“เอาจริงๆ การขับเคลื่อนเรื่องกฎบัตรของเมืองนครสวรรค์นี่เขาอยู่ในระดับเดียวกันกับหลายเมืองในยุโรปเลยนะครับ”

Start
273 views
12 mins read

“สถาบันศึกษาการพัฒนาการประชาธิปไตย (Institute of Democratization Studies: iDS) เป็นพาร์ทเนอร์กับมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ (Konrad-Adenauer-Stiftung) ประเทศเยอรมนี มาร่วม 10 ปีแล้ว เรามีภารกิจเดียวกันคือการส่งเสริมกระบวนการกระจายอำนาจของท้องถิ่น และหาโซลูชั่นใหม่ๆ ในการพัฒนาประเทศตั้งแต่ระดับบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ

ในปี 2560 รัฐบาลไทยได้ทำกรอบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์เดียวกับที่ทางสหภาพยุโรป (EU) ขับเคลื่อนอยู่ โดยมี Smart City Charter เป็นกรอบใหญ่ เพื่อถอดเมืองสมาร์ทซิตี้กว่า 200 เมืองทั่วยุโรป ให้แต่ละเมืองทำ DNA ของเมืองตัวเองออกมา

พอพูดถึงสมาร์ทซิตี้ในบ้านเรา หลายคนจะมองไปที่เมืองขอนแก่นเสียเยอะ เพราะมีโมเดลบริษัทพัฒนาเมืองเกิดขึ้น แต่เราก็เห็นว่าความรับรู้ของผู้คนส่วนใหญ่ยังมอง Smart City ในกรอบของการทำการคมนาคม หรือ Smart Mobility เป็นหลัก ซึ่งจริงๆ แล้วความสมาร์ทมันต้องครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนในเมือง ทำให้เมืองเกิดรายได้เพิ่มขึ้นมา 

ผมจึงไปฟอร์มทีมกับคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวรและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อคัดเลือกเมืองในภาคเหนือมาทำโมเดลสมาร์ทซิตี้ และพบว่านครสวรรค์เป็นเมืองที่มีศักยภาพอย่างมาก ทั้งทางด้านการคมนาคมขนส่ง และมีการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มภาคเหนือ โดยเป็นรองแค่เชียงใหม่และเชียงราย นำมาสู่การได้พูดคุยกับเทศบาลนครนครสวรรค์ และทีมกฎบัตรนครสวรรค์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ส่วนบทบาทของ iDS ต่อเมืองนครสวรรค์ คือการเชื่อมบริบทในการพัฒนาเมืองของต่างประเทศมาแลกเปลี่ยนกัน ผ่านการทำเวิร์คช็อปและถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งเศรษฐกิจสีเขียว ดิจิทัลโทเค็น (digital token) และกรอบการพัฒนาของเมืองต่างๆ

สำหรับนครสวรรค์เป็นเมืองที่รูปแบบนวัตกรรมเชิงนโยบาย มีภาครัฐและเอกชนที่เข้มแข็ง เครือข่ายประชาชนมีความตื่นตัว มิติความเป็นกลุ่มเครือข่ายของคนในพื้นที่ค่อนข้างสูง ช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามแบบวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน ทำให้มีจุดร่วมร่วมกันในการพัฒนา แถมภาคเอกชนยังมีโรงงานน้ำตาลที่นำหลัก BCG มาใช้ พร้อมกันนั้นก็มีสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์เป็นคลังสมอง (think tank) ทั้งหมดเข้าหลักรูปแบบการทำงานร่วมกันแบบจตุรภาคี (Quadruple Helix)

นั่นทำให้เห็นเมืองมีพัฒนาการที่ดีทั้งด้าน MICE และเศรษฐกิจสีเขียว มีแผนการขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการบริการเพื่อสุขภาพในระดับภูมิภาค มีแผนการด้านความยั่งยืนทางอาหาร การบำบัดน้ำเสียต่างๆ ที่ท้องถิ่นบริหารจัดการเองด้วยต้นทุนที่ประหยัดกว่า

ที่สำคัญ นี่ยังเป็นการพัฒนาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ที่ผ่านมาการทำสมาร์ทซิตี้จะยังประโยชน์แก่คนชั้นกลางหรือภาคธุรกิจเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่นครสวรรค์ขับเคลื่อนโครงการบ้านมั่นคง จัดสรรที่อยู่อาศัยให้คนรายได้น้อย ซึ่งจุดนี้เมืองอื่นๆ ไม่ค่อยสนใจ

เอาจริงๆ การขับเคลื่อนเรื่องกฎบัตรของเมืองนครสวรรค์นี่เขาอยู่ในระดับเดียวกันกับหลายเมืองในยุโรปเลยนะครับ เพียงแค่ด้าน digital transformation ยังพัฒนาไม่เท่า แต่ conceptual framework นี่ได้แล้ว เพราะภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมช่วยกันก่อรูปร่างขึ้นมา

จากนี้เมืองก็น่าจะมีการหนุนเสริมเรื่อง digital transformation ให้มากขึ้น พร้อมกันนั้น iDS ของเราก็ยังเชื่อมองค์ความรู้จากหน่วยงานระหว่างประเทศต่างๆ นำบทเรียนมาแลกเปลี่ยนกัน เช่นเมื่อปีที่แล้ว ที่เราชวนตัวแทนจากอินเดียมาแชร์การแก้ปัญหาฝุ่นควัน และการสนับสนุนพลังงานสะอาด หรือโมเดลของสิงคโปร์ที่ใช้ token มาแก้ปัญหาด้านสุขภาวะ กระตุ้นให้คนออกกำลังกายแลกกับ token เพื่อเป็นส่วนลดหรือสิทธิพิเศษต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

อย่างที่บอก ผมมองว่านครสวรรค์มีต้นทุนที่พร้อม และมีกระบวนการพัฒนาเมืองที่มีทิศทางชัดเจนแล้ว สิ่งสำคัญหลังจากนี้คือการถอดบทเรียนจากเมืองอื่นๆ มาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของเมืองเรา รวมถึงสร้างความรับรู้ให้ภาคประชาชนในวงกว้าง ให้ทุกคนมาร่วมกำหนดทิศทางและร่วมพัฒนาเมืองแห่งนี้กันต่อไป”

ดร.ประเสริฐ พัฒนผลไพบูลย์

ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาพัฒนาการประชาธิปไตย

(Institute of Democratization Studies: iDS)
https://www.facebook.com/IDS.inThailand/

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย