/

“การศึกษาไม่ได้มีแค่การฟังครูสอนหรืออ่านตำราเท่านั้น แต่การทำกิจกรรมอื่นๆ หรือกระทั่งการเล่นสนุก ก็เป็นการเรียนรู้ได้”

Start
339 views
7 mins read

“คุณครูเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 4 ธนวิถี ยะลา โดยโรงเรียนของครูจัดการเรียนการสอนตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนมีทั้งคนมุสลิมและพุทธ โดยหลักๆ เราเน้นให้เด็กระดับปฐมวัยสามารถอ่านออกเขียนได้ ขณะเดียวกันเราก็พยายามปลูกฝังแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตในเด็กๆ ทุกช่วงวัย

หนึ่งในแนวทางที่ว่าคือแผนการพัฒนารายวิชาเพิ่มเติมตามความถนัดของเด็กๆ ซึ่งนี่เป็นนโยบายที่ครูพยายามผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมตั้งแต่ระดับประถมศึกษาขึ้นมา โดยนักเรียนห้องหนึ่งจะมีราว 30 คน สายชั้นหนึ่งจะมี 5 ห้องเรียน ทางเราก็จะจัดกลุ่มความสนใจและความถนัดของเด็กแต่ละคน และออกแบบหลักสูตรพิเศษเพื่อพัฒนาทักษะเฉพาะของพวกเขา

ทั้งนี้ข้อได้เปรียบของโรงเรียนเทศบาลเราคือที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของ Mini TK Park หรือศูนย์การเรียนรู้ย่อส่วนจาก TK Park Yala ของเทศบาล ที่นี่มีทั้งห้องสมุด สื่อการเรียนการสอน และพื้นที่จัดกิจกรรมนอกห้องเรียน โดยทางโรงเรียนยังจัดสรรคาบวิชาพิเศษให้เด็กๆ ทุกชั้นเรียนได้เข้ามาทำกิจกรรมในศูนย์แห่งนี้ เพื่อปลูกฝังให้พวกเขาเห็นว่าการศึกษา ไม่ได้มีแค่การฟังครูสอนหรืออ่านตำราเท่านั้น แต่การทำกิจกรรมอื่นๆ หรือกระทั่งการเล่นสนุก ก็เป็นการเรียนรู้ได้

ที่สำคัญ โรงเรียนก็พยายามพัฒนาศักยภาพผู้สอนหรือคุณครูด้วย เพราะอย่างที่ทราบกันเทคโนโลยีเดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และองค์ความรู้เดิมก็อาจใช้ไม่ได้กับยุคสมัยนี้เสมอไป คุณครูทุกคนจึงจำเป็นต้องเปิดโลกและอัพเดตข้อมูลใหม่ๆ ตลอดเวลา รวมถึงการพัฒนาทักษะการสอนที่ทำให้การเรียนเป็นเรื่องสนุก

ส่วนตัวของครูมีคำขวัญประจำตัวที่ใช้ในการทำงานมาตลอดสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งก็พยายามจะนำไปให้คณาจารย์ของโรงเรียนปรับใช้ ดังนี้ ‘มุ่งมั่นพัฒนา จรรยาเลิศล้ำ ค้ำจุนลูกศิษย์ พิชิตการสอน อาทรเพื่อนฝูง ใช้แรงจูงใจ และใจดีต่อเด็ก’

เพราะครูเชื่อว่าการจัดการศึกษาให้ได้ผลสัมฤทธิ์ที่ดีที่สุด เราต้องพัฒนาทั้งครูและลูกศิษย์ ขณะเดียวกันการปลูกฝังความเอื้ออาทร ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะทำให้เด็กๆ ทุกคนตระหนักถึงความเป็นส่วนรวม ซึ่งตรงนี้แหละเป็นหัวใจสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนและเมืองของเรา”

กนกภรณ์ รัตนยิ่ง

ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 4 ธนวิถี ยะลา



กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย