/

Learning City เป็นโครงการที่เทศบาลเมืองหัวหินให้ความสำคัญเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกช่วงวัย

Start
378 views
27 mins read

               “Learning City เป็นโครงการที่เทศบาลเมืองหัวหินให้ความสำคัญเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกช่วงวัย เพราะเราต้องการสร้างหัวหินเป็น Learning Community เป็นสังคมแห่งการตระหนักรู้ รู้เท่าทัน ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรเราใช้โมเดลนี้ในการแก้ปัญหาได้ ทีนี้การที่เราไปตั้งต้นที่พูลสุขเพราะเป็นชุมชนในเขตเทศบาลฯ ที่มีความเก่าแก่ มีจุดเด่นเรื่องวัฒนธรรม ความเป็นท้องถิ่น เพราะเป็นคนดั้งเดิมของหัวหิน แล้วประธานชุมชนตอนนั้นอายุน่าจะ 90 ปี ปัญหาอุปสรรคที่ดำเนินโครงการ คืออายุของผู้ที่เราไปสัมภาษณ์ หลายท่านก็เสียชีวิตหลังจากโครงการเสร็จ ด้วยชราภาพ กับปัญหาที่พบเจอเบื้องต้นคือปัจจัยทางการเมือง คือจากสัดส่วนผลการเลือกตั้งที่ออกมาเราได้เปอร์เซ็นต์จากชุมชนพูลสุขไม่มากนัก มีส่วนที่เลือกและไม่เลือกเราเป็นผู้แทน ส่วนที่ไม่เลือกมีมากกว่า ก็เป็นข้อเท็จจริงในการทำงาน แต่ไม่ใช่ประเด็นที่เราจะไปตัดออก เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความละเอียดอ่อน แต่เราก็ไม่ท้อ เราต้องการได้ความรู้จริงๆ อยากให้ได้ผลสัมฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์จริงๆ เราก็หาวิธีการกันว่าถ้าเทศบาลฯ ไปดำเนินการเอง อาจจะเป็นไปด้วยความยาก ถ้าเป็นข้าราชการกับทีมผู้วิจัยเข้าไปจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับงานวิจัยมากกว่า ซึ่งงานวิจัยออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่เราพอใจมาก เพราะหลังจากวิจัย Learning City เกิดขึ้น ทุกคนเกิดความเข้าใจ รู้สึกว่าเราไม่ได้ห่างจากเขาอย่างที่คิด ลดช่องว่าง

               ปัจจัยที่สองคืออายุ และสภาพร่างกายของกลุ่มตัวอย่างคนในชุมชนที่เป็นคีย์แมนจริงๆ เขาเป็นผู้สูงอายุ เรื่องการให้สัมภาษณ์ การให้ข้อมูล บางทีก็มีหลงมีลืมบ้างตามวัย เราต้องไปแบบไปคุยไปพูดจา วิธีการก็ต้องปรับเปลี่ยนจากการวิจัยทั่วไป คือจะให้มานั่งตอบเป็นโมเดลไม่ได้ ต้องให้เขาค่อยๆ คิด วันนี้อาจจะนึกไม่ได้ พอไปเจออีกวันนึงเขาบอกวันนั้นที่ถามเนี่ยนึกออกละ เขานึกได้ก็มาบอก อุปสรรคอีกอย่างคือชุมชนพูลสุขเป็นชุมชนที่เน้นงานประดิษฐ์ ทั้งเปลือกหอย ใบตาล วัตถุดิบที่ลุงๆ ป้าๆ จะหามาผลิตบางส่วนก็ค่อนข้างหายาก ใบตาลก็ต้องสั่งเข้ามาจากต่างอำเภอ ต่างจังหวัด ก็มีขั้นตอนที่มากขึ้น แต่ก่อนเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นที่ แต่ด้วยสภาพบริบทเมืองที่เปลี่ยนแปลง พื้นที่ป่าสนนารายณ์ ต้นตาล ใบตาล หายไป เปลือกหอยยังพอมีแต่ก็หายากขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากกฎหมายสิ่งแวดล้อม ส่วนหนึ่งคนที่ทำเปลือกหอยก็เสียชีวิตไป แต่จริงๆ แล้วในหัวหินก็ยังมีหลายชุมชนที่ทำเปลือกหอยอยู่ ชุมชนตะเกียบก็ยังมีคนทำ หรือพัดใบตาลที่ขายตรงบริเวณหน้าชุมชนพูลสุข ซึ่งป้าอ้น คนที่ทำก็อายุ 80 กว่าจะ 90 เดินไม่ค่อยไหวละ ลุงก็ 90 กว่าละ คือลุงกับป้าอ้นก็ยินดีที่จะถ่ายทอดให้กับเยาวชน คนรุ่นหลังไปประกอบอาชีพ เราก็ไปถอดบทเรียนเป็นคู่มือเรียนรู้วิธีการทำไว้

               ปัญหาคือคนในชุมชนพูลสุขเป็นผู้ใหญ่ค่อนข้างมาก ผู้ที่เป็นคีย์แมนก็อายุ 60-70 ปีขึ้นทั้งนั้น ทำให้ประชากรวัยแรงงานที่จะมารับช่วงต่อน้อย มีข้อจำกัดในการประกอบอาชีพที่บรรพบุรุษทำเป็นอาชีพหลักอาจจะไม่ตอบโจทย์นัก อันนี้ก็ทำเป็นอาชีพเสริมไป อีกส่วนหนึ่งคือในอดีตที่ผ่านมา การขายงานฝีมืออาจจะขาดการประชาสัมพันธ์ บางสิ่งเราเข้าไปก็เพิ่งพบเห็นว่าตรงนี้มีอย่างนี้ด้วย เช่นตอนแรกเรารู้ว่าพัดก็คือพัด แต่เราไม่รู้วิธีการ เปลือกหอยชนิดนี้ควรทำวิธีแบบนี้ เราไม่ทราบมาก่อน แล้วเรื่องบางเรื่อง การไปถามคน เขาก็จะบอกว่าเรื่องนี้ต้องไปถามคนนี้ๆ เรื่องประวัติหัวหินต้องถามคนนี้ เราก็ได้คีย์แมนเพิ่ม ขยายวงไปมากขึ้น ปัญหาด้านอื่นคือหลังจากที่เราทำโครงการวิจัยนี้แล้ว เราอยากทำต่อ อยากขยายไปที่ชุมชนอื่นๆ เคยมีความคิดที่จะเอาหลักสูตรที่เราวิจัยเข้าไปอยู่ในหลักสูตรของการศึกษาในโรงเรียนสังกัดเทศบาลฯ แต่เราก็กังวลในเรื่องของความผิดพลาดเชิงตรรกะ เพราะงานวิจัยเป็นลักษณะของชุมชนเฉพาะ แต่เราเอาไปให้นักเรียนทุกชุมชนเรียนก็อาจจะไม่ตรงประเด็นนัก แล้วก็มีผลจากการโยกย้ายส่วนราชการ เช่น ดร.ศิวัช หัวหน้าโครงการที่ย้ายไป โครงการก็อาจจะสะดุด คือมีการสานต่อในเรื่องนโยบาย แต่การปฏิบัติอาจจะทำได้ในมาตรฐานที่ไม่เท่ากัน ตอนนี้เราก็พยายามหาวิธีการอื่น เชิญศาสตราจารย์ ดร. อุดม ทุมโฆสิต ศาสตราจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นิด้า มาศึกษาวิจัยเรื่องศักยภาพเมือง ก็จะลงไปทุกๆ ชุมชนว่าแต่ละชุมชนมีศักยภาพอะไร ผลออกมาก็จะเป็นภาพรวมของเมืองหัวหิน วัตถุประสงค์คือต้องการยกระดับให้หัวหินเป็นเมืองการท่องเที่ยวเวิลด์คลาส เป็นเขตปกครองพิเศษด้านการท่องเที่ยว

               เรารู้อัตโนมัติแล้วว่าหัวหินอากาศดี พื้นที่ดี ชายหาดดี แต่จุดแข็งของหัวหินคือเป็นเมืองที่สร้าง Product Activity ได้ดีมาก ผมมองว่าเราขายแต่วัตถุดิบอย่างเดียวไม่ได้ละ เรามีทรัพยากร สามารถเพิ่มขีดจำกัดไปได้ สร้างมูลค่าเพิ่มได้ ก็พยายามดึงศักยภาพจุดนี้ออกมา เช่น กิจกรรมม้าชายหาดขึ้นสู่เส้นทางท่องเที่ยว หัวหินเป็นเมืองที่มีผู้ติดตามพระมหากษัตริย์มาซื้อบ้านไว้ เส้นทางก็จะมีบ้านเก่า เมืองเก่า ไปดูบ้านของสมเด็จพระราชาดำรงราชานุภาพ (วังตากอากาศของราชสกุลดิศกุล) ก็เปลี่ยนมิติไป ทำให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัว จากแต่ก่อนอยู่ที่ชายหาด ก็ขยายไปอยู่ที่ถนน ต่อไปก็จะขยายไปตามชานเมือง แล้วเราตั้งใจเชื่อมโยงต้องการให้เมืองเราเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว หรือแต่ก่อนเราขายหมึก ได้หมึกกิโลนึง สองร้อยกว่าบาท ปัจจุบันเราขายทริปขายทัวร์เรือไปตกหมึก หมึกก็ได้ ได้สามพันห้าร้อยบาท ทำกิจกรรมได้ โจทย์คือมอบประสบการณ์ให้นักท่องเที่ยว ให้เขาได้กินหมึกสดๆ จากเรือ เรามีกลุ่มประมงเรือเล็กที่ทำอยู่ ที่ท่าเรือตะเกียบ ท่าเรือหัวดอน แล้วเราก็ให้วิธีคิดกับชาวประมงเรื่องการทำประชาสัมพันธ์ มีเฟซบุ๊ก มีไลน์ ช่องทางโซเชียลมีเดียจะช่วยได้มาก ปัจจุบันเขายืนได้ด้วยตัวเอง ทำให้เกิดความยั่งยืนได้ อีกส่วนก็เรื่องธนาคารปู ก็จะมาเพิ่มกิจกรรมการเลี้ยงปู ปล่อยปู ให้เขารู้จักวิธีการ ขั้นตอนกว่าจะได้ปู ทำให้แต่ก่อนปูกิโลนึงอาจจะ 350 บาท ตอนนี้กิโลละ 500-600 บาท แต่เดิมนายกฯ ให้ตั้งธนาคารปูม้า เพราะมีช่วงนึงปูหายาก แล้วปูไม่ได้มีตลอดทั้งปี ต้องมาหน้าที่มีปู แต่ปัจจุบันมาหัวหินมีปูทุกวันทุกหน้า สมมติว่าเรือที่นี่มี 10 ลำ เราทำข้อตกลงร่วมกัน 10 ลำ ถ้าได้ปูที่ตรงตามวัตถุประสงค์ของเรา ให้เอามาส่งที่ส่วนกลางที่ธนาคารปู แล้วเราก็จะขอพวกนี้มาเคาะ เขี่ย ไข่ปู แล้วมาเพาะพันธุ์ปูเอง ก็เป็นข้อตกลงที่เราคิดให้ทำกันในกลุ่มประมงเรือเล็ก แล้วเขาเกิดความตระหนักร่วมว่าถ้าวันหนึ่งไม่มีปู เขาเองจะเดือดร้อน

               ผลที่ได้รับจากงานวิจัยหลายอย่างคือได้มิติด้านสังคมที่เราลงได้ลึกมากขึ้น ก่อนหน้านี้อาจจะติดขัดเรื่องสื่อสารกันน้อย ไม่มีโอกาสมานั่งพูดคุยกันลักษณะนี้ พอการสื่อสารเกิดขึ้น เกิดความไว้ใจ ก็ทำให้เทศบาลฯ ทำงานได้ง่ายขึ้นด้วย เทศบาลฯ เองก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงในทางวิธีการทำงานอย่างเดียว แต่ส่วนที่เปลี่ยนคือเรื่อง mindset ของพนักงาน เช่น เราอาจจะเห็นเจ้าหน้าที่บางคนรับราชการมานาน ยังติดกรอบการทำงานแบบเดิม คือวิธีการทำงานของผมกับดร.ศิวัชคล้ายกัน คือเราทำ 1 อย่าง เราต้องได้ 2-3-4-5 ไม่ใช่แค่ทำ 1 ได้ 1 แบบวิธีคิดเดิม เราก็เข้ามาสู้กับระบบพอสมควร ส่วนรูปธรรมที่ได้เรื่อง Learning City หนึ่งคือมีการต่อยอด ทั้งงานวิจัย การต่อยอดทางวัฒนธรรม เช่น การจัดประเพณีสงกรานต์แบบที่เราไม่เคยจัดมาก่อน นำวัฒนธรรมที่เกิดจากงานวิจัยใส่เข้าไป เช่น ผีพุ่งไต้ การก่อเจดีย์ทราย การละเล่นต่างๆ แล้วก็เชิญกลุ่มที่เขาปฏิบัติอยู่มาเป็นส่วนสำคัญของงาน อีกส่วนคือการจัดตั้งกลุ่มการเรียนรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มการเรียนรู้นาฏศิลป์หัวหิน กลุ่มการเรียนรู้หัวหินถิ่นมนต์ขลัง เขามีกิจกรรมกันจนปัจจุบันสามารถเดินได้ด้วยตัวเอง สองคือการนำทุนที่เราศึกษาวิจัยมาสร้างการมีส่วนร่วม ทำให้เกิดระบบการทำงานในพื้นที่ ทั้งในส่วนราชการ ส่วนชุมชนเอง ขยายผลได้ง่ายขึ้น เราได้พลเมืองที่มีความตระหนักร่วม พร้อมจะเรียนรู้และถ่ายทอดไปกับเรา สามคือเกิดกลไกในการต่อยอดการมีส่วนร่วมยังไงในชุมชนต่อๆ ไป สี่คือการต่อยอดจากภาคภาคีเครือข่าย ทำให้โครงการมีความยั่งยืนมากขึ้น นำภาคพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมจังหวัด ภาคเอกชนในพื้นที่ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว ภาคพลเมืองของชุมชนที่อื่น เมื่อเขาเห็นความสำเร็จของชุมชนๆ หนึ่งแล้ว ความร่วมมือก็จะมีมากขึ้น ห้าคือการนำทุนทางวัฒนธรรมมาเป็นเครื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ จ้างผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรม สร้างอาชีพโดยใช้วัฒนธรรม อัตลักษณ์ ความเป็นหัวหิน มาสร้างเรื่องราวในการขาย และเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ”

กิตติ เฟื่องฟู

เลขานุการนายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย