“การที่เมืองมีศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กๆ เป็นเรื่องดีมากๆ แต่พออยู่ในรูปแบบที่เป็นทางการ เด็กบางคนก็อาจไม่อยากไป เราจึงคิดวิธีการที่จะทำให้พื้นที่เรียนรู้กลมกลืนไปกับการพักผ่อน ทำให้เป็นกิจกรรมการเล่นของพวกเขา”

Start
205 views
13 mins read

“ในโครงการวิจัยเมืองแห่งการเรียนรู้กาฬสินธุ์ เรารับผิดชอบในการออกแบบกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่การเรียนรู้ของโครงการ โดยพื้นที่เรียนรู้ที่ว่า คือ ‘ตลาดสร้างสุข’ ซึ่งจัดขึ้นทุกวันอังคารบนถนนรอบอาคารศาลากลางหลังเก่า หรือหอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์

ตลาดนี้ (ตลาดสร้างสุข) เป็นโครงการที่ทีมวิจัยของเราต่อยอดมาจาก ‘ตลาดนัดเด็กดี’ ซึ่งเป็นพื้นที่การเรียนรู้ภายในตลาดเมืองเก่าย้อนเวลา ณ ชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ ในปี 2564 เพราะตลาดหรือถนนคนเดินคือพื้นที่จับจ่ายใช้สอยและผ่อนคลายสำหรับทุกคนในครอบครัว เราจึงเห็นว่าควรหนุนเสริมพื้นที่กิจกรรมให้เด็กๆ ที่มากับผู้ปกครอง รวมถึงวัยรุ่นได้มีสถานที่ให้พบปะและทำกิจกรรมในเชิงสร้างสรรค์

พอมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ได้งบประมาณจาก บพท. มาขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ จึงมีการจัดตั้งตลาดสร้างสุขในรูปแบบถนนคนเดินรอบหอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์ เพราะนอกจากเราจะใช้หอศิลป์ฯ แห่งนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่เรียนรู้ของโครงการ กิจกรรมที่เกิดขึ้นในตลาดรอบหอศิลป์ก็ควรเป็นกิจกรรมที่เชื่อมร้อยเรื่องการเรียนรู้เกี่ยวกับเมืองของเราด้วย

เราจึงออกแบบกิจกรรมให้ครอบคลุมกับแทบทุกความสนใจเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมโคเวอร์แดนซ์ การระบายสีปูนปลาสเตอร์ บอร์ดเกม ไปจนถึงสาธิตการทำธุง (ธงที่ใช้ในพิธีกรรมของอีสาน) ไปจนถึงการทำข้าวจี่ ซึ่งเราก็ได้สอดแทรกองค์ความรู้เรื่องเมืองกาฬสินธุ์ในทุกกิจกรรมที่ว่ามา อาทิ ระบายสีปูนปลาสเตอร์สัญลักษณ์ของเมือง อาทิ โปงลาง หรือไดโนเสาร์ หรือการเล่นบิงโกอาหารอีสาน เป็นต้น

ทั้งนี้ เราก็ได้ทั้งเด็กๆ ที่มาร่วมกิจกรรมกับเราเป็นขาประจำ และเด็กขาจรที่ตามผู้ปกครองมาเดินตลาด รวมถึงที่คุณครูโรงเรียนต่างๆ ชวนมาร่วมงาน ซึ่งเราก็ดีใจนะ เพราะครูจากหลายโรงเรียนก็สนใจที่จะนำกิจกรรมหนุนเสริมการเรียนรู้เหล่านี้ไปใช้กับโรงเรียนของเขาบ้าง

นอกจากนี้ ก่อนที่เราจะเริ่มโครงการตลาด ช่วงนั้นเป็นช่วงที่โควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง จึงทำกิจกรรมออนไซท์ไม่สะดวกนัก เราจึงทำเส้นทางท่องเที่ยวเรียนรู้เมืองกาฬสินธุ์ผ่านทัวร์เสมือนจริงในเว็บไซต์ kalasinlearningcity.com นำเสนอ 5 สถานที่สำคัญของเมืองผ่านภาพถ่าย 360 องศา ได้แก่ วัดกลาง (พระอารามหลวง) หอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์ อนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทร (ท้าวโสมพะมิตร) ศาลเจ้าโสมพะมิตร และตลาดเมืองเก่า พร้อมประวัติและข้อมูลของพื้นที่นั้นๆ 

แล้วก็กลายเป็นว่าจากที่ต้องแก้ปัญหาที่ไม่สามารถทำกิจกรรมออนไซท์ได้ ภาพถ่าย 360 องศาก็ได้เปิดโอกาสให้เราได้นำเสนอสถานที่ที่ถ้าเราไปจริงๆ เจ้าของสถานที่เขาอาจไม่เปิดให้เราเข้าชม โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์วัดกลาง ซึ่งเรามองว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ลับ เพราะทางวัดจะไม่ได้เปิดให้เข้าชมตลอด ในนั้นมีโบราณวัตถุหายากของเมืองหลายชิ้น

หรืออนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทร และศาลเจ้าโสมพะมิตร ที่เด็กๆ กาฬสินธุ์อาจคุ้นเคย เพราะเคยนั่งรถหรือเดินผ่าน พอเราทำภาพถ่าย 360 องศาในเว็บไซต์ ก็จะทำให้ได้เห็นรายละเอียดของสถานที่นั้นๆ พร้อมไปกับได้เรียนรู้ความสำคัญจากข้อมูลที่เราเรียบเรียงขึ้นมา ซึ่งหาอ่านไม่ได้จากสถานที่จริง เป็นต้น

ในปีต่อไป เรามีแผนจะขยายพื้นที่การเรียนรู้ไปยังริมคลองปาว บริเวณศาลเจ้าพ่อโสมพะมิตร ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้ร่วมกับเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์และ บพท. นำร่องกับโครงการตลาดริมน้ำปาวฟื้นใจเมือง ภูมิถิ่น แก่งสำโรง โค้งสงเปลือย เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา (2566) แน่นอน ในตลาดนั้นเราก็นำกิจกรรมการเรียนรู้และการแสดงของเด็กๆ และเยาวชนกาฬสินธุ์มาไว้ที่นี่ด้วยเช่นกัน

เราเชื่อว่าการที่เมืองมีศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กๆ เป็นเรื่องดีมากๆ แต่พอมันอยู่ในรูปแบบที่เป็นทางการ เด็กบางคนก็อาจไม่อยากไป เพราะรู้สึกเหมือนถูกครูบังคับให้ต้องไปใช้พื้นที่ จึงคิดว่าถ้าเรานำพื้นที่เรียนรู้ไปวางไว้ในพื้นที่ที่ไม่เป็นทางการ แต่เป็นพื้นที่ที่ทุกคนต้องใช้ร่วมกันในชีวิตประจำวัน เช่น ตลาดนัด แทนที่เด็กๆ จะรู้สึกว่าต้องไปเรียนรู้ กลายเป็นว่าพวกเขาได้มาเล่นสนุกกับเพื่อนๆ พร้อมทั้งได้ความรู้กลับไป มันจึงเป็นเหมือนเอาพื้นที่เรียนรู้ลงไปหากลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นธรรมชาติไปโดยปริยาย”  

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาริยา ป้องศิริ
อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์
นักวิจัยในโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้กาฬสินธุ์
http://www.kalasinlearningcity.com/

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย