/

คนขลุงเป็นคนแบบ slow life
ไม่ได้เดือดร้อน สบายๆ อยากกินอะไรก็มีหมด ผลไม้ ปลาทะเล ชุมชนยังเหนียวแน่น วันนี้อยากกินปู ก็แบ่งเอาไป ที่อื่นเขาอาจขาย ได้กุ้งมา ก็เอามาให้ ความเอื้ออาทรยังมี ความมีน้ำใจคือข้อดีของเรา

Start
251 views
16 mins read

“ตามความเข้าใจของคน ขลุงคืออำเภอขลุงทั้งหมด แต่จริงๆ คำว่า ขลุง คือส่วนเทศบาลเมืองขลุง อย่างที่เขาพูด ตรงนี้คือตำบลตะปอน ตรงนี้ตำบลซึ้ง เลยไปเป็นตำบลบ่อ เขาจะเรียกตัวเองว่า คนบ่อ เราอยู่ในเมือง ก็คนขลุง ในแต่ละที่การใช้ชีวิตไม่เหมือนกัน คนในเมืองจะแบ่งออกเป็นสองฝั่ง บ้านล่างกับบ้านบนกั้นที่สามแยก ถ้าบ้านบน (อยู่ตอนบนของเขตเทศบาลเมืองขลุง ย่านตลาดขลุง) จะค้าขาย ส่วนใหญ่เป็นคนพุทธ ไทยจีน บ้านล่าง (ถนนเทศบาลสาย 2) จะประมงเป็นหลัก ส่วนใหญ่เป็นคนคริสต์ เขาเลยเรียก บ้านญวน ชุมชนญวนคือ 152 ปี หลังโรงเรียนเราเป็นคลองขลุงต่อไปแม่น้ำเวฬุ แต่ก่อนเรือสำเภาเข้ามาถึงตรงนี้ ทะลุไปตลาด เอาหลังคาจาก กระเบื้องว่าว มะพร้าว ไปขายที่กรุงเทพฯ เรือสำเภากลับลำได้หลังโรงเรียนเนี่ย ตอนนี้เรือธรรมดายังกลับลำไม่ได้เลย คลองที่แต่ก่อนใหญ่ตอนนี้โดนรุกที่ เด็กๆ ผมจำได้ บ้านเพื่อนผมฝั่งตรงข้าม ต้องถ่อเรือมา

โรงเรียนศรีหฤทัยเป็นของวัดพระหฤทัยแห่งพระเยซูเจ้า อาคารวัดหลังแรกคือ 149 ปี สามปีหลังตั้งชุมชน มีพระสงฆ์จากจันทบุรีเข้ามาดูแลเดือนละครั้ง อาคารวัดหลังปัจจุบันคือหลังที่ 4 สร้างปี 2507 แค่ 50 กว่าปีก็จริงนะ แต่ถ้าได้เรียนรู้ประวัติการสร้างวัดเรา มีวิศวกรมาจากกรุงเทพฯ แค่ 2-3 คน นอกนั้นแรงงานของพวกเราทั้งหมด คือวัดหลังเดิมเป็นไม้ ทรุดโทรมมาก หลวงพ่อชิ่น (คุณพ่อฟรังซิสเซเวียร์ ชิ่น ไชยเจริญ เจ้าอาวาสวัดขลุง พ.ศ. 2494-2509) ให้รื้อออก สร้างวัดสำรองอยู่ข้างๆ เป็นที่ประกอบศาสนกิจระหว่างสร้างหลังใหม่ สมัยก่อนทำประมง พอมิสซาตอนสายเลิก เรือออกละ ไปขนดิน ขนทรายมากองไว้ เด็กนักเรียนก็เฮกันไปช่วยขน ช่วยกันทำ เสาร์อาทิตย์ผู้คนเลิกงานจากเรือก็มาช่วยกัน ไปขนหินมาจากเกาะช้าง ปรากฏใช้ไม่ได้เพราะวิศวกรบอกไม่ทน เป็นหินดินเค็ม เสาเข็ม ผู้หลักผู้ใหญ่ก็ไปตัดป่ากันมา ปรับปรุงพื้นแล้วก็ไปเจอเรือโบราณอยู่ข้างล่าง ก็เก็บรักษาไว้อยู่อย่างนั้น วัดนี้เห็นชัดที่สุดว่าชุมชนเข้มแข็ง ร่วมแรงร่วมใจ ช่วยกันทั้งเงินทั้งแรง หลังนี้ประเมินสร้างสี่แสน ค่าแรงไม่ต้องเสีย ใครมีฝีมือตรงไหนก็ช่วยกันทำตรงนั้น ตลอดร้อยกว่าปีมานี้ เราจึงภาคภูมิใจว่าโบสถ์หลังนี้เสร็จเพราะพวกเรา ลูกคนขลุงแท้ๆ

โครงการวิจัยพื้นที่เมืองแห่งการเรียนรู้ เป็นไปได้แน่นอน ในส่วนของเราก็เน้นบริบทพื้นที่ชุมชนคาทอลิก เริ่มจากความเป็นญวน ชีวิตความเป็นอยู่ ภาษา อาหาร บรรพบุรุษถ่ายทอดกันมา ซึ่งเขาก็พยายามรื้อฟื้นวัฒนธรรมญวนเพราะตอนนี้การใช้ภาษาญวนน้อยมาก ภาษาเราเป็นภาษาที่ค่อนข้างตาย เพราะเราอพยพมาอยู่นี่ตั้งร้อยกว่าปีแล้ว ภาษาเวียดนามเขาก็เปลี่ยน ปรับเป็นเวียดนามเหนือ เวียดนามกลาง เวียดนามใต้ ผมเคยไปเวียดนามกับพี่ๆ ที่ยังพูดญวนได้ ไปเวียดนามใต้ พูดได้ ยังฟังกันรู้เรื่อง พอเข้าใจ บางคำยังใช้เหมือนเรา บางคำเขาปรับ แต่ถ้าไปเวียดนามเหนือ เวียดนามกลาง ไม่รู้เรื่องเลย คือคนในสมัยโบราณ เขามีหนังสือบทสวดแต่ละบทมีภาษาญวนของเขา ซึ่งคนรุ่นผมแค่แงะๆ ออกมาได้ แต่สวดอย่างเขาไม่ได้ เราอยากรื้อฟื้น พอเริ่มที่จะทำ แต่ไม่มีตัวเคลื่อน ทำให้ขึ้นๆ ลงๆ คือคนขลุงเป็นคนแบบ slow life ไม่ได้เดือดร้อน สบายๆ อยากกินอะไรก็มีหมด ผลไม้ ปลาทะเล ทุกวันนี้คนก็ยังอยู่ได้สบายๆ เหมือนเดิม ยังพอหากินได้ ชุมชนยังเหนียวแน่น วันนี้อยากกินปู ก็แบ่งเอาไป ที่อื่นเขาอาจขาย อย่างเขากางอวน ได้กุ้งมา ก็เอามาให้ ความเอื้ออาทรยังมี ความมีน้ำใจคือข้อดีของเรา

เมื่อก่อนบ้านบนกับบ้านล่างไม่ถูกกันนะ พุทธกับคริสต์ไง พุทธมาก็โดนต่อย คริสต์ไปก็โดนต่อย ห้ามข้ามสามแยก สมัยก่อนเป็นอย่างนั้น ทีนี้หลวงพ่อชิ่น ท่านเป็นพระสงฆ์รุ่นใหม่ ไปทำความรู้จักกับเจ้าอาวาสวัดวันยาวบน วัดวันยาวล่าง วัดเกวียนหัก เด็กก็เลยเพลาๆ ลงหน่อย โรงเรียนศรีหฤทัยเมื่อก่อนรับเฉพาะเด็กคาทอลิก ชายอย่างเดียว พอหลวงพ่อชิ่นมา ท่านเปิดเป็นโรงเรียนสหศึกษา รับหมดทั้งชายหญิง ศาสนาอะไรก็ได้ คนจากบ้านบนก็มาเรียน เพราะโรงเรียนส่งเสริมทุกเรื่อง กีฬา ดนตรี ภาษา ด้านวิชาการเก่ง พระสงฆ์สอนเด็กเองทั้งหมด ถ้าเข้ามาที่ขลุง จะได้เห็นสามวัฒนธรรมสองศาสนา ช่วงคริสต์มาสเรามีแห่พระกุมารขึ้นไปรอบเมือง สงกรานต์ก็แห่พระองค์ใหญ่ขึ้นไป ทางจีนก็แห่ท่านฮุดโจ้วเข้ามา ทางพุทธก็แห่หลวงพ่อมา

โรงเรียนก็พยายามสอนความเอื้ออาทร ศาสนายังเป็นหลักที่จะดึงคนดึงเด็กได้เกือบทุกอย่าง วันอาทิตย์ก็ต้องมาโบสถ์สามรอบ วันธรรมดามีรอบหกโมงเช้ากับหกโมงเย็น โรงเรียนเองมีส่วนร่วมในการส่งเสริมชุมชนทุกอย่าง เราถือเป็นโรงเรียนชุมชน มีอะไรก็เข้าไปช่วยเหลือ เช่น พฤศจิกายนนี้จะมีจุดเทียน เหมือนเชงเม้งของจีน คือการไประลึกถึงผู้ตาย วันพุธถึงอาทิตย์ โรงเรียนก็ทำดอกไม้ เทียน จำหน่ายให้พวกสัตบุรุษที่จะมาจุดเทียนร่วมภาวนามิสซาที่สุสาน อย่างชุมชนให้พาเด็กไปช่วยเก็บคลอง เราถามความสมัครใจ เด็กก็ไปกันเยอะ ชอบร่วมกิจกรรม เป็นจิตอาสาของเขา โรงเรียนเราปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ ถ้าเราทำเพื่อตัวเองก็ได้ตัวเราเอง ถ้าทำเพื่อคนอื่น เขาได้ เราก็จะได้กลับมาด้วย แต่เราไม่ต้องหวังเรื่องการได้หรือไม่ได้ เราหวังเรื่องการทำแล้วมีความสุข ก็ทำไป เด็กๆ ที่มาคือพักผ่อนทำไมไม่เล่นเกม แต่คือเขาอยากมา แล้วเขาก็เป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะเอาไปต่อยอด”

มาสเตอร์ปรัตถกร รติฤทยาวงศ์
รองผู้อำนวยการโรงเรียนศรีหฤทัย

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย