/

การสนับสนุนศิลปินก็จำเป็น การทำให้เมืองมีพื้นที่ศิลปะอย่างหอศิลป์ก็ใช่ แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้นครสวรรค์เป็นเมืองศิลปะ คือทำให้ผู้คนเห็นคุณค่าของศิลปะ

Start
218 views
13 mins read

“ในฐานะที่ผมเป็นคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ จึงมีโอกาสได้รับเชิญให้เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนการพัฒนาเมืองของเราในมิติต่างๆ อยู่บ่อยๆ รวมถึงล่าสุดที่เกิดกฎบัตรนครสวรรค์ขึ้น ผมก็เข้าไปร่วมขับเคลื่อนกลไกที่จะทำให้นครสวรรค์เป็นเมืองศิลปะ

จะทำยังไงให้เมืองของเราเป็นเมืองศิลปะ? แน่นอน การนำงบประมาณมาสนับสนุนกิจกรรมให้ศิลปินท้องถิ่น หรือดึงศิลปินต่างชาติมาทำโครงการในบ้านเรา ทั้งทางด้านทัศนศิลป์ ดนตรี และการแสดง เป็นสิ่งจำเป็น หรือการมีพื้นที่ทางศิลปะอย่างหอศิลป์ก็ใช่ แต่สำคัญกว่านั้นคือ การทำให้คนในเมืองรับรู้และเห็นคุณค่าของศิลปะ ทำให้ศิลปะกลมกลืนไปกับวิถีชีวิตของพวกเขา

กลไกแห่งการเรียนรู้จึงเป็นหนึ่งในคำตอบที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ การทำให้คนนครสวรรค์เข้าถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตัวเอง เข้าใจความหลากหลาย และตระหนักว่าศิลปะคือสิ่งที่โอบอุ้มวัฒนธรรม โอบอุ้มวิถีชีวิตเราได้ ซึ่งถ้าทุกคนเข้าใจ จะพบว่าศิลปะมันจะสร้างประโยชน์ให้กับเราหลายทาง ทั้งทางด้านสุนทรียะในวิถีชีวิต ไปจนถึงการเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจของเมืองในระยะยาว

ในบทบาทของนักการศึกษา ผมก็พยายามผลักดันหลักสูตร ‘นครสวรรค์ศึกษา’ ให้เข้าไปอยู่ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัย และผ่องถ่ายไปยังระดับมัธยมและประถมศึกษา ผ่านทางการสอนของครูบาอาจารย์ในแต่ละโรงเรียน ทั้งนี้ ผมก็เพิ่งได้เสนอกับผู้ว่าราชการจังหวัด (ชยันต์ ศิริมาศ) ไป และท่านก็มีความคิดอยากให้มีคลิปการเรียนประวัติศาสตร์เมืองเป็นเครื่องมือสนับสนุนด้วย

เช่นเดียวกับ นายก อบจ. นครสวรรค์ พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ ก็ตระหนักในเรื่องนี้ ท่านก็ให้ทางมหาวิทยาลัยเราทำวิจัยเรื่องต้นทุนเมือง หาสิ่งที่เป็น Ideal ของเมืองเพื่อจะได้นำมาพัฒนาเป็นสินค้า เป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงการทำให้เกิดสมาร์ทซิตี้ ซึ่งคณะมนุษย์ฯ ของผมก็ร่วมทำในมิติของการสร้างฐานการเรียนรู้ที่มั่นคง สร้าง Smart People ควบคู่ไปกับที่ทางคณะวิทยาศาสตร์ที่ทำเรื่องเทคโนโลยีทางอาหาร

ที่เล่ามา จะเห็นได้ว่าในภาคผู้บริหารเมือง รวมถึงเทศบาลนครนครสวรรค์ที่เป็นตัวตั้งตัวตีเรื่องกฎบัตร ต่างมองเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาตัวตนและความหลากหลายทางวัฒนธรรมของคนนครสวรรค์ เพื่อสกัดองค์ความรู้มาเป็นต้นทุนในการพัฒนา นี่จึงเป็นแนวโน้มที่ดี

กลับมาที่เรื่องของการทำให้เมืองของเราเป็นเมืองศิลปะ อีกมิติที่ไม่พูดไม่ได้คือมิติของศิลปิน  ต้องยอมรับว่าศิลปินร่วมสมัยในบ้านเราหลายท่านมีผลงานที่ได้ยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติ แต่พอเราพูดถึงการขับเคลื่อนเมือง ศิลปินก็จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้เรื่องเมืองของเรา และทำงานที่มีส่วนสะท้อนบริบทของเมือง เพื่อสื่อสารกับผู้คนในเมืองไปพร้อมกันด้วย

ที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่หมายความว่าศิลปินต้องเปลี่ยนแนวทางมาวาดรูปทิวทัศน์ของเมืองหรือปากแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างนั้นหรอกนะครับ เพียงแต่ถ้าศิลปินสร้างผลงานที่สามารถสื่อสารประเด็นทางสังคมเมือง ประวัติศาสตร์ หรือวิถีชีวิตของคนนครสวรรค์ เชื่อมโยงกับผู้ชม ก็จะช่วยสร้างไดนามิกของการขับเคลื่อนเมืองไปถึงเป้าหมายได้มากทีเดียว

และสำคัญที่สุดคือการสื่อสารถึงความสำคัญ เพราะเอาเข้าจริงส่วนราชการบางส่วนก็ยังไม่เข้าใจว่าเราจะเป็นเมืองศิลปะไปทำไม เพราะลำพังปากท้องของประชาชนยังไม่อิ่ม ชาวไร่ชาวนาบางส่วนก็ยังลำบากเลย

ซึ่งไม่ผิดที่เขาจะคิดแบบนั้น แต่มันไม่ใช่การเลือกจะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาคน พัฒนาเศรษฐกิจเราก็ทำกันต่อไป ขณะเดียวกัน เราก็ขับเคลื่อนเรื่องศิลปะต่อไปได้

เพราะอันที่จริง ศิลปะก็ส่งเสริมเศรษฐกิจเมืองเราได้ อย่างเป้าหมายเบื้องต้นคือการดึงไทยแลนด์เบียนนาเล่ หรือเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติมาจัดในเมืองของเรา นั่นก็หมายถึงงบประมาณสนับสนุนจากส่วนกลาง และเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในจังหวัด หรือการลงทุนทางพื้นที่ศิลปะอย่างหอศิลป์ มันก็ก่อให้เกิดระบบนิเวศให้กับผู้คนในเมือง ทั้งศิลปิน นักดนตรี นักแสดง ไปจนถึงนักการศึกษา สิ่งนี้จะเป็นมูลค่าเพิ่มของเมืองในอนาคต เช่นที่หลายๆ เมืองเล็กๆ ในญี่ปุ่นทำสำเร็จมาแล้ว”   

รศ.ดร.สุชาติ แสงทอง
คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย