/

อาหารแต่ละบ้านอาจจะทำเหมือนกันแต่รสชาติไม่เหมือนกัน แล้วแต่รสมือของแต่ละบ้าน เราอยากให้คนต่างถิ่นเข้ามารู้

Start
339 views
14 mins read

“ผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านตะปอนน้อยมี 2 งาน คืองานฝีมือ กับงานแปรรูปสินค้าทางการเกษตรซึ่งแปรรูปจากผลไม้ท้องถิ่นของเราเอง คือเรามีปัญหาว่า ในช่วงที่ผลไม้เยอะ อย่างมังคุดนี่เหลือแค่กิโลละ 4 บาทเท่านั้น เลยปรึกษากับอาจารย์ที่มทร.จันทบุรี (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี) ว่าสกัดน้ำมังคุดไว้แต่ไม่รู้เอาไปทำอะไรได้อีก อาจารย์แนะนำให้ทำน้ำจิ้มสุกี้ มีองค์ความรู้ที่ทำไว้แล้ว ก็เอามาทำ พอเข้าโครงการของ U2T (โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ – 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ก็พัฒนาไปถึงขั้นขออย.ได้ ตอนนี้เรามีน้ำจิ้มสุกี้รสผลไม้จากมะละกอ ลองกอง สับปะรด มังคุด ใช้ความเปรี้ยวจากน้ำมะปี๊ด ซึ่งทุกสวนปลูกกันอยู่แล้ว ไม่ใช้น้ำส้มสายชู อย่างมังคุดเราก็สกัดแต่น้ำ ไม่ได้ผสมน้ำเปล่าเลย เอามาผสมกับเครื่องปรุง ไม่ใส่ผงชูรสหรือสารให้ความหนืดอะไร ใช้การสเตอริไลซ์ อยู่ได้ 1 ปี

งานแปรรูปอีกอย่างที่เราภูมิใจคือ หมูชะมวงเส้น คือแกงหมูชะมวง เป็นอาหารพื้นบ้านของจังหวัดจันทบุรี เป็นอาหารที่ทำในงานบุญ หากินยาก ปัจจุบันมีการแปรรูปใส่กระป๋อง แต่ของเราใส่นวัตกรรมเข้าไปด้วย คือจากที่เป็นน้ำ เรามาทำเป็นอาหารแห้ง เพราะเจอปัญหาว่า เวลามีลูกค้ามาจากต่างจังหวัด เขาอยากซื้อกลับไปกิน แต่มันเป็นน้ำ แล้วตอนแรกลูกสาวไม่ยอมกินหมูชะมวงเลย เขาเห็นสี เห็นหมู ดูน่าจะเผ็ด แต่ลูกสาวชอบกินหมูเส้น เราเลยลองเอามาทำเป็นหมูชะมวงเส้น เป็นของกินเล่น เด็กๆ กินได้ เข้าถึงวัยได้มากขึ้น และสามารถฉีกกินที่ไหนก็ได้ ทำตอนแรกเจอปัญหา น้ำมันออกมาเยอะ เลยเข้าไปในกระบวนการพัฒนาของเครือข่าย KBO จังหวัด (เครือข่ายองค์ความรู้ Knowledge-Based OTOP) ได้ความรู้มาปรับปรุง แล้วก็อยากได้ความกรอบมากกว่านี้ เลยเข้าไปหาอาจารย์เดือนรุ่ง (ผศ.เดือนรุ่ง เบญจมาศ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี) ซึ่งมีแล็บตรวจวัดความชื้น ให้คำปรึกษา ก็ได้ปรับปรุงอีกเพื่อให้เก็บได้นานขึ้น ไม่เหม็นหืน น่าจะอยู่ได้ 3 เดือน เราก็ขายในเพจของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านตะปอนน้อย แล้วก็ไปออกบูท เนื่องด้วยเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ยังไม่มีใครรู้จัก มีลูกค้าซื้อไปกินแล้วบอกทำไมเปรี้ยว เราก็ต้องอธิบายให้ฟังว่า เปรี้ยวเพราะรสชาติของใบชะมวงเอง แล้วเราใส่น้ำมะขามไปกับเนื้อ มันก็เปรี้ยว ไม่ใช่เปรี้ยวเพราะเสีย

สมาชิกกลุ่มมี 21 คน ปกติทำสวนเป็นหลัก แล้วก็มีงานฝีมือบ้าง ทำน้ำพริกขายในชุมชน เราก็รวบรวมเป็นกลุ่มไปจดทะเบียนเป็นโอทอป เอาไปขายด้วยกันแล้วแบ่ง 5% เข้ากลุ่ม แรกๆ ก็ทำสบู่ คนมาเที่ยวเยอะ ขายได้ พอไม่มีนักท่องเที่ยวก็ขายไม่ได้ แล้วช่วงฤดูเก็บผลไม้จะไม่มีใครมาทำตรงนี้เลย แค่เรียกมาประชุมก็ไม่ว่าง ยุ่งในสวน แต่ก็ตั้งเป้าหมายของกลุ่มว่า หนึ่งปีอย่างน้อยต้องออก 3 ผลิตภัณฑ์ใหม่ บางทีออกไปไม่ตรงใจลูกค้า ก็ต้องคิดใหม่ อย่างหมูชะมวงเส้น เราทำมา 1 ปี ตอนหลังก็มีกะหรี่ปั๊บไส้หมูชะมวง แคบหมูรสหมูชะมวง น้ำพริกที่ทอดหมูชะมวงก็เอาไปคลุกแคบหมู เราดูว่ากลุ่มเรามีอะไร สมาชิกเขาทำเห็ดนางฟ้า เราก็เอามาทำเห็ดรสหมูชะมวง

ตะปอนนี่ดีมากเลยนะ ทั้งวัฒนธรรมทั้งอะไร เราไม่ใช่คนที่นี่นะ เป็นคนลำปาง มาเจอแล้วแบบหลงใหล ปีแรกที่มา เขาจัดเทศกาลท่องเที่ยวเมืองรอง จัดเต็มทั้งถนนอาหาร การแสดงแสงสีเสียงตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากจนกลายมาเป็นหมู่บ้านตรงนี้ คือเราขนลุก เหมือนย้อนไปอยู่ ณ ตรงนั้น รู้สึกมหัศจรรย์ ตอนนั้นคนมาดูเป็นคนแถวหมู่บ้านในตะปอนนี่แหละ ยังเสียดายถ้าคนต่างชาติได้มาดูจะอะเมซิ่งมาก เพราะประเพณีแห่เกวียนพระบาท ก่อเจดีย์ทราย เขารักษาไว้ได้ดี มีกลุ่มเข้มแข็งที่เขาอยากรักษาประเพณีให้ไม่สูญหาย เขาเต็มใจมาทำกิจกรรมกันจริงๆ แต่ถ้าเป็นหน้าผลไม้จะไม่มีใครมา คิดว่าถ้ามีจุดที่เป็นพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง เหมือนจำลองวิถีชีวิต มีการแสดงให้เขาเห็น หรือมีพื้นที่ตรงกลาง ไม่ต้องเป็นถึงพิพิธภัณฑ์ก็ได้ อาจจะเป็นสื่อเรียนรู้หรือจุดให้สแกนดูข้อมูล ในช่วงที่เราไม่อยู่นักท่องเที่ยวก็สามารถมาเรียนรู้จากตรงนี้ได้ เราเป็นวิสาหกิจชุมชน ก็พยายามหาจุดที่ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วมีอะไรที่เรียนรู้ หนึ่งคือไม่มีโรงเรือน เราใช้สถานที่วัดตะปอนน้อยให้คนมาดูงาน แล้วกราบไหว้ตรงโบสถ์ ถ้าโบสถ์บูรณะ ก็ให้ขึ้นไปไหว้บนศาลา ไหว้พระบาทผ้า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีชักเย่อเกวียนพระบาท ผลไม้ก็เริ่มออก ทุเรียนก็เป็นต้นฤดู มางานเทศกาล งานวันไหล ได้ผลไม้ไปด้วย เขาจัดผลไม้ใส่เรือพายไว้ให้กินเลย มีประเพณีอาหารพื้นถิ่น ร้อยรสพันอย่าง คืออาหารแต่ละบ้านอาจจะทำเหมือนกันแต่รสชาติไม่เหมือนกัน แล้วแต่รสมือของแต่ละบ้าน เราอยากให้คนต่างถิ่นเข้ามารู้”

พิมพรรณ์ ประคองทรัพย์
ประธานวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านตะปอนน้อย

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย