/

การเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ รู้จักการเป็นผู้ให้ และสนับสนุนซึ่งกันและกัน เหล่านี้จะเปลี่ยนให้ปมด้อยของเด็กๆ กลายเป็นปมเด่น และเติบโตอย่างมีเป้าหมายและความคิดสร้างสรรค์

Start
407 views
14 mins read

“ตอนจบมาใหม่ๆ เราทำอาชีพครู แต่ความที่เราชอบทำกิจกรรมและงานภาคสนาม จึงพบว่าครูไม่ตอบโจทย์ชีวิตเราเท่าไหร่ จนมาเจอกับพี่ชมพู่ (วรรณกนก เปาะอีแตดาโอะ) ผู้ก่อตั้งกลุ่มลูกเหรียง (สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ – ผู้เรียบเรียง) พี่ชมพู่ก็ชวนมาทำงาน เรารู้จักกลุ่มนี้ตั้งแต่สมัยที่เราทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว จึงตกปากรับคำ

ลูกเหรียงคือชื่อของพืชท้องถิ่นในภาคใต้ เป็นต้นไม้ใหญ่ที่กว่าจะออกเมล็ดพันธุ์ต้องใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี คือต้องใช้เวลาพอสมควรในการฟูมฟัก แต่เมื่อมันแตกกิ่งก้านสาขาแล้ว ก็จะให้ร่มเงาแผ่กว้าง และเมล็ดพันธุ์ก็พร้อมจะงอกไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อ เราชอบความคิดของพี่ชมพู่ที่เปรียบเทียบการฟูมฟักและสนับสนุนด้านการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่สามจังหวัดกับวงจรชีวิตของลูกเหรียง 

กลุ่มลูกเหรียงดูแลอยู่ 4 ด้านคือ เยียวยา พัฒนา ป้องกัน และทำธุรกิจเพื่อสังคม เราเริ่มงานที่นี่เมื่อ 9 ปีที่แล้วในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ทั่วไป ช่วยออกแบบและจัดกิจกรรมของกลุ่ม แต่ความที่กลุ่มลูกเหรียงมักจะมีผู้ใหญ่มาเยี่ยมเยือน ประชุม หรือมาดูงานบ่อยๆ บางทีผู้มาเยือนเขาไม่อยากออกไปกินข้าวข้างนอก ก็คิดกันว่าจากเดิมที่เราทำอาหารเลี้ยงเด็กๆ ในกลุ่มที่ตอนนี้มีกัน 24 คนอยู่แล้ว ก็น่าจะเปิดเป็นร้านอาหารรับแขกด้วย แต่เพราะทุกคนก็มีหน้าที่รับผิดชอบประจำอยู่ การทำอาหารเป็นหลักไม่น่าจะได้ สุดท้ายเราเลยคิดจะทำร้านอาหารแบบเชฟส์เทเบิล (Chef’s Table) ขึ้น

เชฟส์เทเบิลของเราจะเสิร์ฟอาหารอย่างน้อย 6 คอร์ส ใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรในท้องที่ ส่วนอาหารก็เป็นอาหารพื้นบ้านที่เรานำมาประยุกต์หรือตบแต่งให้ดูมีสีสัน มีความน่ารับประทาน เปลี่ยนมุมมองอาหารที่คนใต้คุ้นเคยให้ดูแปลกใหม่ โดยเราจะเปิดรับลูกค้าแบบจองล่วงหน้าเท่านั้น ไม่ได้ทำการตลาดหรือโฆษณาอะไร แต่ก็ได้ลูกค้าจากแขกที่มาเยือนบ้านเราและบอกปากต่อปาก พอผู้ใหญ่และข้าราชการในยะลามารับประทานแล้วถูกปาก เขาก็บอกต่อ กลายเป็นว่าพอในระดับจังหวัดเรามีแขกกิตติมศักดิ์มา เขาก็จองให้พวกเราทำอาหารต้อนรับ

เราไม่เคยเรียนทำอาหารจากสถาบันไหนมาก่อน อาศัยว่าชอบทำอาหารอยู่แล้ว ก็ไปเรียนเพิ่มเติมจากยูทูป หรือรายการทำอาหารของไทยและต่างประเทศ หาเรฟเฟอร์เรนซ์ในการออกแบบหน้าตาอาหารจากพินเทอเรส (Pinterest) และความที่ถ้าพี่ชมพู่เห็นเด็กคนไหนในกลุ่มเรามีความสนใจหรือมีแววทำอะไรได้ดี ก็จะส่งเสริมเต็มที่ เลยมีน้องๆ หลายคนได้เรียนต่อด้านคหกรรม บางคนไปเรียนทำอาหารถึงมหาวิทยาลัยสวนดุสิต น้องๆ เหล่านี้ก็นำองค์ความรู้ที่ได้มาแลกเปลี่ยนกับเรา มาพัฒนาเมนูอาหารที่เราทำเสิร์ฟเรื่อยมา

เราคิดคอร์สเริ่มต้นที่ท่านละ 500 บาท หลายคนบอกว่าทำไมถูกจัง เราบอกว่าต้นทุนอาหารเราถูกแถมยังคุณภาพดี ที่คิดเท่านี้ เราก็ได้กำไรแล้ว ซึ่งต้องยกเครดิตให้ความอุดมสมบูรณ์ของพืชผักและวัตถุดิบประกอบอาหารของยะลา หรือพวกดอกไม้สีสันสวยๆ ที่เรามาประดับจานอย่าง ดอกพวงชมพู หรือกระดุมทอง นี่หาได้ง่ายตามบ้าน รั้วสถานีรถไฟยะลาก็มีดอกไม้สีสันสวยๆ เยอะ

และหลายคนยังไม่รู้ว่ายะลาเรามีวัตถุดิบที่มีคุณภาพมากๆ อาทิ ปลานิลสายน้ำไหลที่เลี้ยงในบ่อกลางหุบเขาของอำเภอเบตง ปลาพลวงชมพู หรือกบภูเขา เหล่านี้ราคาต่อกิโลกรัมค่อนข้างสูง แต่ก็เพราะอย่างนี้คนยะลาเลยไม่ค่อยได้กิน ชาวบ้านเพาะเลี้ยงเพื่อส่งขายตามภัตตาคารในกรุงเทพฯ หมด เราก็อยากนำวัตถุดิบเหล่านี้มานำเสนอในเชฟส์เทเบิลด้วยเหมือนกัน แต่ก็ต้องคำนวณต้นทุนอีกที

ทุกวันนี้เรายังทำงานในด้านการเยียวยาและจัดกิจกรรมพัฒนาเด็กๆ และงานด้านสังคมของกลุ่มลูกเหรียงอยู่ แต่ขณะเดียวกันถ้ามีแขกจองโต๊ะเข้ามา เราก็จะชวนน้องๆ ที่นี่มาทำเชฟส์เทเบิล หรือไปเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องการออกแบบอาหารให้แก่หน่วยงานต่างๆ เป็นรายได้เสริมให้พวกเขา

หลายคนมักจะติดภาพว่าสมาคมเด็กและเยาวชนแบบเรา ก็เหมือนบ้านเด็กกำพร้าหรือมูลนิธิที่ช่วยเหลือด้านการศึกษาให้เยาวชนที่มาจากครอบครัวที่เปราะบางอย่างเดียว แต่ความที่พี่ชมพู่ได้ปลูกฝังรากฐานที่ดีไว้ ทั้งการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ การสนับสนุนให้เด็กๆ ค้นหาตัวเอง รู้จักการเป็นผู้ให้ และเปิดกว้างทางความคิด ที่สำคัญคือการสนับสนุนซึ่งกันและกัน จากพื้นเพของเด็กๆ ที่หลายคนมองว่าเป็นปมด้อย เราว่าด้วยสิ่งเหล่านี้นี่แหละที่หนุนเสริมให้เด็กๆ ได้ค้นพบปมเด่น และเติบโตขึ้นมาอย่างมีเป้าหมายและความคิดสร้างสรรค์”

แอลลี่-อิสมาแอ ตอกอย
เจ้าหน้าที่ด้านทุนการศึกษาและเยียวยา และเชฟประจำกลุ่มลูกเหรียง
https://www.facebook.com/luukrieang/  

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย