/

“อย่างขอนแก่นนี่เมืองแคนใช่ไหม ร้อยเอ็ดก็มีโหวด ส่วนกาฬสินธุ์ เราก็มีโปงลางเป็นสัญลักษณ์”

Start
253 views
16 mins read

“จริงๆ โปงลางไม่ใช่เครื่องดนตรีของกาฬสินธุ์ครับ มีเครื่องดนตรีที่คล้ายๆ กับโปงลางอยู่ทั่วโลก อินเดียนแดงที่อเมริกาเขาก็มีเหมือนกัน อินโดนีเซียหรือเวียดนามก็มี แค่เรียกชื่อต่างกัน โดยเฉพาะในอีสานเรามีกันทุกจังหวัด

แต่ที่คนส่วนใหญ่จดจำโปงลางว่าเป็นของกาฬสินธุ์ เพราะครูเปลื้อง ฉายรัศมี ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านอีสาน) ซึ่งเป็นคนกาฬสินธุ์ได้พัฒนาเครื่องดนตรีชนิดนี้ขึ้นมา และพ่อประชุม อินทรตุล เพื่อนของพ่อผม ได้นำโปงลางมารวมวงกับพิณและแคนเป็นวงแรกออกจัดแสดงสู่สาธารณะ และตั้งชื่อวงว่า ‘โปงลางกาฬสินธุ์’ จึงกลายเป็นที่จดจำจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด อย่างขอนแก่นนี่เมืองแคนใช่ไหม ร้อยเอ็ดก็มีโหวด ส่วนกาฬสินธุ์ เราก็มีโปงลางเป็นสัญลักษณ์

และจากนั้นก็กลายเป็นธรรมเนียมว่าทุกโรงเรียนในกาฬสินธุ์จะมีวงดนตรีโปงลาง โดยทุกปีก็จะมีการประกวดวงโปงลาง รวมถึงการเล่นโปงลางพร้อมกันเป็นร้อยๆ คน จนเกิดเป็นงานมหกรรมโปงลางที่จัดขึ้นพร้อมงานกาชาดของจังหวัดในทุกปี  

แต่ก่อนผมไม่สนใจจะเล่นโปงลางเลย ตามประสาวัยรุ่น ก็เป็นนักดนตรีวงสตริงโดยเล่นกีตาร์เป็นหลัก แต่เผอิญพ่อผมเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนและก็มีวงโปงลางของโรงเรียน ตอนนั้นขาดสมาชิกอยู่ ความที่ผมเล่นดนตรีได้ทุกประเภท และก็คุ้นชินกับดนตรีอีสานที่ฟังมาแต่เด็ก เลยไปช่วยเขาเล่นพิณเบส จึงเริ่มซึมซับมา แต่ไม่คิดจริงจังอะไร จนเรียนจบและได้มาเป็นครูสอนศิลปะและดนตรีที่โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์เมื่อราวปี 2529 นี่แหละ

โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์เป็นโรงเรียนประจำจังหวัด และตอนนั้นโปงลางเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างแล้ว พ่อผมก็บอกว่าครอบครัวเราทำโปงลาง ทำไมผมไม่ไปทำให้โรงเรียนบ้าง จากที่คิดแต่จะทำวงโยธวาทิตและวงสตริง ซึ่งก็ทำได้เรื่อยๆ ผมก็เลยลองมาโฟกัสกับวงโปงลางดู ปรากฏว่ามันดัง กลายเป็นว่าจังหวัดมีงานอะไร เขาก็ให้วงที่ผมดูแลไปจัดแสดง พอเราสอนเด็กๆ มากๆ เข้าก็ผูกพันกับโปงลาง ขณะเดียวกันหน้าที่การงานในฐานะครูสอนโปงลางก็ผูกโยงกับจังหวัดมาตั้งแต่นั้น  


หลังเกษียณ ผมก็รับงานอาสาสมัครด้านการสอนโปงลางเรื่อยมา ไปสอนที่อเมริกาอยู่หนึ่งปี และกลับมาจัดอบรมเรื่องโปงลางแก่เด็กๆ ที่กาฬสินธุ์ รวมถึงสถาบันการศึกษาอื่นๆ ทั่วประเทศ ก็เลยมีลักษณะเหมือนที่ปรึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมและดนตรีของเมืองนี้ไปโดยปริยาย โดยหลังจากมีการย้ายศาลากลางออกไปนอกเมือง ตอนแรกทางจังหวัดยังไม่มีแผนจะทำอะไรกับอาคารหลังเก่าดี เขาก็ชวนให้ผมใช้พื้นที่เปิดสอนศิลปะและดนตรีแก่เด็กๆ ตรงนี้ทุกสัปดาห์ เป็นโครงการ ‘จับปูใส่กระด้ง’ จนต่อมา เทศบาลได้พื้นที่นี้ไปรับผิดชอบ ก็สรุปว่าจะปรับปรุงเป็นหอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์ ผมก็ถูกชวนให้มาเป็นประธานกรรมการ

จะว่าไปหอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์ ก็มีที่มาส่วนหนึ่งจากโครงการจับปูใส่กระด้ง เพราะจากที่ผมรับหน้าที่จัดกิจกรรมแก่เด็กๆ ผมก็ชวนศิลปินในบ้านเรานี่แหละมาสลับสับเปลี่ยนเป็นวิทยากร ก็พบว่าเมืองเรามีศิลปินหลากแขนงอยู่เยอะมาก ที่สำคัญเด็กๆ ก็สนใจเรียนศิลปะด้วย พอเทศบาลฯ ได้พื้นที่ ผมกับกลุ่มเพื่อนศิลปินก็ลองเสนอไปว่าเราน่าจะทำพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย เพราะเมืองเรามีศิลปินเยอะ และศิลปินแต่ละคนก็มีเครือข่ายศิลปินทั่วประเทศรวมถึงต่างประเทศด้วย ตรงนี้จะกลายเป็นพื้นที่จุดประกายทางศิลปะแก่คนกาฬสินธุ์ แถมยังดึงดูดคนจากจังหวัดต่างๆ มาเยี่ยมชมได้

นายกเทศมนตรี (จารุวัฒน์ บุญเพิ่ม) ก็เห็นดีด้วย จึงจัดสรรงบประมาณมาบูรณะ และจัดหาบุคลากรมาบริหารจัดการ ส่วนเราก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการ คอยจัดหาผลงานมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการโดยจะหมุนเวียนงานหนึ่งไม่เกิน 2 เดือน นั่นจะทำให้คนที่นี่ได้ดูนิทรรศการศิลปะจากศิลปินไทยและนานาชาติอย่างน้อยๆ ก็ปีละ 6 งาน

ถ้าถามผม ผมก็มองว่ากาฬสินธุ์เราเด่นเรื่องศิลปะและโปงลางนี่แหละครับ เรามีช่างศิลป์เก่งๆ ที่ไปทำงานที่วัดต่างๆ ทั่วประเทศ ส่วนศิลปินร่วมสมัยก็มีงานไปแสดงต่างประเทศไม่น้อย ส่วนโปงลางนี่ไม่ต้องพูดถึง เด็กๆ หลายคนทำวงโปงลางไปรับจ็อบแสดงงานตามที่ต่างๆ สร้างรายได้เสริมมากมาย และอย่างที่บอก เรามีมหกรรมโปงลางที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ

แต่ผมบอกคุณไม่ได้หรอกว่าเราควรขับเคลื่อนเมืองกาฬสินธุ์ไปในทิศทางใด คนที่บอกคุณได้คือชาวบ้าน ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้คุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดหลายคน แต่ละคนมา แกก็จะเรียกคนเก่าแก่ คนที่ทำงานด้านนี้มาคุย เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวจังหวัด บางคนก็เอาไดโนเสาร์ บางคนคิดจะทำกระเช้าจากภูกุ่มข้าวไปภูสิงห์ บางคนไปโฟกัสที่พระธาตุยาคู หรือทำโคมไฟจำลองวัดดังๆ ของจังหวัด แล้วพอหมดวาระ พวกเขาก็ไปประจำที่อื่น คือทุกคนต่างมีไอเดียของเขา แต่เขาไม่เคยถามคนกาฬสินธุ์จริงๆ เลยว่าคนที่นี่ต้องการอะไร ผมจึงตอบคำถามนี้ไม่ได้ นอกจากให้คุณไปถามชาวบ้านเองดีกว่า

ซึ่งนั่นล่ะ ผมอายุ 70 ปีแล้ว ผมก็ช่วยเมืองเท่าที่ช่วยได้ เท่าที่ความสามารถผมจะมี แต่ไม่อาจไปชี้นำคนรุ่นหลังได้หรอก ก็อยากฝากหน่วยงานรัฐทุกหน่วยว่าจะทำอะไร ก็ควรให้ชาวบ้านมามีส่วนร่วมเยอะๆ ไม่ใช่ว่าเราคิดจากของเราฝ่ายเดียว และเหมารวมไปเองว่าชาวบ้านเขาจะเห็นดีด้วย”  

ธงชัย คำโสภา
ศิลปินพื้นบ้านและประธานอนุกรรมการดำเนินงานหอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์
Facebook: หอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย