“เพราะนครสวรรค์ขับเคลื่อนได้ก็เพราะเหล่าคนจนเมือง การที่พวกเรามีที่อยู่อาศัยเป็นหลักเป็นแหล่งและปลอดภัย นั่นหมายถึงการที่เมืองมีต้นทุนสำหรับการขับเคลื่อนได้ต่อไป”

Start
281 views
14 mins read

“นครสวรรค์เป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญของภาคกลาง และเพราะเป็นแบบนั้นทำให้ที่ดินในเมืองมีราคาสูง ประชาชนที่มีรายได้น้อยจึงไม่สามารถเข้าถึงที่ดินหรือการมีบ้านได้ ดังนั้นพวกเราก็จำเป็นต้องอาศัยอยู่ในเมืองที่เป็นแหล่งทำมาหากิน ซึ่งแน่นอน พอเป็นแบบนั้น บางคนอาจได้เช่าบ้านราคาประหยัด แต่ก็มีอยู่มากมายที่ต้องไปบุกรุกอาศัยในที่ดินราชพัสดุ หรือพื้นที่สาธารณะ และนั่นนำมาซึ่งปัญหาชุมชนแออัด ขยะ น้ำเน่าเสีย ไปจนถึงความเครียดที่นำมาซึ่งความรุนแรงในครอบครัว ทั้งหมดส่งผลโดยตรงต่อภาพรวมของเมือง

พี่เป็นคณะทำงานของเครือข่ายพี่น้องคนจนเมือง หรือคนยากจนในเมืองนครสวรรค์ เริ่มขับเคลื่อนโครงการบ้านมั่นคงมาตั้งแต่ปี 2553 ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ด้วยหวังจะให้พี่น้องของพวกเรามีที่อยู่อาศัยที่เป็นหลักแหล่ง ปลอดภัย และถูกกฎหมาย ในราคาที่เข้าถึงได้ ก็เริ่มจากการสำรวจก่อนว่าในเขตตัวเมืองเรามีคนจนอยู่ไหนบ้าง ชุมชนแออัดอยู่ตรงไหน รวมถึงมีชุมชนที่ไปบุกรุกภูเขาหรือแม่น้ำตรงไหนบ้าง จากนั้นสำรวจที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ที่ต่างๆ ของรัฐ และทำหนังสือถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนารักษ์ เทศบาล กรมเจ้าท่า ราชพัสดุ เพื่อเจรจาขอใช้พื้นที่ดังกล่าว

หมู่บ้านที่เราคุยอยู่นี่ชื่อ สหกรณ์บ้านมั่นคงสวรรค์เมืองใหม่ เป็นหนึ่งใน 31 หมู่บ้านในโครงการบ้านมั่นคงในเมืองนครสวรรค์ ซึ่งตอนนี้โครงการดำเนินไปแล้ว 3,000 กว่าหลังคาเรือน โดยแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ หนึ่ง ชุมชนไหนอยู่กันมานานแล้ว แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เราก็ไปทำให้ถูกกฎหมาย และใช้งบประมาณของ พอช. มาปรับปรุงอาคารที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมขึ้น รูปแบบที่สอง รื้อชุมชนแออัดเดิม ปรับปรุง และวางผังพื้นที่ใหม่ รูปแบบที่สาม รวบรวมพี่น้องที่กระจัดกระจายมาอยู่พื้นที่ใหม่ เช่นชุมชนที่เราคุยกันอยู่ตอนนี้ และรูปแบบที่สี่ ชุมชนไหนที่เกิดไฟไหม้ ก็มีการฟื้นฟูที่ดินและสร้างอาคารใหม่ ให้คนที่อยู่เดิมกลับมาอยู่

สหกรณ์บ้านมั่นคงนครสวรรค์เมืองใหม่นี่เป็นบ้านของลูกสาว ส่วนบ้านพี่อยู่ในชุมชนวัดเขา ตอนแรกก็อยู่แบบผิดกฎหมายเหมือนกัน แต่ภายหลังเราก็ไปเจรจากับวัดเพื่อขอใช้พื้นที่อย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นรูปแบบที่หนึ่ง พี่เลี้ยงลูกที่นั่น พอโตขึ้นเขาไปมีครอบครัว ก็เข้าโครงการนี้ และย้ายมาอยู่ที่นี่

คุณสมบัติแรกของผู้เข้าร่วมโครงการนี้ได้คือคุณต้องเป็นผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ โดยมีประธานชุมชนและคณะกรรมการชุมชนรับรอง เมื่อคุณต้องการบ้านใหม่ คุณก็ลงชื่อ และเข้ากลุ่มออมทรัพย์ผ่านทางสหกรณ์ สะสมเงินเพื่อจะได้ซื้อบ้าน โดยบางส่วนก็สามารถกู้ พอช. ได้ ทีนี้ก็รอว่ามีโครงการไหนจะขึ้นอาคารใหม่บ้าง ถ้าถึงคิวคุณ คุณก็ทยอยผ่อนบ้าน

อย่างโครงการนี้ บ้านชั้นเดียวราคาอยู่ที่ 270,000 บาท ซึ่งคุณจะได้เงินอุดหนุนจากรัฐ 25,000 บาท นอกนั้นจะได้เงินสมทบจากสหกรณ์ ที่เหลือคุณก็ทยอยผ่อนเอง ค่าผ่อนอยู่ที่เดือนละหนึ่งพันกว่าบาท ส่วนบ้านสองชั้นจะอยู่ที่ 330,000 บาท มีเงินอุดหนุนจากรัฐและสหกรณ์เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี ถึงคุณจะเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้ เมื่อคุณไม่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตามแต่ คุณจะไม่สามารถขายให้คนอื่นได้ แต่ต้องขายคืนให้สหกรณ์เท่านั้น เพื่อให้สหกรณ์จัดสรรผู้เดือดร้อนรายต่อไปให้เข้ามาอยู่ 

ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใส โครงการจะเปิดให้สมาชิกสหกรณ์ทุกคนได้รู้ต้นทุนและราคาวัสดุของบ้าน สามารถเช็คได้หมดเลย ส่วนช่างก่อสร้างก็ใช้พี่น้องในเครือข่ายชุมชนเรานี่แหละ ไม่ได้ใช้ผู้รับเหมา ซึ่งจะทำให้บ้านมีราคาย่อมเยา ขณะเดียวกันพี่น้องเครือข่ายก็มีรายได้จากการก่อสร้างอีกด้วย โดยบ้านแต่ละหลังจะสร้างตามสิทธิ์ที่สมาชิกได้รับตามแบบก่อสร้างที่เป็นมาตรฐานเดียว ไม่มีการสร้างเหลือ และผู้อยู่อาศัยต้องมาดูแลการก่อสร้างเอง ซึ่งใช่แล้ว ถึงดูเผินๆ จะคล้ายบ้านจัดสรร แต่เป็นการจัดสรรโดยพี่น้องคนจนผู้ถือสิทธิ์เจ้าของบ้านด้วยตัวเอง

ถึงทุกวันนี้เราจะเห็นคนรอคิวเข้าเป็นสมาชิกเพื่อขอสิทธิ์ในการซื้อบ้านยาวเป็นหางว่าว และบ้านก็สร้างให้ไม่ทัน แต่พี่ก็ดีใจนะที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้โครงการนี้เกิดขึ้นในเมืองของเรา เพราะเศรษฐกิจนครสวรรค์ขับเคลื่อนได้ก็เพราะเหล่าคนจนเมืองอย่างพวกเรา แรงงานเอย หรือพ่อค้าแม่ขายรายเล็กรายน้อยเอย การที่พวกเรามีที่อยู่อาศัยเป็นหลักเป็นแหล่งและปลอดภัย นั่นหมายถึงพวกเรามีคุณภาพชีวิตดีขึ้นบนพื้นฐานที่ดีระดับหนึ่ง ซึ่งนั่นหมายถึงเมืองมีต้นทุนสำคัญการขับเคลื่อนต่อไป”   

อร่ามศรี จันทร์สุขศรี
คณะทำงานการจัดการที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยจังหวัดนครสวรรค์ (คทน.)

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย