/

ถ้าเด็กยะลาทุกคนเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม โดยไม่ต้องหลุดจากระบบกลางคัน เมืองของเราจะส่งเสริมให้พวกเขาเข้าถึงศักยภาพและความสนใจที่แท้จริงของตัวเองอย่างมาก

Start
407 views
10 mins read

“ถามว่าเด็กยะลาขาดอะไร มองในภาพรวม ผมว่าคงจะตอบยาก เพราะเอาจริงๆ เด็กยะลามีต้นทุนที่ดีกว่าเด็กในเมืองอื่นๆ อีกหลายเมืองมากกว่า

ผมไม่ได้เกิดที่ยะลา แต่เริ่มต้นชีวิตราชการครั้งแรกที่นี่ โดยระหว่างนั้นก็มีโอกาสย้ายไปทำงานและใช้ชีวิตที่อื่นอยู่พักใหญ่ ก่อนกลับมาประจำที่เมืองแห่งนี้ เมื่อพิจารณาถึงวิถีชีวิตและสาธารณูปโภคของเมืองอื่นๆ ที่ผมไปเจอมา ผมกล้าพูดว่าถ้ามองเรื่องต้นทุน เด็กยะลากินขาด

ในเขตเทศบาลนครยะลาเรามีครบทั้งสถานศึกษาที่ครอบคลุมทุกระดับ มีสนามกีฬา สวนสาธารณะ ศูนย์การเรียนรู้ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจทั้งในสวนและพื้นที่ริมแม่น้ำ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ของเมืองทั้งกีฬา ศิลปวัฒนธรรม และศาสนา ซึ่งถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือการสัญจรภายในเมืองเป็นไปอย่างคล่องตัวจากผังเมืองที่มีประสิทธิภาพ และตัวเมืองมีความสะอาด

พอเมืองมีพื้นที่สาธารณะที่ใช้ได้จริง เด็กๆ ก็จะออกมาใช้พื้นที่จนนำมาซึ่งกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ผมเคยอยู่ในตัวเมืองบางเมืองที่ไม่มีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับทุกคน จะเห็นเลยว่าเด็กๆ หลายคนต้องนัดรวมกันตามพื้นที่รกร้าง ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการมั่วสุมในเชิงลบ

อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมานี่คือภาพรวมของเมือง แต่ทุกวันนี้ก็ต้องยอมรับว่าในหลายภาคส่วน ยะลายังประสบกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอยู่พอสมควร โดยเฉพาะกับพื้นที่ชุมชนที่โรงเรียนของผมตั้งอยู่ 

ผมเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 2 บ้านมลายูบางกอก ที่นี่เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา จัดการเรียนการสอนตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 พ่วงด้วยหลักสูตรอิสลามศึกษา โดยหมู่บ้านมลายูบางกอกเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนส่วนหนึ่งทำงานในโรงงานในพื้นที่ และมีหลายคนจำเป็นต้องเข้าไปทำงานในเมืองใหญ่  

นั่นทำให้เมื่อคุณเดินเข้ามาในโรงเรียน ลองชี้ไปที่เด็กนักเรียนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ถ้าในกลุ่มนั้นมีเด็กสัก 10 คน ผมบอกได้เลยว่าคุณจะหาเด็กที่อยู่ด้วยกันกับพ่อและแม่ครบยากมาก อาจมีอยู่ที่ราว 2-3 คน เท่านั้น เด็กๆ ที่นี่จึงค่อนข้างขาดความพร้อม และหลายคนในระดับมัธยมก็มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาเนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจ 

ด้วยเหตุนี้ นอกจากการพัฒนาหลักสูตรการสอน ภารกิจที่สำคัญของพวกเราคือการทำให้เด็กๆ ทุกคนได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นทำเรื่องขอทุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทุกปี โดยทางคณาจารย์ก็ต่างทำงานหนักเพื่อทำเอกสารยื่นแก่เด็กๆ รวมถึงการประสานกับกองทุนซากาตของพี่น้องชาวมุสลิม ไปจนถึงการลงขันของคุณครูเองในทุกๆ ปี เพื่อนำไปสนับสนุนการศึกษาเด็กๆ

ผมเชื่อว่าปัญหาที่เล่ามานี้คือสิ่งที่อีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศกำลังประสบ โดยภาคส่วนต่างๆ ก็พยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหานี้แล้ว แต่ก็อยากให้หน่วยงานรัฐในระดับนโยบายมีเครื่องมือเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้มากกว่านี้

เพราะอย่างที่บอก ในภาพรวมเทศบาลนครยะลามีความพร้อมในการสนับสนุนบรรยากาศในการเรียนรู้ ถ้าเด็กยะลาทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม โดยไม่ต้องหลุดจากระบบกลางคัน เมืองของเราจะส่งเสริมให้พวกเขาเข้าถึงศักยภาพและความสนใจที่แท้จริงของตัวเองอย่างมาก”

ธีรพัฒน์ ง๊ะสมัน

ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 2 บ้านมลายูบางกอก

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย