ขลุง ภาพเมืองแห่งการเรียนรู้
ที่ไม่ได้อยู่แค่บนก้อนเมฆ

Start
485 views
46 mins read

ชุดโครงการวิจัย “การสร้างกลไกและเครือข่ายการยกระดับระบบนิเวศเมืองแห่งการเรียนรู้  (Learning City) เพื่อพัฒนาเมืองต้นแบบแห่งการเรียนรู้ด้วยนวัตกรรมดิจิทัล อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี” ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์ของอำเภอขลุง โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาบริหารจัดการข้อมูล ถอดอัตลักษณ์ในเชิงวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ สถาปัตยกรรม วิถีเกษตรภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน และวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างเป็นฐานข้อมูลของอำเภอขลุง ขับเคลื่อนกระบวนการบริหารเมืองบนพื้นที่เมืองแห่งการเรียนรู้อำเภอขลุง ด้วยแนวคิด เมืองขลุงพหุวัฒนธรรมและเกษตรนำวิถี มีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งเรียนรู้และสร้างรายได้” ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชินวุธ พิพัฒน์ภานุกูล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา หัวหน้าชุดโครงการวิจัยฯ มานั่งโต๊ะพูดคุยกับ WeCitizens ถึงการดำเนินการนำองค์ความรู้ มาประมวลผล จัดหมวดหมู่ รวบรวมอยู่บนแพลตฟอร์มการสื่อสารในรูปแบบแผนที่เล่าเรื่องราว (Story Map) และศูนย์รวบรวมข้อมูลการเรียนรู้ (Digital Platform) ที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต และเข้าถึงข้อมูลของผู้คนในปัจจุบัน

ทำไมจึงเลือกอำเภอขลุงพัฒนาเป็นพื้นที่เมืองแห่งการเรียนรู้?

เราทำเวิร์กช็อปกับบพท. (หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่) ที่สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการวิจัยฯ ทำให้เข้าใจประเด็นการพัฒนาเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เราจะทำให้ชุมชน คนในเมือง ได้เห็นภาพของการพัฒนาความรู้ในเมืองได้อย่างไร เรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างไร เมืองข้องเกี่ยวกับประชาชน กับผู้ประกอบการ กับการที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาความรู้ในเมืองได้อย่างไร ทีนี้ ย้อนกลับมาถามว่า ทำไมเราไม่เลือกจันทบุรี จริงๆ แล้วจันทบุรีเป็นเมืองที่เราพูดถึงเมืองผลไม้ แต่ตัวเมืองจันทบุรีไม่มีสวนผลไม้ มีประปราย แต่ไม่เป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญของสวนผลไม้ สองคือเมืองอัญมณี เหมืองพลอยก็ไม่ได้อยู่ตรงนั้นอีก ก็กระจายตัวออกมา จริงๆ แล้วในตัวเมือง จุดที่เป็นไฮไลต์จริงๆ คือริมแม่น้ำจันทบูร ที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งก็มีทำไปแล้วหลายโครงการ

แล้วจันทบุรีมีจุดเด่นอะไรอีก เลยหันมามองที่ขลุง เพราะเป็นเมืองรอยต่อระหว่างจันทบุรีและตราด คนที่ขับรถถนนสุขุมวิทไม่เลี้ยวลงมาเข้าอำเภอขลุงเลย ขับเลยไปเกาะช้าง ไปตราด ซึ่งขลุงก็ไม่ได้ไกลเลย แล้วสมัยก่อนมณฑลจันทบุรีจะมีเมืองจันทบุรี เมืองระยอง เมืองขลุง เป็นเมืองเก่าตั้งแต่โบราณที่เวียดนามอพยพมาขึ้นท่าที่นี่ ทำให้มีอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมที่หลากหลาย สองศาสนา สามวัฒนธรรม ก็มองว่า ขลุงเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่เราอยากดึงให้คนรู้จักว่าขลุงมีมนต์เสน่ห์ของความเป็นเมือง และมีแหล่งเรียนรู้อยู่เยอะมาก

ทีมวิจัยได้ข้อมูลอะไรจากการศึกษาท้องถิ่น?

ถ้ามาที่สำนักงานเทศบาลเมืองขลุง จะเห็นรางวัลเมืองแห่งวัฒนธรรมเต็มตู้เลย แต่คำถามคือ ทำไมคนไม่รู้จัก เราเลยมองว่า จะหยิบตรงไหนเป็นไฮไลต์บ้าง หยิบขึ้นมาแล้วยังไงต่อ จะทำเป็นแมกกาซีนเหรอ จริงๆ ที่คิดไว้ตอนแรกเลยคือจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์สามมิติ Virtual Reality Museum เลย ซึ่งต้องใช้ทีมเก็บข้อมูลเยอะมาก ต้องใช้กล้องสามมิติในการถ่ายทำ แต่ด้วยงบประมาณที่ได้ก็ตั้งเป้าให้โครงการได้ฐานข้อมูลขึ้นระบบดิจิทัลให้มากที่สุด

ในการทำงานเราแบ่งเป็นโครงการย่อยที่ 1 การพัฒนาศูนย์เรียนรู้เชิงวัฒนธรรมและเกษตรอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ประสานงานกับหัวหน้าโครงการย่อยที่ 1 ดร.ลัญจกร สัตย์สงวน ลงไปเก็บข้อมูลเชิงวัฒนธรรม ผศ.ดร.ปัทมา ศรีน้ำเงิน เก็บข้อมูลเชิงเกษตร แล้วส่งต่อชุดข้อมูลให้อาจารย์จาตุรันต์ แช่มสุ่น หัวหน้าโครงการย่อยที่ 2 โครงการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม พื้นที่การเรียนรู้เทศบาลเมืองขลุง จังหวัดจันทบุรี สร้างศูนย์รวบรวมข้อมูลการเรียนรู้รูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งเพิ่มข้อมูลส่วนวิสาหกิจชุมชนด้วย เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์จากบริการ วัฒนธรรม เกษตร ที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ จะได้ดึงให้เป็นเชนเดียวกันในการพัฒนา

ข้อมูลที่เราได้ ทำให้เห็นภาพว่า ขลุงมี Learning Space เยอะมากอยู่แล้ว Organic Road ที่มีอยู่แล้ว แต่กำลังจะหายไป ถ้าเราเก็บชุดความรู้นี้ยกระดับขึ้นมาอยู่บนฐานข้อมูล อย่างน้อยที่สุด รู้ล่ะว่าปราชญ์คนนี้ทำเรื่องอะไร ปราชญ์อีกท่านเชี่ยวชาญเรื่องอะไร พอเราเอาปราชญ์ที่เชี่ยวชาญบวกกับเกษตรสมัยใหม่ คือเรื่องของ Smart Farm ซึ่งก็คือเรื่องเทคโนโลยี การให้สมาร์ทฟาร์มเรียนรู้โนฮาวของเกษตรโบราณ จะผสมผสานองค์ความรู้ต่อเนื่องได้อีก ซึ่งเป็นมุมที่เรามองภาพสุดท้ายที่อยากให้เกิดขึ้น

โอกาสของการพัฒนาอำเภอขลุง คืออะไร?

ในตัวโครงการวิจัยฯ พยายามหยิบพื้นที่เรียนรู้เชิงวัฒนธรรมมีจุดไหนบ้าง เชิงเกษตรมีจุดไหนบ้าง แล้วก็ดิสเพลย์ขึ้นบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม แล้วเราก็คุยกับทีมวิจัยอีกส่วนที่เป็นผู้พัฒนา มาทำเรื่อง GIS (Geographic Information System ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์) คือการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมระบุพิกัดตำแหน่งว่า พื้นที่เรียนรู้จุดแลนด์มาร์กของโครงการย่อยที่ 1 และ 2 อยู่ตรงไหนบ้าง ทำให้เราได้ตัวดิสเพลย์แล้วก็ทำแผนที่กับ GIS หลังบ้านว่า พื้นที่เกษตรในขลุงมีอะไรบ้าง พื้นที่ไหนเหมาะทำเกษตร พื้นที่ไหนไม่เหมาะทำเกษตร ชลประทานวิ่งเส้นไหนบ้าง แล้วใส่พิกัดข้อมูลลงไปในแผนที่ก็เห็นเลยว่า เส้นที่เด่นขึ้นมาคือเส้น 9.8 กิโลเมตรตั้งแต่ตัวเมืองขลุง ไปจนถึงตำบลเกวียนหัก และตำบลตะปอน เป็นเส้นทางวัฒนธรรมที่เชื่อมต่อกันตลอดเวลาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีไฮไลต์ของวัฒนธรรมอยู่มาก และมี Learning Space เกิดขึ้นตรงนั้นที่เป็น Organic Road ของเขา

ทีนี้ในส่วนของเกษตรผกผันนิดนึง อย่างที่ประชุมกับท่านรองวันชัย (วันชัย ทรงพลอย รองนายกเทศมนตรีเมืองขลุง) ว่า ตัวเทศบาลเมืองขลุงตรงนี้ไม่มีเกษตรหรอก คืออำเภอขลุงมีลักษณะมองเป็นเม็ดถั่ว สวนต่างๆ อยู่ตอนบนของอำเภอ เป็นเส้นชลประทานด้วย เราก็เลยชี้ให้เห็นว่า นี่เส้นวัฒนธรรม นี่เส้นเกษตร ในอนาคตท่านสามารถวางแผนว่าเมืองจะพัฒนาไปทางไหน ต่อยอดให้เป็น Smart City มั้ย เราเลยฝากตัว Story Map ไว้ เราเรียกว่า Story Map เพราะมันคือการเล่าเรื่องราวลงบนแผนที่ เราก็นำเสนอหลายภาคส่วน ท่านรองวันชัยก็บอกว่าตัวนี้มีประโยชน์มากในการนำไปใช้วางแผนทิศทางพัฒนาเมือง ฝั่งสำนักงานเกษตรเขายิ่งสนใจมาก เพราะข้อมูลนี้จะเอาไปใช้ประโยชน์ในการวางทิศทางของเกษตรด้วย

ผมเสนอต่อว่า ถ้าเอาชุดข้อมูลมาเติม ต่อไปจะขยาย บอกได้เลยว่ามังคุดมีกี่แปลง ทุเรียนในขลุงมีกี่แปลง ขยายผลกำลังการผลิตต่อปี ถ้าเรา mapping กับปริมาณน้ำฝน กับข้อมูลอื่นๆ เราบอกได้เลยว่าปีนี้มังคุดจะออกกี่เปอร์เซ็นต์ ทุเรียนออกกี่เปอร์เซ็นต์ ก็จะขยายผลต่อได้ แต่เนื่องจากอันนี้เป็นโครงการเริ่มต้น เราทำเป็น Prototype ให้เอาชุดตรงนี้ไปต่อยอดได้ ถามว่าแล้วตัวแพลตฟอร์มนี้ใครเป็นคนดูแล เรากำลังหาเจ้าภาพ ท่านรองวันชัยแนะนำให้เรียนกับท่านนายอำเภอ เราก็จะประสานต่อ เพื่อให้นายอำเภอสั่งการว่าหน่วยงานไหนจะมารับผิดชอบต่อ เรามีทีมที่พร้อมจะสอนวิธีการบริหารจัดการแพลตฟอร์มนี้

กลไกใดจะทำให้เกิดความยั่งยืน?

ตอนแรกเรามองว่า ฐานข้อมูลโครงการย่อยที่ 2 จะทำดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีการซื้อขายได้ด้วย แต่เราก็ห่วงเรื่อง Digital Security เดี๋ยวโดนแฮ็กหรืออะไร เลยเปลี่ยนไปเป็นการดิสเพลย์แล้วกัน มีการใส่ข้อมูลของผลิตภัณฑ์ ราคา วิสาหกิจชุมชนอะไร ติดต่อใคร เบอร์โทรศัพท์ ให้กับลูกค้าที่สนใจ บวกกับข้อมูล GIS ที่เราพัฒนาขึ้น ทีนี้กลไกที่จะใช้ให้เกิดความยั่งยืน ต้องทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เห็นภาพ ข้อดี แน่นอน เกษตรตอนนี้เห็นภาพแล้วว่ามีประโยชน์มากๆ เดี๋ยวเขาก็อาจจะให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ ของผู้ประกอบการ ของสวนต่างๆ กลับมาที่เรา เดี๋ยวก็ดูว่าเราจะบริหารจัดการได้ยังไงให้ยั่งยืน คือเราให้น้องสตาร์ตอัปของมหาวิทยาลัยบูรพาเป็นคนพัฒนาแพลตฟอร์มตัวนี้ ถามว่าถ้ามันจะยั่งยืนต่อไป สามารถทำเป็นการค้าได้ น้องสตาร์ตอัปสามารถจะดูแลต่อไปได้ ถ้าทางจังหวัดหรืออำเภอเห็นภาพ ก็อาจจะขยายผลต่อไปเป็น Market Place ของวิสาหกิจชุมชนได้ ตอนนี้ยังเป็นแค่จุดที่เรามาลงพื้นที่ เราเห็นว่ามีการเติบโตแหละ แต่เป็นจุดๆ ไม่เชื่อมกัน เราพยายามลิงก์จุดพวกนี้เข้าหากันให้ได้ แล้วพอผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเห็นภาพว่าแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นมีประโยชน์ยังไง ทีนี้ คนสั่งการที่ดีที่สุดคือท็อปสุดในหน่วยบริหารสั่งการลงมา ด้วยความที่ทำตั้งแต่ top down bottom up นายอำเภอด้วย นายกเทศมนตรีด้วย ปราชญ์ชุมชนด้วย แล้วเอาสองข้างนี้มาเจอกัน

ปัญหาที่พบคืออะไร?

เป็นปัญหาเชิงรัฐศาสตร์ เขตพื้นที่การปกครอง การบริการ ซึ่งเขาจะไม่ก้าวข้ามกัน บางที่มีแพลตฟอร์มเรียบร้อยแล้ว แต่ก็โฆษณาในวงของเขา ไม่ได้เอามาอยู่บนฐานข้อมูลเดียวกัน ผมมองในมุมว่า ตัว Learning City ไม่ใช่แค่การเอาขึ้นดิจิทัลแพลตฟอร์ม แต่เป็นการสื่อสารว่า ถ้าเราอยากปลูกมังคุดผิวเรียบสวย ราคาดี ทำอย่างไร อยากปลูกทุเรียนพันธุ์นี้ ทำอย่างไร ที่ไหน มันคือ Learning Space ที่มีชีวิต และจะเป็นหมุดหมายที่สามารถขยายวง อย่างวงของสำนักงานเกษตรเขามีเครือข่ายของเขา แล้วเราสามารถเชื่อมโยงได้ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย มีองค์ความรู้ มีนักวิชาการอยู่มาก ฉะนั้น ถ้าเชื่อมมหาวิทยาลัย องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน และที่สำคัญคือตลาด กลุ่มหอการค้า กลุ่มมาร์เก็ตเพลซทั้งหลาย ก็สามารถสร้างเครือข่ายการทำงานได้ เพราะพึ่งเมืองอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพึ่งความร่วมมือของหลายๆ ภาคส่วน ซึ่งปัจจุบัน ตั้งแต่มหาวิทยาลัยบูรพามีโครงการ U2T (โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ – 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ก็ลงพื้นที่เยอะมาก พื้นที่ก็เห็นประโยชน์จากการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยมากขึ้น

ภาพที่ตั้งเป้าหมายของโครงการ

เราต้องการถึงขั้นให้เห็นภาพเลย มองเห็นสวนทุเรียนเลยว่าปลูกยังไง ต้นโตแบบไหน แต่เราก็ไปไม่ถึงจุดนั้น คือตอนแรกที่อยากทำให้เห็นภาพเสมือนจริงเพราะเป็นโจทย์เริ่มต้นเลยว่าเราไม่อยากให้มีแค่รายงานวิจัยเล่มเดียว ต้องมีอะไรให้มันอยู่ในระบบ อะไรที่ประชาชนใช้ได้ เมืองใช้ได้ ตอนนี้เรารู้จักอีกทีมที่ทำเรื่องดิจิทัล กำลังคุยกันเรื่องทำ Digital Twin เอาสวนทุเรียนที่ปลูกอยู่ในสวนมาทำอยู่ในโลกเสมือนด้วย ดาตาทั้งหมดในโลกจริงใส่เข้าไปในโลกเสมือน แล้วเราจะสามารถสร้างให้มันก้าวไปข้างหน้าก็ได้ ลดลงก็ได้ คือเรากำลังพูดถึง Digital Twin ของเมือง แต่ตอนนี้ Digital Twin เอาไปใช้ในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบอาคาร เรื่องภูมิสถาปัตย์ อย่างการบริโภคพลังงานของอาคารเป็นยังไง เก็บข้อมูลไว้ไปใส่ในโลกเสมือน สมมติเราต้องการเปลี่ยนเป็นหลังคาโซลาร์เซลล์จะลดพลังงานได้เท่าไหร่ อะไรอย่างนี้ คืออันนี้เป็นพื้นที่วิจัยที่เราชูขึ้นมาโดยใช้ข้อมูลจริง เช่นฟาร์มของคุณลุงเอ เราติดเซนเซอร์ทุกอย่างเลย เซนเซอร์พวกนี้เก็บข้อมูลทุกอย่างมาใส่ในโลกเสมือน ถ้าเรามีข้อมูลนี้ซักหนึ่งปี เราพยากรณ์ได้ละ ถ้าภูมิอากาศอย่างนี้อย่างนั้นจะเกิดอะไรขึ้น และกรรมวิธีการปลูกต่างๆ ถูกจำลองขึ้นมาเป็นดาตาอยู่บนโลกเสมือน ทำนองนี้ แต่ตอนนี้เรามีข้อมูลแค่ปราชญ์ว่าอยู่ที่ส่วนไหนบ้าง ยังไม่ได้มีข้อมูลถึงพื้นที่การปลูก ปริมาณผลผลิต แต่มันใส่ได้หมดล่ะครับ มันคือดาตา ถ้าเรามีดาตามาก็ใส่บนแพลตฟอร์มซึ่งก็ดิสเพลย์เหมือน dashboard เลยว่าในพื้นที่ขลุงมีพื้นที่ปลูกทุเรียนเท่าไหร่ ปลูกมังคุดเท่าไหร่ จริงๆ ที่ผมเข้าใจคือ หน่วยงานที่ดูแลดาตาทั้งหมดของจังหวัดคือสำนักงานสถิติจังหวัด เก็บข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่พลังงาน ไฟฟ้า ป่าไม้ ทุกหน่วยงานจะฟีดข้อมูลเข้าไป เวลาใช้ก็ดึงดาตาจากสำนักงานสถิติจังหวัด แต่สำนักงานสถิติจังหวัดเก็บดาตาบางส่วนบนกระดาษ บางส่วนพอเริ่มจะเข้าแพลตฟอร์มบ้างแต่เป็นโปรแกรม Excel กระจัดกระจายกัน ไม่สามารถดิสเพลย์ได้ ซึ่งจริงๆ ไอเดียตรงนี้สามารถต่อยอดไปเรื่องของการทำ BCG (Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) ได้ หมายความว่าถ้าเราได้ดาตาเบสเรื่องป่าไม้ ว่ามีเท่าไหร่ โรงงานปล่อยมลพิษเท่าไหร่ เรื่องของไฟฟ้า เราใช้ถ่านหินมั้ย ใช้ไฟฟ้าเท่าไหร่ จังหวัดจะบริหารพลังงานได้ เมืองจะบริหารจัดการพลังงานได้อย่างเต็มรูปแบบ คือตอนนี้เอกชนไวกว่าเราเยอะ แล้วน้องๆ สตาร์ตอัปที่เกิดใหม่ที่ทำเรื่องดิจิทัลก็เริ่มเข้ามาในลักษณะนี้เยอะ ขอให้มีข้อมูลฟีดเข้ามาตลอดเวลา ดิสเพลย์ได้หมด จังหวัดอยากแท็กเรื่องอะไร เรื่องไฟฟ้า กลางวัน กลางคืน ใช้งานเท่าไหร่ ขอให้มีดาตาจากการไฟฟ้าเข้ามา ซึ่งผู้ว่าฯ สามารถเรียกข้อมูลมาได้ทั้งหมดเลย การที่โครงการเราเอามาทำบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม นำขึ้นระบบคลาวด์ มันได้ประโยชน์ระยะยาว เอาไปใช้ต่อได้

วิสัยทัศน์การพัฒนาต่อยอดการทำงานโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้อำเภอขลุง

Learning City ตอบโจทย์ความยั่งยืนของยูเอ็นอยู่แล้ว เกือบทุกหมวดเลย เพราะว่าการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด มันนำไปสู่การลดเรื่องของปากท้อง การใช้ความรู้จากสมาร์ทฟาร์ม ไปลดเรื่องการใช้น้ำอย่างมีคุณค่า ฉะนั้น Learning City ยังไงก็เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเมือง แล้วถ้าเราสร้างให้ Learning City ให้ถูกเห็นภาพขึ้นมา คนในเมืองสามารถมาเรียนรู้ได้ ลูกหลานวันนี้ถ้าไม่อยากทำงานอุตสาหกรรมหรือบริษัทแล้ว อยากกลับบ้านมาปลูกทุเรียน มังคุดที่เขามีแต่ทำไม่เป็น Learning City จะเป็นตัวตอบ ไปเรียนกับปราชญ์ท่านนี้สิ ไปเรียนกับคุณลุงท่านนี้สิ ท่านพร้อมถ่ายทอดอยู่แล้ว หรือแม้กระทั่งเรื่องวัฒนธรรมที่หลากหลาย เราเอามาสร้างสตอรี่ในธุรกิจเรามั้ย ร้านเบเกอรี่ที่ขลุงเราเป็นร้านสไตล์ญวนมั้ย สไตล์จีนมั้ย สามารถเอาเรื่องราวหรือองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมืองแห่งการเรียนรู้มาผสมผสานต่อยอดเกิดเป็นธุรกิจ เกิดการสร้างรายได้ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวด้วย ทำให้คนจากนอกพื้นที่เข้ามาเรียนรู้ใน Learning Space ที่พัฒนาขึ้น ซึ่งก็จะขยายไปเรื่องอื่นด้วย เช่น การทำ Smart City การทำ Smart Education จะเสริมเติมเต็มเข้ามา ฉะนั้น ภาพสุดท้ายของโครงการที่เรามองก็คือ ถึงวันนี้อาจจะยังไม่ถึงจุดนั้นนะครับ แต่เรามองว่าเราอยากให้ชุดข้อมูลที่เราเก็บทั้งหมด ถูกเอาไปใช้ประโยชน์ และผู้คนสามารถเข้าถึงได้

ที่สำคัญคือ คนที่เป็นเจเนอเรชันที่เขามีความรู้กำลังจะหมดไป วิธีการของเราคือทำยังไงเราถึงจะดึงข้อมูลเหล่านี้มาได้ ก็คือบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม หนีไม่พ้นครับ มันเป็นการฝึกส่วนนึงด้วย ไม่ใช่ว่าเราอ่าน เราเรียน แล้วเราจะทำเป็น เหมือนปราชญ์ที่เขาทำได้ ต้องผ่านประสบการณ์ แค่ฟังว่าเขาปลูกยังไง ยังไม่ได้เตรียมดินเลย มันต้องมีการเตรียมดิน เตรียมวัสดุปลูก มีการดูแลต้น ต้นทุเรียนกว่าจะเก็บผลผลิตได้ใช้เวลา 5-6 ปี ตัดแต่งกิ่งยังไง ทำยังไงต้นไม่สูงให้มันสามารถปีนได้ หรืออนาคตสตาร์ตอัปอาจจะเอาเรื่องของ Robotic มาช่วยในเรื่องของหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้ Learning City จึงเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาให้เมืองเกิดขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือผู้บริหารเมืองต้องเข้าใจว่า การที่เราเอา Learning City เข้ามาใส่ในเมือง ได้ประโยชน์ยังไง เอาไปพัฒนาเมืองยังไง เราจะหลุดกรอบเดิมๆ ที่เราจัดเทศกาลสงกรานต์ ทำยังไงให้สงกรานต์เราเกิดขึ้นได้ทุกๆ วัน เพราะองค์ความรู้และสตอรี่มันยังอยู่ในเมือง

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย