[The Insider]จตุรวิทย์ นิโรจน์ธนรัฐ

“อีสปอร์ตเป็นการสนับสนุนให้เด็ก
เข้าใจความหมายของการเล่นเกม 
ทั้งในแง่ของทีมเวิร์ก วินัย และการมีน้ำใจนักกีฬา”

“ผมเล่นเกมมาตั้งแต่เด็กแล้วครับ แต่เมื่อก่อนไม่รู้เลยว่าเกมพวกนี้มันถูกนิยามในฐานะ ‘กีฬา’ ได้ จนมาเริ่มเล่น RoV (Arena of Valor) ซึ่งนอกจากพบว่า เขามีการแข่งขันกันในระดับนานาชาติมานานแล้ว ยังทำให้ผมเข้าใจนิยามของอีสปอร์ต ทั้งจากการทำงานร่วมกันเป็นทีม การวิเคราะห์และวางแผน วินัย ไปจนถึงการฝึกฝน

ความที่นครสวรรค์เป็นศูนย์กลางทางการศึกษาในภูมิภาคภาคเหนือตอนล่าง ทั้งในระดับมัธยมจนถึงอุดมศึกษา นั่นทำให้เมืองเรามีคนรุ่นใหม่จากอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงเข้ามาใช้ชีวิตจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มก้อนของนักเล่นเกมตั้งแต่รุ่นเด็กไปจนถึงผู้ใหญ่รวมตัวกันไม่น้อย และเป็นเช่นเดียวกับกลุ่มก้อนของคนเล่นกีฬาชนิดอื่น ๆ แวดวงอีสปอร์ตในเมืองของเรามีจุดเริ่มต้นเช่นนี้

เริ่มต้นจากชมรม ก่อนจะมีการจัดการแข่งขันอีสปอร์ตอย่างเป็นทางการที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล นครสวรรค์ ความที่เทศบาลนครนครสวรรค์มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้อยู่แล้ว ผมมองว่าความสมาร์ทนี้ ไม่ควรจำกัดอยู่แค่โครงสร้างพื้นฐาน หากต้องเป็นเครื่องมือบางอย่างที่ช่วยพัฒนาผู้คนในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัล จึงมองว่าอีสปอร์ตนี่เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ว่า

เราได้ประสานไปยังสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย เพื่อขอจัดตั้งสมาคมกีฬาอีสปอร์ตจังหวัดนครสวรรค์ โดยอยู่ภายใต้ร่มของสมาคมกีฬาจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อจะได้มีองค์กรหลักในการขับเคลื่อน รวมถึงจัดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ และที่สำคัญ คือการสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองว่าอีสปอร์ต ไม่ใช่การส่งเสริมให้เด็กเล่นเกม แต่เป็นการสนับสนุนให้ทุกคนเข้าใจความหมายของการเล่นเกม ทีมเวิร์ก การฝึกฝน วินัย และการมีน้ำใจนักกีฬา


ขณะเดียวกัน การส่งเสริมอีสปอร์ตก็ไม่ได้หมายถึงการส่งเสริมให้มีนักกีฬาท้องถิ่นเก่ง ๆ อย่างเดียว แต่เป็นการสร้างระบบนิเวศทางทักษะใหม่ ๆ  ให้กับเยาวชน ทั้งการเป็นออร์แกไนเซอร์ผู้จัดการแข่งขัน โค้ช นักพากย์ ทีมหลังบ้านที่ดูแลระบบ สตรีมเมอร์ รวมถึงนักสร้างสรรค์เกม เรามองว่าเด็ก ๆ ที่มีทักษะทางดิจิทัลเหล่านี้ จะกลายมาเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ของเมืองในอนาคต  


เทศบาลนครนครสวรรค์จึงขานรับแนวคิดนี้ ด้วยการบรรจุหลักสูตรอีสปอร์ตเข้าไปในโรงเรียนภายใต้สังกัด โดยนำร่องที่โรงเรียนเทศบาล 6 (โรงเรียนเทศบาลวัดจอมคีรีนาคพรต) รวมถึงร่วมกับ บพท. ในการจัดทำศูนย์ฝึกซ้อมกีฬาอีสปอร์ตในโรงเรียนแห่งนี้ เพื่อเปิดให้เด็ก ๆ  ในสังกัดโรงเรียนเทศบาลทั้ง 9 แห่งมาใช้เก็บตัว หรือฝึกทักษะต่าง ๆ  ร่วมกัน

ถามว่าทุกวันนี้ เมืองของเรามีความพร้อมในการจัดตั้งสโมสรอาชีพในระดับจังหวัดไหม? ส่วนตัวผมว่าเราพร้อมแล้วนะ เรามีนักกีฬาเก่ง ๆ  ไม่น้อย ล่าสุด เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นักเรียนจากโรงเรียนเทศบาล 4 (โรงเรียนเทศบาลวัดวรนาถบรรพต) ก็เพิ่งไปคว้าเหรียญทอง การแข่งขันกีฬาสาธิตอีสปอร์ต RoV ที่การแข่งขันกีฬานักเรียนระดับ อปท. ทั่วประเทศที่สุราษฎร์ธานีมา

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้เราก็อยู่ระหว่างประเมินศักยภาพในภาพรวมกันอยู่ เพราะเป้าหมายหลักของเมืองเราจริง ๆ คือการพัฒนาเยาวชนท้องถิ่นในทุกห่วงโซ่ของระบบนิเวศ ไม่ใช่การซื้อผู้เล่นเก่ง ๆ จากที่อื่น มาแข่งให้สโมสรเราอย่างเดียว แต่ทุกองคาพยพ ทั้งนักกีฬา โค้ช ทีมหลังบ้าน ทั้งหมดต้องมาจากเด็กนครสวรรค์ นั่นเป็นเหตุผลให้เราลงทุนกับการสร้างบุคลากรให้ครอบคลุมที่สุด

ใช่ครับ การมีสโมสรกีฬาอาชีพ หรือศูนย์ฝึกระดับอาชีพก็คือเป้าหมายหนึ่ง แต่เป้าหมายที่ใหญ่กว่าของเราคือ เราอยากพัฒนาให้เมืองเป็น ‘ศูนย์กลาง’ อีสปอร์ตในระดับภาคเหนือตอนล่าง มันอาจจะเริ่มต้นที่การบ่มเพาะบุคลากร แต่ถ้าเรายังเดินหน้าต่อไป ไม่แน่ เมืองของเราอาจมีอุตสาหกรรมเกมระดับย่อย ๆ เกิดขึ้นมาอย่างจริงจัง และนี่จะเป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงแรงดึงดูดให้คนรุ่นใหม่กลับมาทำงานที่บ้านเกิดอย่างแท้จริง”

___

#เทศบาลนครนครสวรรค์ #นครสวรรค์นครอีสปอร์ต #มหาวิทยาลัยนเรศวร #หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาพื้นที่ #บพท #pmua #โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด #ciap #wecitizens

Wecitizens Editor

Recent Posts

[The Insider]<br />พัชรี แซมสนธ์

“เมืองอาหารปลอดภัยไม่ได้ให้ประโยชน์แค่เฉพาะผู้คนในเขตเทศบาลฯแต่มันสามารถเป็นต้นแบบให้เมืองอื่น ๆ ที่อยากส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนได้เช่นกัน” “งานประชุมนานาชาติของสมาคมพืชสวนโลก (AIPH Spring Meeting Green City Conference 2025) ที่เชียงรายเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา เน้นย้ำถึงทิศทางการพัฒนาเมืองสีเขียว…

2 weeks ago

[The Insider]<br />พรทิพย์ จันทร์ตระกูล

“ทั้งพื้นที่การเรียนรู้ นโยบายเมืองอาหารปลอดภัย และโรงเรียนสำหรับผู้สูงวัยคือสารตั้งต้นที่จะทำให้เชียงรายเป็นเมืองแห่งสุขภาพ (Wellness City)” “กล่าวอย่างรวบรัด ภารกิจของกองการแพทย์ เทศบาลนครเชียงราย คือการทำให้ประชาชนไม่เจ็บป่วย หรือถ้าป่วยแล้วก็ต้องมีกระบวนการรักษาที่เหมาะสม ครบวงจร ที่นี่เราจึงมีครบทั้งงานส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การรักษาเมื่อเจ็บป่วย และระบบดูแลต่อเนื่องถึงบ้าน…

2 weeks ago

[The Insider]<br />ณรงค์ศักดิ์ เตือนสกุล

“การจะพัฒนาเมือง ไม่ใช่แค่เรื่องสาธารณูปโภคแต่ต้องพุ่งเป้าไปที่พัฒนาคนและไม่มีเครื่องมือไหนจะพัฒนาคนได้ดีไปกว่า การศึกษา” “แม้เทศบาลนครเชียงรายจะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกแห่งแรกของไทยในปี 2562 แต่การเตรียมเมืองเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ว่านี้ เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นหลายสิบปี ในอดีต เชียงรายเป็นเมืองที่ห่างไกลความเจริญ ทางเทศบาลฯ เล็งเห็นว่าการจะพัฒนาเมือง ไม่สามารถทำได้แค่การทำให้เมืองมีสาธารณูปโภคครบ แต่ต้องพัฒนาผู้คนที่เป็นหัวใจสำคัญของเมือง และไม่มีเครื่องมือไหนจะพัฒนาคนได้ดีไปกว่า ‘การศึกษา’…

3 weeks ago

[The Insider]<br />นนทพัฒ ถปะติวงศ์

“ถ้าอาหารปลอดภัยเป็นทางเลือกหลักของผู้บริโภคเชียงรายจะเป็นเมืองที่น่าอยู่กว่านี้อีกเยอะ” “นอกจากบทบาทของการพัฒนาชุมชนและสังคมสงเคราะห์ กองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครเชียงราย ยังมีกลไกในการส่งเสริมเศรษฐกิจของพี่น้อง 65 ชุมชน ภายในเขตเทศบาลฯ โดยกลไกนี้ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ และช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมในทางอ้อมด้วยกลไกที่ว่าคือ ‘สหกรณ์นครเชียงราย’ โดยสหกรณ์ฯ นี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2560 หลักเราคือการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน…

3 weeks ago

[The Citizens]<br />ชวนพิศ สุริยวงค์

“แม่อยากปลูกผักปลอดภัยให้ตัวเองและคนในเมืองกินไม่ใช่ปลูกผักเพื่อส่งขาย แต่คนปลูกไม่กล้ากินเอง” “บ้านป่างิ้ว  ตั้งอยู่ละแวกสวนสาธารณะหาดนครเชียงราย เราและชุมชนฮ่องลี่ที่อยู่ข้างเคียงเป็นชุมชนเกษตรที่ปลูกพริก ปลูกผักไปขายตามตลาดมาแต่ไหนแต่ไร กระทั่งราวปี 2548 สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองเชียงราย มาส่งเสริมให้ทำเกษตรปลอดภัย คนในชุมชนก็เห็นด้วย เพราะอยากทำให้สิ่งที่เราปลูกมันกินได้จริง ๆ ไม่ใช่ว่าเกษตรกรปลูกแล้วส่งขาย แต่ไม่กล้าเก็บไว้กินเองเพราะกลัวยาฆ่าแมลงที่ตัวเองใส่…

3 weeks ago

[The Citizens]<br />กาญจนา ใจปา และพิทักษ์พงศ์ เชอมือ

“วิวเมืองเชียงรายจากสกายวอล์กสวยมาก ๆขณะที่ผืนป่าชุมชนของที่นี่ก็มีความอุดมสมบูรณ์จนไม่น่าเชื่อว่านี่คือป่าที่อยู่ในตัวเมืองเชียงราย” “ก่อนหน้านี้เราเป็นพนักงานบริษัทเอกชนที่ต่างจังหวัด จนเทศบาลนครเชียงรายเขาเปิดสกายวอล์กที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนดอยสะเก็น และหาพนักงานนำชม เราก็เลยกลับมาสมัคร เพราะจะได้กลับมาอยู่บ้านด้วย ตรงนี้มีหอคอยชมวิวอยู่แล้ว แต่เทศบาลฯ อยากทำให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็เลยต่อขยายเป็นสกายวอล์กอย่างที่เห็น ซึ่งสุดปลายของมันยังอยู่ใกล้กับต้นยวนผึ้งเก่าแก่ที่มีผึ้งหลวงมาทำรังหลายร้อยรัง รวมถึงยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนภูเขา ในป่าชุมชนผืนนี้ จริง…

3 weeks ago