป็นต้น

หอศิลป์กาฬสินธุ์ ตั้งอยู่ตรงข้ามโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ หอศิลป์แห่งนี้ตั้งอยู่ในอาคารศาลากลางหลังเก่า ก่อนที่เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์จะร่วมกับเครือข่ายศิลปินในจังหวัด จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งแรกในจังหวัด และเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งเดียวในภาคอีสานที่เป็นของเทศบาล ปัจจุบันหอศิลป์แห่งนี้จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนของศิลปินอีสาน ศิลปินระดับประเทศ รวมถึงศิลปินรับเชิญจากต่างประเทศ หมุนเวียนทุกๆ 2-3 เดือน เปิดให้คนกาฬสินธุ์ได้มาชมงานศิลปะ และกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์อันหลากหลายในแทบทุกสัปดาห์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ ในทุกเย็นวันอังคาร บริเวณถนนด้านหน้าหอศิลป์ยังมีการจัดถนนคนเดินโปงลางสตรีท ตลาดนัดวัฒนธรรมกลางใจเมือง ควบคู่ไปกับตลาดเมืองเก่าย้อนเวลา ณ ชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ ที่จัดอยู่รอบวัดกลางในทุกเย็นวันพฤหัสบดี และล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ยังร่วมกับเทศบาลเมือง และ บพท. จัดมหกรรมฟื้นใจเมือง ‘ภูมิถิ่น แก่งสำโรง โค้งสงเปลือย’ บริเวณศาลเจ้าโสมพะมิตร เลียบคลองปาว ซึ่งเป็นงานที่ต่อยอดจากพิธีบวงสรวงสักการะศาลเจ้าโสมพะมิตรที่คนกาฬสินธุ์จัดขึ้นทุกปี ให้กลายเป็นถนนสายวัฒนธรรมร่วมสมัย มีการออกร้าน ฉายหนังกลางแปลง เวิร์คช็อป และการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมของนักเรียนและศิลปินท้องถิ่น ฯลฯ โดยงานนี้ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีเยี่ยม และมีแผนจะจัดทำถนนวัฒนธรรมเลียบคลองปาวประจำสัปดาห์ในอนาคตข้างหน้า

อาจกล่าวได้ว่าพื้นที่เรียนรู้ที่เป็นเหมือนการไล่เส้นเวลา (timeline) ตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ มาถึงยุคทวารวดี จนมาถึงถนนสายวัฒนธรรม ณ ปัจจุบัน เป็นคล้ายการส่งต่อต้นทุนทางทรัพยากรในพื้นที่ จนหล่อหลอมให้เมืองทั้งเมืองเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่พร้อมเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์นำไปต่อยอดหรือเพิ่มมูลค่าทางอาชีพและวิถีชีวิต

และนี่คือการสะท้อนภาพเพียงบางส่วนของเมืองกาฬสินธุ์ เมืองเล็กๆ อันเงียบสงบและเปี่ยมเสน่ห์ หากก็เต็มไปด้วยต้นทุนทางแรงบันดาลใจอันไม่อาจประเมินค่าได้อีกมากมายนับไม่ถ้วน   

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย