/

ขลุง พหุวัฒนธรรมและเกษตรนำวิถี

Start
336 views
30 mins read

ในการดำเนินโครงการวิจัย “การสร้างกลไกและเครือข่ายการยกระดับระบบนิเวศเมืองแห่งการเรียนรู้  (Learning City) เพื่อพัฒนาเมืองต้นแบบแห่งการเรียนรู้ด้วยนวัตกรรมดิจิทัล อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี” อาศัยการสร้างกระบวนการศึกษาและสังเคราะห์เนื้อหาที่ทีมวิจัยได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเชิงลึกด้านวัฒนธรรมและเกษตร อำเภอขลุง นำมาสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อสร้างและจัดทำพื้นที่การเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมและเกษตรอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี รวมถึงการรวบรวมชุดข้อมูลพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว อาหารพื้นถิ่น วัฒนธรรมท้องถิ่น ปราชญ์ท้องถิ่น การเกษตร และวิสาหกิจชุมชนของอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี นำมาวิเคราะห์ และสร้างเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลการเรียนรู้รูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม

ชุดข้อมูลสำคัญเหล่านี้เอง มาจากโครงการย่อยที่ 1 การพัฒนาศูนย์เรียนรู้เชิงวัฒนธรรมและเกษตรอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งหัวหน้าโครงการย่อยที่ 1 ดร.ลัญจกร สัตย์สงวน ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี บอกเล่าให้ WeCitizens ฟังถึงขั้นตอน กระบวนการศึกษาท้องถิ่น ปัจจัย และโอกาสของการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี

กลไกการทำงานของโครงการย่อยที่ 1 เป็นอย่างไร?

การพัฒนาศูนย์เรียนรู้เชิงวัฒนธรรมและเกษตรอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี แบ่งเป็นสองด้านคือวัฒนธรรมและเกษตร ผมรับผิดชอบด้านวัฒนธรรม ผศ.ดร.ปัทมา ศรีน้ำเงิน รับผิดชอบด้านเกษตร เราลงสำรวจข้อมูลแต่ละด้านในพื้นที่เพื่อได้ข้อมูลพื้นฐานมาก่อน เสร็จแล้วไปสำรวจต่อ เพื่อทำข้อเสนอแนะเรื่องกลไกความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่จะทำให้เกิดพื้นที่เรียนรู้ด้านวัฒนธรรมและเกษตรอำเภอขลุง โดยกิจกรรมด้านวัฒนธรรมแบ่งเป็น 2 กิจกรรมหลักๆ คือการสัมภาษณ์เชิงลึก และการสนทนากลุ่ม โดยกลุ่มเป้าหมายประมาณ 30 ท่าน เป็นคนที่เกี่ยวข้องด้านวัฒนธรรม มีทั้งหน่วยงานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาชุมชน เทศบาลเมืองขลุง ที่ว่าการอำเภอขลุง พัฒนาอำเภอขลุง บุคคลที่เกี่ยวข้องด้านวัฒนธรรม ก็จะเป็นคนในพื้นที่ที่เป็นปราชญ์ เช่น ลุงกาญจน์ (กาญจน์ กรณีย์ ประธานสภาวัฒนธรรม อำเภอขลุง) โรงเรียน พระของวัดเก่าแก่ต่างๆ

จากการสัมภาษณ์ เราพบความเข้มข้นทางด้านวัฒนธรรมใน 3 พื้นที่ คือ 3 ตำบลของอำเภอขลุง คือตำบลตะปอน ตำบลเกวียนหัก และตำบลขลุงคือเทศบาลเมืองขลุง ผมพยายามกระจายไปตำบลอื่นด้วย แต่สุดท้าย เวลาจัดกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม เขาก็วิ่งมาที่นี่ เห็นได้ชัดเลยว่าความเข้มข้นอยู่ตรงนี้จริงๆ

ความโดดเด่นเชิงวัฒนธรรมของ 3 พื้นที่นี้คืออะไร?

เราแบ่งออกเป็น 2 พื้นที่หลักๆ คือ ตำบลตะปอนกับตำบลเกวียนหัก คือเขาทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมร่วมกัน ยกตัวอย่าง ชักเย่อเกวียนพระบาท แห่ผ้าพระบาท เป็นกิจกรรมที่ทำพร้อมๆ กัน เชื่อมโยงกัน 2 ตำบลนี้ และเป็นไฮไลต์ที่จัดขึ้นช่วงสงกรานต์ในทุกๆ ปี ในส่วนของตะปอน เนื่องจากคนในพื้นที่ทำเกษตร เขาก็มีพืชท้องถิ่นประจำของเขา เช่น ใบสันดาน ใบเต่าเกียด แล้วก็มีอาหารพื้นบ้านหลายอย่าง เช่น แกงส้มใบสันดาน เขาก็ริเริ่มกันทำตลาดโบราณขึ้นมา ซึ่งก็อยู่ตรงโซนที่เขาจัดกิจกรรมชักเย่อเกวียนพระบาทกับแห่ผ้าพระบาท แล้วตำบลอื่นๆ ก็จะเข้ามาร่วมกิจกรรมตรงนี้ด้วย ในส่วนของตะปอน มีวัดโบราณอยู่ 2 แห่งคือวัดตะปอนน้อยกับวัดตะปอนใหญ่ ในส่วนของเกวียนหัก มีวัดโบราณ 1 แห่งคือวัดเกวียนหัก เกวียนหักนี่เนื่องจากไม่มีไฮไลต์วัฒนธรรมอื่นที่ชัดเจน เขาก็พยายามสร้างขึ้นมา มีโบสถ์เก่าแก่อยู่ ก็มาจัดกิจกรรมลอยกระทง กิจกรรมเพิ่งเกิดซัก 10-20 ปีมานี้นะครับ ลักษณะคือเขากั้นคอกรอบโบสถ์เก่า แล้วใส่น้ำเข้าไป มีลอยกระทง ตกแต่งสถานที่ เพราะวัดเขาไม่ได้ใกล้น้ำ ก็เป็นไฮไลต์ขึ้นมา งานอื่นก็มีเทศกาลปูแป้น ที่เกวียนหัก ในช่วงปลายปี เป็นช่วงที่ปูแป้นออกมาเยอะ แล้วก็ช่วงตักบาตรเทโว ซึ่งจะมีการสวดเวียนไปแต่ละวัดในโซนตะปอนและเกวียนหัก

อีก 1 พื้นที่คือเทศบาลเมืองขลุง สะท้อนชัดในเรื่องสามวัฒนธรรม สองศาสนา ที่นี่มีวัดวันยาวบน ศาสนาพุทธ มี 3 ศาลเจ้า ซึ่งเปรียบเหมือนหัว ท้อง หางมังกร หัวคือศาลหลักเมือง ท้องคือขลุงมูลนิธิ โรงเจคือหาง คนจีนโบราณหมายถึงว่าพื้นที่นี้มีความอุดมสมบูรณ์ ใครมาอยู่ก็จะมีความสุข ทำมาหากินร่ำรวย แล้วก็ศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นคนเวียดนามที่อพยพมาอยู่ตรงนี้ ไฮไลต์ก็ช่วงเทศกาลสงกรานต์เหมือนกัน คือวัดพุทธ ศาลเจ้าจีน โบสถ์คริสต์ นำรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาแห่ให้คนสรงน้ำร่วมกัน ซึ่งผมว่าไม่ค่อยมีพื้นที่ไหนที่มีลักษณะแบบนี้ แล้วคือไม่ใช่เฉพาะกิจกรรมสงกรานต์ เท่าที่ผมสัมภาษณ์มา ทางท่านพ่อ บาทหลวงโบสถ์คริสต์ ถ้ามีงานอะไรก็นิมนต์พระไทยไป ทางศาลเจ้าจีนก็ไปร่วมงาน ทางพุทธเองมีงาน ก็เชิญไปร่วม เป็นสิ่งที่ตอกย้ำเรื่องสามวัฒนธรรมสองศาสนาจริงๆ

มีการจัดเวทีแสดงความคิดเห็นเรื่องพื้นที่การเรียนรู้

ผมจัดเวทีแสดงความคิดเห็น ว่าคนในพื้นที่อยากให้พื้นที่เรียนรู้เป็นยังไง สรุปได้ว่าพื้นที่ที่จะมีการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมน่าจะแบ่งได้ตามพื้นที่ทางวัฒนธรรม 3 พื้นที่ได้ 2 พื้นที่ใหญ่ คือในเทศบาลเมืองขลุง และตะปอนกับเกวียนหัก ที่ผมแบ่งอย่างนี้เพราะพอลงสัมภาษณ์แล้ว ก็มีประเด็นนึง อย่างคนที่อยู่ในเทศบาลเมือง เขาจะบอกว่าเขาเป็นคนขลุง เวลาพูดถึงคนขลุงคือคนเทศบาลเมือง ไม่ใช่อำเภอขลุง ซึ่งนี่คือส่วนที่สามารถตีกรอบได้ชัดเจนว่าวัฒนธรรมเทศบาลเมืองขลุงคือพื้นที่หนึ่ง อีกพื้นที่หนึ่งคือตะปอนกับเกวียนหัก เป็นตำบลคู่แฝด

ในส่วนของ 3 พื้นที่เอง ตั้งแต่ตะปอน เกวียนหัก เทศบาลเมืองขลุง เรียกว่า “เส้นทางสายวัฒนธรรม” อยู่แล้ว ตามประวัติศาสตร์คือเป็นเส้นทางเดินทัพของพระเจ้าตากด้วย มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน อย่างทำไมต้องเป็นตะปอนน้อย ตะปอนใหญ่ คานรูด เกวียนหัก ก็มีที่มานะครับ ตะปอนก็คือ ใช้เกวียนลุ่มๆ ดอนๆ มา คานก็เลยรูด แล้วเกวียนก็หัก เราไปจัดเวทีแสดงความคิดเห็นของตะปอนกับเกวียนหักก็ใช้พื้นที่ที่วัดตะปอนใหญ่ ซึ่งถือเป็นจุดศูนย์รวมของคนในพื้นที่ สิ่งที่เห็นตรงกันคือ ต้องให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต.ตะปอน เทศบาลตำบลเกวียนหัก เป็นตัวตั้งตัวตีในการผลักดันให้เกิดการมีพื้นที่เรียนรู้ทางวัฒนธรรม อีกพื้นที่ก็คือเทศบาลเมืองขลุงนี่แหละ ทีนี้เราคงไม่ต้องไปสร้างพื้นที่การเรียนรู้ทางกายภาพ เพราะมีโบสถ์คริสต์ วัดพุทธ ศาลเจ้า เก่าแก่ เป็นโครงสร้างทางกายภาพที่สะท้อนวัฒนธรรมอยู่แล้ว แต่ให้ใช้ตัวกิจกรรมต่างๆ ที่เขามีอยู่แล้วเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้ คือกิจกรรมเกิดขึ้นตรงไหน พื้นที่เรียนรู้ก็อยู่ตรงนั้น แต่ในข้อสรุปของเวทีแสดงความคิดเห็นก็คือ อยากให้มีกิจกรรมมากขึ้น และระบุลงไปในปฏิทินทั้งปีเลย

ปัญหาการขับเคลื่อนโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้อำเภอขลุงคืออะไร?

อำเภอขลุงเป็นพื้นที่เกษตร ในส่วนของกิจกรรมผลักดันให้เกิดการอนุรักษ์วัฒนธรรมจะเกิดได้ไม่สุด เพราะในช่วงที่ต้องทำการเกษตร เขาหยุดเลย เพราะกิจกรรมเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เขาเกิดรายได้หลัก รายได้หลักของเขาคือเกษตรกรรม คือเป้าหมายปลายทางของชุดโครงการนี้คือพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ในลักษณะที่เป็นตัวดิจิทัลแพลตฟอร์ม ของผมเหมือนเป็นคนคอยหาข้อมูลพื้นที่ ส่งต่อข้อมูลพื้นที่ให้กับโครงการวิจัยย่อยที่ 2 ให้เขาสร้างตัวดิจิทัลแพลตฟอร์ม เว็บไซต์ ขึ้นมาเป็นฐานข้อมูล และเป็นพื้นที่เรียนรู้ดิจิทัลของอำเภอ ตอนนี้เราก็ฝากข้อมูลไว้ที่เทศบาลฯ แต่เนื่องจากว่าเป็นเรื่องของเขตการปกครอง ถ้าฝากไว้ที่เทศบาลเมืองขลุง แต่ข้อมูลเป็นของทั้งอำเภอ มันก็ไม่สมบูรณ์ ในแง่ข้อมูลด้านวัฒนธรรมและเกษตรที่เกี่ยวข้องกับส่วนของเทศบาลฯ ถ้าจะปรับเพิ่มข้อมูล คือเทศบาลฯ ดูแลให้ แต่ในส่วนของตำบลตะปอน ตำบลเกวียนหัก เทศบาลฯ ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะไปบอก ก็ต้องไปฝากอีกส่วน ที่เว็บไซต์ของที่ว่าการอำเภอ คือที่ว่าการอำเภอที่นี่มีทั้งหมด 12 ตำบล แต่นายอำเภอดูแลแค่ 11 ตำบล ตำบลขลุงหรือเทศบาลเมืองที่นี่เขาดูแลเอง ซึ่งเราก็ต้องประสานกับอำเภออีกทีในแง่ของการนำข้อมูลลงดิจิทัลแพลตฟอร์ม

ลักษณะของการเสนอแนะพื้นที่วิจัยย่อยที่ 1 ที่เราสรุปข้อมูลมาได้แล้วว่า ทางด้านวัฒนธรรมมีความเข้มข้นอยู่ 3 ตำบลนี้นะ พอจัดเวทีแสดงความคิดเห็นเรื่องพื้นที่เรียนรู้ ก็ตกผลึกกันได้ว่า ความร่วมมือต้อง 3 ฝ่าย คือภาครัฐ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชนกับเอกชนในพื้นที่ ภาคการศึกษาคือมหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยง คือทั้ง 2 พื้นที่เสนออย่างนี้เลยนะครับว่า มหาวิทยาลัยต้องมาเป็นพี่เลี้ยง คอยเชื่อมทั้ง 3 ภาคส่วน แต่ปัญหาอย่างนึงที่เราถกกันในเวทีแสดงความคิดเห็นคือเหมือนกับว่าพยายามหลายๆ ครั้ง เทศบาลฯ เองพยายามคุยกันเรื่องของการอนุรักษ์วัฒนธรรมมันไม่ค่อยไป หรือมีหน่วยงานอื่นๆ ที่เข้ามาเก็บข้อมูล ทำงานวิจัย รายงานผลเสร็จก็ไป จบ เดี๋ยวก็มีที่ใหม่มาอีก อีกอย่างที่น่าเป็นห่วงก็คือ พื้นที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่หลายๆ วัฒนธรรม แต่คนเก่าแก่ก็รู้สึกท้อใจในการหาคนมาถ่ายทอดรับช่วงต่อ

สิ่งคาดหวังกับโครงการวิจัยนี้

ผมมองว่าวัฒนธรรมเก่าแก่ควรอนุรักษ์ไว้ อย่างในตะปอนเอง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตะปอนใหญ่ก็ส่งเสริมตรงนี้อยู่ แต่ตอนนี้เหมือนกับไม่รู้ว่าเด็กจะซื้อมากน้อยแค่ไหน โอเคล่ะ จัดกิจกรรม เป็นส่วนหนึ่งของการเรียน เขาก็ทำ แต่ในแง่ของความเข้าถึง เขาจะอินกับมันมากน้อยแค่ไหน ในส่วนของโรงเรียนวัดตะปอนใหญ่ก็มีอีกส่วนที่ทำเรื่องอนุรักษ์ดนตรีไทย มีญาติของผอ.ท่านเกษียณกลับมาอยู่บ้าน ท่านชอบดนตรีไทย ก็พยายามปั้นเด็ก งานบุญ งานศพ ก็จะมีวงของอาจารย์ สะล้อซอซึง เด็กๆ ไปเล่น ถ้าในเทศบาลเมืองขลุง ก็พยายามรื้อฟื้นภาษาญวน แต่ก็ยังหาคนสานต่อลำบาก ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนยังกังวลและก็คาดหวังให้มีคนสานต่อ

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย