‘ยะลาศึกษา’ กับการสร้างหุ้นส่วนสรรค์สร้างเมือง
สนทนากับ อภินันท์ ธรรมเสนา ว่าด้วยการแปลงต้นทุนความหลากหลายและการมีส่วนร่วมสู่เครื่องมือพัฒนาเมืองยะลา

Start
619 views
45 mins read

กับแง่มุมของการพัฒนาเมือง คุณเห็นว่ายะลามีดีอย่างไร?

ผู้ให้สัมภาษณ์: โครงสร้างของเมืองที่ดี มีนโยบายในการพัฒนาเมือง ผู้นำมีวิสัยทัศน์ และรุ่มรวยด้วยทุนทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

แล้วยะลายังขาดอะไร? เราถามต่อ

ผู้ให้สัมภาษณ์หยุดคิดหนึ่งอึดใจ: ผู้คนยังไม่ตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในเมืองนัก ขาดการมีส่วนร่วม และแม้เมืองจะมีพร้อมด้วยสถาบันการศึกษาในทุกระดับ หากอ้างอิงจากงานวิจัย ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในเมืองก็อยู่ในระดับต่ำ สวนทางกับความพร้อมที่มี

เหล่านี้คือสิ่งที่ อภินันท์ ธรรมเสนา นักวิจัยจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรประมวลให้เราฟัง หลังจากเขาใช้เวลามากกว่าหนึ่งปีลงพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้ที่นี่

‘ยะลาเมืองแห่งการเรียนรู้: กระบวนการสร้างสรรค์เมืองแบบมีส่วนร่วมบนความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม’ คือชื่อโครงการที่ต้นสังกัดของอภินันท์ได้รับทุนจาก บพท. เพื่อขับเคลื่อนในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองยะลา โดยมีเขาเป็นหัวหน้าชุดโครงการ  

“ใจความสำคัญของโครงการคือการสร้างหุ้นส่วนพัฒนาเมือง ผ่านการชวนให้ผู้คนเรียนรู้ต้นทุนของเมืองและการมีส่วนร่วม เพื่อให้ทุกคนร่วมเป็นกลไกในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาเองบนฐานแนวคิดของการเรียนรู้ตลอดชีวิต” นักวิจัยหนุ่มอธิบายภาพรวมของโครงการโดยสังเขป

ทั้งนี้ อภินันท์ได้ออกแบบโครงการย่อยที่หนุนเสริมเป้าหมายของโครงการได้ 3 ส่วน ดัง 3 พารากราฟล่าง

ส่วนแรก การศึกษาต้นทุนทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการย่อยที่ 1 “ยะลาศึกษา: ความหลากหลายของผู้คน ชุมชน และวัฒนธรรม และโครงการย่อยที่ 2 “โครงการวิจัยยะลาศึกษา: ความหลากหลายทางชีวภาพ”

ส่วนที่สองการออกแบบพื้นที่เรียนรู้ด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วม ผ่านโครงการวิจัยย่อยที่ 3 “ยะลาเมืองแห่งการเรียนรู้: การพัฒนาต้นแบบพื้นที่การเรียนรู้เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตและบูรณาการการเรียนรู้ในบริบทชีวิตจริงสำหรับทุกคน”  (ผลสัมฤทธิ์ของโครงการนี้ ยังรวมถึงการเกิดขึ้นของงานยะลาสตอรี่ เทศกาลบอกเล่าเมืองยะลาในแง่มุมที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อ่านเพิ่มเติมได้ใน “สำรวจ ‘ยะลา’ เมืองแห่งการเรียนรู้ จากต้นธารอาหารสู่ต้นทุนผังเมืองและพหุวัฒนธรรม)

และส่วนสุดท้ายเป็นการถอดบทเรียนการทำงานเพื่อวางแนวทางในการการสร้างกลไกความร่วมมือระดับเมือง ผ่านโครงการวิจัยย่อยที่ 4 “เครือข่ายทางสังคมกับการพัฒนาเมืองยะลาสู่เมืองแห่งการเรียนรู้”

“อย่างที่บอกไปว่ายะลามีต้นทุนที่ดีพร้อมอยู่แล้วครับ ถ้าไม่ได้มองในสิ่งที่ขาด เมืองก็สามารถขับเคลื่อนต่อได้ แต่ในทางกลับกัน ถ้าเติมสิ่งที่ขาด ผมมองว่าเมืองจะพัฒนาตอบโจทย์ผู้คนมากกว่านี้ เป็นเมืองที่น่าอยู่ของทุกคนมากกว่านี้” อภินันท์ กล่าว

WeCitizens สนทนากับนักวิจัยจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรและหัวหน้าโครงการยะลาศึกษาท่านนี้ โดยขอให้เขาช่วยขยายความสิ่งที่เมืองขาด โอกาส และการพัฒนาเมืองยะลาสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ผู้คนอย่างยั่งยืน มาดูกัน

///

เราทราบว่าคุณไม่ใช่คนในพื้นที่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรก็ด้วย จึงอยากทราบความเป็นมา ว่าคุณเข้ามาทำโครงการนี้ได้อย่างไร

อาจารย์แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง รองผู้อำนวยการ สกสว. เป็นผู้มอบหมายให้ทางศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรรับทุนจาก บพท. มาขับเคลื่อน อาจารย์แพรพื้นเพเป็นคนจังหวัดยะลา ขณะเดียวกันอาจารย์ก็มีงานวิจัยเรื่องทักษะทางวัฒนธรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทำอยู่กับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรมาก่อนแล้วหลายปี  

โครงการทักษะทางวัฒนธรรมมีเป้าหมายให้ผู้คนในสามจังหวัดชายแดนใต้ มีทักษะทางวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติผ่านการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ที่ผ่านมาเราทำวิจัยเรื่องนี้ร่วมกับสถาบันการศึกษาในระดับชุมชน เป็นการเพิ่มทักษะนี้แก่คุณครูเพื่อนำไปสอนแก่นักเรียน โดยเรามีแผนการที่จะขยายผลการวิจัยไปติดตั้งในกลไกปกครองส่วนท้องถิ่น พอดีกับจังหวะที่ บพท. ขับเคลื่อนโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเปิดโอกาสให้คณะนักวิจัยได้ทำร่วมกับเทศบาลเมืองยะลา ก็เป็นการประจวบเหมาะที่เราจะสร้างกลไกร่วมกับภาครัฐไปพร้อมกัน

หมายถึงสร้างกลไกในการเสริมทักษะทางวัฒนธรรมไปพร้อมกับการขับเคลื่อนให้ยะลาเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้

ใช่ครับ ทักษะทางวัฒนธรรมเราครอบคลุม 3 จังหวัด แต่โครงการยะลาเมืองแห่งการเรียนรู้พุ่งเป้าไปที่เขตเทศบาลเมืองยะลา โดยเน้นไปที่การเรียนรู้ต้นทุนทางความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชีวภาพ แม้จุดประสงค์จะต่างกัน แต่ปลายทางก็คล้ายกัน คือไม่ว่าเราจะเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ หรือเรียนรู้เพื่อรู้จักต้นทุนของเมืองเราเอง สิ่งเหล่านี้มันจะนำไปสู่กลไกการพัฒนาเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองเหมือนกัน

ทุกคนทราบดีว่าเมืองแห่งการเรียนรู้ เกี่ยวพันกับเรื่องการศึกษาผู้คน สังคม และวัฒนธรรม แต่เราสนใจงานวิจัยย่อยของคุณ ที่มีการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพด้วย อยากให้ขยายความตรงนี้หน่อย

ผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกันอย่างไม่อาจแยกขาด เพราะพื้นที่ไหนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม พื้นที่นั้นก็ต้องมีความหลากหลายทางชีวภาพด้วย ถ้าเราทำเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้ การเรียนรู้แค่วัฒนธรรมในเมืองอย่างเดียว คงไม่ตอบโจทย์อะไร และที่สำคัญโจทย์ที่แท้จริงของการเรียนรู้คือการค้นหาต้นทุนของเมืองยะลา พอพูดถึงความหลากหลายทางชีวภาพอาจจะฟังดูเป็นการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ แต่จริงๆ แล้วมันก็คือทุนทางกายภาพ สิ่งที่ธรรมชาติสร้างให้เรา ผู้คนในเมือง สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ เหล่านี้คือต้นทุนที่เมืองนี้มี และมีความอุดมสมบูรณ์ด้วย

แล้วทุนทางวัฒนธรรมล่ะ คุณเห็นอะไรในพื้นที่

การผสมผสานแบบพหุวัฒนธรรมเป็นจุดเด่นมากๆ ของยะลา สิ่งนี้เกิดจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ภูมิประเทศที่อยู่คาบสมุทร มีลักษณะเป็นเมืองศูนย์กลางของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการไหลบ่าและหมุนเวียนของผู้คนตั้งแต่อดีต มีชาติพันธุ์พื้นถิ่นอย่างโอรังอัสลี ชาวจีน ชาวมุสลิม ชาวซิกข์ กระทั่งชาวอินเดีย ตรงนี้แหละที่ทำให้เกิดการผสานวัฒนธรรมอันเป็นต้นทุนสำคัญของเมือง หรืออย่างการเป็นศูนย์กลางการศึกษาเช่นที่หลายคนนิยามที่นี่ว่าเป็นตักศิลาทางการศึกษาของภาคใต้ตอนล่าง แต่ทีนี้พอยะลาเกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้น ทุนแบบนี้ก็พลอยหายไปหมด เราเห็นว่าสิ่งนี้เป็น pain point ของเมือง การทำวิจัยเพื่อค้นหาความหลากหลายทางวัฒนธรรม ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้

แล้วจากการที่คุณไม่ใช่คนในพื้นที่ ได้พบข้อจำกัดในการทำงานที่ต้องลงไปคุยกับคนพื้นที่บ้างไหม

ข้อจำกัดหลักๆ น่าจะเป็นสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปี 2564 ที่เราเริ่มงานวิจัยมากกว่าครับ เพราะอันที่จริงทีมวิจัยเราทั้งอาจารย์ฤทธิรงค์ จิวากานนท์ และอาจารย์วรานุช ชินวรโสภาค หัวหน้าโครงการย่อยที่ 1 และที่ 3 ล้วนเป็นคนพื้นเพที่นี่ โดยอาจารย์วรานุชก็เป็นนักวิจัยในโครงการทักษะทางวัฒนธรรมที่ทำงานร่วมกับอาจารย์แพรอยู่ก่อนแล้วด้วย จึงมีความคุ้นเคยและเข้าใจบริบทในพื้นที่อย่างดี หรืออาจารย์ศุภราภรณ์ ทวนน้อย และอาจารย์ธนกร จันทสุบรรณ ที่ดูแลโครงการย่อยที่ 2 ก็เป็นอาจารย์ที่ ม.อ.ปัตตานี ซึ่งก็ใกล้ชิดกับพื้นที่นี้อยู่แล้ว

ในส่วนของผม การเป็นคนนอกก็อาจมองว่าเป็นข้อจำกัด แต่ถ้ามองอีกมุม การมีสายตาแบบคนนอกที่มาทำงานในพื้นที่ ก็ทำให้เราเห็นศักยภาพที่น่าสนใจของเมืองมากมายในแบบที่คนในท้องที่อาจมองข้ามมันไป เช่นบางอย่างคนยะลาอาจคุ้นชินจนไม่เห็นว่ามันน่าสนใจอย่างไร แต่เรากลับตื่นตากับเรื่องนี้มาก เราเห็นถึงความเฉพาะตัวของเมือง เห็นถึงโอกาส และข้อจำกัดบางประการ

อะไรคือข้อจำกัดในสายตาคนนอกที่คุณเห็น

เช่นเรื่องการบริหารสั่งการ ยะลามีสาธารณูปโภคที่ดี นโยบายที่ดี และมีนายกเทศมนตรีที่มีวิสัยทัศน์และมีความสามารถมาก ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ในทางกลับกันเมื่อทุกคนเห็นว่านายกฯ เก่ง ทุกคนจึงไปฝากความหวังไว้ที่ท่านคนเดียว กลายเป็นว่าไม่ว่าจะมีงานอะไร ทุกคนก็ยกให้ท่านทำ ตรงนี้แหละที่ทำให้เราเห็นว่ากระบวนการการมีส่วนร่วมของเมืองเกิดขึ้นน้อยมาก พอผู้นำเก่ง คนยะลาส่วนหนึ่งก็คิดว่าฉันอยู่เฉยๆ ให้ท่านทำไป เดี๋ยวทุกอย่างก็ดีเอง พอผมลงพื้นที่สอบถามคนในยะลาว่ามีปัญหาอะไรไหม เขาก็บอกว่าไม่มี เรียบร้อยดีทุกอย่าง

เขาอาจมองว่านั่นไม่ใช่ปัญหา

แต่เราเห็นมันจากสายตาคนนอก ยะลามีผู้บริหารเก่ง และมีกลุ่มคนทำงานด้านพัฒนาสังคมไม่น้อย แต่พอขาดกระบวนการการมีส่วนร่วม เมืองก็ขาดแพลตฟอร์มกลางที่เชื่อมให้ทุกคนได้ทำงานร่วมกัน ซึ่งถ้าไม่มีงานยะลาสตอรี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลลัพธ์ของงานวิจัยเรื่องการสร้างพื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้ของโครงการย่อยที่เราทำ เราก็อาจจะไม่รู้เลยว่ายะลามีคนรุ่นใหม่ทำงานสร้างสรรค์อะไรบ้าง มีผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาอะไรใหม่ หรือมีทรัพยากรอะไรบ้างที่ตกสำรวจไป เป็นต้น

แล้วนอกจากเห็นว่าเมืองขาดการมีส่วนร่วม ภายหลังจากจัดงานยะลาสตอรี่ คุณเห็นโอกาสในการจัดการข้อท้าทายเรื่องนี้อย่างไร

อันนี้เป็นสิ่งที่ผมพบระหว่างลงพื้นที่และก่อนจัดงาน ทีมวิจัยรวมถึงคนในพื้นที่ที่เราร่วมงานด้วย ต่างเห็นตรงกันว่าทุนวัฒนธรรมนี่แหละที่เป็นตัวเชื่อมที่มีประสิทธิภาพ ด้วยข้อได้เปรียบของยะลาคือเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่อยู่รวมกันในเมืองขนาดเล็ก ทุกคนจึงแทบรู้จักกันหมด และมีประสบการณ์และความทรงจำร่วมกัน เช่นที่เราเลือกพื้นที่โรงแรมเมโทรในการจัดงาน ก็เพราะว่าโรงแรมและย่านสายกลางที่โรงแรมตั้งอยู่เป็นย่านเศรษฐกิจเก่าแก่ที่ทุกคนล้วนมีความทรงจำร่วม จึงเชื่อมร้อยคนต่างวัยและต่างวัฒนธรรมให้เข้าหากันได้ง่าย และก็อย่างที่บอกว่ายะลาเป็นเมืองเล็ก พอยะลาสตอรี่มันฉายภาพให้ทุกคนเห็นว่าใครทำอะไรและมีศักยภาพอย่างไร ทุกอย่างจึงต่อติดกันได้เร็ว เพราะส่วนใหญ่ก็รู้จักหรือเคยเห็นหน้าค่าตากันอยู่แล้ว แค่ไม่รู้ว่าแต่ละคนทำอะไร

อีกโอกาสที่ผมเห็นหลังงานนี้แล้วเสร็จ คือการที่ผู้คนตระหนักได้เองว่าเราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเมืองได้ เพราะอย่างที่ผ่านมา เทศบาลเมืองยะลาเขาทำไว้ได้ดีอยู่แล้ว แต่โดยมากจะเป็นรูปแบบของเทศบาลคิดและทำมอบให้ประชาชน เช่น โครงการทำสตรีทอาร์ทใจกลางเมือง แต่กับยะลาสตอรี่มันขับเคลื่อนให้ประชาชนไม่ได้อยู่ในบทบาทแค่คู่ร่วมงาน แต่เป็นคู่สร้างงานของรัฐต่อไปได้

ให้ประชาชนร่วมเป็นเจ้าภาพร่วมพัฒนาเมืองกับรัฐ

ใช่ๆ อันนี้คือกลไกที่เราต้องการเห็น ซึ่งเราก็ดีใจนะที่ได้บอล (เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์ Soul South Studio) และทีมงาน และที่สำคัญคือน้องๆ เยาวชนที่ร่วมจัดงานยะลาสตอรี่มาร่วมกันกับเรา เพราะอย่างที่บอกเราเป็นคนนอก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรก็เป็นคนนอก เมื่อเราทำงานวิจัยเสร็จ เราก็ต้องออกจากที่นี่ไป สิ่งสำคัญคือการติดตั้งกลไกให้ผู้คนในเมืองขับเคลื่อนได้ต่อเอง ซึ่งทางบอลเขามีความตั้งใจอยู่แล้ว และมีศักยภาพสูงมาก  

แล้วทางโครงการมีการวางกลไกให้สิ่งที่เริ่มไว้ขับเคลื่อนต่อได้เองอย่างไรบ้าง

ผมมองไว้ 3 จุด จุดแรกคือการสร้างเยาวชนให้เป็นผู้เล่นหลักในการพัฒนาเมืองในอนาคต ซึ่งเราได้เริ่มไว้แล้วผ่านกิจกรรมอบรมเยาวชนจนเกิดเป็นยะลาสตอรี่  

จุดที่สอง คือการส่งต่องาน เราพบว่ายะลามีนักวิจัยที่ทำงานเรื่องพัฒนาเมืองอยู่แล้ว อย่างล่าสุด อาจารย์เกสรี ลัดเลีย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ก็เพิ่งได้รับทุน บพท. มาทำเรื่องการท่องเที่ยวเชิงพหุวัฒนธรรม ทางเราก็พร้อมส่งต่อข้อมูลของเรานี้ให้ทางทีมวิจัยของอาจารย์ไปขับเคลื่อนต่อ   

และจุดที่สาม จริงๆ ตอนนี้อาจยังไม่ค่อยชัดนัก แต่เป็นความคาดหวังของเราตั้งแต่แรก คือการสร้างกลไกในภาคธุรกิจให้มีความเชื่อมต่อกัน กล่าวคือเราจะทำให้นักธุรกิจในเมืองมาร่วมกันมีส่วนขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองได้อย่างไร

ที่บอกว่าการสร้างกลไกในภาคธุรกิจยังเห็นไม่ชัดนัก อะไรคือปัญหาที่ทำให้ภาพยังไม่ชัด

เราถอดประเด็นออกมาได้ว่า หลังจากยะลาประสบเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อสิบกว่าปีก่อน ผู้ประกอบการในเมืองที่เคยเป็นเครือข่ายอันเข้มแข็งก็ต่างกระจัดกระจาย ถอยออกจากเมืองกันพักใหญ่ แล้วพอทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ ผู้ประกอบการหลายคนกลับเข้ามาในเมือง แต่ความร่วมมือแบบเดิมก็กลับเลือนหายไป ซึ่งต้องใช้เวลาฟื้นกลับมาใหม่ เพราะผู้ประกอบการยังขาดความเชื่อมั่น เรามองว่าถ้าเวลาผ่านไปและความมั่นใจตรงนี้กลับมา ความคิดเรื่องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองก็จะงอกเงยตาม อย่างไรก็ดี เราก็ได้พยายามฝังกลไกนี้ผ่านนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่พยายามดึงเข้ามาร่วมงาน และให้เขาเห็นว่ามันมีโอกาส

และจุดที่สำคัญอีกเรื่อง คือการทำให้เทศบาลเห็นงานนี้ และรับเอาเรื่องนี้ไปเป็นนโยบายระดับเทศบาลให้ได้ ซึ่งผมมองว่ามีแนวโน้มที่ดี เพราะทางนายกเทศมนตรีท่านก็มีความคิดจะจัดงานในทำนองยะลาสตอรี่อีกในปีหน้า กลไกตรงนี้ก็น่าจะจุดติดประมาณหนึ่ง

นอกจากคุณเป็นหัวหน้าชุดโครงการ คุณยังเป็นหัวหน้าโครงการย่อยที่ 4 คือการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ข้อเสนอที่ว่าคืออะไร

ข้อเสนอการพัฒนายะลาให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้โดยการมีส่วนร่วมจากคนรุ่นใหม่ ซึ่งเราก็ได้ร่วมกับเทศบาลในการติดตั้งกลไกเชื่อมต่อระหว่างผู้ใหญ่กับเยาวชน ทั้งการติดตั้งกลไกการศึกษาในระบบ ผ่านการจัดทำหลักสูตรยะลาศึกษาในโรงเรียนของเทศบาล และกลไกนอกห้องเรียน ผ่านการสร้างและส่งเสริมเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่ให้พวกเขาได้ร่วมงานกัน อันนำมาสู่บรรยากาศของการเรียนรู้นอกห้องเรียน

ซึ่งตรงนี้เราคิดว่าจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาอีกเรื่องของยะลาได้คือผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในยะลายังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็นได้ด้วย เพราะถ้าเยาวชนรู้จักตัวเอง รู้จักต้นทุนของตัวเอง และเข้าถึงโอกาสในการต่อยอดความชอบของตัวเองนอกชั้นเรียน สิ่งนี้มันไปหนุนเสริมภาพรวมทางการศึกษาของเมืองได้จริง

นอกจากนี้ การสร้างกลไกให้เอกชนเข้ามามีส่วนในการพัฒนาเมืองก็สำคัญ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล นายกเทศมนตรีเห็นด้วย ท่านมองตรงกับเราว่าจริงๆ แล้วผู้เล่นหลักในการกำหนดทิศทางและพัฒนาเมืองคือประชาชน ส่วนหน่วยงานรัฐมีหน้าที่คือการอำนวยความสะดวกและหนุนเสริมให้การพัฒนาเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

และเท่าที่คุยกันท่านก็มีแผนทำโครงการที่ดึงเยาวชนและผู้ประกอบการมาร่วมขับเคลื่อนเมือง สร้างจิตสำนึกของการเป็นเจ้าของเมืองร่วมกัน ไปจนถึงการพัฒนา TK Park ของเมืองให้มี Future Lab ซึ่งเป็นพื้นที่ให้เยาวชนมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองต่อไป เราคิดว่าเหล่านี้เป็นความหวังที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้จริง การได้เห็นประชาชนเป็น ‘หุ้นส่วน’ ของรัฐ ในการขับเคลื่อน พัฒนา หรือแก้ปัญหาของเมืองเมืองนี้ไปพร้อมกัน

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย