/

“เกษตรกรที่ทำออร์แกนิกเนี่ย ผมมองว่าเขาเป็นเหมือนศิลปิน ทำงานฝีมือ เป็นนักผลิตอาหาร เหมือนเชฟมิชลินเรียกราคาได้ฉันใด คนทำออร์แกนิกควรเรียกราคาได้บ้างฉันนั้น”

Start
263 views
43 mins read

“แดรี่โฮมเกิดจากความตั้งใจผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพดี เราเห็นปัญหาเยอะของเกษตรกรบ้านเรา ทั้งเรื่องต้นทุนสูง คุณภาพน้ำนมไม่ค่อยดี มีสารปนเปื้อน เรารู้เพราะทำงานในวงการโคนมมาตลอด ถึงจุดที่ตัดสินใจลาออกจากองค์กรเพื่อมาทำตามที่เราคิด แต่ออกมาต้องหาตังค์ใช้ก่อนใช่มั้ย ก็เริ่มทำธุรกิจอาหารสัตว์ ผมว่าผมเป็นคนแรกๆ ที่เอาหญ้าสดมาตัดก้อนขายในเมืองไทย ตอนนั้นคิดว่าที่ง่ายที่สุดคือหญ้า เพราะเป็นของที่เกษตรกรต้องการ แต่เริ่มจากความไม่มีประสบการณ์ ไม่สามารถทำให้เป็นธุรกิจได้ เงินที่ลงก็หายไป แต่ไม่เลิกนะ เราทำต่อ เปลี่ยนสินค้าใหม่ สินค้าตัวนั้นอาจจะยังไม่เป็นที่ต้องการ ณ เวลานั้น มาเร็วไปหน่อย ก็เอาอาหารหยาบหรือหญ้ามาผสมกับอาหารข้นที่กินแล้วได้นมเยอะเพื่ออำนวยความสะดวกให้เกษตรกร ก็เริ่มขายได้นะ แต่ปัญหาคือต้นทุนนั่นแหละ เขาอาจสะดวกขึ้น แต่ไม่ได้แก้ปัญหาต้นทุน

ผมเริ่มศึกษาหาแนวทางก็พบว่า ถ้าจะทำโคนมให้ได้คุณภาพดี ต้องเปลี่ยนแนวการผลิตไปเลย จากเดิมที่เน้นผลผลิตสูง มาเน้นคุณภาพ และความสามารถในการพึ่งพาตัวเองได้ของเกษตรกร นั่นคือแนวทางออร์แกนิก เราก็ค่อยๆ พูดคุยกับเกษตรกร หวังว่าเขาจะเปลี่ยน แล้วมันจะดีขึ้น แต่ทำจริงๆ มันยากนะที่เกษตรกรจะเปลี่ยนจากเคยทำเพื่อผลผลิตมาทำเพื่อคุณภาพ มันสวนทางกับแนวทางการส่งเสริมต่างๆ ที่เขาได้รับรู้ ก็ต้องมี challenge บ้าง สุดท้ายมีเกษตรกรรายหนึ่ง คนหนุ่ม มีความกล้า พร้อมที่จะเปลี่ยน เราก็ต้องมีความกล้าเหมือนกัน ว่าถ้าคุณเปลี่ยนแล้วคุณเจ๊ง ผมรับผิดชอบนะ ในส่วนที่คุณเจ๊ง ถ้าขาดทุนมาเอากับผม อย่างนี้ ง่ายๆ แต่ขอเวลา 3 เดือนในการปรับเปลี่ยนนะ สุดท้ายเขารอด จากเดิมทำรายได้เยอะ กำไรน้อย เป็นไปตามทฤษฎีเลย พอเปลี่ยนปุ๊บ เดือนแรก รายได้ลด แต่ตัวต้นทุนยังของเดิม เขายังต้องจ่ายหนี้เดิมอยู่ พอเดือนที่ 2 ที่ 3 หนี้เดิมหมดละ รายได้ที่ลดลงบาลานซ์กับต้นทุนที่ลดลง เริ่มดีละ พอเดือนที่ 3 กำไรมา แล้วกำไรมากกว่าเดิมทั้งๆ รายได้ลดลง แสดงว่าแนวทางที่เราทำถูกต้อง เพียงแต่ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ พอเห็นนมลดวันแรกเขาก็ใจเสียแล้ว เพราะการเปลี่ยนวิธีการคือการเปลี่ยนอาหารวัว จากซื้ออาหารสำเร็จรูปราคาสูงจากโรงงานซึ่งให้นมเยอะจริง ตอบโจทย์เลย ถ้าวัวกินหญ้า นมจะลดลงแน่นอน แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาหรอก ปัญหาอยู่ที่ ถ้าทำแล้วไม่มีกำไรคุณจะทำทำไม เราก็พยายามพิสูจน์ปัญหานี้มาตลอด นี่คือที่มาของแดรี่โฮม พอเราได้นมที่คุณภาพสูง แล้วเกษตรกรไปขายให้กับที่ทั่วๆ ไป ก็ไม่ตอบโจทย์นะ เลยคิดว่านมเหล่านี้เราควรเอามาแปรรูปเอง นั่นคือจุดเริ่มต้นของโรงงานแดรี่โฮม แล้วปัญหาคือทะลึ่งทำนมแล้วจะไปขายที่ไหน ก็คิดโมเดลธุรกิจ เกิดเป็นร้านแดรี่โฮม

ผมกับภรรยามาจากฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์คทั้งคู่ เราคิดเหมือนกัน พยายามเอานมมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นนมพาสเจอไรซ์ โยเกิร์ต ไอศกรีม ก็ใช้เครื่องธรรมดา โฮมเมดเลยล่ะครับ เครื่องปั่นไอติมก็ถังไม้ที่คุณปั่นไอติมกะทินั่นแหละ ใช้แบบนั้นจริงๆ ในช่วงแรก ซึ่งก็ตอบโจทย์นะสำหรับคนเริ่มธุรกิจใหม่ ร้านแรกมีสามโต๊ะ ไม่หรูหรา มีนม โยเกิร์ต ไอศกรีม สเต็กหนึ่งอย่าง ไส้กรอก เฟรนช์ฟรายด์ แพนเค้ก กาแฟ ง่ายๆ เพราะเราตั้งใจขายนม แต่ทุกอย่าง เราคัดสรร เพื่อให้ร้านมีจุดเด่น อยากให้เป็นแลนด์มาร์กของพื้นที่ เพราะสมัยนั้นตรงปากซอยไม่มีร้านอะไรเลย เข้าไปข้างในคือป่า เป็นไร่เป็นนาหมด เราก็ทำร้านขึ้นมา โรงงานก็อยู่ข้างหลัง ค่อยๆ พัฒนาเครือข่ายของเราไปด้วย จาก 1 ฟาร์ม เป็น 2-3-4-5 ฟาร์ม จากทำในรูปบัญชีบุคคลธรรมดา เสียภาษีตามมาตรฐาน ก็จดทะเบียนบริษัทเพื่อให้ธุรกิจชัดเจนขึ้น

เราวางแนวทางชัดเจนว่าส่งเสริมโคนมอินทรีย์ พยายามผลักดันให้ทางรัฐทำมาตรฐานปศุสัตว์ เราเน้นเรื่องคุณภาพ คุณภาพชีวิตของเกษตรกร และเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตั้งแต่ประมาณปี 2556-57 ที่เริ่มมีการร่างกฎหมายเปลี่ยนแปลงเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม จัดตั้งตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562) พอมีกฎเกณฑ์ออกมา ผมสมัคร ก็ได้รับการรับรองให้เป็นกิจการเพื่อสังคม เพราะงานที่เราทำมาโดยตลอด มันตรง วัตถุประสงค์ใช่ impact ใช่ แหล่งทุนที่ได้มาก็ไม่ได้รับการบริจาค เป็นการทำธุรกิจล้วนๆ เงินที่ได้มาก็เอากลับไปลงทุนหมด ไม่แบ่งปันผลให้ผู้ถือหุ้น ก็เข้าเกณฑ์เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่แบ่งปันผลกำไร ได้รับการยกเว้นภาษี เพราะเขามั่นใจว่าเงินจะเอามาลงทุนต่อเพื่อให้เกิดผลต่อสังคม

ตอนแรกที่เริ่มทำ ไม่ได้คิดว่าจะเติบโตขนาดนี้ ทำให้รอดก็โอเคแล้ว เราทำธุรกิจอื่นควบคู่ไปด้วย ไม่งั้นผมก็ไม่มีอะไรกินนะ แต่ตัวนี้เป็นโมเดลธุรกิจที่เราตั้งใจ เหมือนเป็นงานทดลอง สมัยนี้เขาเรียกเป็น Sandbox เราขีดวงไว้เรามีงบเท่านี้ ใส่ไปเท่านี้ ในปีที่สามผมเอาเงินใส่เข้าไปเพื่อลงเครื่องจักร เพราะถึงวันนั้น เครื่องจักรบ้านๆ ไม่ไหวแล้ว และนมเป็นสินค้าซึ่งอย.ควบคุม เราไม่สามารถเอาหม้อกระทะมาขัดแบบทั่วๆ ไปได้ ต้องไฮยีนสูงมาก โรงงานต้องออกแบบมีระบบปิดชัดเจน เราทำธุรกิจแบบมั่นคง ช้าๆ มองความยั่งยืนขององค์กรเป็นสเต็ปๆ ปีนี้จะโตยังไง แนวทางการพัฒนายังไง ต้องมีการวิจัย ต่อยอดยังไง จะเห็นว่าในงานของแดรี่โฮมมีงานวิจัย เราเติมของใหม่เข้าไปในกรรมวิธีของเราทุกปี โดยใช้เงินกำไร ซึ่งก็ทำให้ธุรกิจเติบโตมาเรื่อยๆ บางครั้งขาดทุน บางครั้งกำไร ก็เป็นเรื่องธรรมดา ผลิตภัณฑ์ใหม่อาจไม่ตอบโจทย์ ขึ้นห้างแล้วขายไม่ออก ห้างเขาก็ถอด เราไม่ต้องถอดเอง ลูกค้าคิดให้ เช่น โยเกิร์ตพร้อมดื่มที่มีผลไม้หลายๆ ตัวของเรา ลูกค้าชอบโยเกิร์ตนมเปรี้ยวแบบใสๆ ของเรานี่ข้นคลั่กเลย เอาไปวางอยู่ซักพัก สุดท้ายเราก็ยอมแพ้ นมที่ขายไม่ค่อยดี ถอดออกก็โดนบ่นนะ เพราะมีกลุ่มแฟนของเขาอยู่ แต่วอลุ่มไม่ถึงจุดที่เราจะทำ ก็ยอมโดนด่า คือธุรกิจ เราทำทุกอย่างไม่ได้หรอก

ออร์แกนิกเป็นเมกะเทรนด์ของโลก เมื่อก่อนเป็นแค่แนวโน้มเล็กๆ แต่ปัจจุบัน มันสอดคล้องกับแนวทางที่โลกต้องการทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น SDGs (Sustainable Development Goals) 17 ข้อของยูเอ็น แนวทาง BCG (Bio-Circular-Green Economy), ESG (Environment-Social-Governance), Carbon Neutral, Net Zero ถ้าคุณไม่ทำออร์แกนิก แนวทางที่ผมว่ามาทั้งหมดคุณไม่มีทางบรรลุได้ เพราะการผลิตอาหารคือแหล่งการปล่อยมลพิษที่เยอะที่สุดในโลก มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย ปล่อยแก๊สด้วย เพราะมันต้องใช้พลังงาน ต้องใช้ปุ๋ย ต้องใช้ยา ครบสูตร อันนี้คือสิ่งที่การเกษตรทำผลเสียให้กับโลก อย่างกางเกงยีนผมใส่ตัวนึงสิบปี มันไม่ต้องใช้เยอะ แต่อาหาร คนกินทุกวัน วันละสามมื้อ ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะฉะนั้น ออร์แกนิกตอบโจทย์ ณ วันนี้ อาจไม่เห็นชัด ผู้บริโภคหลายส่วนยังอ่อนไหวเรื่องราคา ต่างกันสลึงนึงก็เลือกแล้ว แต่ปัญหาของสินค้าออร์แกนิกในบ้านเราอาจเกิดจากผู้ผลิตเองด้วยส่วนหนึ่ง หรือผู้จัดจำหน่ายด้วยส่วนหนึ่ง คือเขาไปจัดกลุ่มสินค้าตัวเองไว้เป็นสินค้าไฮเอนด์ ออร์แกนิกควรจะเป็นสินค้าสำหรับแมส ควรจะให้ทุกคนเข้าถึงได้ ถ้าการทำออร์แกนิก เน้นลดต้นทุน เน้นการพึ่งพาตนเอง ขายผลผลิตในราคาที่ยุติธรรม ราคาที่ยุติธรรมไม่ได้หมายความถูก แต่จะต้องไม่แพง ทุกคนต้องจับต้องได้ ยกตัวอย่าง ผักคะน้า ฉีดยากิโลละ 25 บาท คะน้าอินทรีย์ ถ้าขายกิโลละร้อย เป็นผม ผมก็ทำใจไม่ได้ เพราะว่าอะไร กินผักฉีดยา ไม่ตายวันนี้ แต่ถ้าซื้อผักออร์แกนิก เราอาจจะตายวันพรุ่งนี้เพราะหมดเงิน ชีวิตเราไม่ได้ซื้อแต่ผักคะน้า ต้องซื้อหลายอย่าง

เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ที่น้องๆ ทำกันเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ทำให้ออร์แกนิกเป็นแมสให้ได้ challenge ไปเลย คุณซื้อแมคโครเท่าไหร่ คุณซื้อกับเราเท่านั้น มันไม่มีเหตุผลจะปฏิเสธ เพราะเราขายเท่ากัน แถมรสชาติดีกว่า แถมไม่มียาฆ่าแมลง อาจจะมีรูบ้างนิดหน่อย เจอหนอนบ้างเล็กน้อย เพราะฉะนั้น การวางราคาให้เหมาะสม ยุติธรรม เป็นเรื่องสำคัญของการผลักดันสินค้าออร์แกนิก แดรี่โฮมก็ใช้แนวทางนี้ นมของเราจะขายถูกไม่ได้แน่ เพราะมีต้นทุน ถ้าเราขายถูกมากทั้งๆ ที่ซื้อมาจากเกษตรกรแพง ก็ทำให้เราไม่มีเงินเลี้ยงลูกน้อง จ่ายค่าแรงไม่ได้ ก็จะเจ๊ง ฉะนั้น ต้องบาลานซ์ตรงนี้ เพื่อให้ธุรกิจไปได้ ขณะเดียวกันก็ต้องไม่เยอะเกินไปจนกระทั่งไม่สามารถขายได้ เราสามารถทำให้เกษตรกรอยู่ได้ด้วยหรือเปล่า ถ้ายังอยู่ไม่ได้ อาจต้องปรับนิดนึง ทำค่าให้สมดุล เพราะเกษตรกรที่ทำออร์แกนิกเนี่ย ผมมองว่าเขาเป็นเหมือนศิลปิน ทำงานฝีมือ เป็นนักผลิตอาหาร เหมือนเชฟมิชลินเรียกราคาได้ฉันใดคนทำออร์แกนิกควรเรียกราคาได้บ้างฉันนั้น มันไม่ควรเป็นเกษตรกรแล้วต้องจนตลอดไป อาชีพเกษตรเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดคือผืนดิน ทำไมคนที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดกลับจนที่สุด ทำไมเชนบ้านเรากลับหัวกลับหาง อำนาจต่อรองกลับหัวกลับหาง เพราะคนทำการเกษตรบ้านเราไร้อำนาจต่อรอง เขาไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย ตั้งแต่ปัจจัยการผลิตแล้ว ปุ๋ยก็คุมไม่ได้ ยาก็คุมไม่ได้ น้ำมันไม่ต้องพูดถึง คุมไม่ได้อยู่แล้ว เทวดาก็คุมไม่ได้ แต่สุดท้ายปลายทาง ของที่เขาผลิตได้ก็ควรจะคุมราคาได้บ้าง ตั้งราคาได้มั้ย ก็ไม่ได้อีก ราคาเป็นไปตามท้องตลาด ถ้าตลาดต้องการเยอะก็แพง ตลาดต้องการน้อยก็ถูก ซึ่งผมว่าระบบแบบนี้เกษตรกรต้องหาวิธีแก้ หรือเราต้องหาวิธีแก้ให้เกษตรกร เพราะกระบวนการผลิตทุกวันนี้พึ่งพาปัจจัยภายนอกเยอะ ทำให้เขามีต้นทุนสูง ต้องไปรื้อดูตั้งแต่กระบวนการผลิต อะไรควบคุมได้ไม่ได้ อะไรที่เป็นปัจจัยที่แปรผัน น้ำ พระพิรุณ เทวดา ถามว่าควบคุมได้มั้ย ไม่ได้ แต่เราสามารถสร้างระบบได้ ถ้าคุณยอมสละที่บางส่วนเก็บน้ำ ก็ทำให้มีน้ำ ไม่ใช่ปลูกจนเต็มพื้นที่ แล้วก็ปลูกพืชตามฤดูกาล ทำให้การพึ่งพาเทวดาง่ายขึ้น ต้นทุนก็ต่ำลง ถ้าปลูกพืชฝืนฤดูกาลก็ต้องลงทุนมากขึ้น ปลูกพืชพื้นถิ่นก็ง่ายหน่อยเพราะคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม ปลูกพืชต่างถิ่นก็ลงทุนเยอะ เมล็ดพันธุ์คุมไม่ได้ ก็ต้องไปควบคุมอย่างอื่นแทน เพื่อให้คงความสามารถในการทำธุรกิจให้ได้ อาชีพเกษตรทุกวันนี้คือธุรกิจนะครับ เกษตรกรก็เหมือนพวกเรา ใช้เงินทุกอย่าง เมืองวิ่งไปหาเขา กาแฟยังซื้อเซเว่นเลย สมาร์ตโฟนก็ต้องใช้ อินเทอร์เน็ตก็ต้องใช้ น้ำมันรถก็ต้องเติม ราคาเดียวกับเราหมด แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นเขามีความสามารถในการหาเงินน้อย ถ้าสามารถเปลี่ยนตรงนี้ได้ เขาก็จะดีขึ้น

ในความหมายของเกษตรกรบ้านเรา คือผู้ผลิตปัจจัยตั้งต้น ไม่ใช่ผู้แปรรูป ไม่ใช่ผู้จัดจำหน่าย ไม่ใช่ผู้ค้าปลีก เพราะฉะนั้นปัจจัยของกำไร มูลค่าจะเพิ่มตามขั้นบันไดที่ขึ้นมา ยกตัวอย่าง ปลูกข้าว ถ้าขายข้าวเปลือก คุณยังอยู่ข้างล่าง ถ้าขายข้าวสาร คุณขึ้นมา 1 ขั้น แต่ถ้าขายข้าวถุง ขั้นที่ 2 ละ ถ้าข้าวถุงคุณมีแบรนด์ บันไดขั้นที่ 3 แล้วมีร้านจำหน่ายเอง ขั้นที่ 4 ถ้าอยากไปขั้นที่ 5 คุณต้องเอาข้าวมาแปรรูป เป็นเครื่องสำอาง เป็นยา บันไดขั้นที่ 6 ที่ 7 ไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เพียงแต่เราคงไม่คาดหวังเกษตรกรมาถึงขั้นทำเครื่องสำอาง เพราะต้องใช้องค์ความรู้และเงินทุนอีกเยอะ แต่ว่าขั้นที่ทำเป็นข้าวสารขาย แบรนด์ข้าวถุงขายได้ คุณก็หลุดจากที่รัฐประกันราคาเกวียนละหมื่นห้า มาขายเป็นเกวียนละแสน แล้วถ้าคนซื้อเชื่อมั่นว่าข้าวยี่ห้อนี้กินแล้วอร่อย เขาจะกลับมาซื้อ แบรนด์นี้ก็จะอยู่ได้

ผมมองว่า การทำออร์แกนิกเป็นทางออก เพราะเป็นการพัฒนาคุณภาพของสินค้า ซึ่งได้ประโยชน์ 3 อย่างนะ หนึ่ง รสชาติของอาหาร ผลิตผลของเราดีขึ้น ข้าวออร์แกนิกอร่อย นมออร์แกนิกอร่อย สอง ถ้าทำถูกต้อง ต้นทุนที่ฟาร์มลด แต่คุณต้องเป็นเกษตรกรเต็มเวลานะ ต้องทุ่มเททำงานเต็มที่ แล้วผลตอบแทนจะได้ สาม สิ่งแวดล้อมในนิเวศของคุณจะดีขึ้น ยั่งยืนขึ้น ในระยะยาวมันจะตอบแทนคุณเอง ทำให้คุณทำงานง่ายขึ้น ปุ๋ยก็ต้องไม่ใส่แล้ว เพราะดินดีแล้ว มีธาตุอาหารแล้ว ฐานรายได้จะขยับขึ้น ถ้าวัดจากกำไรที่เหลือหน้าฟาร์มเวลาขายผลผลิต คุณจะมีเงินเหลือเยอะขึ้น แม้ว่าขายน้อยลงก็ตาม เพราะต้นทุนคุณต่ำ จริงๆ บ้านเราผลิตอาหารได้เยอะเกินไป เราเน้นปริมาณ ขายได้ถูก ไม่เน้นคุณภาพ เพราะข้าวเราผลิตได้เกินกินตั้งเยอะ แต่คนปลูกข้าวจน เมื่อไหร่ก็ตามที่เกษตรกรบอกว่าฉันไม่เอาแล้ว ฉันไม่ทำเผื่อใครละ ฉันจะทำกิน แล้วขายในเครือข่ายท้องถิ่น ขายเฉพาะที่มีคนออเดอร์ ฉันเอาเวลาที่เหลือไปตีไก่จับปลา มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะข้าวที่ผลิตมา จะเป็นข้าวคุณภาพสูง เพราะเป็นข้าวที่เขากิน ไม่เป็นข้าวที่เขาปลูกขาย

กระบวนการเรียนรู้เหล่านี้ เราต้องการการขับเคลื่อนให้ถึงระดับที่เป็น Critical Mass มันจะพลิกได้ ตอนนี้คือช่วงการเข็นครกขึ้นภูเขา พอขึ้นไปถึงยอด เดี๋ยวมันไหลลงเอง ฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ของคนที่ทำงานแบบนี้ที่จะต้องอดทน เฝ้ารอ ไม่ย่อท้อที่จะผลักดันต่อไป แล้วจะเห็นผลในที่สุด และการขับเคลื่อนต้องทำในหลายๆ มิติ อย่างการดำรงชีวิตของเรามีมิติเรื่องอาหาร มิติเรื่องการใช้ทรัพยากร การแต่งตัว การใช้รถ การท่องเที่ยว มิติต่างๆ เหล่านี้สามารถทำให้สอดคล้องกันได้ อย่างคนกรุงเทพฯ ที่สามารถอยู่ในจุดที่ใช้จักรยานได้ ถ้าเมืองพัฒนาให้มีทางจักรยานมารองรับ เมื่อคนเริ่มขี่จักรยานไปทำงาน เขาจะเริ่มคิดถึงเรื่องอื่นต่อไป จะมาดูเรื่องอาหาร เขาต้องกินอาหารที่ดีขึ้นนะ หรือคนที่กินอาหารออร์แกนิกแล้ว เขาจะมองต่อไปว่าเขาจะทำยังไงต่อได้ เมื่อคนมีจุดเริ่ม มีบันไดให้ก้าว เขาจะมองก้าวต่อไปที่ส่งเสริมกัน แล้วเราต้องสร้างดีมานด์ ผู้บริโภคต้องเรียกร้อง สมมติเราอยากกินข้าวออร์แกนิก เดินไปห้าง ไม่มีขาย คุณต้องบอกห้าง ยิ่งถ้าคุณระบุยี่ห้อ ยิ่งง่าย เอาข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ข้าวเล็บนกพัทลุงมาขายนะ ผมก็ใช้วิธีนี้ กับห้าง กับลูกค้า ห้างไหนไม่มีนมแดรี่โฮม ผมบอกลูกค้า คุณก็เดินไปหาผู้จัดการสาขา เอานมแดรี่โฮมมาวางหน่อย เมื่อมีลูกค้าเรียกร้อง ห้างก็เริ่มเอามาวาง เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้บริโภคนิ่งเฉย ไม่เป็น Active Consumer มันก็แล้วแต่เขาจะนำเสนอ ไม่มี เดินกลับ ไม่ซื้ออย่างอื่น เขาต้องคิดแล้ว”

พฤฒิ เกิดชูชื่น
กรรมการผู้จัดการ บริษัท แดรี่โฮม จำกัด

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย