“เราได้คุยกับเด็กๆ ถึงความรู้เรื่องท้องถิ่นของพวกเขา ส่วนใหญ่จะตอบเหมือนกันคือ โปงลาง และผ้าไหมแพรวา ซึ่งก็ไม่ใช่คำตอบที่ผิด แต่จริงๆ กาฬสินธุ์เรามีองค์ความรู้ที่มากกว่านั้นอีกเยอะ”

Start
216 views
15 mins read

“กาฬสินธุ์มีหลักสูตรท้องถิ่นอยู่ในการเรียนการสอนภายในโรงเรียนของสังกัดเทศบาลทั้ง 6 แห่ง อยู่แล้วค่ะ เพียงแต่แต่ละโรงเรียนเขาก็ให้ความสำคัญต่างกัน บางโรงเรียนก็มองว่าเป็นเรื่องรองจากวิชาการหรือกีฬาด้วยซ้ำ จากการที่ได้คุยกับผู้อำนวยการโรงเรียน คุณครู หรือบุคลากรด้านการศึกษาบางท่านก็มองว่าการเรียนรู้เรื่องท้องถิ่นของตัวเอง อาจยังไม่ใช่เรื่องด่วน หรือไม่เห็นความจำเป็น

หรือหลายโรงเรียนก็มองว่าแค่ให้เด็กๆ ได้เรียนโปงลาง ก็ถือเป็นการเรียนหลักสูตรท้องถิ่นที่ครอบคลุมแล้ว อย่างที่เราได้คุยกับเด็กๆ ว่าอะไรคือความรู้เรื่องท้องถิ่นของพวกเขา ส่วนใหญ่จะตอบเหมือนกันคือ โปงลาง และผ้าไหมแพรวา… ซึ่งก็ไม่ใช่คำตอบที่ผิด แต่จริงๆ กาฬสินธุ์เรามีองค์ความรู้ท้องถิ่นที่มากกว่านั้นอีกเยอะ และองค์ความรู้เหล่านี้ มันไปหนุนเสริมทั้งการศึกษาในโรงเรียนไปจนถึงเชิงวิชาชีพได้อีก

ในปี 2564 ซึ่งเป็นปีแรกที่เราทำงานวิจัยที่รับผิดชอบเรื่องหลักสูตรท้องถิ่นในโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้กาฬสินธุ์ เราได้ชวนผู้นำชุมชนทั้ง 38 ชุมชนภายในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ (ปัจจุบันขยายเป็น 41 ชุมชน) พร้อมทั้งปราชญ์ชุมชนในด้านต่างๆ เช่น ศิลปะ ดนตรี หรือประเพณีพื้นบ้าน มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่าองค์ความรู้ชุมชนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอะไรยังขาดไป และอะไรที่เราสามารถนำมาชูได้ เพื่อจะนำมาต่อยอดเป็นหลักสูตรการศึกษาหนุนเสริมเด็กๆ ในเขตเทศบาล

ในอีกมิติหนึ่ง เราก็มองหลักสูตรท้องถิ่นในฐานะความรู้ทางอาชีพที่สามารถนำมายกระดับเศรษฐกิจชุมชน และก็พบว่าโรงเรียนเทศบาล 4 เฉลิมพระเกียรติ เขาทำโครงการเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว โดยเฉพาะการสอนให้เด็กปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ เราในฐานะมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์เลยไปร่วมกับทางโรงเรียน เผยแพร่หลักสูตรนี้ รวมถึงหลักสูตรทางอาชีพอื่นๆ ที่มองไว้รวม 20 หลักสูตร ไปยังโรงเรียนอื่นๆ และให้เด็กๆ นำไปต่อยอดกับผู้ปกครอง ขณะเดียวกัน เราก็หาตลาดให้พวกเขาเพื่อสร้างรายได้เสริม และนั่นเป็นที่มาของ ‘ตลาดสร้างสุข’ ตลาดนัดวัฒนธรรมทุกวันอังคารรอบหอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์ ที่เรานำผลิตภัณฑ์ที่เด็กๆ และผู้ปกครองปลูกได้ไปวางขาย   

ในปีที่สอง หลังจากที่เราสำรวจของดีของเด่นในแต่ละชุมชนในทุกมิติแล้ว ก็ถึงคราวนำสิ่งที่ได้มาสร้างนิเวศการเรียนรู้ ที่มันไม่ใช่แค่การจัดอีเวนท์ชั่วครั้งชั่วคราวแล้วหายไป แต่เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอวาระ ก็เลยมองไว้ 10 พื้นที่ในเขตเทศบาล เช่น ชุมชนดอนสวรรค์ที่มีองค์ความรู้เรื่องการทำไส้กรอกปลา ชุมชนวัดสว่างพัฒนาทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ชุมชนวัดป่าทุ่งศรีเมืองที่ทำปลาร้าบอง รวมถึง กศน. เป็นต้น  

ส่วนหอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์ ที่เป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านศิลปะและประวัติศาสตร์เมืองอยู่แล้ว เรายังได้ชวนเด็กนักเรียนมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและสร้างสรรค์ตัวการ์ตูน หรือคาแรกเตอร์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของเมืองกาฬสินธุ์ ให้พวกเขาลองสกัดความคิดและจินตนาการกันดูว่า ถ้าไม่ใช่ไดโนเสาร์หรือโปงลาง จะคิดถึงอะไร โดยแบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มๆ ตามช่วงชั้น รวมถึงเด็กๆ จากสภาเด็กและเยาวชนของเทศบาลเมืองด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่การออกแบบคาแรกเตอร์ แต่เรายังร่วมกับทีมสร้างแอนิเมชั่น มาทำให้จินตนาการของเขาออกมาโลดแล่นเป็นรูปร่าง และเป็นแนวทางในการสร้างอัตลักษณ์ร่วมสมัยของเมืองต่อไป

กาฬสินธุ์ไม่ใช่เมืองที่มีแม่เหล็กด้านการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันเรายังมีข้อจำกัดเรื่องการคมนาคมขนส่ง เมืองจึงไม่สามารถสร้างรายได้จากภายนอกเท่าไหร่นัก โดยที่ผ่านมา เราจะได้เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเฉพาะช่วงเทศกาลหรือการจัดอีเวนท์ต่างๆ เช่นเดียวกับอีกหลายจังหวัดในภาคอีสาน ซึ่งคิดเป็น 90% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดด้วยซ้ำ

แต่นั่นล่ะ พอรายได้ส่วนใหญ่มันมาจากอีเวนท์ เราจึงพบข้อจำกัดอีกอย่างคือ ที่ผ่านมาออร์แกไนเซอร์ส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มคนจากข้างนอก และมักใช้ทรัพยากรจากภายนอกมาขับเคลื่อน เม็ดเงินจึงไม่ได้เข้าสู่คนท้องถิ่นเท่าที่ควร หนึ่งในสาเหตุที่เราให้ความสำคัญกับเรื่องหลักสูตรท้องถิ่นและการพัฒนาวิชาชีพท้องถิ่นเนี่ย ก็มาจากการที่เราเห็นว่าต่อไปนี้ เมืองเราควรต้องยกระดับอีเวนท์ ให้คนกาฬสินธุ์ได้จัดอีเวนท์หรือกิจกรรมของตัวเอง เพื่อทำให้อีเวนท์นั้นๆ ไปกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจ BCG ของคนในเมือง

เพราะการเข้าใจในทรัพยากรทางวัฒนธรรมก็ดี องค์ความรู้ และวิชาชีพที่เชื่อมโยงกับบริบทของท้องถิ่นก็ดี เหล่านี้มันช่วยยกระดับผู้คนในเมืองได้ และผู้คนในเมืองเหล่านี้ก็สามารถเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองของเราได้เช่นกัน”

 
ผู้ช่วยศาสตร์จารย์ ดร. จริยา อินทนิล
อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์
นักวิจัยโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้กาฬสินธุ์

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย