/

ถึงเวลาที่ทั้งคนยะลาและคนจากที่อื่นควรเรียนรู้ถึงความแตกต่างหลากหลาย ใช้สิ่งนี้เป็นต้นทุนเพื่อต่อยอดไปสู่สิ่งใหม่ๆ ผมว่ายะลาโตได้มากกว่านี้อีกเยอะครับ

Start
371 views
8 mins read

“พ่อแม่ผมเป็นคนไทยที่ไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ผมเกิดที่นั่น ก่อนที่พ่อและแม่ตัดสินใจย้ายกลับมาเปิดร้านอาหารที่เมืองยะลาตอนผมอายุ 2 ขวบ

ร้านอาหารที่ยะลาของครอบครัวตั้งอยู่บนถนนสายหลักที่เชื่อมไปยังจังหวัดปัตตานีและหาดใหญ่ พอผมจำความได้ พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ก็เริ่มมีเหตุการณ์ความไม่สงบ ซึ่งถนนหน้าบ้านผมนี่มีการวางระเบิดกันบ่อย เพราะมันเป็นเหมือนเส้นเลือดหลัก บ่อยขนาดที่ว่าคนแถวนั้นได้ยินเสียงระเบิดจนชิน เป็นความเคยชินที่ชวนหดหู่นะครับ

ช่วงที่ผมโตมานี่ยอมรับว่ายะลาไม่น่าอยู่เลย แต่ละวันดำเนินไปด้วยความหวาดระแวง ขณะเดียวกันบรรยากาศในเมืองมันก็เหมือนถูกประโคมด้วยความแตกแยกทางวัฒนธรรม การที่คุณเป็นคนมุสลิมเข้าไปในบางชุมชนก็จะได้ความรู้สึกไม่ได้รับความไว้วางใจในชุมชนนั้น เช่นเดียวกับที่คุณเป็นคนพุทธ และเข้ามาในชุมชนมุสลิมก็จะเจอความรู้สึกคล้ายๆ กัน

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศที่ว่านี้มันกลับไม่เกิดในโรงเรียนที่ผมเรียนอยู่ ทุกคนไม่ว่าคุณจะนับถืออะไรก็ล้วนเป็นเพื่อนกัน ส่วนหนึ่งเพราะเราโตมาด้วยกัน จนทำให้เราเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างไร ตรงนี้แหละที่ผมมาคุยกับเพื่อนๆ ว่า หรือจริงๆ แล้วมันอาจมีสื่อหรือกลไกบางอย่างคอยประโคมให้เมืองเราเกิดบรรยากาศของความไม่ไว้วางใจ และความเกลียดชัง เพราะกระทั่งเหตุการณ์ความไม่สงบซาลง จนแทบไม่ค่อยเกิดขึ้นในตัวเมืองมาหลายปีแล้ว แต่บรรยากาศแบบนี้ก็ยังอยู่

ผมเลยเห็นว่าการเรียนรู้เรื่องทักษะทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญมาก การทำความเข้าใจวิถีชีวิตและวิถีปฏิบัติที่แตกต่าง และหาวิธีอยู่ร่วมกันได้ ไม่เพียงจะทำให้อคติทางเชื้อชาติและศาสนาหายไป และทำให้เมืองมีบรรยากาศที่น่าอยู่ แต่ยังเป็นต้นทุนที่ดีในการพัฒนาเมือง ผมมีโอกาสไปเยือนเมืองต่างๆ ในประเทศไทย ก็พบว่าหลายเมืองเขาเจริญได้ ก็เพราะเขาใช้ความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คนมาเป็นต้นทุน ทั้งเชิงวัฒนธรรม การค้า ไปจนถึงการท่องเที่ยว

ทุกวันนี้ในตัวเมืองยะลาแทบไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงแล้วครับ และเอาเข้าจริงคนยะลาส่วนใหญ่ก็ต่างมองว่าความรุนแรงที่มีเกิดขึ้นเพราะมีคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสร้างสถานการณ์เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง หาใช่ความรุนแรงที่ฝังรากจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม ก็คิดว่าถึงเวลาที่ทั้งคนยะลาและคนจากที่อื่นทุกคน ควรเรียนรู้ถึงความแตกต่างหลากหลาย ใช้สิ่งนี้เป็นต้นทุนเพื่อต่อยอดไปสู่สิ่งใหม่ๆ ผมว่ายะลาโตได้มากกว่านี้อีกเยอะครับ”  


เฟาซี สาและ
นักออกแบบ SoulSouth Studio

https://www.facebook.com/SoulSouthStudio

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย