/

นักท่องเที่ยวบางรายกินปูขลุงแล้วจะรู้เลยว่าอร่อยกว่าปูที่อื่น เนื่องจากพื้นที่เป็นป่าเลน ตัวใหญ่ รสชาติมัน เนื้อแน่น

Start
258 views
23 mins read

“อำเภอขลุงมีจุดเด่นเรื่องภูมิประเทศ ทั้งทะเล ภูเขา ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ อาหาร มีทั้งอาหารทะเล สวนผลไม้ ทุเรียนขลุงก็ติดอันดับต้นๆ ของจังหวัดจันทบุรี ความอร่อยของทุเรียนพันธุ์ชะนีที่ตำบลซึ้ง ตำบลวันยาว เนื้อละเอียด หวานมัน พื้นที่ซึ้งเป็นพื้นที่ดินปนทราย รสชาติไม่เหมือนทุเรียนบนเขา อำเภอบางชันมีอาหารทะเลที่โดดเด่น นักท่องเที่ยวบางรายกินปูขลุงแล้วจะรู้เลยว่าอร่อยกว่าปูที่อื่น เนื่องจากพื้นที่เป็นป่าเลน ปูดำตัวใหญ่ๆ รสชาติมัน เนื้อแน่น ราคาค่อนข้างสูง

แง่ประวัติศาสตร์ เป็นพื้นที่ที่มีคนอยู่มานาน มีความเจริญในระดับเมืองของจันทบุรี มีเจ้าเมืองเป็นผู้ดูแลเมือง ในอดีตเป็นศูนย์กลางคมนาคมเมืองหนึ่ง มีเรือเข้ามาติดต่อค้าขายในเขตพื้นที่อำเภอขลุง ทางคลองเวฬุ แม่น้ำเวฬุ เข้ามาถึงในตลาดเลย มีการบรรทุกสินค้าต่างๆ เช่น ถ่านไม้โกงกาง และมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มีรากเหง้า ตั้งแต่ยุคชอง ชนชาติเขมรมีอิทธิพลในพื้นที่ คำว่า ขลุง ก็เข้าใจว่า เป็นภาษาชอง หลายหมู่บ้านในพื้นที่ก็ใช้ชื่อหมู่บ้านในภาษาชอง เช่น ที่ตำบลตกพรม มีหมู่บ้านปงซี ถ้ามองในภาษาไทยไม่มีความหมาย แต่ “ปงซี” ภาษาชอง แปลว่า งูใหญ่ ยุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเรามีโบสถ์วัดตะปอนที่สวยมาก น่าจะมีที่เดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ วัดวันยาวบน วัดวันยาวล่างมีประวัติศาสตร์ชาวบ้านว่ารัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาส พระองค์พระราชทานวิสุงคามสีมา (เขตที่พระราชทานแก่สงฆ์เพื่อใช้เป็นที่สร้างพระอุโบสถ) ที่บางชัน

ภารกิจของอำเภอเป็นราชการส่วนภูมิภาค มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในทุกภาคส่วน รวมทั้งกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเรามี 90 หมู่บ้าน 12 ตำบล กำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นสื่อกลางระหว่างราชการกับประชาชน เพราะอยู่ในพื้นที่ มีข่าวสารต่างๆ กำนันผู้ใหญ่บ้านไปประชาสัมพันธ์ ถ่ายทอด สร้างความเข้าใจให้พี่น้องประชาชน บางครั้งดีกว่าส่วนราชการด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของอำเภอก็เป็นเหมือนโซ่ข้อกลางในการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ นอกจากนั้นเราก็มีการส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรมต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ ยกตัวอย่าง งานกินเจ งานสงกรานต์ ลอยกระทง อำเภอก็เข้าไปดูแล ช่วยเหลือ สนับสนุน ดูแลความปลอดภัย

แนวทางการพัฒนาเมือง คงต้องช่วยกันอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมให้คงอยู่นานที่สุด ควรมีแหล่งรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ต่างๆ คุยกันในที่ประชุมหัวหน้าส่วนว่า ตัวที่ว่าการอำเภอซึ่งสร้างตั้งแต่ปี 2506 ลักษณะเป็นอำเภอไม้แบบนี้ที่อื่นไม่ค่อยมีแล้ว เก่าแก่มาก เราได้รับงบประมาณสร้างที่ทำการอำเภอหลังใหม่ อยู่ถัดจากที่เดิม 2-3 กิโลเมตร ก็คุยกันว่าจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์มั้ย แต่การจัดทำพิพิธภัณฑ์ต้องมีกระบวนการเรื่องคนดูแล ทรัพย์สินต่างๆ ที่เอาเข้ามาเพื่อให้ลูกหลานได้เรียนรู้ ก็ให้ทางเทศบาลตั้งงบประมาณในเรื่องของค่าน้ำ ค่าไฟ ดูแลระยะยาว คือถ้าโทรมๆ ไม่สะอาด ก็ไม่มีคนอยากเข้ามา ตัวอำเภอเองอยู่กลางเมืองด้วย มีความโดดเด่น คนเข้ามาเที่ยว อาจมีร้านค้าโอทอปมาขายของ ของที่ระลึก พี่น้องประชาชนก็มีช่องทางหารายได้ สอบถามชาวบ้านเขาก็อยากให้มี อย่างอำเภอขลุงไม่มีพิพิธภัณฑ์เป็นจริงเป็นจัง อาจจะมีอยู่ตามวัด ก็เก็บของเล็กๆ น้อยๆ สมัยโบราณของวัด ก็อยากทำให้แสดงถึงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ยุคชองเป็นยังไง ยุคอยุธยาเป็นยังไง เรามีอะไร อยู่ตรงไหน เป็นแผนที่รวมของพื้นที่เราว่ามีอะไรสำคัญ ซึ่งส่วนนี้ข้อมูลยังกระจัดกระจาย คนที่มีความรู้ประวัติศาสตร์ รากเหง้าของพื้นที่ นับวันจะน้อยลง คนรู้จริงก็มีจำนวนไม่มากเท่าไหร่ ล้มหายตายจากไปมากพอสมควร เช่น งานพิธีแห่เกวียนพระบาท คนรู้ก็น้อยลง ช่วงโควิดก็ห่างไป นานวันไปผมว่าพิธีจะเพี้ยนหรือเปล่า ลักษณะเป็นงานรื่นเริงมากกว่ามุ่งไปทางพิธีศาสนาหรือเปล่า มันก็จะไม่มีรากเหง้า คนมารื่นเริงอย่างเดียว ซึ่งโครงการ Learning City นี้มีส่วนทำให้การเผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆ สามารถเข้าถึงประชาชนได้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะการสื่อสารทางโซเชียล อินเทอร์เน็ต รวมทั้งไม่ใช่แค่คนขลุง คนที่อื่นก็จะได้รู้ว่าที่นี่มีอะไรดี มีประวัติศาสตร์เป็นมายังไง ไม่ต้องขับรถมาถึงจันทบุรี อยู่ที่ไหนก็เรียนรู้ได้

อีกจุดเด่นของที่นี่คือความร่วมมือของพี่น้องประชาชน ต้องเรียนเลย อาจจะเพราะเศรษฐกิจ ชาวสวนมีฐานะ มีความเป็นอยู่ค่อนข้างดี เพราะฉะนั้นความร่วมมือของประชาชนค่อนข้างดี ภาคเอกชนต่างๆ ให้ความร่วมมือ ยกตัวอย่าง เรามีกองทุนแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ผมก็ไม่ได้ไปขอใครนะครับ มีคนบริจาคให้ตอนนี้ประมาณแสนกว่าบาท กองทุนแก้ไขปัญหาโควิดก็มีเงินเหลือประมาณแสนกว่าบาท โครงการ To Be Number One จำหน่ายเสื้อ ที่เหลือเป็นกำไร ก็ประมาณสามแสน สร้างที่ว่าการอำเภอใหม่ ซึ่งต้องถมดิน ทางชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านจัดวิ่ง ก็ได้กำไรสี่แสนกว่าบาท ภาคประชาชนเสนอตัวบริจาคเงิน เอาดินมาช่วย ที่ดิน 8 ไร่ก็ได้รับบริจาค จะมีพื้นที่มากขึ้นเท่าตัวจากอำเภอหลังเดิมตอนนี้ที่มีอยู่ 4 ไร่ จะอำนวยความสะดวกพี่น้องประชาชนได้มากขึ้น มีที่จอดรถ ห้องน้ำ เรียกว่าความร่วมมือค่อนข้างโดดเด่นกว่าที่อื่น ข้าราชการก็ทำงานง่าย เราขอความร่วมมือ ไปคุยให้ชัดเจน โปร่งใส เขาก็ให้ความร่วมมือ

แต่ปัญหาหนึ่งของอำเภอเลย คือที่ดินของตำบลบางชันส่วนใหญ่เป็นป่าชายเลน ชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิ เนื่องจากข้อกฎหมาย การจะได้มาซึ่งเอกสารสิทธิก็ต้องเป็นนส.3 เป็นโฉนด แต่พื้นที่ของเขาอยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ป่าเลนเป็นคนดูแล ก็มีความขัดแย้งว่าแล้ววัดไปอยู่ได้ไง ชาวบ้านจะขอน้ำขอไฟก็ลำบาก สุดท้าย ไปเจอหนังสือพระราชทานวิสุงคามสีมาที่รัชกาลที่ 5 พระราชทาน แสดงให้เห็นว่าชุมชนอยู่มานาน เพราะฉะนั้นความเจริญต่างๆ ก็ควรเข้าไปดูแลชาวบ้าน ไม่ใช่ปล่อยเขา ซึ่งตอนนี้พูดถึงประปาที่บางชัน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงมีพระราชดำริ อยากให้คนบางชันไม่ต้องซื้อน้ำแพงๆ บางพื้นที่ประปายังไปไม่ถึงเนื่องจากต้องผ่านป่าเลน ต้องไปวางท่อดึงน้ำไป บางหมู่ก็ประปาถึง บางหมู่ก็ไม่ถึง พระองค์ท่านทรงให้หน่วยงานรับผิดชอบประปาวางท่อเข้าไป แต่ยังติดเรื่องการสร้างเขื่อนคลองขลุง เพราะเขื่อนเข้าไปอยู่เขตน้ำตกพลิ้วบางส่วน ก็อยู่ในขั้นตอนยกเลิกเพิกถอนเอกสารอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้วบางส่วน ซึ่งเพิ่งทำประชาคมเสร็จไปไม่กี่เดือนนี้ รวมทั้งต้องมีพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ถ้ามีเมื่อไหร่ ก็มีกรรมการในการจ่ายเงินชดเชย ถ้าไม่พอใจเขาสามารถอุทธรณ์ได้ แต่กระบวนการนี้ยังไม่เริ่มต้น อ่างเก็บน้ำที่จะส่งน้ำไปบางชันก็ยังไม่เรียบร้อย

ในแง่ของการพัฒนาเมือง การให้ความรู้ต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็น ยกตัวอย่าง เราผลิตทุเรียนส่งไปขายประเทศจีน แต่ยังต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง ล้งซึ่งเป็นคนจีนมาทำ ผมอยากให้เขามีองค์ความรู้ในการค้าขายเองได้ การค้าขายออนไลน์ และอยากให้พี่น้องประชาชนอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของตนเองไว้ สิ่งที่ดี อย่าปล่อยให้กาลเวลากลืนไป และอย่าไปเปลี่ยนรูปแบบ ต้องจัดกิจกรรมต่างๆ ส่งเสริมให้คนมาซึมซับ เรียนรู้ ทำความเข้าใจ แต่ช่วงโควิดก็ทำให้แผนจัดกิจกรรมต่างๆ ที่วางไว้ชะงักไป รวมทั้งให้ท้องถิ่นที่มีงบประมาณของตัวเองได้นำเรื่องเหล่านี้บรรจุในแผนพัฒนาของเขา”

ณัฏฐพงษ์ พัฒนรัฐ
นายอำเภอขลุง

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย