/

“การศึกษาไม่ได้มีเพื่อให้ทุกคนแค่มีวิชาชีพไว้แสวงหาความร่ำรวย แต่คือการทำความเข้าใจโลก การช่วยเหลือแบ่งปัน และการทำให้ตระหนักว่าความดีคือสิ่งมีค่าที่ไม่มีทางซื้อหาได้ นอกจากการลงมือทำ”

Start
150 views
23 mins read

“ผมเป็นเด็กที่ไม่ชอบเรียนมากๆ ไม่ชอบวิชาการและไม่ชอบท่องจำ เอาเป็นว่าการศึกษาไทยในสมัยนั้นมันแทบไม่มีพื้นที่ให้เด็กอย่างผมเลย

ซึ่งแน่นอน ผมสอบเอ็นทรานซ์ไม่ติด จึงต้องสมัครเข้าเรียนภาคสมทบของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สาขาการออกแบบ (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมือง และนฤมิตศิลป์) จนได้พบพื้นที่ของตัวเองจากที่นั่น ทั้งการได้คิด ได้ทำโปรเจกต์ และได้ออกแบบ ช่วงเวลานั้นทำให้จากเด็กขี้เกียจคนหนึ่งกลายมาเป็นคนขวนขวายในการสร้างสรรค์ไปเลย

ขณะเดียวกัน ก็อยากสื่อสารภาษาอังกฤษให้ได้ เพราะถ้าเราทำงานออกแบบได้และพูดอังกฤษได้ มันจะพาเราไปได้ไกล ก็ไปตีสนิทกับอาจารย์ที่สอนสาขาภาษาอังกฤษให้เขาสอน จะพรีเซนท์งานอาจารย์ทีก็ทำทั้งสองภาษา จนมีโอกาสได้ไปฝึกงานที่เวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา 3 เดือน ก่อนกลับมาเรียนต่อ และลองยื่นผลงานไปยังบริษัทต่างประเทศ จนได้งานเป็นอาจารย์สอนกราฟิกดีไซน์เนอร์ที่นิวยอร์กทันทีหลังเรียนจบ 

หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้ทำงานออกแบบให้บริษัทที่แอลเอซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงเทพฯ อีกสักพัก จนเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง ก็คิดว่าอยากลองไปใช้ชีวิตที่อังกฤษดู จึงไปสมัครเรียนที่อังกฤษและหางานทำเพื่อมีรายได้เสริมด้วย และอยู่ที่นั่นพักใหญ่

 ที่ลอนดอน ผมมีความสุขมาก มันเป็นเมืองที่มีทุกอย่างที่ผมต้องการ ความศิวิไลซ์ ธรรมชาติ วิถีชีวิต ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แต่ตอนนั้นคิดอย่างเดียวเลยนะว่าเราต้องทำงานเพื่อแสวงหาความร่ำรวยโดยใช้ชีวิตในเมืองที่ผมรัก เหมือนกล่องความเชื่อของผู้คนส่วนใหญ่บนโลก ที่เห็นความมั่งคั่งเป็นปลายทางความสำเร็จ

กระทั่งวันหนึ่ง ผมมีโอกาสตามเพื่อนไปเยี่ยมวัดไทยในลอนดอน ไปถวายเพลที่อุโบสถตามปกติ แต่ระหว่างที่เพื่อนกำลังวุ่นๆ กับพิธีกรรมอยู่ ผมออกมาเดินเล่น และเห็นอีกอุโบสถหนึ่งที่มีชาวต่างชาติกำลังนั่งเจริญสติกัน จำได้ว่าตอนนั้นตกใจ เพราะมันเป็นความขัดแย้งที่อยู่ใกล้กัน ผมเป็นคนไทยพุทธแท้ๆ เคยแต่เข้าวัดเพราะจะได้ถ่ายภาพสวยๆ หรือไปร่วมพิธีกรรมกับเพื่อนอย่างงั้นๆ แต่มาเห็นชาวต่างชาติกำลังนั่งสมาธิ นั่นทำให้ผมเกิดความสงสัยว่าเขาจะทำไปทำไม เลยมาดูตารางที่วัดแปะไว้ เพื่อครั้งหน้าจะมาลองนั่งกับเขาบ้าง

มาครั้งแรกก็ลำบาก เพราะเรายังคงวอกแวกตามประสาคนไม่เคยเจริญสติมาก่อน แต่ได้พระอาจารย์ดีที่เขาสอนให้เราค่อยๆ ปรับตัว และตั้งคำถามกับทุกขณะจิต พอนั่งไปหลายรอบเข้า จากคำถามเกี่ยวกับทางโลกและทางธรรมที่ผุดขึ้นเรื่อยๆ ก็เกิดคำถามใหญ่ที่สำคัญที่สุดในชีวิตของผมว่า อะไรคือสิ่งที่สำคัญหรือยากที่สุดในการยอมรับในชีวิต? คำตอบมันก็ขึ้นมาในสมองเองเลยว่า ความตายของเราเองหรือกับคนที่เรารัก และคำถามต่อมาก็ผุดขึ้นมาทันทีในใจเลยนะ แล้วอะไรจะทำให้ทุเลาความทุกข์นี้ได้? และจิตก็ตอบเองอย่างรวดเร็วเลยนะ คำตอบคือการทำความดี

เพราะอะไร… เพราะชีวิตที่ผ่านมาผมเคยร่วมงานกับเจ้าของบริษัทที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมากๆ แล้ว เขาร่ำรวยมหาศาลแต่เขาก็ดูไม่มีความสุข และเขาเองก็เหมือนจะเข้าใจว่าชีวิตเขายังคงขาดอะไรบางอย่าง นั่นทำให้ผมเข้าใจว่าชื่อเสียงและความมั่งคั่ง ยังไม่ใช่ปลายทางที่แท้จริงของชีวิต แต่มันคือการได้ทำความดี สมมุติพรุ่งนี้จู่ๆ เราเกิดเสียชีวิต แต่เราเคยทำความดี เคยช่วยเหลือผู้อื่นไว้มากพอแล้ว มันก็เหมือนไม่มีอะไรค้างคาใจอีกต่อไปแล้ว

นั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต จากที่แต่เดิมผมทำงาน 7 วัน 7 คืน ทั้งงานออกแบบ งานเสิร์ฟที่ร้านอาหาร ถ่ายภาพ ฯลฯ ผมเปลี่ยนมาทำงานแค่ 4 วัน เพื่อหาเงินพอดำรงชีพ ส่วนอีก 3 วันที่เหลือ ผมใช้เวลาเดินทางไปทำงานจิตอาสาตามที่ต่างๆ ทั่วเกาะอังกฤษ งานอะไรก็ได้ที่ผมคิดว่ามันจะช่วยสร้างประโยชน์ต่อคนอื่นและต่อโลก

ชีวิตผมดำเนินไปด้วยรูปรอยเช่นนี้อยู่ 3 ปีเต็ม มีโอกาสได้เจอกัลยาณมิตรที่มีความตั้งใจคล้ายๆ กันหลายเชื้อชาติ พบเจอพลังบวกและแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในทุกทริป จนมาถึงช่วงหนึ่งนั่นแหละที่ผมพบว่า แม้จะเดินทางไปทำงานอาสาสมัครทั่วเกาะอังกฤษแล้ว แต่ผมเป็นคนไทยแท้ๆ ทำไมไม่กลับไปทำอะไรให้บ้านเกิดเราบ้าง

และนั่นก็ทำให้ผมตัดสินใจออกจากเมืองที่ชอบที่สุดอย่างลอนดอน เพื่อกลับไปทำอะไรสักอย่างให้ประเทศไทย แต่ผมจะทำอะไรล่ะ? พอเกิดคำถามนี้ ผมก็ย้อนกลับมาคิดว่าสมัยเรียนหนังสือ สิ่งที่ผมขวนขวายมาตลอดคือการที่จะต้องพูดภาษาอังกฤษให้ได้ ตอนนี้ผมพูดภาษาอังกฤษได้แล้ว ทำไมไม่กลับไปสอนเด็กๆ ที่บ้านพูดภาษาอังกฤษไปพร้อมกับปลูกฝังจิตสำนึกในการทำความดีและช่วยเหลือคนอื่นบ้าง

โครงการ ‘บ้านนานาชาติ’ จึงเกิดเพราะเหตุนี้ครับ ผมใช้วิธีการระดมทุนจากเครือข่ายกัลยาณมิตรที่อังกฤษ และเพื่อนๆ ในสังคมออนไลน์ ทำ proposal ไปเสนอผู้ร่วมระดมทุนว่าจะทำพื้นที่เป็น English Camp ในที่ดินของครอบครัวผมที่กาฬสินธุ์ ซึ่งมีอยู่ราว 5 ไร่ สร้างสภาพแวดล้อมการใช้ภาษาอังกฤษให้เด็กๆ ในเมืองที่การเข้าถึงภาษาอังกฤษเป็นเรื่องยาก พร้อมชักชวนอาสาสมัครจากนานาชาติให้มาทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ พร้อมให้พวกเขาได้เรียนรู้วิถีการเกษตร สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงปรัชญาทางศาสนาของเมืองไทยไปพร้อมกัน

ผมเริ่มระดมทุนปี 2559 กลับไทยมาจัดการพื้นที่และเริ่มก่อสร้างปี 2560 ทยอยทำไป ขณะเดียวกันก็เริ่มกิจกรรมไปด้วย โดยกิจกรรมก็ไม่ใช่การเกณฑ์เด็กๆ มานั่งในห้องเรียน แต่จะเป็นการใช้ชีวิตร่วมกัน ทำกับข้าว สำรวจทุ่งนา เก็บขยะในป่า ทำบ้านดินด้วยกัน ทักษะที่ใช้เลี้ยงชีพอื่นๆ ไปจนถึงการเรียนรู้ธรรมะผ่านธรรมชาติ โดยตลอดกิจกรรมก็จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้

เด็กๆ ที่มาเรียนก็มีทั้งเด็กจากโรงเรียนสามัญต่างๆ ไปจนถึงโรงเรียนนานาชาติจากทั่วประเทศ โดยอาสาสมัครก็เป็นเครือข่ายพวกผมเอง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างประเทศ ก็ชวนเขามา และจัดหาที่พักและอาหารให้เขา ก็จะหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ โดยเราไม่มีค่าใช้จ่ายให้

ส่วนรายได้เรามาจากไหน? เราทำเป็นมูลนิธิ ก็จะได้เงินจากองค์กรต่างๆ มาคอยสนับสนุนกิจกรรม ขณะที่อีกทาง ก็มาจากกลุ่มโรงเรียนนานาชาติที่ครูอยากให้มาเข้าคอร์สเรียนรู้กับเรา แต่ถ้าเป็นโรงเรียนกลุ่มด้อยโอกาส ก็จะไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่ประการใด ทั้งนี้ ตอนแรกผมไม่คิดจะเปิดให้ที่นี่เป็นคาเฟ่หรือร้านอาหารแต่อย่างใด แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นหลังเราเปิดที่นี่ไม่นาน ก็เลยต้องสร้างธุรกิจเสริมมาช่วยเหลือ กลับกลายเป็นว่า เราได้รับผลตอบรับอย่างดีเยี่ยม โดยภายในพื้นที่ ผมก็เขียนป้ายเชิงคำสอนธรรมะที่ยึดโยงกับธรรมชาติ สร้างแรงจูงใจให้แขกที่มาเยือนร่วมทำความดีกับเราไปพร้อมกัน  

นั่นล่ะครับ บ้านนานาชาติแห่งนี้จึงเกิดจากการระดมทุนของผู้คนจากทั่วโลกที่มีใจอยากแบ่งปัน และเชื่อมั่นในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืน และที่เราอยู่ได้ ก็เพราะคนที่เชื่อเรื่องนี้และคอยสนับสนุนทั้งกำลังแรง กำลังทรัพย์ และกำลังใจมาตลอด

ถามว่านอกจากภาษาอังกฤษกับทักษะต่างๆ เด็กๆ ที่นี่จะได้เรียนรู้อะไรกลับไป? คำตอบคือ การทำให้เด็กๆ ได้เข้าใจตัวเองครับ ให้ทุกคนเข้าใจศักยภาพของเขาเองว่ามีส่วนในการทำให้โลกเราดีขึ้นได้แค่ไหน การศึกษาไม่ได้มีเพื่อให้ทุกคนแค่มีทักษะทางวิชาชีพเพื่อแสวงหาความร่ำรวย แต่มันคือการทำความเข้าใจโลก การรู้จักแบ่งปันและช่วยเหลือคนอื่น และทำให้ตระหนักว่าความดีมันคือของมีค่าที่ไม่มีทางซื้อหามาได้ นอกจากการลงมือทำ และผมคิดว่าสิ่งนี้แหละที่จะทำให้เราเข้าใจชีวิต และเป็นหนทางที่ทำให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข”

ขวัญชัย ปรีดี
ผู้ก่อตั้งบ้านนานาชาติ Coffee & English Camp กาฬสินธุ์

https://www.facebook.com/BaannaNachart/

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย