/

การที่งานนี้ทำให้ทุกคนได้รู้ว่าใครเป็นใครในยะลา และแต่ละคนตระหนักถึงศักยภาพของตัวเองในการร่วมกำหนดอนาคตของเมืองที่พวกเขาอาศัย ตรงนี้แหละที่เป็นผลลัพธ์อันแท้จริงของงานวิจัย

Start
504 views
32 mins read

กว่าจะเป็น Yala Stories
เยาวชนยะลากับเรื่องเล่าเกี่ยวกับเมืองของพวกเขากับ วรานุช ชินวรโสภาค

วรานุช ชินวรโสภาค เป็นหัวหน้าโครงการการพัฒนาต้นแบบพื้นที่การเรียนรู้เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตและบูรณาการการเรียนรู้ในบริบทชีวิตจริงสำหรับทุกคน ซึ่งเป็นโครงการวิจัยย่อยในโครงการยะลาเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยก่อนหน้านี้ เธอเป็นเอ็นจีโอที่ทำงานประเด็นสาธารณสุขและเพศศึกษาในเยาวชน และร่วมกับอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ในการขับเคลื่อนโครงการทักษะวัฒนธรรมเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ของผู้คนหลากวัฒนธรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเธอทำโครงการนี้มาเข้าปีที่ 14

ด้วยพื้นเพเป็นคนยะลา และเข้าใจบริบทของความเป็นพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดจากการทำงานต่อเนื่องมาหลายปี เมื่อ บพท. สนับสนุนโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ยะลา ผ่านสถาบันมานุษยวิทยาสิรินธร วรานุชจึงได้รับมอบหมายให้ขับเคลื่อนโครงการย่อยโครงการนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักคือการสร้างกระบวนการทำงานกับเยาวชนต่างศาสนาและชาติพันธุ์ เพื่อให้พวกเขามีส่วนในการออกแบบกระบวนการและพื้นที่การเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมของเมืองยะลา

ทั้งนี้ หนึ่งในผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของการทำงานในปีแรก (มิ.ย. 2564 – พ.ค. 2565) ของวรานุช คือการผลักดันให้เยาวชนในพื้นที่รวบรวมข้อมูลและคัดสรรเรื่องเล่าของพวกเขาเอง และรวมพลังกับกลุ่มนักออกแบบ Soul South Studio และเทศบาลเมืองยะลา จัดทำเป็นนิทรรศการ ‘ยะลาสตอรี่’ (Yala Stories) เทศกาลที่บอกเล่าถึงเมืองยะลาในมิติที่หลากหลายและร่วมสมัยผ่านมุมมองของคนหลากรุ่น โดยจัดขึ้นที่โรงแรมเมโทรในย่านสายกลาง ใจกลางเมืองยะลา เมื่อวันที่ 27-29 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา

WeCitizens ชวนวรานุชทบทวนกระบวนการทำงานของเธอกับกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ ถึงกระบวนการปลุกพลังเยาวชนจนเกิดมาเป็นเทศกาลร่วมสมัยของเมืองยะลาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนงานนี้…(อ่านต่ออย่างเข้มข้นในเว็บไซต์)

Story 1:

เพราะเยาวชนคือคนที่จะมากำหนดชะตากรรมของเมืองเมืองนี้

“พอทราบว่าจะได้ทำโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ กลุ่มเป้าหมายแรกที่เราคิดได้ทันทีเลยคือการมีส่วนร่วมของเยาวชน เพราะที่ผ่านมา เวลาเราพูดถึงงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง ส่วนมากมันจะเป็นงานที่เป็นการปรึกษาหารือกันในกลุ่มผู้ใหญ่ เด็กๆ ไม่ค่อยมีส่วนร่วม แต่เราเห็นว่าเยาวชนนี่แหละคือคนที่จะมากำหนดชะตากรรมของเมืองที่เขาอยู่ในปัจจุบันและในอนาคต

เราก็ใช้บทเรียน กระบวนการ และเครื่องมือที่เรามีอยู่แล้วในโครงการทักษะวัฒนธรรมที่ทำอยู่ นำเข้าไปปรึกษากับทางเทศบาลเมืองยะลาเพื่อชวนให้เขาเป็นเจ้าภาพหลัก ซึ่งทางเทศบาลเขาก็มี TK Park ที่เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ในการดูแลของเขาด้วย จากนั้นเราก็ใช้เพจเฟซบุ๊คของเทศบาลและ TK Park ประกาศรับสมัครเยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปีในเมืองยะลาที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้เมืองของตัวเอง

Story 2:

กิจกรรมที่ทุกคนควรเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

“ตอนแรกมีเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการประมาณ 40 กว่าคน แต่ด้วยสถานการณ์โควิด (ช่วงเดือนมิถุนายน 2564 – ผู้เรียบเรียง) ก็ทำให้บางคนไม่สะดวกเข้าร่วมกิจกรรมที่มีข้อบังคับว่าต้องร่วมเวิร์คช็อปต่อเนื่อง 4 ครั้ง สุดท้ายจึงเหลือคนเข้าร่วมโครงการจริง 17 คน ก็มีทั้งน้องๆ ไทยพุทธและมุสลิมในพื้นที่เป็นนักเรียนมัธยมเกือบทั้งหมด จากโรงเรียนสอนศาสนาก็มี

มีเรื่องน่าสนใจในขั้นตอนการรับสมัคร เนื่องจากกิจกรรมนี้เราทำประกาศเป็นสาธารณะ โดยไม่ใช่การทำจดหมายไปขอความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ให้คัดเลือกตัวแทนนักเรียนมาร่วมงาน ซึ่งทำให้พบว่าภายหลังที่เราได้รับใบสมัคร มีเด็กนักเรียนหลายคนที่ไม่เคยทำกิจกรรมนอกห้องเรียนทำนองนี้มาก่อนเลย ซึ่งพวกเขามาบอกกับเราว่า ถ้ามีโครงการประเภทนี้จัดขึ้นผ่านทางโรงเรียน คุณครูมักจะคัดเลือกเด็กนักเรียนที่เรียนเก่งหรือทำกิจกรรมอยู่ก่อนแล้วไปเข้าร่วม เด็กที่ร่วมกิจกรรมของแต่ละโรงเรียนจึงมักเป็นคนหน้าเดิมๆ การเปิดสาธารณะแบบนี้ทำให้พวกเขาและเธอมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมบ้าง

เราว่าอันนี้สำคัญมากเลยนะ เพราะว่าถ้าเราพูดเรื่องพื้นที่เรียนรู้ พื้นที่หรือกิจกรรมการเรียนรู้นี้ต้องกระจายอย่างทั่วถึง ให้เด็กๆ ไม่ว่าจะเรียนเก่งหรือไม่เก่ง ถ้าเขาอยากร่วมก็ควรต้องได้เข้าร่วม ซึ่งเราก็คิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่ประกาศรับสมัครกิจกรรมผ่านทางสาธารณะ ขณะเดียวกันเด็กๆ ที่มาร่วมกับเราเขาก็มีความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมอย่างจริงจัง”  

Story 3:

เราต่างเป็นเจ้าของเรื่องเล่าของเมือง

“อย่างที่บอกด้วยสถานการณ์โควิด เราจึงเริ่มทำเวิร์คช็อปครั้งแรกผ่านทางโปรแกรมซูม โดยเราชวนเยาวชนทั้ง 17 คนมาแบ่งปันเรื่องราวของเมืองยะลาในมุมมองของพวกเขาก่อน สิ่งที่เขาประทับใจในบ้านเกิดของตัวเอง หรือสิ่งที่เขาอยากนำเสนอเป็นต้น

การคุยกันในครั้งแรกมันเป็นการละลายพฤติกรรมในระดับหนึ่ง เพราะก่อนจะคุยกัน เราก็ให้เขาทำการบ้านเกี่ยวกับเรื่องที่อยากนำเสนอของเมืองมาก่อน แต่ส่วนใหญ่เขาก็หยิบข้อมูลสำเร็จรูปจากอินเตอร์เน็ทมา พวกสถานที่ท่องเที่ยวอะไรแบบนี้ เราก็พยายามชวนคุยต่อ ให้เขาขุดเรื่องที่เขาสนใจส่วนตัวจริงๆ เกี่ยวกับเมืองออกมาให้ได้ เช่นมีคนหนึ่งสนใจเรื่องเสาหลักเมืองยะลา เราก็ชวนเขาคุยถึงประสบการณ์การไปเที่ยวงานหลักเมือง (งานสมโภชหลักเมืองและงานกาชาดประจำปี – ผู้เรียบเรียง) เพื่อหาแง่มุมไปเชื่อมกับตัวเขา

เพราะจุดประสงค์ของกิจกรรมนี้คือการทำให้เยาวชนรู้สึกว่าเขาเป็นคนเล่าเรื่องเมืองได้ ให้พวกเขาเป็นเจ้าของเรื่องเล่า พอทุกคนเริ่มเข้าใจ ก็ให้ลองจับคู่กันเพื่อแบ่งออกเป็น 8 ทีม และให้แต่ละทีมไปหาข้อมูลเพิ่มเติมมา ก่อนจะนัดพบกันครั้งที่ 2 พร้อมเรื่องที่แต่ละคนอยากเล่า”

Story 4:

เสริมเรื่องเล่าให้เป็นรูปร่าง

“เวิร์คช็อปครั้งที่ 2 เรานัดหมายกันที่ห้องประชุมของเทศบาลเมืองยะลา หลังจากที่แต่ละคนมีประเด็นที่อยากเล่าแล้ว เราก็เลยชวนวิทยากรที่เป็นมืออาชีพด้านทำสื่อต่างๆ มาให้ความรู้น้องๆ ทั้งคนทำบทละคร ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี และอื่นๆ เพื่อให้น้องๆ ได้เห็นว่าเรื่องเล่าของพวกเขาสามารถแปลงเป็นอะไรได้บ้าง ซึ่งเรื่องเล่าของน้องๆ ก็มีความหลากหลายและความเฉพาะตัวที่น่าสนใจ ตั้งแต่เรื่องหลักเมือง ไก่เบตง อาหารมุสลิม การรับมือกับเหตุการณ์ความรุนแรงในอดีต และอื่นๆ ทีมวิทยากรก็มาช่วยกรอบมุมมอง จัดระเบียบ และหาแง่มุมที่น่าสนใจในการนำเสนอ

ส่วนครั้งที่ 3 เมื่อเรื่องเล่าเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น เราก็คิดต่อว่าเราจะนำเสนอสิ่งเหล่านี้อย่างไร ก็ได้ความร่วมมือจากคุณบอล – เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์ ที่ทำสตูดิโอครีเอทีฟ Soul South Studio ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำครีเอทีฟอีเวนท์และแบรนด์ดิ้งมาก่อน เราตั้งใจแต่แรกแล้วว่าหลังจากสกัดเรื่องเล่าจากน้องๆ ออกมา เพื่อมารวมกับโครงการวิจัยย่อยเรื่องการศึกษาความหลากหลายทางวัฒนธรรมของ รศ.ฤทธิรงค์ จิวากานนท์ และการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของอาจารย์ศุภราภรณ์ ทวนน้อย และ ดร.ธนกร จันทสุบรรณ และแปลงข้อมูลเหล่านี้ออกมาเป็นนิทรรศการเสนอกลับให้คนในเมืองได้รับรู้

พอครั้งที่ 4 เราก็เลยเปลี่ยนจากเวิร์คช็อปเป็นคลินิกเป็นแบบมาเจอตัวต่อตัว แล้วเอาโครงการของทั้งหมด 8 ทีม 17 คนมาสรุปกัน เสริมเติมแต่งอะไร แล้วให้ Soul South Studio มาช่วยออกแบบวิธีการนำเสนอ เมื่อบวกรวมกับของน้อง 8 โครงการ และของทีมวิจัยเราอีก 2 โครงการ เราก็มีเรื่องเล่าใน Yala Stories ทั้งหมด 10 เรื่อง”

Story 5:

Yala Stories

“ตอนแรกเราไม่คิดว่างานจะใหญ่ขนาดนี้ วางแผนจะทำเป็นนิทรรศการเล็กๆ ในโรงแรมเมโทร ซึ่งเป็นโรงแรมเก่าแก่ย่านใจกลางเมืองซึ่งผู้คนในเมืองล้วนมีความทรงจำร่วม โดยใช้ชื่อ Yala Stories ซึ่งเป็นชื่อโครงการเวิร์คช็อปของเรามาตั้งแต่ต้น แต่ก็พอดีกับทางคุณต้น – อภินันท์ ธรรมเสนา หัวหน้าชุดโครงการ คิดว่าในเมื่อจัดแล้ว ก็น่าจะชวนภาคีเครือข่ายในยะลามาร่วมด้วย และคุณบอลก็มีไอเดียต่ออีกว่า ยะลาเรามีศิลปินและนักออกแบบรุ่นใหม่ไม่น้อยเหมือนกัน ก็น่าจะชวนเขามาร่วมแจมด้วยเหมือนกัน

“งานจึงออกมาเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือส่วนที่เป็นนิทรรศการของเยาวชนซึ่งจัดบริเวณชั้น 2 ของโรงแรม ส่วนโชว์เคสของเครือข่ายยะลาจะอยู่ชั้น 3 และรอบๆ งาน พร้อมมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยจากศิลปินในพื้นที่ด้วย

“เราไม่คิดมาก่อนว่าเสียงตอบรับจะเยอะขนาดนี้ มีนายกเทศมนตรีมาเปิดงาน มีเวทีการแสดง มีการออกร้าน และที่สำคัญคือมีผู้ชมล้นหลามทั้งคนพุทธและมุสลิมซึ่งมีมาทุกวัย หลายคนเห็นตรงกันว่าเรื่องที่ถูกเล่าในงานส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่หลายคนคุ้นเคยแต่กลับหลงลืมมันไป หรือไม่ได้เห็นค่าความสำคัญเท่าใด แต่เมื่อมันถูกเล่า ก็เหมือนไปกระตุ้นเตือนความทรงจำและประสบการณ์ร่วม และพบว่าพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของหลายๆ เรื่องในนิทรรศการที่จัดแสดง

“ขณะเดียวกัน นิทรรศการนี้ก็เหมือนเป็นการนำเสนอมิติความหลากหลายที่แท้จริงของเมืองยะลา ซึ่งแตกต่างจากภาพจำจากคนภายนอกตลอดหลายปีที่ผ่านมาที่มองว่ายะลาเป็นพื้นที่สีแดงที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและไม่น่าไว้วางใจ หากแต่เป็นประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า ความทรงจำ ภูมิปัญญา ทรัพยากรธรรมชาติ และอีกหลากแง่มุมน่ารักๆ ของความเป็นเมืองและความเป็นมนุษย์

Story 6:

Next Stories

“มีการคุยกันว่างานแบบนี้ควรจะจัดอีกเป็นครั้งที่ 2 หรืออาจจัดเป็นงานประจำปีด้วยซ้ำ ซึ่งก็เป็นนิมิตหมายที่ดีที่เราทราบว่าทางมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ก็มีโครงการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองยะลาด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ งานนี้จึงน่าจะเป็นสะพานเชื่อมไปสู่โครงการใหม่ๆ ต่อไป ขณะเดียวกันยะลาสตอรี่ยังทำให้เราเห็นว่ายะลามีเครือข่ายและบุคลากรที่มีศักยภาพอยู่มาก แต่ที่ผ่านมาคนเหล่านี้ไม่เคยมีโอกาสได้ทำงานร่วมกัน งานนี้จึงเป็นคล้ายพื้นที่กลางที่ทำให้ทุกคนได้มาพบปะและมองอนาคตเมืองไปพร้อมกัน

อย่างไรก็ตาม เรามองอีเวนต์ของเมืองนี้ในฐานะเครื่องมือของการวิจัยเพื่อการพัฒนาเมือง เพราะอย่างที่บอกว่างานนี้เป็นกิจกรรมเชิง research based กว่าจะเป็นรูปร่างได้ ในทุกองค์ประกอบล้วนมีงานวิจัยมารองรับ แต่นั่นล่ะ ผลสำเร็จที่แท้จริงของงานวิจัย ไม่ใช่การได้เห็นว่าเรามีงานในเมืองจัดขึ้นตลอด 3 วันและมีผู้เข้าร่วมงานอย่างล้นหลาม แต่เป็นการที่ทุกคนได้รู้แล้วว่าใครกำลังทำอะไรอยู่ในยะลา และแต่ละคนตระหนักถึงศักยภาพของตัวเองในการร่วมกำหนดอนาคตของเมืองที่พวกเขาอาศัย ตรงนี้แหละที่เป็นผลลัพธ์อันแท้จริงของงานวิจัย”

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย