/

ชั้นเรียนของผมครึ่งหนึ่งเป็นคนพุทธ อีกครึ่งเป็นคนมุสลิม แต่เราเป็นเพื่อนกันหมด แต่ไหนแต่ไร คนยะลาอยู่กันแบบนี้ กระทั่งวันหนึ่งจู่ๆ ก็มีคนมาบอกว่าพวกเราไม่เหมือนกัน

Start
452 views
13 mins read

“ผมเกิดที่ยะลา เรียนโรงเรียนคณะราษฎรบำรุงจนถึง ม.6 แล้วไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่อื่น สมัยที่ผมเรียนที่นี่ ชั้นเรียนของผมครึ่งหนึ่งเป็นคนพุทธ อีกครึ่งเป็นคนมุสลิม แต่เราเป็นเพื่อนกันหมด หรือกระทั่งครอบครัวผมที่เป็นคนเชื้อสายจีน ยายและแม่ของผมก็ค้าขายกับคนมุสลิมจนสนิทสนมเป็นเพื่อนฝูงกันมาตลอด แต่ไหนแต่ไร คนยะลาอยู่มาแบบนี้ กระทั่งวันหนึ่งจู่ๆ ทั้งรัฐและสื่อต่างๆ ก็มาบอกว่าเราไม่เหมือนกัน จากนั้นเหตุการณ์ความไม่สงบช่วงปี 2547 ก็มาซ้ำสถานการณ์ ช่องว่างของความแตกต่างจึงถูกถ่างออกไปใหญ่


ในโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ยะลา ผมทำโครงการย่อยที่ชื่อว่าโครงการยะลาศึกษา: ความหลากหลายของผู้คน ชุมชน และวัฒนธรรม เพื่อรวบรวมองค์ความรู้และทักษะของการอยู่ร่วมกันของผู้คน สะท้อนออกมาเป็นฐานข้อมูลในการสร้างสรรค์กิจกรรมการเรียนรู้ของเยาวชนในยะลา ผมมองว่าการที่คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ต้นทุนของเมืองและความเป็นพหุวัฒนธรรมในเมืองนี้ เมื่อบวกรวมกับการมีทักษะทางวัฒนธรรมในการไปต่อยอดต้นทุนสู่สิ่งอื่นๆ ตรงนี้แหละคือ soft power ที่ไม่เพียงจะทำให้ช่องว่างทางเชื้อชาติหรือศาสนาจะกลับมาประสานกันได้ดีเหมือนเดิม แต่ยังจะช่วยยกระดับทางเศรษฐกิจของพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ต่อไป

ผมสโคปพื้นที่ทำวิจัยอยู่ในเขตเทศบาลเมืองยะลา ศึกษาจากเอกสาร งานวิจัย และสัมภาษณ์ผู้คนที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมรอบด้าน ทั้งด้านศาสนา อาหารการกิน เครื่องแต่งกาย ภาษา และอื่นๆ เราสกัดองค์ความรู้ สังเคราะห์ และหาเครื่องมือที่ทำให้ผู้คนในเมืองเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งแน่นอน อย่างที่บอกว่าแต่ไหนแต่ไรคนยะลาอยู่ร่วมกันมาโดยไม่ได้มีเส้นแบ่งทางศาสนา พวกเขาจึงมีทักษะในการอยู่ร่วมกันเป็นต้นทุนอยู่แล้ว แต่การสกัดข้อมูลในโครงการนี้ เราก็พบหลายสิ่งที่เป็นเครื่องมือสะท้อนความเป็นพหุวัฒนธรรมอย่างน่าสนใจ แต่หลายคนอาจไม่ทราบมาก่อน

เช่นศาลหลักเมืองที่คนยะลาขับรถผ่านทุกวัน เมื่อพิจารณาทั้งสถาปัตยกรรมและองค์ประกอบต่างๆ เราจะเห็นถึงการผสมผสานของความเป็นพุทธ พราหมณ์ และความเชื่ออื่นๆ ซึ่งหลายสิ่งก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับวิถีของคนที่นี่แม้แต่น้อย ทั้งยังสะท้อนถึงอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากส่วนกลางอีกด้วย หรือวัดถ้ำ (วัดคูหาภิมุข) ที่เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวของเมือง มีรูปปั้นยักษ์เก่าแก่ที่มีผมหยิกแบบชาวโอรังอัสลี หากเครื่องประดับของยักษ์ก็เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ของชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน สิ่งนี้สะท้อนกลับมาที่ความเป็นพหุวัฒนธรรมของคนยะลาอย่างเห็นได้ชัด การสกัดสัญลักษณ์เหล่านี้ออกมาเป็นข้อมูล มันก็ช่วยเสริมการท่องเที่ยวให้ผู้คนที่มาเยือนได้รู้ได้เข้าใจบริบทของเมืองเพิ่มขึ้นมาด้วย

ทั้งนี้ หลังจากเราถอดองค์ความรู้จากที่ต่างๆ ในเมืองแล้ว ทางโครงการก็ทำงานร่วมกับเยาวชนต่อ เพื่อผลักดันให้พวกเขาเองเป็นคนสร้างความรู้ เป็นผู้บอกเล่าวิถีและวัฒนธรรมแก่คนอื่นๆ ต่อไป ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยอย่างประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ไปจนถึงอาหารการกิน โดยรูปธรรมของกิจกรรมนี้คือการร่วมกับเยาวชนในยะลาจัดนิทรรศการ ‘ยะลาสตอรี่’ (Yala Stories) เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา  

ยะลาสตอรี่เป็นทั้งเทศกาล นิทรรศการ และการออกร้านที่สะท้อนเรื่องราวร่วมสมัยของเมืองยะลา ทีมนักวิจัยเรามีบทบาทเหมือนพี่เลี้ยงเยาวชนที่เป็นคนจัดงานนี้ขึ้น พวกเขาเป็นคนเลือกประเด็นในการนำเสนอด้วยตัวเอง โดยการกลับไปคุยกับคนเฒ่าคนแก่ รวบรวมข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์และภูมิปัญญา ทำแผนที่ทางวัฒนธรรม และกลั่นกรองออกมาเป็นเนื้อหานิทรรศการต่างๆ ในงาน  

นิทรรศการนี้ไม่เพียงได้รับผลตอบรับที่ดีจากคนยะลา เพราะมันไม่ได้เล่าแค่มุมมองของคนรุ่นใหม่ แต่ยังเป็นการหยิบเอาเรื่องราวของคนรุ่นเก่าและรากเหง้าทางวัฒนธรรมมานำเสนอเชื่อมโยงให้เห็นถึงทิศทางของการพัฒนาเมืองในอนาคต ซึ่งตรงนี้แหละคือจุดเปลี่ยนจาก soft power ในเชิงต้นทุนทางวัฒนธรรม ไปสู่การยกระดับทางเศรษฐกิจของเมืองในอนาคต”  

รองศาสตราจารย์ ฤทธิรงค์ จิวากานนท์
ผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และนักวิจัยในโครงการยะลาเมืองแห่งการเรียนรู้

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย