ผมมองทั้งเมืองขลุงเป็นศูนย์เรียนรู้ได้หมด มีเรื่องเล่า เมืองน่าติดตาม และพื้นที่เราเล็ก 3.18 ตารางกิโลเมตร ขี่จักรยานแป๊บเดียวก็รอบเมือง

Start
356 views
18 mins read

“เดิมอำเภอขลุงมีฐานะเป็น “เมืองขลุง” มีเจ้าเมืองปกครอง จนในสมัยรัชกาลที่ 5 ร.ศ. 128 ขลุงได้รวมกับเมืองทุ่งใหญ่ คือเมืองแสนตุ้ง รวมมาเป็นเมืองขลุง ต่อมารวมเมืองจันทบุรี เมืองระยอง เมืองขลุง เป็นมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า “มณฑลจันทบุรี” มาเป็นได้ปีเดียวก็ยกเลิก ทำให้เรามีศาลหลักเมือง ปกติตามอำเภอจะไม่มีศาลหลักเมือง มีตามจังหวัดเท่านั้น

ภารกิจเทศบาลในการพัฒนาเมือง เราพยายามทำกิจกรรมสองศาสนา สามวัฒนธรรม เทศบาลเมืองขลุงมีศาสนาพุทธกับศาสนาคริสต์ วัฒนธรรมคือไทยพุทธ ไทยจีน คาทอลิกหรือคริสต์ ทุกวันที่ 15 เมษายนเราจัดกิจกรรมขบวนแห่สองศาสนา สามวัฒนธรรม แห่ทางพุทธก่อน เชิญรูปพระเกจิอาจารย์มาให้คนสรงน้ำ วัฒนธรรมจีนก็แห่ท่านฮุดโจ้ว ศาลหลักเมืองขลุง ทางคริสต์ก็แห่รูปพระเยซูเจ้า พระหฤทัย เพราะเดือนเมษายนก็เป็นช่วงเทศกาลปัสกา ฉลองการกลับคืนชีพของพระเยซู ซึ่งตรงเทศกาลกับของพุทธและจีน คือขลุงมีสามวัฒนธรรม แต่วัฒนธรรมญวนไม่ค่อยพูดถึง แต่ช่วงงานแห่จะเห็นชัดเลย ชาวเวียดนามตอนกลางอพยพมาเมื่อสามร้อยกว่าปีก่อน ตอนนั้นคนคาทอลิกถูกเบียดเบียนไม่ให้นับถือศาสนาคริสต์ ต้องนับถือศาสนาจีน จึงย้ายถิ่นกัน 40-50 คนมาที่จังหวัดจันทบุรี มีการเจริญเผ่าพันธุ์ขึ้นมา จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาแตก มีชาวคาทอลิกประมาณแปดพันคน พอพระเจ้าตากเกณฑ์ทหารไปตีกรุงศรีอยุธยาคืน ชาวคริสต์ส่วนหนึ่งก็หนีไม่ยอมเป็นทหาร ชาวคริสต์ส่วนหนึ่งไปกับพระเจ้าตาก พอตีกรุงศรีฯ คืนมาได้ ชาวคริสต์ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่อยุธยา บางคนมาแถวสามเสน มาวัดกาลหว่าร์ เหลือกลับมาตั้งชุมชนที่จันทบุรี และย้ายมาที่ขลุง เมื่อ 152 ปีที่แล้ว ตอนนี้มีชาวคริสต์ที่อำเภอขลุงประมาณเกือบสามพันคนอยู่ในทะเบียนของวัด

ผอ.สมชาย ทับยาง ผู้อำนวยการกองการศึกษาคนก่อน ทำโครงการ “ฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมญวนของชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม ชุมชนเทศบาลเมืองขลุง” ภาษาเวียดนามที่ใช้กันจะอยู่ในการสวดศพ เป็นภาษาเวียดนามโบราณ ตัวผมเองเป็นคาทอลิก แฟนผมพูดเวียดนามได้ แต่พอไปเที่ยวเวียดนาม เขาก็ถามว่าทำไมพูดภาษาเวียดนามโบราณได้ ซึ่งกว่าจะปรับตัวได้ต้องสองสามวันถึงจะคุยกันรู้เรื่อง ทำให้รู้ว่าเราต่างจากเขามาก ทีนี้ผู้ที่จะถ่ายทอดคือคนสูงอายุแล้ว เขาไม่ใช่ครู การจะถ่ายทอดหรือเรียนตามหลักการมันลำบาก จึงไม่สามารถถ่ายทอดได้ ซึ่งคนคาทอลิกที่สามารถพูดภาษาเวียดนามได้มีไม่เกินร้อย ผมว่าการสวดศพภาษาเวียดนามไม่เกินยี่สิบปีคงจะหายไปเพราะคนแก่ๆ หมดไป คนนำสวดตรงนี้ก็จะหายไป ทางวัดพระหฤทัยแห่งพระเยซูเจ้าขลุงก็พยายามรักษาไว้ ทุกวันอาทิตย์จะมีการสวดเป็นภาษาเวียดนามก่อนพิธีมิสซา ถ้ามีคนตายก็ต้องสวดภาษาเวียดนาม ส่วนวัฒนธรรมญวนก็มีเลียนแบบแต่งชุดอ๋าวหย่าย (ชุดประจำชาติเวียดนาม) อาหารญวนก็มีอย่าง กูละแง ซึ่งผมไปเวียดนาม สั่งกูละแงมา คือน้ำหมี่ผัดปูเรานี่แหละ ของเราใส่เส้น ของเขาเป็นปูล้วน แต่น้ำเป็นน้ำจากผัดก๋วยเตี๋ยวปู คือมีความต่างกันนิดนึง แต่กินแล้ว มันใช่ รสชาติเดียวกัน ขนมญวนก็ขนมเบื้อง ขนมไส้มะพร้าว เขาเรียก บั้นเชด เป็นลูกกลมๆ ขนมแป้งมีไส้ต้มกับกะทิ ต้นหอม ไส้หวานจากมะพร้าว ใส่น้ำตาล

โครงการรื้อฟื้นภาษาญวนที่ผมคุยกับผอ.สมชายที่ย้ายไป เป็นความคิดที่เราอยากทำเป็นเมืองท่องเที่ยว จะมีจักรยาน 30-40 คัน เหมือนนักท่องเที่ยวมาหนึ่งรถบัส ได้จักรยานฟรีปั่นไป มีนักเรียนเป็นมัคคุเทศก์ เด็กได้รับจ็อบ บางทีวันเด็กเราแจกจักรยานเป็นร้อยคันอยู่แล้ว เราขอใหม่มา 40 คันเข้าโครงการนี้ได้ ก็ได้ออกกำลังกาย ได้บรรยากาศ ผ่านไปแต่ละจุดก็สามารถแนะนำได้ ตรงนี้เป็นวัดวันยาวบนนะ สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2100 เป็นวัดเก่าแก่ที่สุดของจังหวัดจันทบุรี ตรงนี้เป็นวัดคริสต์ ตรงนี้เป็นศาลหลักเมือง โรงเจ สถานีตำรวจ ที่ดิน อำเภอ คือแนะนำให้เขาเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ปั่นมาถึงตลาดสด ตลาดสดของเราเป็นตลาดสดน่าซื้อ เทศบาลของเราเป็นเทศบาลที่สะอาดที่สุด ได้รับรางวัลยกย่องจนเขาไม่ให้ส่งประกวดแล้ว เพราะถ้าส่งประกวดคนอื่นเขาไม่ได้ ในเมืองขลุงก็อยู่กันแบบสงบ ไม่มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งอะไร คนขลุงเป็นคนเรียบง่าย เข้ากับคนได้ไม่ยากเท่าไหร่ การแข่งขันก็ไม่สูง การเมืองก็แข่งขันกันไม่สูงเท่าไหร่ เปิดใจรับเรื่องต่างๆ เพื่อเรียนรู้ เรายินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามา

สโลแกนเมืองขลุงคือ “ขลุงเมืองสะอาด ปราศจากมลพิษ เสริมสร้างคุณภาพชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจและการศึกษา ประสานความร่วมมือ ยึดถือความโปร่งใส ใส่ใจประชาชน” งานของเราคือพัฒนาคุณภาพชีวิตและการศึกษา อย่างผู้สูงอายุเราดูแลเขาอย่างดีเลย จากคนที่ไม่เป็นอะไรเลย มาเล่นอังกะลุงได้ จักสาน ทำโน่นนี่ได้ ผู้สูงอายุที่ขลุงมีประมาณพันคนจากประชากรในเขตเทศบาลเมืองขลุงหมื่นหนึ่งพันกว่าคน ประมาณ 10% เราดูแลกัน มีชมรมผู้สูงอายุ ศูนย์พัฒนาผู้สูงอายุ แล้วเราก็พยายามผลักดันด้านการศึกษา จากเทศบาลทั่วไปเขามีป. 6 ม. 3 แต่เราผลักดันให้มีจนถึงม. 6 เพื่อให้คนมาเรียนที่นี่โดยเสียค่าใช้จ่ายน้อย รุ่นแรกที่ผมจำได้เลย มีคนนึงจากเทศบาลขลุงไปสอบเข้าจุฬาฯ ได้ ส่วนใหญ่จะไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี อยู่ใกล้พ่อแม่ ทุ่นค่าใช้จ่าย แล้วในโรงเรียนเทศบาลขลุง 2 แห่ง เราฝึกเด็กให้รู้จักรักษาความสะอาด การเก็บขยะ การคัดแยกขยะ ต้องสอนเขาแต่เล็ก ฝึกคัดแยกขยะตั้งแต่ศูนย์เด็กเล็ก บอกเขาว่าอันนี้เป็นขยะรีไซเคิลนะ อันนี้เป็นขยะใช้ใหม่ได้ เขาก็ติดตัวไปใช้ที่บ้าน

ในฐานะรองนายกฯ เราก็รับฟังประชาชน สิ่งที่ประชาชนต้องการเราต้องทำ โดยทำประชาคมมา 7 อย่าง 10 อย่าง เราก็มาคุยกับเขา เรียงลำดับความสำคัญ เอาเสียงประชาชนเป็นหลักว่าทำสิ่งไหนก่อน ถ้าเรามีงบพอ เราตอบสนองประชาชนก่อน เพราะเรามาเพื่อรับใช้ประชาชน ไม่ได้มาเป็นนายประชาชน แต่สิ่งที่อยากเห็นในฝันคือเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ผมมองทั้งเมืองขลุงเป็นศูนย์เรียนรู้ได้หมด มีเรื่องเล่า เมืองน่าติดตาม และพื้นที่เราเล็ก 3.18 ตารางกิโลเมตร ขี่จักรยานแป๊บเดียวก็รอบเมือง”

วันชัย ทรงพลอย
รองนายกเทศมนตรีเมืองขลุง เทศบาลเมืองขลุง จังหวัดจันทบุรี

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย