ชุมชนเรามีความพร้อม มีของแล้ว น่าจะสืบทอดได้ เป็นการสืบสานวัฒนธรรมของหมู่บ้านเรา แค่ว่าเราจะสานต่อยังไง

Start
307 views
21 mins read

“เราซึมซับเรื่องชุมชนมาตั้งแต่เด็ก แต่ก่อนที่เราจะเป็นนักเล่าเรื่องของชุมชน ข้อมูลมันกระจัดกระจาย ไม่ปะติดปะต่อ จากปู่ย่าตายาย คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟัง จากนั้นมีโครงการ OTOP Village การท่องเที่ยวเมืองรอง ฝึกอบรมให้มีนักเล่าเรื่องชุมชน เลยได้เข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกนักเล่าเรื่องชุมชนของตำบลตะปอนซักสี่ห้าปีที่แล้ว มีทีมเข้ามารีเสิร์ชข้อมูล นำข้อมูลต่างๆ มาตกผลึกรวมกัน ตอนนั้นชุมชนตะปอนมีสิ่งโดดเด่นที่สุดคือตลาดโบราณ 270 ปีของดีบ้านตะปอน คนริเริ่มเป็นลุงกาญจน์ (กาญจน์ กรณีย์ ประธานสภาวัฒนธรรม อำเภอขลุง) ทำตลาดยังไงให้เป็นจุดเด่น ก็ให้ใส่ชุดไทย ตอนนั้นเราก็ทำห่อหมกมาขาย เห็นผลตอบรับดี ตั้งแต่ก่อนมีละครบุพเพสันนิวาสอีก กลายเป็นมีสถานที่ให้คนแต่งตัวเป็นชุดไทยมาเที่ยว เราก็ใส่เสื้อคอกระเช้า ผ้าถุง สไบเฉียงบ้าง ทุกวันเสาร์คือแม่ค้าแถวนี้ต่างบอกกันว่า ขายของไม่ค่อยได้อะไร ได้ชุดนี่แหละ ระดมซื้อกันทุกคน ตอนนั้น ขายของไม่พอค่าชุดด้วย คือสนุกมาก พอช่วงโควิดก็ซบเซาไป

ตำบลตะปอนค่อนข้างมีวัฒนธรรมเข้มแข้ง มีการสืบทอดกันมายาวนาน มีหลายประเพณีเด่นๆ ช่วงก่อนออกพรรษาจะมีเดินบาตรแถว เหมือนเป็นการซ้อมเดินตักบาตรเทโว พระจะไปโปรดตามบ้าน ใส่บาตรข้าวสารอาหารแห้ง มีเส้นทางเดินประมาณสามวันล่วงหน้า พอช่วงออกพรรษา ประเพณีตักบาตรเทโว ชุมชนตะปอนไม่ได้มีแค่ตะปอนน้อย ตะปอนใหญ่ จะมีหนองเสม็ด ซึ่งเทศกาลตักบาตรเทโวของเราจะเวียนตักบาตรกันสามวัด อย่างปีนี้เวียนมาที่วัดตะปอนใหญ่ หลังจากตักบาตรเทโวเสร็จ มีเทศกาลเทศน์มหาชาติ ซึ่งพิเศษกว่าที่อื่นที่มีเทศน์แค่เช้าจนถึงเย็น แต่ชุมชนแถวนี้จะเทศน์กันตั้งแต่เช้าจนถึงเช้าอีกวัน 24 ชั่วโมง เป็นประเพณีสืบทอดมาทุกปี เป็นเทศกาลที่ชอบมากที่สุด คือตอนเด็กๆ เราไม่ได้ไปวัดเพื่อไปฟังเทศน์มหาชาติหรอก เราไปเพราะมีงาน มีคนมาขายของ มีของแปลกๆ เขาจะเทศน์เป็นกัณฑ์ พอซักประมาณ 4-5 โมง เป็นกัณฑ์กัณหาชาลี จะมีคนแต่งตัวเป็นชูชก กัณหา ชาลี จูงเด็กไปตามวัด เรี่ยไรเงิน สำหรับเราก็สนุกดี มีแต่งคอสเพลย์

ตำบลตะปอนมีเรื่องเล่ามากมาย ที่ค่อนข้างเด่นคือผ้าพระบาท ซึ่งมีการแห่รอบหมู่บ้านตั้งแต่ตะปอนใหญ่ ตะปอนน้อย หนองเสม็ด ให้ทุกคนได้สรงน้ำพระ สรงน้ำผ้ารองพระบาท เสร็จแล้วจะมีการก่อกองพระทราย จุดเด่นที่วัดเราคือกองพระทรายก่อตามจำนวนปี พ.ศ. อย่างปีนี้เราก็ก่อ 2565 กอง เริ่มเป็นประเพณีกันมาตั้งแต่เรายังเด็ก ก็เพิ่มกองมาเรื่อยๆ มีประกวดกองพระทรายต้องมีความคิดสร้างสรรค์ด้วย พอจบการก่อกองพระทรายก็เป็นการทำบุญศาลา คือเมื่อก่อนถนนสายเก่า (ถนนสุขุมวิท สายขลุง-พลิ้ว) เส้นนี้เป็นเส้นทางหลัก จะมีศาลาพักทาง ก็เหมือนทำบุญให้วิญญาณบรรพบุรุษไร้ญาติ สลับๆ ไปตามศาลาต่างๆ ต่อเนื่องกันไปจนถึงสิ้นเดือน เทศกาลสงกรานต์ของเราเลยไม่ใช่แค่ 1-2 วัน แต่ยาวไปถึงสิ้นเดือน

ในส่วนของชุมชนตะปอนน้อยตะปอนใหญ่ อาชีพส่วนมากของชาวบ้านคือการทำเกษตร ทำสวน ทำนา ทำประมง คือเราทำอาชีพทั้งปี สมมติ หน้าผลไม้ มาเที่ยว มาเก็บผลไม้ ดูวิธีการเก็บ เรียนรู้การเป็นชาวสวน แต่จริงๆ พวกทุเรียน เราไม่ได้ทำแค่เฉพาะช่วงที่เก็บผลได้ มีช่วงเริ่มบำรุงต้น ตัดแต่งกิ่ง ช่วงประมาณปลายธันวาคม จะมีดอก ก็จะต้องมีการตัดตาดอกให้ทุเรียนผสมกัน ต้องทำตอนกลางคืน ช่วงอากาศเย็นๆ ดอกถึงจะติดดี ก็สามารถมาท่องเที่ยวเรียนรู้วิธีการทำทุเรียนได้ ไม่จำเป็นต้องมาเฉพาะช่วงผลไม้ออก

ในส่วนของวัฒนธรรม ก็มีโบสถ์เก่า วัดตะปอนน้อย ข้างในเป็นจิตรกรรมฝาผนัง ภาพฝรั่งฮอลันดา เงาะป่า เป็นของเก่าที่กรมศิลปากรมาบูรณะ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น หมายความว่าสมัยก่อนในส่วนวัดตะปอนน้อยมีท่าเรือที่ชาวต่างชาติมาติดต่อค้าขายกับคนไทย วัดตะปอนใหญ่สร้างในช่วงอยุธยาตอนปลาย โบสถ์เป็นสีขาว สิ่งที่สังเกตได้จากโบสถ์วัดตะปอนน้อยกับวัดตะปอนใหญ่ ว่าเมื่อก่อนเราอยู่ใกล้ทะเลมากๆ คือประตูทางเข้าโบสถ์จะเข้าจากด้านข้าง ซึ่งแตกต่างจากโบสถ์สมัยนี้ที่เข้าด้านหน้า แล้วมีประตูออกด้านหลังสองข้าง สาเหตุเพราะว่าสมัยก่อนอยู่ใกล้ทะเล ก็รักษาสภาพแวดล้อมข้างในโดยไม่ให้ไอทะเลเข้ามาตรงๆ ไม่งั้นไอทะเลที่เข้ามาจะกัดเซาะข้างใน โบสถ์ข้างหน้าไม่มีประตู จะเข้าจากด้านข้าง ออกหลังพระประธาน เพียงแต่ที่วัดตะปอนใหญ่ไม่ได้มีจิตรกรรมฝาผนัง แต่สิ่งที่สังเกตได้ว่าเรารับวัฒนธรรมจากชาวต่างชาติที่มาติดต่อค้าขายกับเราคือช่อฟ้าใบระกา เป็นลักษณะเหมือนรูปเก๋งจีน

ปัญหาของชุมชนคือแต่ละชุมชนแยกกันทำงาน ไม่ได้รวมตัวกัน แต่ข้อมูลมันเชื่อมต่อมาตั้งแต่ในตัวเมืองจนถึงปลายทาง เพราะเป็นเส้นทางเดียวกัน อย่างเช่นทำไมถึงชื่อตะปอนน้อย ตะปอนใหญ่ คานรูด เกวียนหัก มีเรื่องเล่ามาว่า สมัยก่อน มีพ่อค้าเดินทางมา เริ่มต้นตั้งแต่ในเมืองจันท์ สมัยนั้นเรียกว่า บ้านรูด ก็ขับเกวียนมาเรื่อยๆ จนถึงที่ชุมชนตะปอน มาถึงช่วงกองพระทราย ซึ่งเป็นทรายทะเล คือพื้นมันร้อน ลาที่เทียมเกวียนมา ก็เกิดอาการที่เขาเรียกว่า ตะโพง คือเหมือนการควบของสัตว์ พอมาถึงช่วงตะปอนน้อย ก็เริ่มตะโพงน้อยๆ เพราะร้อน พอถึงช่วงตะปอนใหญ่ ก็เริ่มตะโพงใหญ่ คือสันนิษฐานว่าเกิดจากการตะโพงของสัตว์ที่เทียมเกวียนมา แล้วเสียงก็เพี้ยนมาเป็นตะปอนน้อย ตะปอนใหญ่ พอไปถึงช่วงคานรูด ด้วยความที่มันวิ่งมา เกวียนไม่ได้ปลอดภัย ก็เริ่มคานรูด พอถึงช่วงเกวียนหัก ปรากฏว่าเกวียนก็หักลง เลยมีเรื่องเล่าว่าทำไมชุมชนนี้ถึงชื่อแบบนี้

เรื่องเล่าพวกนี้มีคนรวบรวมทำเป็นข้อมูลเป็นเล่มไว้อยู่ที่อบต.ตะปอน ว่ามีประวัติเป็นมายังไง วัตถุโบราณต่างๆ ที่เรามีความเป็นมายังไง ได้รับการรับรองแล้วโดยกรมศิลปากร ซึ่งในแง่วัฒนธรรม น่าจะมีศูนย์ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เพราะข้อมูลค่อนข้างเยอะ แต่ละชุมชนก็มีประวัติเยอะ ยาวนาน ปัญหาของชุมชนคือไม่มีคนเก็บ ซึ่งถ้าไม่มีคนเก็บมารวมกัน เรื่องพวกนี้ก็จะหายไป อย่างโครงการนักเล่าเรื่องชุมชน เวลาหมู่บ้านต้องการให้ช่วยเหลือ ก็เป็นเรากับน้องอีกคนนึงช่วยกัน เราพูดภาษาอังกฤษได้ด้วย เป็นนักเล่าสองภาษา จริงๆ ก็เคยคุยกับผู้ใหญ่สมบัติ (สมบัติ ประทุม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 ตำบลตะปอน) อาจจะมีการอบรมเด็กรุ่นใหม่ สมมติมีนักท่องเที่ยวมาก็ไม่ใช่แค่เราเป็นตัวหลัก ให้น้องๆ ไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับหมู่บ้านของเรา แต่ทีนี้ด้วยสถานการณ์โควิด เลยชะงักไป เราก็เสียดาย อุตส่าห์ไปทำข้อมูลมาแล้ว มีของแล้ว น่าจะสืบทอดได้ เป็นการสืบสานวัฒนธรรมของหมู่บ้านเรา อย่างมัคคุเทศก์น้อยก็เคยมี ที่ตลาดโบราณ 270 ปี มีการฝึกน้องๆ ให้มาพูดแนะนำ ร้านนี้ขายอะไร ชื่อพี่อะไร ตลาดเมื่อก่อนนักท่องเที่ยวเยอะ บางคนเดินมาเห็นไม่รู้อะไร ไม่รู้จัก ก็เดินผ่านไป พอมีน้องมาพูดแนะนำออกเครื่องขยายเสียงว่าอันนี้คืออะไร สตอรี่มายังไง พูดปุ๊บเขาก็สนใจ เดินกลับไปซื้อ ลองชิม ลองใช้ ลูกค้าหรือนักท่องเที่ยวก็สนใจมาซื้อกัน เรามีความพร้อม มีต้นทุน แค่ว่าเราจะสานต่อยังไง”

จิราภรณ์ รัตนาคะ

นักเล่าเรื่องชุมชนตะปอน
กรรมการหมู่บ้าน หมู่ 2 ตำบลตะปอน อำเภอขลุง

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย