“เด็กๆ นครสวรรค์เติบโตมากับมังกร สิงโต และเอ็งกอ ซึ่งไม่ใช่จากพิธีกรรม แต่เป็นจินตนาการ และการอยากมีส่วนร่วม ซึ่งสิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญว่าทำไมประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่จึงได้รับการสืบสานมาเป็นร้อยปี”

Start
359 views
7 mins read

“ผมเป็นเจ้าของคณะสิงโต เห็นลูกหลานชอบดูและอยากเชิดสิงโต ผมเลยทำหัวสิงโตขนาดเล็กให้พวกเขาได้เล่น ต่อมาก็มีคนมาขอซื้อ แล้วเสียงตอบรับดีมาก จึงกลายเป็นธุรกิจครอบครัวไปเลย ตอนนี้ทำมาได้ 4-5 ปีแล้ว สิงโตที่ผมทำเรียกสิงโตกวางตุ้งของคณะกว๋องสิว คนปากน้ำโพจะไม่คุ้นคำว่าสิงโตกวางตุ้ง เท่ากับคำว่าสิงโตกว๋องสิว ต้นฉบับเป็นหัวสิงโตที่ชาวจีนกวางตุ้งที่ก่อตั้งสมาคมกว๋องสินในเมืองนครสวรรค์ประดิษฐ์ขึ้น ใช้แห่ในงานประเพณีตรุษจีนมา 100 กว่าปีแล้ว เชื่อกันว่านี่คือหัวสิงโตกวนกง หรือหัวสิงโตของเทพเจ้ากวนอู ใบหน้าของสิงโตจึงมีสีแดง เป็นสัญลักษณ์ของความจงรักภักดี ความเที่ยงธรรม และความกล้าหาญของเทพเจ้ากวนอู 

เด็กๆ นครสวรรค์เติบโตมากับมังกร สิงโต และเอ็งกอ ซึ่งไม่ใช่จากพิธีกรรม แต่เป็นจินตนาการ ทำให้พวกเขาอยากเข้ามามีส่วนร่วม หรืออยากเป็นคนเชิด ซึ่งสิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญว่าทำไมประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่จึงได้รับการสืบสานมาเป็นร้อยปี

ตอนผมทำหัวสิงโตขนาดเล็กให้ลูกหลานเล่น ก็ไม่ได้คิดหรอกว่าจะต้องทำขาย เหมือนเราเคยทำหัวใหญ่มาก่อน ก็ลองทำเล็กๆ สัก 9 หัวดู มีคนมาเห็นลูกหลานเราเชิด เขาก็เลยมาขอซื้อให้ลูกเขาไปเล่นด้วย ไปๆ มาๆ ครูที่โรงเรียนมาเห็น เขาก็ขอซื้อไปเป็นสื่อประกอบการเรียน มีการแข่งขันเชิดสิงโตเยาวชนชิงรางวัลด้วย เขาก็มารับจากเราไป 

ผมไม่รู้ว่าเขาไปเรียนการเชิดสิงโตจากไหนนะ ก็น่าจะดูจากขบวนแห่ หรือไม่ก็ดูจากยูทูปกันมากกว่า อย่างคณะสิงโตเขาไม่มีกิจกรรมเปิดคอร์สการสอนหรอก เพราะคนเชิดส่วนใหญ่เขาก็ประกอบอาชีพอื่นกัน จะมารวมตัวกันซ้อมก่อนมีพิธีแห่เท่านั้น

แต่ถึงบอกว่าผมทำสิงโตกว๋องสิวจำลอง แต่หลายๆ ตัวก็ไม่ได้เหมือนต้นฉบับหมดหรอกครับ ก็ปรับไปตามความต้องการของลูกค้า หรือวัตถุดิบที่เรามี มีสีเขียว เหลือง ขาว ดำ แดง บางตัวก็ทาสองสี บางตัวก็สามสี ขาวล้วนก็มีครับ แต่ไม่แนะนำ เพราะเชิดไปไม่นานแล้วจะเปื้อน (หัวเราะ)

ภูมิใจไหมที่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสืบสานวัฒนธรรมส่งต่อไปถึงเด็กๆ ผมอาจจะไม่ได้คิดถึงขนาดนั้น แค่คิดว่าทำของเล่นให้พวกเขาได้เล่นสนุกและได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน แค่นั้นก็ดีใจแล้ว และขณะเดียวกันสิ่งนี้ก็กลายเป็นธุรกิจที่เลี้ยงครอบครัวเราได้ด้วย”  

นิกร ศรีนิล และวิพารัตน์ เทียมจันทร์
คนทำหัวสิงโตกวางตุ้ง

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย