/

“ผมเองก็ฝากนักเรียนหน้าเสาธงเวลาอบรมตอนเช้า เช่น บางคนไม่ชอบเลือด ไม่ชอบตับ ก็ให้นักเรียนถามกันเอง ตักแบ่งกัน แลกกัน อย่าทิ้ง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน เป็นการอยู่ร่วมกันของเด็ก”

Start
169 views
17 mins read

“ปัจจุบันโรงเรียนบ้านท่ามะนาวมีนักเรียนอยู่ 91 คน บุคลากรทั้งหมด 9 คน จัดเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก คือมีนักเรียนไม่เกิน 120 คน เราเข้าร่วมโครงการอาหารกลางวันของนักเรียน กับโครงการเขาใหญ่ ปากช่อง เมืองอาหารอินทรีย์ ใช้วัตถุดิบกับเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ของเขาใหญ่ พาโนราม่า ฟาร์ม เพราะเห็นว่า ถ้านักเรียนได้กินอาหารที่สะอาด ปลอดจากสารพิษ ก็จะเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาว ซึ่งทางโรงเรียนก็มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ รัฐบาลจัดสรรค่าอาหารกลางวันเด็ก ในขณะนั้น หัวละ 21 บาท ซึ่งเดิม 20 บาท เพิ่งปรับเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 เป็น 27 บาท โดยดูจากจำนวนของนักเรียนและขนาดโรงเรียนนะครับ แล้วการซื้อวัตถุดิบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ ผัก ราคาค่อนข้างสูง เกิดส่วนต่าง แต่เราก็มีผู้ใหญ่ใจดีมาร่วมซัพพอร์ตในส่วนต่าง ทำให้นักเรียนได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ

ผมเริ่มปรับโครงการอาหารกลางวันนักเรียนตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เทอม 2 คือเดิมการจ้างเหมาอาหารกลางวันผูกขาดระหว่างผู้จ้างเหมา ซึ่งจ้างเหมาแม่ครัวรับจ้างประกอบอาหารมาส่งนักเรียนที่โรงเรียน เราเห็นว่าอาหารไม่ค่อยมีคุณภาพ เนื่องจากว่ามีผัดมาม่า ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน เขาคำนึงถึงว่าถ้าใช้วัตถุดิบราคาถูก เขาก็จะเงินเหลือเยอะ ส่วนตัวผมเองก็ค่อนข้างใส่ใจเรื่องสุขภาพ ส่วนหนึ่งก็มาจากการเล่นกีฬา แล้วก็เลือกกินอาหาร ลดหวาน ลดมัน ลดแป้ง เราก็มาปรับใช้กับนักเรียน เราจ้างแม่ครัวใหม่ ซื้อวัตถุดิบต่างหาก ก็สามารถควบคุมได้ เราเอาใจใส่ให้เด็กกินอาหารที่มีคุณภาพ ซึ่งเท่าที่ครูสัมภาษณ์นักเรียน คือนักเรียนชื่นชอบ กินอร่อย กินได้มากขึ้น ความรู้สึกของครูที่ทำให้นักเรียนคือกินได้เต็มปาก เพราะเป็นอาหารที่สะอาด พืชผักก็ปลอดสาร นักเรียนบางคนมีปัญหาครอบครัว พ่อแม่แยกทางกัน บางคนอยู่กับพ่อ พ่อก็อาจไม่มีเวลาดูแลเท่าที่ควร ตามประสาวิถีชาวบ้านคือดื่มเหล้ามั่งทำงานก็อาจไม่มีเวลา เด็กก็ไม่ได้กินข้าวเย็น เราก็ให้ครูสำรวจว่าเด็กคนไหนที่ขัดสนจริงๆ ถ้ากับข้าวเหลือวันนั้นเราก็ห่อให้เด็กไปกินที่บ้าน ได้วันละ 3 คนบ้าง 2 คนบ้างตามจำนวนที่จะสามารถให้เขาได้ คือบางวันก็มีกับข้าวเหลือ บางวันขาดเราก็จัดเสริมเท่าที่ทำได้ ไม่สามารถคำนวณได้ 100% แต่ทำให้เด็กทุกคนได้อิ่ม ผมเองก็ฝากนักเรียนหน้าเสาธง เวลาอบรมตอนเช้า เช่น บางคนไม่ชอบเลือด ไม่ชอบตับ ก็ให้นักเรียนถามกันเอง ตักแบ่งกัน แลกกัน อย่าทิ้ง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน เป็นการอยู่ร่วมกันของเด็ก

เราเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีข้อจำกัดมากๆ ในการทำอาหารมีคุณภาพให้นักเรียนบริโภค คือโรงเรียนอยู่ใกล้วัด วัดก็จะมีงานศพ เราก็ริเริ่มว่า งานศพให้บริจาคช่วยโรงเรียน ทีนี้ในช่วงที่ผมมาอยู่ ผมใช้เงินที่สะสมได้ประมาณหมื่นกว่าบาทมาซื้อไข่ เพิ่มจากเมนูปกติ ก็เพิ่มไข่ 3 วัน ผลไม้ 2 วัน ทำให้นักเรียนมีโภชนาการที่ดีขึ้น คือค่าอาหารกลางวันหัวละ 21 บาท มันยากนะ แต่เราก็พยายามทำ บางโอกาสมีผู้ใหญ่ใจดี มาเลี้ยงวันเกิด ก็มีขนมเพิ่มมา ในช่วงวันเด็กที่ผ่านมา หลายๆ ท่านก็มาบริจาคเยอะ เราก็เก็บรวบรวมไว้ทยอยแจก ตอนนี้ก็หมดแล้ว ตัวโครงการฯ เองก็อยากทำให้ต่อเนื่อง ตอนนี้เราใช้ไข่ของเครือข่ายฯ อย่างช่วงที่โรงเรียนเข้าร่วมโครงการใช้วัตถุดิบจากเครือข่ายเขาใหญ่ พาโนราม่า ฟาร์มก็จะวิ่งรอกส่งตั้งแต่โรงเรียนบ้านนา บันไดม้า หนองอีเหลอ ท่ามะนาว แต่ตอนนี้มีข้อจำกัดในการส่ง คือแถบที่ร่วมกลุ่มกับเครือข่ายฯ อยู่แถบโน้น ถ้าจะมาส่งเราทางนี้ตรงตัวอำเภอปากช่อง ค่าใช้จ่ายในการจัดส่งไม่คุ้ม

ผมมีโครงการหนึ่งที่คิดไว้ เพราะโรงเรียนอยู่กับชุมชน ผู้ปกครองบางครอบครัวก็ปลูกพืชผักผลไม้ริมรั้ว อันนี้คือสะอาดโดยแท้ เพราะปลูกกินในบ้าน ไม่ใช่ทำเชิงธุรกิจ เรามีกลุ่มไลน์โรงเรียน ผู้ปกครองแต่ละชั้นมีกลุ่มไลน์ของเขา เราก็อยากประชาสัมพันธ์ว่าพืชผักผลไม้ที่บ้านที่กินเหลือ อยากจะเอามาขายให้นักเรียน ลูกหลานก็จะได้รับประทานอาหารที่สะอาด อาจจะเป็นราคาตลาด หรือถูกกว่าตลาด อันนี้เป็นการเกื้อหนุนระหว่างผู้ปกครองกับนักเรียน แล้วผู้ปกครองก็ไม่ต้องไปหาตลาดด้วย บางคนไม่ถนัดจะเป็นแม่ค้า ก็ใส่เข่งมา กล้วยสักสิบหวี ต้นสองต้นที่ปลูกอยู่ข้างรั้วบ้าน กินไม่หมดอยู่แล้ว ก็เอามาขายให้โรงเรียน แล้วก็คิดอยู่ว่า ถ้าจะทำให้นักเรียนมีผักปลอดสารพิษ คือโรงเรียนมาสอนนักเรียนให้ปลูกผักในโรงเรียน ตอนนี้เพิ่งปลูกกล้วยได้ 3-4 ต้น คือพื้นที่จำกัด กำลังพัฒนากันอยู่ อาจจะยังไม่เห็นเป็นรูปเป็นร่างเท่าไหร่ แต่ผมว่าการขยายโครงการอาหารอินทรีย์สามารถทำได้ ก็ผลิตเอง ถ้าเป็นโรงเรียนเครือข่ายขนาดใหญ่ที่สามารถผลิตได้มากแล้วเขาไม่มีที่จำหน่ายก็มาจำหน่ายให้ข้างเคียงกัน ใครมีพื้นที่ มีเวลาว่าง คือเขาเคยปลูกแล้ว แต่ทีนี้ไม่สามารถจำหน่ายได้ ไม่มีช่องทางจำหน่าย เขาอาจคิดมาปลูกใหม่ แล้วก็จำหน่ายให้กับโรงเรียน สร้างเครือข่ายได้ ขยายผล หรือประชาสัมพันธ์สู่ชุมชนรอบข้าง

ถ้าคุณครูให้ความรู้เรื่องอาหารที่มีคุณภาพ เด็กจะมีความรู้ แล้วก็เรียนรู้ที่จะผลิต แต่ว่าในการบริโภคทุกวันนี้ ยังไม่สามารถทำให้นักเรียนเห็นภาพได้ชัดเจน หรือเห็นความสำคัญขนาดที่ว่าจะต้องลงมือ เพราะเขาบริโภคอาหารตลาดอยู่แล้ว เพราะจับจ่ายง่าย เข้าถึงง่าย ถ้าจะปรับเปลี่ยนแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือค่อนข้างยาก ต้องให้เขาซึมซับไป อย่างที่เรียนว่า ให้นักเรียนได้ปลูกเอง เขาจะได้เห็นคุณค่า และเป็นทักษะพื้นฐานในการที่เขาจะดำรงชีวิตเมื่อเติบใหญ่”

ว่าที่ร้อยตรี นิติ ทองมนต์
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ามะนาว

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย