/

“กับคำถามที่ว่าโครงการวิจัยนี้เป็นการเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ และอาจส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่มีอยู่เดิมของเมืองหรือไม่? ผมขออธิบายเช่นนี้”

Start
186 views
15 mins read

“ก่อนที่เราจะขับเคลื่อนแนวคิด Smart Block ในพื้นที่บริเวณศูนย์ขนส่งผู้โดยสารจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ของเมือง คณะกรรมการกฎบัตรนครสวรรค์และสมาคมผังเมืองไทย ใช้เวลาหนึ่งปีแรกไปกับการแก้ไขผังเมืองรวมเฉพาะจุด ปลดล็อคพื้นที่บริเวณนี้ให้สามารถมีการก่อสร้างอาคารที่มีความสูงและขนาดไม่จำกัด นั่นทำให้เครือเซ็นทรัลและเครือโรงพยาบาลสินแพทย์ตัดสินใจลงทุนทำศูนย์การค้าและโรงพยาบาลขนาดใหญ่แห่งใหม่ของเมือง ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างในเวลานี้

กับคำถามที่ว่าโครงการวิจัยที่เราได้รับทุนจาก บพท. เป็นการเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่มีอยู่เดิมของเมืองหรือไม่? ผมขออธิบายเช่นนี้

ก่อนอื่น ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา คณะนักวิจัยของเราได้จัดวงเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับชาวนครสวรรค์ทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และชุมชน ผ่านกระบวนการ social collaboration มาเกือบ 20 ครั้ง เราแชร์บทเรียนเกี่ยวกับเมืองกันทุกเรื่อง และส่วนใหญ่ก็ต่างเห็นตรงกันว่าเมืองเราจำเป็นต้องมีการเปิดให้มีการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสอดรับไปกับโอกาสทางการคมนาคมขนส่งทั้งรถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟรางคู่เส้นใหม่ที่เชื่อมเข้าไปถึงเมียนมาร์ในอนาคต

ขณะเดียวกัน จริงอยู่ การเกิดขึ้นของศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในย่านใหม่ อาจส่งผลกระทบต่อย่านการค้าดั้งเดิมของเมือง แต่กฎบัตรนครสวรรค์ก็คำนึงถึงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ได้ประสิทธิภาพและครอบคลุมทั้งเขตเทศบาล รวมถึงการนำโมเดล Smart Block มาใช้ในย่านเศรษฐกิจแห่งต่างๆ ทำให้การเดินทางในเมืองทั้งทางรถสาธารณะและการเดินเท้าเป็นไปได้อย่างสะดวกคล่องตัว

ทีนี้การมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ของเมือง แน่นอน มันย่อมดึงดูดให้คนมาใช้บริการอยู่แล้ว หากเมื่อเมืองหรือย่านต่างๆ ได้รับการออกแบบทัศนียภาพให้สวยงาม โดยเฉพาะการมีทางเท้าที่เอื้อต่อการสัญจร สิ่งนี้จะทำให้คนไม่คิดว่าจะต้องขับรถเข้าห้างสรรพสินค้าอย่างเดียว หรือคุณขับรถมาห้าง คุณอาจไปจอดรถนอกห้าง และเดินเท้าจากที่จอดผ่านร้านรวงรอบๆ ห้างซึ่งมีการออกแบบให้สวยงามน่ามอง นั่นก็เป็นการกระจายรายได้ให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น ไม่นับรวมการมีขนส่งมวลชนสาธารณะที่ได้ประสิทธิภาพ ยังนำพาเม็ดเงินกระจายไปยังย่านต่างๆ ทั่วเมือง

สิ่งนี้ผมขอเรียกว่าเศรษฐกิจตัวใหญ่เลี้ยงน้องเล็ก ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการมีฟิวเจอร์พาร์ครังสิตที่ปทุมธานี ที่ทำให้เกิดการกระตุ้นการค้าปลีกรอบๆ รวมถึงการเกิดขึ้นของสถานีรถไฟสายสีแดงเชื่อมเข้ากรุงเทพฯ ชั้นใน แต่น่าเสียดายอยู่หน่อยตรงที่ยังไม่มีการทำเส้นทางการเดินระหว่างสถานีรถไฟไปยังห้างสรรพสินค้าที่สมบูรณ์ เพราะอาจจะขาดการวางผังไว้แต่แรก ถ้าอย่างน้อยๆ มีการสร้างสกายวอล์คเชื่อมเข้าหากัน เศรษฐกิจโดยรอบเส้นทางเดินนั้นก็จะเติบโตขึ้นอีกมาก

กลับมาที่นครสวรรค์ ผมเห็นความเป็นไปได้ในการใช้สถานี บขส. เป็นพื้นที่ mix-use อาจเป็นศูนย์กลางด้านสมาร์ทซิตี้ของเมือง ชั้นบนเป็นศูนย์ไอทีควบคุมการจราจร ชั้นล่างเป็นศูนย์บริการ รถทัวร์ที่วิ่งระหว่างจังหวัดก็มีต่อไป ขณะที่รถประจำทางที่วิ่งในเมืองก็มาใช้ที่นี่เป็นจุดจอดกลาง เป็นต้น

ขณะเดียวกันเราก็ไปคุยกับเซ็นทรัลว่าคุณควรต้องลงทุนทำทางเดิน (walkway) สวยๆ เดี๋ยวกฎบัตรนครสวรรค์จะช่วยออกแบบ สร้าง circulation ให้กับย่าน ไปคุยกับจังหวัดให้มีการเอาสายไฟลงดิน ลงต้นไม้ ทำทางเท้าให้เป็น universal design ให้ย่านนี้เป็นต้นแบบของย่านอัจฉริยะที่ทำให้ผู้ประกอบการดั้งเดิมไม่เพียงขายของได้แต่ยังขายดีขึ้นด้วย หรือผู้พักอาศัยก็ยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข

ทั้งนี้ย่านสถานีขนส่งผู้โดยสารเป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายๆ โครงการที่เราขับเคลื่อนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วเมือง เรายังทำเรื่องมาตรฐานอาคารใหม่ (WELL Building Standard) เอื้อต่อสุขภาวะของผู้ใช้งานและมีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำร่องในโรงแรมและโรงพยาบาลชั้นนำของเมือง

ยังมีเรื่องสมาร์ทฟาร์มและอาหารปลอดภัยแก่เครือข่ายพี่น้องเกษตรกรของจังหวัด การชี้ชวนให้นักธุรกิจในเมืองเห็นภาพของการสร้างศูนย์ประชุมของเมือง ยกสถานะให้นครสวรรค์เป็น MICE City ของโซนภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ไปจนถึงการหา platform ใหม่ๆ เพื่อจูงใจลูกหลานชาวนครสวรรค์ให้กลับมาสานต่อกิจการหรือทำธุรกิจใหม่ๆ ให้กับบ้านเกิดของพวกเขา เป็นต้น

ทั้งหมดทั้งมวล อาจเรียกได้ว่าเป็นการจุดประกายและหาวิธีฝังกลไกการพัฒนาไปยังภาคส่วนต่างๆ ซึ่งต้องยกเครดิตให้กับเทศบาลนครนครสวรรค์ที่เปิดให้เราเข้ามาร่วมงานอย่างเต็มที่ และใช้กรอบของกฎบัตรในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเมือง

ซึ่งสิ่งนี้สำคัญ เพราะเมื่อกลไกถูกฝังลงไปแล้ว ต่อให้ผู้บริหารเมืองในอนาคตจะไม่ใช่ชุดนี้หรือไม่ได้มีศักยภาพเท่านี้ แต่ทิศทางการพัฒนาของเมืองก็จะยังคงอยู่ในรูปรอยเช่นนี้ต่อไป ผ่านนโยบายและแผน เครือข่ายความร่วมมือของภาคเอกชนและสถานศึกษา รวมถึงวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเมือง”  

ธรรมรงค์ ราชามุสิกะ
อุปนายกสมาคมผังเมืองไทยและกรรมการกฎบัตรไทย

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย